ตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น แรงหนุนหลักจาก 1. ผลประกอบการของหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มการเงินของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง รวมทั้ง TSMC ยังเผยกำไรสูงเกินคาด และคาดรายได้ 4Q24 จะเพิ่มขึ้นอีกหลังมีอุปสงค์ชิปด้าน AI ซึ่งหนุนให้มีการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิป และ 2. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดี เช่น ยอดค้าปลีก ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้ความคาดหวังว่า Fed จะยังปรับลดดอกเบี้ยลงอีก
ส่วน ECB มีมติปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เพื่อหนุนเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นไปตามตลาดคาด และนับเป็นการปรับลดดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ขณะที่จีนประกาศมาตรการการคลังรอบใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ระบุวงเงินในมาตรการ อีกทั้งไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ชุดใหญ่อย่างที่ตลาดคาด สร้างความผิดหวังต่อนักลงทุน
ด้านตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค หลัง กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps เหลือ 2.25% สวนทางตลาดที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ย แต่ตรงตามที่เราคาด เพื่อช่วยลดภาระหนี้กลุ่มเปราะบาง ท่ามกลางสินเชื่อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาในหุ้นที่ได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยขาลง
ส่วนตลาดน้ำมันปรับตัวลง หลัง OPEC และ IEA ประกาศปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้และปีหน้า อีกทั้งคลายกังวลอุปทานชะงักงันเนื่องจากอิสราเอลเผยว่าไม่มีแผนโจมตีแหล่งน้ำมันของอิหร่าน
วิกฤตอสังหาจีนจ่อลามสู่ภาคธนาคาร
ในส่วนของมาตรการจีน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่ามาตรการการคลังครั้งนี้อาจไม่สามารถที่จะทำได้เต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันมาตรการเหล่านี้ผลักดันผ่านรัฐบาลท้องถิ่นที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ไม่สามารถที่จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Reuters คาดว่าหนี้รัฐบาลท้องถิ่นโดยรวมอยู่ที่ 116% ของ GDP (ประมาณ 146 ล้านล้านหยวน) และส่วนใหญ่อยู่ในรูปบริษัทท้องถิ่น (Local Government Financing Vehicles: LGFVs) ซึ่งมีโครงสร้างทางการเงินไม่ชัดเจน ทำให้แก้ปัญหาการเงินได้ยาก
นอกจากนั้นในส่วนการแก้ปัญหาอสังหาของจีน เรามองว่ายังเผชิญ 3 ความท้าทายหลักดังนี้
- รัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหากำลังมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว
- ราคาบ้านอาจไม่สามารถฟื้นขึ้นได้ หากเศรษฐกิจรวมถึงรายได้ของประชาชนในภาพใหญ่ไม่ฟื้น
- จีนมีปัญหาอุปทานล้นเกินในหลายเมือง โดยเฉพาะเมืองระดับ 2-3 ที่ประชาชนย้ายเข้าเมืองใหญ่ โดย Bloomberg คาดการณ์ว่า บ้านที่ขายแล้วแต่ยังไม่ได้สร้างของจีนอาจมีประมาณ 48 ล้านยูนิต หรือประมาณ 3 ล้านล้านหยวน
ขณะที่เราคาดว่า มูลค่าบ้านคงค้างน่าจะอยู่ที่ 381 ล้านตารางเมตร หรือ 3.86 ล้านล้านหยวน ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 7 ล้านล้านหยวน เข้าช่วยเหลือสถานการณ์ดังกล่าว
ความท้าทายเหล่านั้นทำให้การแก้ปัญหาภาคอสังหาไม่สามารถทำได้โดยง่าย ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ของจีนเรามองว่าความเสี่ยงอาจจะเริ่มมีสูงขึ้น เพราะทางการใช้ธนาคารเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นหากพิจารณาการส่งออกในประเทศสำคัญของเอเชียก็กำลังชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปมีมากขึ้น กระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- ธีม Earning Play สำหรับนักลงทุนระยะกลางที่ต้องการหุ้นพื้นฐานดีที่กำไร 3Q24 คาดมีโมเมนตัมเติบโต YoY และ QoQ เลือก BEM, BCH, BDMS, GULF, TRUE, AU, TNP
- หุ้นเก็งกำไรซึ่งคาดว่าจะได้อานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง แนะนำกลุ่มอสังหา (AP, SIRI) กลุ่มค้าปลีก (CPALL) กลุ่ม REITs (LHHOTEL, DIF) กลุ่มที่มีต้นทุนกู้ยืมลดลง (GPSC, BAM)
- หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนวายุภักษ์และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วงปลายปี เลือก KTB, BBL, ADVANC, HMPRO, BCP
- หุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ความไม่สงบในตะวันออกกลาง นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงเลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมองว่า SET แกว่งตัว Sideway โดยดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นมาแถว 1,500 จุด หลัง กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และคาดว่ายังมีแรงส่งต่อเนื่อง รวมไปถึงยังมองว่ามีปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะผลประกอบการของ บจ.สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะออกมาแข็งแกร่งกว่าตลาดคาด สืบเนื่องจากมีความคาดหวังต่ำ อย่างไรก็ดี SET อาจมี Upside จำกัด หลังเริ่มเข้าสู่ช่วงติดตามผลประกอบการ 3Q24 ของ บจ.ไทย กลุ่ม Real Sector และยังรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ และหากพิจารณาในตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศสัปดาห์หน้า เช่น ตัวเลขอสังหาริมทรัพย์และดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ มองว่ายังมีแนวโน้มชะลอตัวลง” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประชุมประจำปีของ IMF ร่วมกับ World Bank วันที่ 21-26 ตุลาคม ติดตามการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีหน้า และการประชุม BRICS วันที่ 22-24 ตุลาคม
- มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกันยายน และยอดส่งออกรถยนต์เดือนกันยายน
- รายละเอียดและความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนและ PBOC
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: DIF - ช่วงเวลาแห่งโอกาสลงทุน
แนะนำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF เนื่องจากเหตุผล
หลักดังนี้
- เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สุดในไทย โดยลงทุนในเสาโทรคมนาคม 16,000 เสา และระบบใยแก้วนำแสง 3 ล้านคอร์กิโลเมตร โดย DIF อยู่ในตำแหน่งที่ดีในการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งนำไปสู่โอกาสมากขึ้นสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์บุคคลที่สาม
- จัดอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผล โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ที่กำลังเปลี่ยนเป็นขาลงจะทำให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของ DIF ดูน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งคาดว่าจะกระตุ้นให้ราคาหน่วยลงทุน DIF มีแนวโน้มปรับขึ้น
- มองความเสี่ยงที่ TRUE (ถือ DIF อยู่ 20.6%) จะขายหน่วยลงทุน DIF ออกมาอีกนั้นอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากควบรวมกิจการ ขณะที่ 3Q24 คาดกำไรลดลงเล็กน้อย YoY จากรายได้ DTAC ที่ลดลง แต่กำไรจะทรงตัว QoQ จากรายได้ที่ยังอยู่ในระดับคงที่
- เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หน่วยละ 10.50 บาท (อิงวิธี DCF) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายปี 2024 ที่หน่วยละ 0.89 บาท คิดเป็น Dividend Yield สูงปีละ 9.5%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ผลประกอบการของหุ้นสหรัฐฯ ออกมาดีในภาพรวม โดย 1. กลุ่มธนาคารมีแรงหนุนจากธุรกิจ IB และตลาดทุน 2. กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์มีแรงหนุนจากอุปสงค์ AI อย่างไรก็ดีมอง ASML มีแรงกดดันเฉพาะตัวทำให้การเติบโตลดลง 3. กลุ่มการแพทย์ กลุ่มที่มีรายได้จาก Medicaid ยังมีแรงกดดัน แต่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเบาหวานดูดี 4. กลุ่มแพลตฟอร์มมีแรงหนุนจาก Ads ที่โตดี ทำให้เราคาดงบ DIS, GOOGL จะดีในทิศทางเดียวกับ NFLX
- กลุ่มธนาคาร: แม้รายได้ดอกเบี้ยจะลดลง แต่งบดีกว่าคาดในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มที่มี IB และตลาดทุนอย่าง MS, BAC, GS ซึ่งสวนทางกับ C ที่ยังมีแรงกดดันจาก Consumer Spending และความกังวลเรื่องกฎระเบียบ นอกจากนี้งบกลุ่มนี้ยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวแรงอย่างที่ตลาดกังวล และมีทิศทาง Soft Landing ที่ชัดเจน
- กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์: TSMC เผยงบโตดีกว่าคาด และเพิ่มคาดการณ์ปี 2024-2025 ขึ้นหลังมีแรงหนุนจากอุปสงค์ AI ที่เติบโต นอกจากนี้ยังปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทำให้อัตรากำไรสูงและลงทุนใน ASML น้อยลงในทิศทางเดียวกับ INTC, Samsung, SK, Hyunik ที่ชะลอคำสั่งซื้อ กดดันทำให้ยอดคำสั่งซื้อ ASML ต่ำกว่าคาดใน 3Q24 และปรับลดคาดการณ์ในปี 2025 ลง
- กลุ่มการแพทย์: UNH งบดีแต่คาดการณ์ต่ำกว่าคาด หลังมีแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจาก Medicaid ของทางการสหรัฐฯ ในทิศทางตรงกันข้าม ABT ออกมาดีกว่าคาด หลังยอดขายอุปกรณ์ตรวจน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานโตดี
- กลุ่มแพลตฟอร์ม: Netflix เผยรายได้และกำไรเติบโตดีกว่าคาด หลังมีแรงหนุนจากการปรับเพิ่มราคาแพ็กเกจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโต FY25 ขึ้น หลังเตรียมปรับเพิ่มราคาแพ็กเกจและมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจโฆษณา
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลัง Fed มีแนวโน้มกลับมาทยอยลดดอกเบี้ยครั้งละ 25 bps
นอกจากนี้สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ข้อพิพาททางการค้า ความไม่แน่นอนบนการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ข้อพิพาทช่องแคบไต้หวัน และความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง โดยล่าสุด อิสราเอลประกาศว่าได้สังหาร ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นผู้วางแผนโจมตีอิสราเอล
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ US Bond Yield ทั้งระยะสั้นและยาวจะปรับตัวลงเร็วและมีนัยสำคัญลดลง หลังตัวเลข Core CPI และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนดีกว่าคาด และลดโอกาสที่ US Yield Curve จะเกิด Bull Steepening มากขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้ยังคงมีความน่าสนใจในการถือ เพื่อรับ Coupon Income และยังคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge กรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจแย่กว่าคาด
เราคาดว่าความผันผวนของตราสารหนี้สหรัฐฯ จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้เลือกตั้งสหรัฐฯ โดยที่บอนด์ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) ยังมีความเสี่ยงจากแนวโน้มการขาดดุลการคลังหลังเลือกตั้ง ขณะที่บอนด์ช่วงอายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon เพียงพอที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
US Treasury & IG
UST Yield อายุ 2 ปี และ 10 ปี เพิ่มขึ้น MTD หลังตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือนกันยายนส่วนใหญ่ดีกว่าคาด ซึ่งช่วยลดความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะ Recession ในอีก 12 เดือน ลดลงอยู่ที่ 32%) และลดความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของ Fed เหลือเพียง 25 bps ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะลด 50 bps
แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG (ซึ่ง Net Margin และสถานะด้านสภาพคล่องยังดี) โดยเน้นลงทุนใน Duration ราว 2-4 ปี เพื่อ Lock Coupon โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยยังมากกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed ที่ 2.9%
High Yield Bond
US HY ยังมีผลตอบแทนรวมเป็นบวก YTD ส่วนใหญ่มาจาก Spread แคบลง ซึ่งสะท้อน
- HY Default Rate ที่ทยอยลดลง โดยตัวเลข 12M Trailing ล่าสุดอยู่ 3.0%
- จำนวน HY Issuers ที่ Upgrade สูงกว่าที่ถูก Downgrade
- ความผันผวนของตลาด US HY (CDX HY Implied Volatility) ยังต่ำ
- ประเด็น Maturity Wall ยังไม่น่ากังวลในปี 2025 โดยมียอดครบกำหนดเพียงราว 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ด้วย Spread ที่แพงมากเมื่อค่าเฉลี่ย 10 ปี จึงทำให้ Upside ของ US HY มีจำกัด
สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเพิ่ม Diversification ให้พอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก Bond Yield ของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มปรับลดลง
สินทรัพย์ผสม ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
- Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่าจะปรับลดอีก 2 ครั้งใน 4Q24 ครั้งละ 25 bps รวม 50 bps
- Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93.6% ในช่วง 2Q24
- กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
- งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต
- Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตามยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2H24 จากโครงการแจกเงิน 10,000 บาท การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการลดดอกเบี้ยของ กนง. ในเดือนตุลาคม
- Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง โดยดัชนี SET ซื้อขายอยู่บน 12M Forward P/E ที่ 14.8x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ -1.0 SD
- ผลประกอบการ บจ. ที่มีแนวโน้มได้รับการปรับประมาณการดีขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
- ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าจะช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามควรติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู แต่มีแนวโน้มคลี่คลาย รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว จึงส่งผลลบต่อท่องเที่ยวจำกัด
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
เรามองว่าการที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing โดยไม่เกิด Recession จะทำให้ตลาดหุ้นโลก มีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation ของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับที่สูง (นำโดยหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย) ทำให้ผลตอบแทนอาจต่ำกว่า Soft Landing ในรอบก่อนๆ ประกอบกับใกล้เลือกตั้งสหรัฐฯ ตลาดอาจมีความผันผวนมากขึ้น การรายงานผลประกอบการใน 3Q24 ของสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แต่อาจออกมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ หากตลาดมีการปรับฐาน เรายังคงแนะนำ Stay Invested หุ้นในกลุ่ม Quality Growth และ Defensive สหรัฐฯ
หุ้นสหรัฐฯ
แนวโน้มโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี นำโดยการบริโภค ซึ่งเห็นได้จากยอดค้าปลีกล่าสุดที่ดีกว่าคาด ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดที่แข็งแกร่ง ช่วยลดความกังวลของตลาดเกี่ยวกับโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ขณะที่การรายงานผลประกอบการของ S&P 500 ใน 3Q24 แม้ Consensus คาด EPS เติบโตแผ่วลงจากใน 2Q24 แต่เราคาดว่าท้ายที่สุด EPS มีแนวโน้มออกมาสูงกว่าที่คาด (Positive Surprise) และอาจช่วยหนุนให้ EPS ทั้งปีถูกปรับประมาณการขึ้น โดยเรายังเน้นกลยุทธ์ลงทุนแบบ Barbell Strategy ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นกลุ่ม Quality Growth ผสมผสานหุ้นกลุ่ม Defensive
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรปที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจในฝรั่งเศส (หลังนายกฯ เสนอแผนขึ้นภาษี และ Fitch Ratings ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสลงสู่ ‘เชิงลบ’ จาก ‘มีเสถียรภาพ’) รวมทั้งข้อพิพาทการค้ากับจีน (หลังจีนบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวต่อการนำเข้าบรั่นดีจาก EU) อาจสร้างความผันผวนและกดดัน Sentiment ดัชนีฯ
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะ A-Share มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก Risk Sentiment ในจีนที่ดีขึ้นตามที่กระทรวงคลังเผยแผนการคลัง และตามที่คาดหวังว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นบนขนาดของการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมในการประชุม NPC เดือนตุลาคมนี้
กำไรบริษัทจดทะเบียนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลงจากฐานสูง สินเชื่อที่เติบโตช้าและการรัดเข็มขัดทางการคลังจะเริ่มส่งผลในช่วง 2H24
กำไรบริษัทจดทะเบียนในอินโดนีเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 2H24 นำโดยกลุ่มการบริโภคในประเทศและกลุ่มการเงิน ขณะที่ Valuation ทั้ง FWD, P/E และ P/BV ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว
หุ้นอินเดีย
เรามีมุมมองระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้น จากการขยายตัวของ GDP ที่มีทิศทางชะลอตัวลง โดย GDP ใน CY2Q24 ขยายตัว +6.7%YoY ชะลอตัวลงจาก +7.8%YoY ใน CY1Q24 ขณะที่กำไรของ บจ. ถูกปรับประมาณการลง โดยได้รับแรงกดดันจากกำไรที่ตกต่ำในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ นักลงทุนต่างชาติโยกเงินลงทุนออกจากอินเดียไปยังตลาดหุ้นจีน ขานรับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางอินเดียอาจยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยปีนี้ หลังเงินเฟ้อเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Valuation ของดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่แพง
อย่างไรก็ดี โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีฯ อ่อนตัว
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี จากการบริโภคที่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวดี นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ โดย ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีคนใหม่ ตั้งเป้าการเติบโต GDP อยู่ที่ 8% ในระยะเวลา 5 ปี
- แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BI โดยเราคาดว่า BI จะปรับลดดอกเบี้ยในช่วง 4Q24 อีก 50 bps จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ และเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
- FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ในช่วง 2Q24 +16.6%YoY
- กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวใน 2H24
- การเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการบริโภค
- Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง
หุ้นจีน A-Share
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจาก Sentiment นักลงทุนที่ดีขึ้น หลังทางการทยอยออกมาตรการกระตุ้นที่ครอบคลุมทั้งการเงิน การคลัง และด้านอสังหา จะช่วยเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมาย GDP Growth ในปีนี้ ที่ราว 5% รวมทั้งจากการตั้ง Swap Facility (โควตา 5 แสนล้านหยวน) ที่ให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารกู้ยืมตรงจาก PBOC เพื่อซื้อหุ้น และจากการตั้ง Relending Facility (โควตา 3 แสนล้านหยวน) เพื่อสนับสนุนการซื้อหุ้นคืน จะช่วยเพิ่ม Upside ดัชนีฯ
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก
- เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้
- ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ และประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ กระจายความเสี่ยง โดยลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น
- เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำ เริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม ระยะสั้น ด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและ US Bond Yield ที่ปรับขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าคาดมีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาทองคำ