สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินโลกอยู่ในสภาวะกลัวความเสี่ยง (Risk Off) มากขึ้น เนื่องจาก
- ความเสี่ยงการระบาดรอบใหม่โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และมีรายงานจากอิสราเอลว่าวัคซีน Pfizer ไม่สามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์นี้ได้ดีนัก
- ตัวเลขเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะ PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ
- นโยบายทางการจีนที่คุมเข้มบริษัทเทคโนโลยีที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ Didi ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ และโดนสั่งห้ามรับลูกค้าใหม่ รวมถึงถูกถอดแอปฯ จาก App Store
- ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงรุนแรงหลังการประชุม OPEC+ ไม่ได้ข้อสรุป ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่าผู้ผลิตจะเพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าโควตาที่กำหนด
อย่างไรก็ตามรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ว่าคณะกรรมการยัง ‘อดทนรอ’ พิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจมากขึ้นก่อนจะลดการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ทำให้ตลาดยังคงเบาใจว่าสภาพคล่องยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เป็นส่วนช่วยพยุงภาวการณ์ลงทุนได้ ในขณะที่ทางการจีนเริ่มกลับมาส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่โดยส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บเป็นเงินสำรอง (RRR) เพื่อช่วยเหลือ SMEs
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้ สิ่งที่ตลาดจับตาคือ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่ลดลงรุนแรง ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลงและความเสี่ยงการระบาดรอบใหม่ที่มีมากขึ้น หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น
โดยในส่วนของผลตอบแทนพันธบัตร เรามองว่าส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตร 2-10 ปีที่ลดลงต่อเนื่องบ่งชี้ว่าสัญญาณของเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลงชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้จัดการกองทุนเริ่มกังวลและเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งภาพความเสี่ยงที่จะต้องจับตามองในระยะต่อไปมี 4 จุด คือ
- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้นโดยเฉพาะภาคการผลิต
- การส่งสัญญาณลดทอน QE ของ Fed เพื่อลดกระแสเก็งกำไรและความคาดหวังเงินเฟ้อ
- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกและในสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่
- ความเสี่ยงเชิงนโยบายและภูมิรัฐศาสตร์ที่จะรุนแรงขึ้น
สำหรับในประเทศไทย ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อาจวิ่งขึ้นสู่ระดับ 10,000 รายต่อวัน ทำให้ทางการเริ่มพิจารณามาตรการล็อกดาวน์ขั้นรุนแรงอีกครั้ง
โดย บล.ไทยพาณิชย์ มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจในระยะต่อไปมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2% เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยชะลอการระบาดได้บ้าง ท่ามกลางศักยภาพด้านสาธารณสุขที่เริ่มหมดลง และการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มที่จะล่าช้ากว่าที่ประกาศไว้ และอาจจะกระทบการลงทุนในระยะต่อไป ในเบื้องต้นคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะรุนแรงกว่ามาตรการรอบที่ 3 แต่ไม่รุนแรงเท่ากับในรอบเดือนเมษายน 2020
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดในหลายภูมิภาค
อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มของ Fed ที่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วกว่าคาด
กองทุนแนะนำ
- Principal Global Opportunity Fund หรือ PRINCIPAL GOPP-A
กองทุน PRINCIPAL GOPP-A ลงทุนในกองทุน Morgan Stanley Investment Funds Global Opportunity Fund ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ: 4
โดยดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการทยอยเปิดเมืองและข้อมูลเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นจากแผนการลงทุนระยะยาวของประธานาธิบดี โจ ไบเดน
บล.ไทยพาณิชย์ แนะนำสัดส่วนการถือครองหุ้นสไตล์ Growth และ Value อยู่ที่ 60:40 เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จาก US Yield Curve ที่มีแนวโน้มปรับลดความชันลงในช่วงสั้น เช่น หุ้นกลุ่ม Quality ในกลุ่ม Tech Hardware และ Semiconductor ขณะที่ธีม Reflation Trade และ Reopening ยังคงสนับสนุนการลงทุนหุ้นสไตล์ Value และ Cyclical นำโดยกลุ่มธนาคาร หลังผลการผ่าน Stress Test ทำให้มีแนวโน้มสามารถจ่ายปันผลได้มากขึ้น
กองทุนแนะนำ
- SCB US Equity DJI Fund
กองทุน SCBDJI(A) เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ โดยลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Dow Jones Industrial Average ซึ่งประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ 30 บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจชั้นนำของประเทศ และผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนต่อเนื่องจากภาคบริการที่ฟื้นตัวดี แนวโน้ม EPS ในปี 2021 และ 2022 ยังเติบโตโดดเด่น เศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการคลัง EU Recovery Fund ที่จะเริ่มเบิกจ่ายให้แต่ละประเทศในไตรมาส 3
นอกจากนี้ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนที่เด่นชัดและแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดต่อเนื่อง ด้านการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน UK และ EU บางประเทศคาดยังไม่ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตต่ำ
กองทุนแนะนำ
- MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO
กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นจีน
ความน่าสนใจระดับ: 4
Valuation ตลาดหุ้นจีนยังไม่แพงเมื่อเทียบตลาดหุ้นโลก และทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ ที่สอดรับกับแผน 5 ปี อย่างไรก็ตามความกังวลในการออกกฎระเบียบในด้านต่างๆ ที่เข้มงวดขึ้นของทางการจีนเริ่มมีมากขึ้น
โดย บล.ไทยพาณิชย์ มองว่า Valuation และผลประกอบการของกลุ่มบิ๊กเทคที่ลดลงค่อนข้างมากนับตั้งแต่ต้นปี สะท้อนว่านักลงทุนได้ตอบรับประเด็นดังกล่าวไปมากแล้ว ดังนั้นกลุ่มจึงมีดาวน์ไซด์จำกัด ขณะที่ข้อพิพาทระหว่างจีน-ชาติตะวันตก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจส่งผลให้ตลาดยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน
กองทุนแนะนำ
- KTAM China A Shares Equity หรือ KT-AShares-A
กองทุน KT-AShares-A ลงทุนในกองทุน Allianz Global Investors Fund – Allianz China A-Shares ซึ่งคัดเลือกหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นๆ ในหุ้นจีน A-Share ผลตอบแทนย้อนหลังโดดเด่น
การลงทุนทางเลือก
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ: 1
ราคาทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในระยะข้างหน้า แม้ว่าในระยะสั้นความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจะสนับสนุนราคาทองคำให้ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ: 3
ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า สอดรับกับอุปสงค์การเปิดประเทศไปพอควรแล้ว ขณะที่อุปสงส์น้ำมันอาจมีแนวโน้มถูกกดดันจากโควิดสายพันธุ์เดลตาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งในยุโรปและเอเชียเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศต้องเพิ่มมาตรการควบคุมมากขึ้น ด้านอุปทานน้ำมัน OPEC+ ยังไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมันในเดือนสิงหาคม-ธันวาคมได้ (เลื่อนการประชุมโดยไม่มีกำหนด) ทำให้อุปทานการผลิตน้ำมันส่วนเพิ่มที่ชะงักจะส่งผลดีต่อราคาเพียงช่วงสั้น
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ: 4
REITs ไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว Valuation ยังไม่แพง ได้รับอานิสงส์จากแผนการเปิดประเทศไทยภายใน 120 วัน ช่วงเดือนตุลาคม ราคาปัจจุบันยัง Laggard REITs ต่างประเทศและหุ้นไทยอยู่มาก อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อและความล่าช้าในการฉีดวัคซีนอาจยังเป็นปัจจัยกดดันราคาในระยะสั้น
- SCB Property and Infrastructure Flexible Fund หรือ SCBPINA
กองทุน SCBPINA เป็นกองทุนที่คัดเลือกลงทุนใน Property Fund REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั้งของไทยและสิงคโปร์ โดยคัดเลือกกองทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ที่มีโอกาสเติบโต มีสภาพคล่อง และคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ
ผู้เขียน
ศรชัย สุเนต์ตา, CFA
กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office, SCBS
สุกิจ อุดมศิริกุล
กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ผู้อำนวยการอาวุโส นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา
ผู้อำนวยการอาวุโส นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
ณัฏฐ์วริน ไตรภพสกุล
ผู้อำนวยการอาวุโส นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เรวัฒิ เจริญเชื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน
รุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ, CFA
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office, SCBS
เกษรี อายุตตะกะ CFP®
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment office, SCBS
ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์ AFPTTM
ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment office, SCBS
จตุรภัทร ทนาบุตร
ผู้จัดการ Chief Investment office, SCBS