THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
ประเทศเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นโลก
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ผลการประชุมธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ชี้ชะตาตลาดหุ้นโลก

... • 30 ก.ค. 2024

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นโลกปรับฐานแรง ซึ่งยังคงเป็นผลจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคที่ผลตอบแทนเด่นในครึ่งปีแรก  
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการ แต่ยูโรโซนเริ่มกลับมาน่ากังวลอีกครั้ง ซึ่งเศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอ ทำให้โอกาสในการลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนมีมากขึ้น
  • ส่วนกรณีที่จีนหั่นดอกเบี้ย ช่วยได้ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ผลที่แท้จริงค่อนข้างจำกัด และเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับ ‘กับดักสภาพคล่อง’ 
  • อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า มีความเป็นไปได้ที่จีนจะลดดอกเบี้ยอีกหาก Fed เริ่มลดดอกเบี้ย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับฐานแรง ซึ่งยังคงเป็นผลจากการขายทำกำไร โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคที่ผลตอบแทนเด่นใน 1H24 นอกจากนั้นยังสะท้อนความกังวลต่อกำลังซื้อที่เริ่มชะลอตัวผ่านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และยุโรป เริ่มเห็นการหมุนเข้าสู่กลุ่มหุ้นเชิงรับและได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย โดยกลุ่มเชิงรับปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5-0.8% แม้ในภาพของตัวเลข GDP 2Q24 ของสหรัฐฯ จะยังออกมาดีกว่าคาด 

 

กลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสื่อสารปรับตัวลดลง 3-4% จากความกังวลงบลงทุน AI ที่สูงและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่ม Consumer Discretionary ปรับตัวลดลง 3% จากผลประกอบการที่อ่อนแอจากกำลังซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะจากจีน 

 

จากภาพตลาดที่ผันผวน ตลาดยังจับตาประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ใกล้ชิด หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศสละสิทธิ์การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและสนับสนุนให้รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ลงสมัครแทน ทำให้การเลือกตั้งสูสีขึ้น 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นอ่อนตัวลงแรง หลังค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น ตลาดหุ้นจีนอ่อนตัวลงเช่นกัน แม้การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ วาระที่ 3 (Third Plenum) จะผ่านไปแล้ว และ PBOC จะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาวลงเหนือความคาดหมายของตลาด สะท้อนความกังวลของกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจหลักที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ตรงจุด 

 

ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงในสัปดาห์นี้จากแรงกดดันของตลาดหุ้นในภูมิภาค ราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงจากความกังวลเศรษฐกิจจีนอ่อนแอกดดันกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ใน SET นอกจากนั้นประเด็นการเมืองยังรอความชัดเจนต่อไปในช่วงเดือนสิงหาคม ผลประกอบการ 2Q24 ที่ประกาศทำให้เริ่มมีความกังวลต่อแนวโน้มการปรับคาดการณ์ในอนาคต

 

เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ส่งผลให้แบงก์ชาติทั่วโลก ‘ลดดอกเบี้ย’ เพิ่ม

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ภาพล่าสุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการ ขณะที่ดัชนีย่อยด้านราคาที่ลดลงบ่งชี้ว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ในยูโรโซนเริ่มกลับมาน่ากังวลอีกครั้ง เพราะภาคบริการยังขยายตัว แต่ภาคการผลิตหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในเยอรมนี บ่งชี้ถึงความต้องการของโลกที่ยังเปราะบาง ขณะที่ภาคบริการของฝรั่งเศสขยายตัวเล็กน้อย โดยได้แรงหนุนจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากอุปสงค์และความเชื่อมั่นที่อ่อนแอ ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอ ทำให้โอกาสในการลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนมีมากขึ้น

 

ในส่วนของการลดดอกเบี้ยของจีนเรามีมุมมอง ดังนี้

 

1. เป็นการส่งสัญญาณช่วยเศรษฐกิจในเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่ผลที่แท้จริงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากลดเพียงเล็กน้อยท่ามกลางเศรษฐกิจที่เผชิญกับ ‘กับดักสภาพคล่อง’ 

2. การลดทั้งดอกเบี้ยระยะยาว (5- & 1-Year LPR) และดอกเบี้ย 1-Year Medium-Term Lending Facility (MLF) บ่งชี้ว่า ทางการให้ความสนใจกับกลไกตลาดมากขึ้น จากแต่ก่อนที่มักจะลดดอกเบี้ยระยะยาวมากกว่า

3. เป็นไปได้ที่จีนจะลดดอกเบี้ยอีกหาก Fed เริ่มลด

 

ในส่วนของเส้นผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มจะกลับมาเป็นปกติ จากที่เคยเป็น Inverted Yield Curve กว่า 2 ปี เป็นเพราะดอกเบี้ยระยะสั้นลดลงเป็นหลัก แต่ระยะยาวทรงตัว ซึ่งเป็นลักษณะ Bull Steepening และบ่งชี้ว่าตลาดเริ่มมองว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวมากขึ้น ทำให้ต้องจับตาว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะชะลอแรงขึ้นหรือไม่ท่ามกลางเศรษฐกิจไตรมาส 1/24 ที่เริ่มชะลอต่ำกว่าคาดแล้ว หลังจากที่เคยขยายตัวสูงกว่าคาดมาโดยตลอดปี 2566

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นที่คาดว่า 2Q67 กำไรจะยังสามารถเติบโตทั้ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังไม่แพง เลือก MINT, BEM, OSP, TU, CPF, TRUE และ AMATA

2. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ Cover Short หลัง ตลท. เริ่มใช้มาตรการ Uptick ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เลือก DELTA, TOP, BEM, MINT และ AOT

3. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน ThaiESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาทและลดเวลาถือเหลือ 5 ปี เลือก ADVANC, AOT, CPALL, BDMS, BBL, KTB และ GULF

4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวน และเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมองว่า SET ลุ้นรีบาวด์ได้ แต่ยังมี Upside จำกัด เนื่องจากยังรอผลประกอบการ 2Q67 ของ บจ.ไทย ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังรอความชัดเจนของปัจจัยการเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยต่างประเทศคาดว่ามีโอกาสรีบาวด์ช่วงสั้นหลังสัปดาห์นี้มีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีออกมา ส่วนนโยบายการเงินของ Fed และ BOE คาดว่ายังมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยเช่นเดิม และต้องติดตามผลประกอบการ 2Q24 ของ บจ.สหรัฐฯ ที่ยังจะออกมา ซึ่งคาดว่าจะแข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอและสงครามเทคโนโลยีที่มีท่าทีรุนแรงขึ้น ยังเป็นความเสี่ยงของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การประชุมนโยบายการเงินของ Fed (30-31 กรกฎาคม), BOJ (31 กรกฎาคม) และ BOE (1 สิงหาคม) โดย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดว่า Fed คงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50% นอกจากนี้ต้องจับตาถ้อยแถลงของประธาน Fed

2. ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือนกรกฎาคม ของจีน สหรัฐฯ และยูโรโซน

3. ตัวเลขตำแหน่งงาน ติดตามว่าจะชะลอต่อเนื่องหรือไม่ ทั้งตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT เดือนพฤษภาคม 8.14 ล้าน), การจ้างงานภาคเอกชน (เดือนมิถุนายน 1.5 แสน) , Non-farm (เดือนมิถุนายน 2.06 แสน) และอัตราว่างงาน (เดือนมิถุนายน 4.1%) 

4. รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง, ภาวะการค้าระหว่างประเทศ และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายนของไทย

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AMATA - Backlog แกร่งหนุน 2Q24 โตดี

 

แนะนำ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในไทย ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 1,000 ราย โดยมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, ระยอง และในเวียดนาม 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว
  • 2Q24 คาดว่ากำไรจะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ จากการบันทึกรายได้จาก Backlog ที่มีอยู่ในมืออย่างแข็งแกร่ง และจะเติบโตต่อเนื่องใน 2H24 ขณะที่ยอดขายที่ดินใหม่ยังได้แรงหนุนจากการเติบโตของการส่งเสริมการลงทุน คาดว่ายอดขายที่ดินใน 2Q24 จะโต YoY และ QoQ จากลูกค้าจีนและไต้หวันในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
  • Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น AMATA ซื้อ-ขายที่ PER 2567F ที่ 11.5 เท่า คิดเป็น -1 S.D. จาก PER เฉลี่ย 10 ปี ซึ่งมองว่ายังไม่สะท้อนกำไรปีนี้ที่คาดว่าจะพลิกเติบโต 18.8%YoY สู่ 2,239 ล้านบาท (บนสมมติฐานไม่มีกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์)
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 29.10 บาท อิงวิธี PER 15.2 เท่า และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2567 หุ้นละ 0.77 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 3.4%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาในทิศทางผสม โดยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างกลุ่มสินค้าหรูหรา การท่องเที่ยว สายการบิน และรถยนต์ เผยงบออกมาซบเซาในทิศทางเดียวกัน หลังแรงซื้อมีการชะลอตัวลง ซึ่งภาพนี้สวนทางกับกลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างกลุ่มผู้ค้าปลีก รวมถึงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ในภาพรวมงบยังคงดีกว่าคาดและเติบโตแม้จะเล็กน้อย แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงซื้อที่ยังดูดีกว่า ด้วยภาพนี้ทำให้เรายังคงแนะอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็น

 

  • บริษัทยุโรปหลายแห่งกำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งในส่วนบริษัทแบรนด์หรู ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยตัวอย่างบริษัทที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ HUGO BOSS, Burberry และ Daimler Truck ซึ่งภาพรวมเผยงบออกมาอ่อนแอและต่ำกว่าคาด หลังมีการลดลงของคำสั่งซื้อจากจีนและมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง ขณะที่กำไรลดลงส่งผลต่อมูลค่าหุ้นและการประเมินมูลค่าบริษัทบางบริษัท เช่น Swatch Group ต้องลดการผลิตลงถึง 30% ในช่วงครึ่งแรกของปี มีความเสี่ยงต่อการจ้างงานในบางบริษัท

 

  • นอกจากนี้ผลประกอบการของกลุ่มการท่องเที่ยวและสายการบินสะท้อนแรงซื้อของนักท่องเที่ยวลดลง และมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งภาพนี้ส่งผลให้การเติบโตของบริษัทชะลอตัวและหดตัวลงด้วยเช่นกัน

 

  • ในทางตรงกันข้าม ภาพงบของกลุ่มสินค้าจำเป็นในส่วนอาหารและเครื่องดื่มอย่าง KO, PEP และ CMG กลับเติบโตดีกว่าคาดและมีแนวโน้มที่ดี แม้จะเป็นระดับการเติบโตที่เล็กน้อย แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงซื้อที่ยังดูดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย

 

เราประเมินว่ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงมีความเสี่ยงจาก

 

1. ภาพรวมเศรษฐกิจที่อ่อนแอและแรงซื้อที่ชะลอตัวในหลายภูมิภาค 

2. การแข่งขันที่สูงยังดำเนินต่อเนื่อง 

3. ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงยังคงทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายแบบมีกลยุทธ์ 

4. เศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อแรงซื้อ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นการเติบโต แต่ก็ยังไม่แสดงความเร่งด่วนในการกระตุ้นอุปสงค์หรือแก้ไขปัญหาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมีแรงกดดันจาก Geopolitical Risk

 

“ในภาพรวมนี้ทำให้เราระมัดระวังกับการลงทุนในบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากจีนสูง ทั้งนี้ อาจเห็นการปรับลดประมาณการได้หลังการประกาศผลประกอบการ รวมถึง Guidance ที่ต่ำกว่าที่คาด เพราะการฟื้นตัวช้าของจีน ทั้งนี้ แนะนำกลุ่มสินค้าจำเป็นหลังยังคงมีแรงซื้อที่ดี ประกอบกับด้วยลักษณะหุ้นที่เป็นเชิงรับ ทำให้การลงทุนกลุ่มนี้สามารถลดความเสี่ยงได้ในช่วงที่ตลาดผันผวน”

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความผันผวนในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่มากขึ้น (บ่งชี้จาก VIX Index ที่เพิ่มขึ้น) และจากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ข้อพิพาทการค้าระหว่างจีน-คู่ค้าต่างๆ, ข้อพิพาทในไต้หวัน และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แม้จะเริ่มมีความคืบหน้าในการเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาสก็ตาม

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

ตลาดกำลังให้น้ำหนักกับตลาดแรงงานที่กำลังเข้าสู่สมดุล แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงต่อส่งผลให้ UST Yield ทั้งตัวสั้นและตัวยาวยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลง ถึงแม้ GDP สหรัฐฯ ใน 2Q67 จะดีกว่าคาดมากก็ตาม โดย Yield ตัวสั้นปรับลดลงแรงกว่าตัวยาว

 

Real Yield มีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และคุ้มค่าที่จะถือ เพื่อ Hedge ในกรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด 

 

เราคาดว่าความผันผวนของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดย Bond ตัวยาว (>7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงจากนโยบายการคลัง หลังเลือกตั้ง Bond ช่วง Mid-Curve (2-4 ปี) มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ยังเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

US Treasury & IG

 

ถึงแม้จะมีการ Correction ของตลาดหุ้น แต่ Credit Spread ของ IG Bond ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจาก 

 

1. Supply ของ IG Bond ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ Demand 

2. งบดุลที่แข็งแกร่งของกลุ่ม IG Bond 

 

TGB Yield Curve ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน แนะนำให้ลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond Duration 2-4 ปี โดยผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 4.2-5.3% ซึ่งสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ ที่ 2.6% 

 

High Yield Bond

 

US HY Yield-to-Worst และ HY Spread ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และ Supply ของการ Re-Finance ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2567

 

สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก

 

1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจาก FedWatch Tool ของ CME Group พบว่า มีความน่าจะเป็นราว 100% ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 

2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่เติบโต 

3. อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ CMBS ในภาค Office ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง 

4. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

GDP ใน 2Q67 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาดมาก ยังเป็นการยืนยันภาพ Soft Landing ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดฯ ให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเป็น 3 ครั้งจาก 2 ครั้งในปี 2567 ซึ่งช่วยประคอง Valuation ในตลาด อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation Gap ระหว่างหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นขนาดเล็กที่ต่างกันมาก ทำให้ Fund Flow มีการ Rebalancing เข้าสู่หุ้นขนาดเล็กและหุ้นขนาดใหญ่มีการปรับฐาน 

 

ด้านหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากงบที่มีแนวโน้มออกมาดี แม้เสี่ยงเผชิญแรงขายทำกำไรบนหุ้นกลุ่มเทค ส่วนหุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

นักลงทุนย้ายการลงทุนออกจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าในปัจจุบันสูงเกินจริง ไปยังกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวแย่กว่า ได้แก่ หุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจและได้รับแรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และกลุ่ม Old Economy (ดัชนี Dow Jones) จากมุมมองที่ว่า กำไรของ บจ. จะกระจายตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น ขณะที่ Sentiment เชิงลบจากคณะทำงานของไบเดนเล็งเพิ่มความเข้มงวดทางการค้า เพื่อสกัดอุตสาหกรรมชิปในจีน ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเทค (ที่เกี่ยวกับ Supply Chain ของชิปและเซมิคอนดักเตอร์) 

 

อย่างไรก็ดี ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากกำไรของ บจ. 2Q67 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดและกระจายตัวมากขึ้น 

 

หุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE ที่หนุนทั้ง Valuation และหนุน EPS ตลาดฯ นอกจากนี้ EPS ยังได้แรงหนุนเพิ่มจากโมเมนตัมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดีขึ้น โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ความเสี่ยงข้อพิพาทการค้ากับจีน รวมถึงกับสหรัฐฯ หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และความไม่แน่นอนทางการเมืองและการคลังในฝรั่งเศส ตามการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังมีอยู่ อาจสร้างความผันผวนและกดดัน Sentiment ตลาดฯ โดยรวมอยู่ก็ตาม

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

เราคาดว่าหุ้นกลุ่ม Value ญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลในญี่ปุ่น ที่จะช่วยหนุน Valuation และ ROE นอกจากนี้กลุ่มฯ มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการคุมเข้มทางการเงินของ BOJ เพิ่มเติม (ทั้งขึ้นดอกเบี้ยต่อและเริ่มลดการเข้าซื้อ JGB) ท่ามกลางความเสี่ยงที่หุ้นกลุ่มส่งออกและหุ้นกลุ่ม Growth นำโดยเทคอาจพักฐาน

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

การประชุม Third Plenum ของรัฐบาลจีน มีมุมมองสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนต้องแข่งกับภาคการบริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงอ่อนตัว ถึงแม้จะได้ในส่วนการส่งออกมาช่วยก็ตาม 

 

การส่งออกยังเป็นภาพของการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่เริ่มกระจายตัวจากธีม AI มายังกลุ่ม Conventional อย่างเช่น สมาร์ทโฟนและดาต้าเซิร์ฟเวอร์ โดยเราคาดว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์ในกลุ่มนี้จะมีสัญญาณชัดเจนขึ้นใน 2H67

 

หุ้นอินเดีย

 

ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยการประกาศงบประมาณปี FY2567 บ่งชี้ว่า รัฐบาลยังคงเป้าขาดดุลงบประมาณลดลงอยู่ที่ 4.9% ของ GDP แม้ว่าการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้นและเงินปันผลของธนาคารกลางที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมงบประมาณในโครงการกระตุ้นการจ้างงาน (Employment Linked Incentive Scheme) ซึ่งช่วยปิดจุดอ่อนรัฐบาลนเรนทรา โมดี ด้านการจ้างงานที่อ่อนแอใน 2 เทอมที่ผ่านมา

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีฯ มีปัจจัยหนุนในระยะยาวจาก 

 

1. เศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งจากภาคการบริโภคที่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ BI คาดว่า GDP อินโดนีเซีย จะขยายตัว 4.7-5.5% ในปีนี้ 

2. FDI ที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้นจากการมีแร่นิกเกิลจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV

3. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วง 2Q67 เป็นต้นไป

4. Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง

5. ค่าเงินรูเปียห์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นหลัง Fed ลดดอกเบี้ย ขณะที่ในระยะกลาง-ระยะยาว ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าเกินเป้าหมายของ BI ที่ 16,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐอาจเป็นปัจจัยกดดันในระยะสั้น

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก EPS Growth ใน 1Q67 ที่ผ่านจุดต่ำไปแล้ว และจากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในการประชุม Politburo ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หลัง GDP ทั้งปีเสี่ยงพลาดเป้า นอกจากนี้คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้น และทางการจีนยังมีแนวโน้มเข้ามาช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงและรักษาเสถียรภาพของตลาดฯ

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาวเนื่องจาก

 

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้

2. เริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์

3. ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ระยะยาว

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 30 ก.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories