THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
หนี้เสีย
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

จับตา หนี้เสีย ในจีน อาจสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หลังชาวจีนบางเมืองแห่หยุดจ่ายค่าบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ

... • 18 ก.ค. 2022

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่สูงถึง 9.1% ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในการประชุมรอบถัดไป
  • ประเด็นความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเกิด Inverted Yield Curve ชัดเจนขึ้นด้วย ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตลาดโลกมีความผันผวน ราคาน้ำมันดิบกลับมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง
  • ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยจีนเริ่มกลับมาน่ากังวล หลังจากชาวจีนใน 22 เมืองปฏิเสธจ่ายค่าผ่อนสินเชื่อ เนื่องจากโครงการอสังหาหยุดดำเนินการ มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญถึง 3 ล้านล้านบาท และเริ่มเห็น Bank Run กับธนาคารเล็กๆ ของจีน หลังมีการระงับการถอนเงิน
  • เลือก SCBS เป็นหุ้นเด่นประจำสัปดาห์ หลังประเมินผลดำเนินงานพ้นจุดต่ำสุดไปตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้
  • กลุ่ม Healthcare ยังถือเป็นหลุมหลบภัยที่ดีในช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น สามารถป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ดี

หนี้เสีย ในจีน ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงรุนแรงจาก 

 

1. ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเกินคาด ทำให้ตลาดคาดว่าเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% ปลายเดือนนี้ โดยตลาดให้ความน่าจะเป็นที่ 78% 

 

2. ธนาคารกลางแคนาดาขึ้นดอกเบี้ย 1% สู่ระดับ 2.5% ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้น 0.5% ไปอยู่ที่ 2.25% 

 

3. ผู้ซื้อบ้านชาวจีนใน 22 เมืองปฏิเสธที่จะจ่ายสินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังผู้พัฒนาโครงการหยุดการดำเนินโครงการต่อ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญถึง 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินบาทเกือบ 3 ล้านล้านบาท ขณะที่เริ่มเกิดสถานการณ์ Bank Run ในธนาคารขนาดเล็กของจีน หลังมีการระงับการถอนเงิน 

 

4. คณะกรรมการธิการยุโรปได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 2.6 และ 1.4% ในปีนี้และปีหน้า จาก 2.7 และ 2.3% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะที่ Bloomberg คาดว่า โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและเยอรมนีใน 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 45 และ 55% ตามลำดับ 

 

5. Nord Stream AG เริ่มปิดท่อก๊าซ Nord Stream 1 ในยุโรป เพื่อซ่อมบำรุงถึงวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปกว่า 60% 

 

6. หลายเมืองในจีนเริ่มทำมาตรการควบคุมโควิดรอบใหม่ โดยเฉพาะในเมืองแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีและมาเก๊า  

 

7. ตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้าของ Fed New York ปรับเพิ่มขึ้นที่ 6.8% ขณะที่ของ U. of Michigan ลดลงที่ 5.3% 

 

8. การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัว 3.7 แสนตำแหน่ง สูงกว่าตลาดคาดที่ 2.5 แสนตำแหน่งค่อนข้างมาก แต่อัตราว่างงานทรงตัวที่ 3.6% ส่วนค่าจ้างรายสัปดาห์ขยายตัวลดลงต่อเนื่องที่ 4.1% 

 

ภาวะ Inverted Yield Curve ชัดเจนขึ้น หลังคาดการณ์ Fed ส่อขึ้นดอกเบี้ย 1%

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงรุนแรงจากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเกินคาด แม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะลดลงเช่นเดียวกับ Core PCE ก็ตาม ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังสูงเช่นนี้ ทำให้ตลาดคาดว่าเป็นไปได้มากขึ้นที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% ปลายเดือนนี้ ทำให้ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยยิ่งมากขึ้น จนภาวะ Inverted Yield Curve (ภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว) ชัดเจน ซึ่งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอื่นๆ ที่เป็นขาขึ้น ส่งผลให้ตลาดโภคภัณฑ์ผันผวน และราคาน้ำมันดิบกลับมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง

 

SCBS มองว่า เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่ 9.1% สูงกว่าที่หลายฝ่ายรวมถึงเราคาด (ที่ 8.8%) ส่วนสำคัญเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 18 เดือนติดกันที่ 7.3% และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งที่ปรับขึ้นต่อเนื่องที่ 19.6% 

 

แต่เงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มลดต่ำอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติดกันมาอยู่ที่ 5.9% สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องที่ 4.7% บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อน่าจะเริ่มพีคแล้ว และจะลดลงในระยะถัดไป 

 

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในระดับสูงสอดคล้องกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่ม 3.7 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดที่ 2.5 แสนตำแหน่ง ทำให้เป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1% โดยเรามองว่า มีความเป็นไปได้ประมาณ 50% ที่จะขึ้น 1% ในเดือนนี้ ก่อนที่จะขึ้น 0.5% ในเดือนกันยายน และ 0.25% ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 3.63% ณ สิ้นปี 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในช่วงต้น (Front-Load) ทำให้ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น และทำให้เกิดสภาวะ Inverted Yield Curve ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อดีแก่เศรษฐกิจการลงทุน 2 ประการ คือ 

 

1. ทำให้ผู้คนวิตกกังวลทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตและใช้จ่ายน้อยลง จนทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลงได้ในระยะต่อไป โดยที่เศรษฐกิจอาจไม่ถดถอยรุนแรง (Softish Landing)

 

2. ต้นทุนการเงินเริ่มลดลงตามผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี เช่น ดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 30 ปี ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณ 5.3% จากประมาณ 6% ใน 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งต้นทุนการเงินที่ลดลงมีส่วนช่วยบรรเทาความตึงตัวทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจได้ส่วนหนึ่ง

 

นอกจากนี้ยังประเมินว่า ตลาดการเงินในไตรมาสที่ 3/22 จะเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น หลัง Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินตึงตัวเต็มที่เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคตมีเพิ่มขึ้นจากเดิม สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดพันธบัตรระยะยาวดูน่าสนใจขึ้นในประเด็นของการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่พันธบัตรระยะสั้นจะผันผวนตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ด้านสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่ ตลาดหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ยังคงมีความผันผวนสูงต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ SCBS ยังแนะนำให้ติดตามความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น หลังค่าเงินหลายประเทศอ่อนค่ามากเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการลงทุนในสภาวะตลาดแบบนี้ นักลงทุนยังคงต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ 

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 3.2% แบ่งเป็น ตลาดเกิดใหม่ (EM) เพิ่มขึ้น 3.4% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 3.2% โดยนักลงทุนเริ่มกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ตอกย้ำด้วยผลประกอบการกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าที่คาด และ GDP จีนที่ต่ำกว่าที่คาดจากการล็อกดาวน์ นอกจากนั้นเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดทำให้ตลาดกลับมาคิดว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าเดิม

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ 

1. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่วนจีนและญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยนโยบาย 

 

2. สหภาพยุโรปจะเปิดเผยแผนพลังงาน หากรัสเซียไม่ส่งก๊าซตามแผนในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ 

 

3. ตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่จะเห็นผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย 

 

4. ตัวเลข PMI ของยุโรปที่คาดว่าจะชะลอตัวลง 

 

5. ผลประกอบการของกลุ่ม ABB, ASML, AT&T, Bank of America, GS, IBM, JNJ, Netflix, Novartis, Roche, SAP, Tesla และ Volvo

 

“เรามองว่าช่วงเวลานี้ตลาดผันผวนจากภาพของเศรษฐกิจมหภาคที่อยู่กับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยที่สะท้อนอยู่ในราคาไปแล้วระดับหนึ่ง และสามารถใช้ Asset Allocation ในการลดความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ดี เรามองว่าในช่วงเวลานี้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่อาจเริ่มมีสัญญาณบางอย่างให้สามารถใช้ Stock Selection ในการหาผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดได้ ซึ่งผลประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างกันไป หุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลกอาจจะมี Downside บางกลุ่มที่ราคาปรับตัวลดลงมาแรงก็มีความคาดหวังได้ในระดับหนึ่งที่มีแนวโน้มดีกว่าที่คาด ทั้งนี้ เรายังมองว่าผลประกอบการในไตรมาส 3 จะเป็นจุดต่ำที่สุดของปี ในขณะที่หุ้นอาจจะ Bottom ก่อนผลประกอบการ”

 

กลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย 

มุมมองการลงทุนยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังมองช่วงสั้นตลาดมีความผันผวนสูง จึงต้องเลือกลงทุนมากขึ้น โดยแนะนำเน้นหุ้นปลอดภัยที่มีคุณภาพดีหรือหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ 

 

หุ้น Defensive ที่ราคาปรับลงมาแรงสะท้อนกังวลกำลังซื้อชะลอตัวไปมากแล้ว ขณะที่โมเมนตัมกำไรยังฟื้นตัวดี เลือก BJC, CRC, HMPRO และ GULF  

 

หุ้นที่ได้อานิสงส์บวกจากต้นทุนอะลูมิเนียมอยู่ในทิศทางขาลง ซึ่งส่งผลดีต่อมาร์จิ้น อีกทั้งตลาดส่งออกเติบโตดี เลือก OSP และ CBG

 

หุ้นที่คาดว่าผลดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 1Q65 และกำไรมีโมเมนตัมดีขึ้นตั้งแต่ 2Q65 รวมทั้ง Valuation ไม่แพง (P/BV ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอดีต) เลือก IVL, KCE, SCGP และ MTC 

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: SCGP - เริ่มมีปัจจัยดีหนุนการฟื้นตัว

สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • ดำเนินธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เพื่อให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่ออิงกับส่วนแบ่งตลาดจากมูลค่ายอดขายที่ 36%
  • มองผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดปีนี้ใน 1Q22 แล้ว และ 2Q22 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.97 พันล้านบาท ฟื้นตัว 19%QoQ จากรายได้และมาร์จิ้นที่ดีขึ้น หลังมีการปรับราคาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่สูงขึ้น และมีอุปสงค์ที่ดีขึ้นในประเทศหลักๆ รวมทั้งมีการส่งออกไปจีนมากขึ้น 
  • 2H22 คาดว่ากำไรแข็งแกร่งมากขึ้นทั้ง YoY จากฐานต่ำปีก่อน เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ในไทยและเวียดนาม และ HoH จากการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ ต้นทุนเศษกระดาษมีแนวโน้มลดลง และยังมีอุปสงค์บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนฟื้นตัว หนุนให้ปี 2022 คาดว่ากำไรฟื้นตัว 3.2%YoY  
  • ตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้น SCGP ลดลง 22%YTD ซึ่งสะท้อนการมีต้นทุนที่สูงขึ้นและมีอำนาจต่อรองด้านราคาต่ำไปมากพอสมควรแล้ว ขณะที่ปัจจุบันมองราคาหุ้นกำลังเข้าสู่โหมดฟื้นตัวสอดคล้องไปกับกำไรที่จะดีขึ้นตั้งแต่ 2Q22 จากอุปสงค์ที่ฟื้นและต้นทุนเศษกระดาษที่มีแนวโน้มลดลง
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 65 บาท พร้อมคาดจ่ายเงินปันผลจากกำไรปีนี้หุ้นละ 0.61 บาท หรือคิดเป็น Div. Yield ราว 1.1%

 

เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลเข้าบอนด์ระยะยาวเพิ่ม

1. กระแสเงินกระจุกตัวอยู่ในตราสารหนี้คุณภาพดีและพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งสะท้อนภาพ Risk-Off ของตลาด 

 

2. มีเงินไหลเข้าตราสารหนี้ระยะยาวและไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้ป้องกันเงินเฟ้อ บ่งชี้ว่า นักลงทุนเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดเงินเฟ้อได้ 

 

3. แต่อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินที่ตึงตัวจะทำให้เกิดความเสี่ยงสภาวะถดถอย ทั้งนี้ กระแสเงินไหลออกจากหุ้นขนาดเล็ก หุ้นกลุ่มการเงิน กลุ่มพลังงาน และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 

 

4. ทำให้นักลงทุนไปซื้อหุ้นเชิงรับอย่าง Consumer Staples, Healthcare และ Utilities 

 

5. เริ่มเห็นภาพของการเปลี่ยนกลุ่มเล่น Value to Growth มากขึ้น 

 

6. มีแรงขายในโลหะมีค่าตามแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

7. ตลาดจีนและตลาด EM มีเงินไหลเข้า แต่ไม่สูงมากนัก

 

กลุ่ม Healthcare ที่ยังคงเป็นหลุมหลบภัยช่วงดอกเบี้ยขึ้นแรง

ในช่วงที่ตลาดหุ้นชะลอตัว รวมไปถึงมีแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สร้างความกังวลว่า Fed อาจแก้ด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยง Recession ในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี เรามองเห็นโอกาสการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่ยังคงเป็นหลุมหลบภัย สามารถป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ มีอำนาจในการกำหนดราคา รวมไปถึงมีความผันผวนที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นในช่วงนี้

 

เหตุผลที่ Healthcare น่าสนใจคือ มีความผันผวนต่ำในช่วง Bear Market ที่ตลาดผันผวน สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ยังคงปรับตัวเพิ่มได้ เหมาะเป็นหลุมหลบภัย หรือ Safe Haven ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากมีความ Defensive ความเสี่ยงต่ำ พื้นฐานดี โดยมี P/E 16.3 เท่า, Div. Yield 2%, P/B 3.5 เท่า สามารถป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ เนื่องจากมีมาร์จิ้นค่อนข้างคงที่และนิ่ง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว 

 

นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการกำหนดราคา (Price Purchasing Power) หลังบริการเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้คนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงฐานะทางการเงินต่ำ โดยมี Debt/EBITDA อยู่ที่ 1.2 เท่า เรามองเห็นโอกาสการลงทุนในกลุ่ม Healthcare เพื่อเลี่ยงความผันผวนของตลาดได้ โดยเน้นหุ้นที่มีพื้นฐานแกร่งและมีฐานะทางการเงินที่ดี เราชอบ PFE มองว่าชื่อแบรนด์แกร่ง มียารักษาที่ครอบคลุมหลายโรค รวมถึงมีสิทธิบัตรในตัว ประกอบกับ Portfolio มีความ Diverse IFRG ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า ผลิตภัณฑ์มีความแกร่ง Peers ไม่สามารถผลิตตามได้ รวมไปถึงมีโอกาสในตลาดโลก UNH ที่มีฐานลูกค้าประกันสุขภาพที่กว้างและโตต่อเนื่อง มีธุรกิจ Healthcare Technology ที่พัฒนาเองและมีโอกาสโตต่อในอนาคต

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ใน 2Q22 ที่ยังมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดมีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัว

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากตัวเลข CPI สหรัฐฯ เดือนมิถุนายนที่ยังเร่งตัวขึ้นต่อ และเป็นผลทำให้ Fed ยังจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งตลาดยังคงมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากความกังวเกี่ยวกับโอกาสในการเกิด Recession ในสหรัฐฯ มากขึ้น และจากความเสี่ยงที่ผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าจะถูกปรับประมาณการลง 

 

อย่างไรก็ดี การที่ บจ.สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีงบดุลที่แข็งแกร่งและมีเงินสดที่สูง จะช่วยหนุนแนวโน้มซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประคองตลาด ขณะที่ Valuation ของตลาดลดลงค่อนข้างมากจากช่วงต้นปี จะเป็นการช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

 

 

ตลาดหุ้นยุโรปแม้ว่าจะมี Valuation ที่ถูก แต่เรามองเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหา Fragmentation ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ถูกกดดันจากกระแสการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่แรงขึ้นจากธนาคารกลางอื่นๆ 

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจยุโรปเผชิญความเสี่ยงชะลอตัวหรือถดถอยในบางประเทศจากความเสี่ยงที่จะขาดแคลนพลังงานในช่วง 2H22 และมีโอกาสทำให้เกิด Spillover Effect ในภูมิภาค ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่ได้ผ่อนคลายลง

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ Supply Chain ที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ภาคการบริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวได้หลังการเปิดประเทศในช่วง 2H22 นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ BOJ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย และรัฐบาลมีแนวโน้มออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังพรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภาบน 

 

อย่างไรก็ตาม ความกังวลจากจำนวนผู้ติดโควิดกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินเยนที่อ่อนค่า และ Real Wage ที่ปรับลดลง จากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภค จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน H-Share ดัชนียังอยู่ในระดับที่ไม่แพงและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบบน Online Gaming มากขึ้น หลังล่าสุดทางการจีนได้รับรองเกมใหม่เพิ่มเติมอีก 67 เกม 

 

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ทั้งในประเด็นเรื่องการกีดกันการค้า ความเสี่ยงการ Delisting และหุ้นจีน ADRs การคว่ำบาตรทางอ้อมของสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย ความกังวลบนภาคอสังหาและธนาคารของจีนที่เพิ่มขึ้น หลังผู้ซื้อบ้านขู่จะหยุดจ่ายเงินจำนอง ประกอบกับการที่ EPS บจ.จีน โดยเฉพาะในกลุ่มแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มชะลอลง ทำจุดต่ำสุดช่วง 2Q22 จะยังกดดัน Upside ของดัชนี 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 4 

 

 

หุ้นจีน A-Share ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุน จากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรพิเศษไปใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้หมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่รัฐบาลกลางจีนจะออกพันธบัตรพิเศษเพื่อนำมาใช้จ่ายลงทุนโครงการต่างๆ เช่นกัน แม้การที่จีนยังคงนโยบาย Zero COVID และนำไปสู่การกลับมาล็อกดาวน์ในบางเมืองนั้น (โดยเฉพาะหลังเริ่มมีการกลับมาระบาดมากขึ้น) อาจยังกดดัน Sentiment ของนักลงทุนอยู่ก็ตาม

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่กำลังคลี่คลาย ท่ามกลาง Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการลงทุน นอกจากนี้คาดการณ์การเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2022 ยังเติบโตได้ดี (Consensus คาดว่า EPS ปีนี้จะขยายตัว 13.2%) 

 

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า กนง. จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้งในปีนี้ (กรณีฐาน) ซึ่งจะส่งผลลบต่อการใช้จ่ายครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและบริษัทที่มีหนี้สูง

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวภายในประเทศช่วงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มในตลาดการเงินและตลาดอสังหาของทางการ หรือความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อเวียดนาม หลัง CPI เดือนมิถุนายน +3.4% เข้าใกล้เป้าหมายของทางเวียดนามปีนี้ที่ 4% 

 

แต่เรามองความกังวลดังกล่าวอาจจำกัด Upside ของตลาดหุ้นเวียดนามเพียงช่วงสั้นเท่านั้น ขณะที่ Downside ตลาดเริ่มมีจำกัดตาม Valuation ตลาดที่ปรับลดลงมามาก ดังนั้นเราจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม โดยตลาดได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีและผลประกอบการ บจ. ที่ยังขยายตัวโดดเด่น

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ระยะสั้นนั้นราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Bond Yield และค่าเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งค่าขึ้น ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ตาม เราเริ่มมองว่าราคาทองคำที่ปรับลดลงมามาก มีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย ความต้องจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรอง และการฟื้นตัวของอุปสงค์ทองในฐานะเครื่องประดับจากจีน 

 

น้ำมัน/อาหาร

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

เราปรับมุมมองน้ำมันจาก Positive เป็น Slightly Positive เรายังคงมองว่าภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวนั้นจะคงอยู่จนถึงสิ้นปี 2022 ตามอุปทานน้ำมันที่ลดลงจากการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมไปถึงกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่ยังคงผลิตได้ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ในขณะที่อุปสงค์ของการเปิดเมืองยังคงฟื้นตัวได้ดี 

 

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่าและความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการลงทุนในน้ำมัน

 

REITs ประเทศพัฒนา

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว โดยตลาดยังคงจะได้รับปัจจัยบวกจากการทยอยเปิดเมืองของหลายประเทศ (สนับสนุนความต้องการพื้นที่เช่าคลังสินค้าและพื้นที่ร้านค้าใน Shopping Mall) แต่ปัจจัยลบจาก Bond Yield ขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ต่อเนื่องมายังความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยในขณะนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตก กลับลดทอนผลบวกจากการทยอยเปิดเมืองลง ทำให้การลงทุนในกลุ่ม REITs โดยรวมยังต้องระมัดระวัง

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ได้ปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่ม Hotel ขณะที่กลุ่ม Retail และ Warehouse กำลังทยอยฟื้นตัวตาม ซึ่งจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นใน 2H22 ขณะที่แรงกดดันจาก Bond Yield ระยะยาวส่งผลกระทบลดลงต่อตลาด REITs ในเอเชีย เนื่องจาก Bond Yield สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงตามความกังวลเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย ไม่สร้างแรงกดดันต่อ Bond Yield ของฝั่งเอเชีย ซึ่งส่งผลดีต่อ REITs ในเอเชีย นอกจากนี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในเอเชียที่มีโอกาสต่ำกว่าฝั่งตะวันตก ทำให้ตลาด REITs ในเอเชียยังมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าฝั่งตะวันตก

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 18 ก.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories