วันเลือกตั้ง

ประชาธิปัตย์ ชูกระจายอำนาจ ประชาชนได้เลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด

12.12.2018
  • LOADING...

การเมืองไทยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งปี 2562 เกือบเต็มรูปแบบหลัง คสช. ปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมือง เหลือเพียงการหาเสียงอย่างเต็มรูปแบบที่ยังทำไม่ได้ต้องรอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. หลังปีใหม่

 

วันนี้ (12 ธ.ค.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดงานเสวนา ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล (สยามซิตี้) ถนนศรีอยุธยา โดยระดมแกนนำพรรคร่วมรับฟังความเห็นก่อนจะนำไปจัดทำเป็นนโยบายการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

 

 

อภิสิทธิ์ ขายนโยบายให้ประชาชนเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปาฐกถาในงานเสวนา ถึงกรอบความคิดที่พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าการบริหารท้องถิ่น

 

เรื่องแรกคือ ‘ปลดล็อกอำนาจ’ โดยจะเขียนกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าเรื่องใดที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ อาทิ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ เศรษฐกิจระดับชาติ และกระบวนการยุติธรรม แต่ในส่วนที่ไม่ได้เขียนห้ามให้ท้องถิ่นสามารถทำได้ทั้งหมด เป็นการให้อำนาจและความเป็นอิสระของท้องถิ่นในการทำงานด้านพัฒนาโดยไม่ติดขัดข้อกฎหมาย

 

เรื่องสำคัญต่อมาคือแนวคิด ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ โดยให้ประชาชนเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจัดการตนเอง ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้มีการเลือกนายก อบจ. กันอยู่แล้ว ก็เพียงแต่โอนอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ อบจ. และเปลี่ยนบทบาทผู้ว่าฯ เป็นผู้ประสานงาน

 

สุดท้ายคือการผลักดันกฎหมายคล้ายวิธีปฏิบัติราชการท้องถิ่น เป็นกฎหมายแม่บทกำกับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน แต่ก็ต้องมีความยืดหยุ่นคล่องตัวไม่เป็นเหมือนระบบราชการ

 

 

อภิสิทธิ์ ตอบปมนโยบายพรรคจับต้องยาก

อภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์หลังปาฐกถาถึงการเตรียมนโยบายพรรคเพื่อการเลือกตั้ง ว่าตามกฎหมายจะต้องนำนโยบายไปบรรจุในข้อบังคับพรรค และจดทะเบียนไว้กับ กกต. เพราะฉะนั้นต้องรอให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ เนื่องจากที่เขียนอยู่ขณะนี้จะเป็นหลักการกว้างๆ แต่พอไปหาเสียงตามกฎหมายใหม่ จะต้องสามารถระบุที่มาที่ไปของงบประมาณ และประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบาย

 

ส่วนข้อสังเกตที่ว่านโยบายของพรรคมักจับต้องได้ยากนั้น อภิสิทธ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วก็จับต้องได้ ที่ผ่านมาเช่นเรื่องการศึกษา การเรียนฟรีมีคุณภาพ การคืนครูให้นักเรียน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

 

แต่บางเรื่องเรามองไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องทำหรือพิสูจน์แล้วว่าไม่ควรทำ เช่น รถคันแรก จำนำข้าว แต่ประกันรายได้ต้องมี ซึ่งแนวคิดประกันรายได้ของประชาธิปัตย์จะขยายไปยังคนทุกกลุ่ม และเป็นระบบที่เป็นสวัสดิการจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

 

สิ้นปีนี้ ปชป. คัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. แล้วเสร็จ

อภิสิทธิ์ กล่าวถึงการปลดล็อกทางการเมือง ว่าเมื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้งก็ควรให้พรรคการเมืองทำงานได้ปกติ ตอนนี้ก็อาจจะสับสนและไม่เข้าใจอยู่บ้างเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะทำได้ก่อนและหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. ว่าจะทำอย่างไร แต่ก็ได้มีการพูดคุยกับสมาชิกพรรคแล้วว่า การทำกิจกรรมทางการเมืองทำได้ปกติ เพียงแต่ว่าหลังพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. นั้น สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการทำให้เลือกตั้งไม่สุจริตจะทำไม่ได้ เช่น การจัดเลี้ยง

 

ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้อยู่ในขั้นคัดสรรผู้สมัคร คาดว่าจะเสร็จในสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ แต่หลายคนก็คงจะใช้จังหวะเวลานี้ในการแนะนำตัวเอง ขณะเดียวกันการแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบายและการประชาสัมพันธ์คงทำได้เต็มที่

 

 

ตอก 4 รมต. พลังประชารัฐ ไม่ยกระดับการเมือง

อภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่ 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรคพลังประชารัฐยังไม่ลาออกจากตำแหน่ง ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้อยู่ในกฎหมาย แต่ต้องอธิบายให้ชัดว่าความไม่เหมือนของรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลชุดอื่นๆ ทั้งในอดีตและต่อไปในอนาคตตามรัฐธรรมนูญก็คือรัฐบาลชุดนี้มีอำนาจมากกว่ารัฐบาลในอดีตในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

 

ขณะที่ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญชัดเจนว่าใครที่มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้งก็ไม่ควรใช้อำนาจเต็มได้ แต่ตามตัวอักษรในกฎหมายไม่ได้บังคับ ก็อยู่ที่ว่าเจตนาจะยกระดับการเมืองไทยและรักษาหลักธรรมาภิบาลหรือไม่เท่านั้นเอง

 

 

ไม่คล้อยตามทักษิณ ชวนแก้รัฐธรรมนูญ

อภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความชวนแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าบทบัญญัติหลายมาตราควรแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ควรจะหยิบประเด็นเหล่านี้มาเพื่อสร้างความขัดแย้ง หรือทำให้เกิดลักษณะการเผชิญหน้า เพราะการแก้รัฐธรรมนูญควรได้รับฉันทามติ และตกผลึกว่าจะแก้เป็นอะไรด้วย เพราะถ้ารื้ออย่างเดียวโดยที่ไม่บอกว่าจะเอาอะไรมาใส่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่

 

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ส.ว. ต้องยอมรับด้วย แต่เรายังไม่ได้เห็นหน้าตาของ ส.ว. เลย

 

“ประชาธิปัตย์เห็นว่า รัฐธรรมนูญควรจะแก้ แต่ประชาธิปัตย์ไม่หวังจะเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นขัดแย้ง เผชิญหน้า เพราะมีเรื่องที่ประชาชนเขาคาดหวังหลังการเลือกตั้งว่ามันจะดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ นโยบาย ถ้าไม่ระมัดระวังและทำให้ประเทศกลับไปขัดแย้งอีก สุดท้ายเราก็จะไม่ได้อะไร” อภิสิทธิ์ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising