THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

คาด ธปท. เริ่มส่งสัญญาณ ‘ลดดอกเบี้ย’ หลัง Fed ใช้ยาแรง ลดดอกเบี้ย 0.50%

... • 23 ก.ย. 2024

HIGHLIGHTS

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวขึ้นได้ดี หลัง Fed ปรับลดดอกเบี้ย 50 bps ไปสู่ 4.75-5.00% รวมถึงปรับคาดการณ์ลดดอกเบี้ย (Dot Plot) อีก 50 bps ในปีนี้ และยังลดอีก 1 % ในปีหน้า ไปสู่ 3.25-3.50%
  • การลดดอกเบี้ย 50 bps ที่เหนือการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์นั้น รวมถึงปรับประมาณการการว่างงานขึ้นเล็กน้อย บ่งชี้ว่าการลดครั้งนี้ช้ากว่าที่ควร (Behind the Curve) เล็กน้อย จึงต้องลดแรงขึ้น เพื่อชดเชยกับการที่คงดอกเบี้ยไปเมื่อการประชุมในเดือนกรกฎาคม
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เชื่อว่ากระแสการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ เริ่มลดดอกเบี้ยได้ และมองว่า ธปท. จะต้องส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในระยะต่อไป ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศที่เปราะบาง สินเชื่อที่หดตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคในช่วงเดือนที่ผ่านมา
  • จึงมองเป็นโอกาสในการเก็งกำไรหุ้นที่ได้อานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง คือกลุ่มเช่าซื้อ (MTC) กลุ่มอสังหา (AP) กลุ่มค้าปลีก (CPALL) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF) กลุ่ม Reits (LHHOTEL และ DIF)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวขึ้นได้ดี หลัง Fed ปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าคาด โดยปรับลด 50 bps ไปสู่ 4.75-5.00% รวมถึงปรับคาดการณ์ลดดอกเบี้ย (Dot Plot) อีก 50 bps ในปีนี้ และยังลดอีก 1 % ในปีหน้า ไปสู่ 3.25-3.50% ขณะที่ปรับประมาณการเงินเฟ้อลง อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ 4.4% ในปี 2024 และ 2025 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.2% ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงเกินไปนัก ด้าน GDP ปรับลงมาเล็กน้อยที่ 2% สำหรับปี 2024-2027

 

ซึ่งสะท้อนมุมมองของ Fed ที่ให้น้ำหนักมากขึ้นกับภาคแรงงานที่เริ่มชะลอตัวลง ตัวเลขยอดค้าปลีกที่สูงกว่าคาด และตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ที่ลดลงต่ำกว่าคาด ตอกย้ำมุมมองของตลาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอแบบ Soft Landing หนุนหุ้นกลุ่มเทคและกลุ่ม Cyclical ปรับตัวขึ้น ขณะที่กลุ่ม Defensive ถูกขายทำกำไร ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หนุนกระแสเงินไหลเข้าสู่ตลาด EM เป็นปัจจัยผลักดันตลาดหุ้น EM ให้ปรับขึ้นในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้นการลดดอกเบี้ยของ Fed คาดจะนำไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศ EM ฝั่งเอเชีย ส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป

 

ตลาดหุ้นจีนปรับขึ้นได้เช่นกันแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนสิงหาคมจะออกมาอ่อนแอกว่าคาด แต่ยังมีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นที่อาจมีออกมาเพิ่มเติม

 

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ในทิศทางเดียวกับภูมิภาค จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าหนุนกระแสเงินไหลเข้า และความคาดหวังนโยบายเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาในระยะถัดไป รวมถึงความคาดหวังเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากกองทุนรวมวายุภักษ์ที่อยู่ระหว่างการจองซื้อในสัปดาห์นี้ ตลาดน้ำมันฟื้นตัวตามสินทรัพย์เสี่ยงอื่น รวมถึงความไม่สงบในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

Fed ลดดอกเบี้ยแรงกว่าคาด สะท้อนว่าเริ่มวัฏจักรขาลง ‘ช้ากว่าที่ควร’

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า การลดดอกเบี้ย 50 bps เหนือการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์นั้น รวมถึงปรับประมาณการการว่างงานขึ้นเล็กน้อย บ่งชี้ว่าการลดครั้งนี้ช้ากว่าที่ควร (Behind the Curve) เล็กน้อย จึงต้องลดแรงขึ้น เพื่อชดเชยกับการที่คงดอกเบี้ยไปเมื่อการประชุมในเดือนกรกฎาคม

 

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณว่าพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตลาดแรงงานดีขึ้น และพร้อมที่จะใช้ทุกเครื่องมือที่จะรักษาการเติบโตให้สูงกว่าศักยภาพในระยะยาว ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งการที่ Fed มีช่องว่างเชิงนโยบาย (Policy Space) ที่ลดดอกเบี้ยได้มาก จะทำให้ประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องในลักษณะ Soft Landing

 

ในส่วนของนโยบายการเงินโลก เราเชื่อว่ากระแสการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ เริ่มลดดอกเบี้ยได้ โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยในปัจจุบัน ธนาคารกลางชั้นนำ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป แคนาดา สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงจีน ก็เริ่มลดเช่นเดียวกัน

 

คาด ธปท. เริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย

 

ทำให้เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในระยะต่อไป ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศที่เปราะบาง สินเชื่อที่หดตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคในช่วงเดือนที่ผ่านมา

 

ในส่วนตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนสิงหาคมที่ชะลอลงมากนั้น บ่งชี้ว่าภาคเศรษฐกิจกำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่ผิดพลาด โดยมุ่งเน้นกระตุ้นภาคการผลิตแทนที่จะสนับสนุนภาคการใช้จ่าย ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวถึง 5% ในปีนี้มีมากขึ้น โดยเราได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจจีนลงเหลือ 4.8% ในปีนี้ และ 4.5% ในปีหน้า

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นเก็งกำไรซึ่งเทคนิคมีสัญญาณกลับตัว และ Valuation ยังไม่แพง โดยซื้อขายที่ PER และ PBV ต่ำกว่า -1SD แนะนำ AOT, CRC, AWC, BCH และ BEM

2. หุ้นเก็งกำไรซึ่งได้อานิสงส์บวกจากสถานการณ์น้ำท่วม แนะนำ HMPRO, GLOBAL, CPALL, BJC, DCC และ TASCO

3. หุ้นเก็งกำไรซึ่งคาดว่าได้อานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง แนะนำกลุ่มเช่าซื้อ (MTC) กลุ่มอสังหา (AP) กลุ่มค้าปลีก (CPALL) กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF) กลุ่ม Reits (LHHOTEL และ DIF)

4. หุ้นที่คาดว่าได้อานิสงส์จากกองทุนรวมวายุภักษ์รอบใหม่ เลือก KTB, BBL, BCP, ADVANC และ HMPRO

 

“ช่วงสั้นมอง SET จะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway Up จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง บวกกับนโยบายผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทระยะสั้น จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาค สะท้อนได้จาก Fund Flow ในเดือนกันยายน ที่ต่างชาติพลิกซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะจีน ยังมีแนวโน้มอ่อนแอ ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมองจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าในกลุ่ม Defensive อย่างกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสื่อสาร” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. ยอดส่งออกและดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือนสิงหาคม (เดือนก่อน 15.2% และ 1.8% ตามลำดับ)
  2. ดัชนีราคา Core PCE ของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม (เดือนก่อน 2.6%)
  3. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของประเทศเศรษฐกิจหลักเดือนกันยายน คาดในส่วนภาคบริการชะลอลง ขณะที่ภาคการผลิตยังหดตัว

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: FTREIT - กำไรแข็งแกร่ง ปันผลสูงจูงใจ

 

แนะนำ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FTREIT เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้

 

เป็นผู้เข้าลงทุนในโรงงานและคลังสินค้าพื้นที่รวมกว่า 2.3 ล้านตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย อาทิ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรปราการ และ EEC โดยซื้อทรัพย์สินพร้อมกับทำสัญญาเช่ากับบริษัทระดับโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ขั้นสูง โลจิสติกส์ และอิเล็กทรอนิกส์

 

มองเป็นหนึ่งในผู้ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากทรัพย์สินทั้งหมดของกองทรัสต์ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย และส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินประเภทถือกรรมสิทธิ์

 

4QFY24 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2024) คาดกำไรเพิ่มขึ้น YoY จากรายได้จากทรัพย์สินใหม่ที่เข้าลงทุนในปีก่อน ขณะที่การเติบโต QoQ จะเกิดจากกำไรขายทรัพย์สิน ส่วนปี FY2024 คาดกำไรปกติเติบโต 0.2%YoY สู่ระดับ 2.6 พันล้านบาท

 

เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หน่วยละ 12.50 บาท อิงวิธี DDM (WACC 5.7% และการเติบโตระยะยาว 0.3%) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี FY2024 และ FY2025 ที่หน่วยละ 0.75 บาท และ 0.76 บาท คิดเป็น Dividend Yield เฉลี่ยปีละ 7%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับลดดอกเบี้ย 50 bps เพื่อลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าปริมาณและจำนวนในการลดดอกเบี้ย ทำให้ในภาพรวมมองว่าการส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยของ Fed ยังทำให้สินทรัพย์เสี่ยงสามารถลงทุนได้ในระยะถัดไป เช่น หุ้นที่คาดได้ประโยชน์จาก Sentiment การลดดอกเบี้ย HD, LOW, FSLR, ENPH และกลุ่มเทคที่แนวโน้มดี MSFT, AMD, CRM, PANW, NVDA

 

การตอบสนองของตลาด: การลดดอกเบี้ย 50 bps ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ดูเหมือนจะมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แต่ก็มีการเตรียมการมาแล้วระดับหนึ่ง ทำให้ตลาดตกใจในระยะสั้น สะท้อนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า 0.7% และ Yield อายุ 2 ปี ที่ลดลง 10 bps แต่ก็สามารถกลับมาปิดในระดับเดิมได้ ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง แต่ก็มีการย่อตัวมาในช่วงท้ายของตลาด ถือว่าความผันผวนไม่สูงมากและไม่ได้มองว่าการลดดอกเบี้ย 50 bps จะทำให้ตลาดมี Downside มาก

 

มุมมองต่อตลาด: ตลาดอาจจะมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ควรจะเป็นเลยส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการประชุมในครั้งก่อน อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นเป็นความตั้งใจที่จะลดผลกระทบของการจ้างงานที่ชะลอตัวลง ทำให้ตลาดไม่ตอบสนองในเชิงลบมากนัก และเรามองว่าการลดดอกเบี้ยเพื่อลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจมีความสำคัญมากกว่าปริมาณและจำนวนในการลดดอกเบี้ย ทำให้ในภาพรวมมองว่าการส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ย 50 bps ยังทำให้สินทรัพย์เสี่ยงสามารถลงทุนได้

 

คำแนะนำ: ตลาดกำลังจะเข้าสู่ช่วงวัฏจักรการลดดอกเบี้ย ซึ่งเราประเมินว่าเศรษฐกิจจะไม่เกิดสภาวะถดถอยรุนแรง ทำให้การลงทุนในภาพรวมยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยเรามองสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดี

 

1. ทองคำและตราสารหนี้ระยะสั้น

2. หุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก Sentiment การลดดอกเบี้ย HD, LOW, FSLR, ENPH

3. หุ้นสหรัฐฯ ที่มี Valuation ถูกและเงินปันผลสูง VZ, PFE, F, TGT

4. กลุ่มเทคโนโลยีที่ราคาหุ้นยังมีแนวโน้มดีอย่าง MSFT, AMD, CRM, PANW, NVDA

5. กลุ่มที่มีหนี้สินสูง (สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง) ORCL, KHC, HP, EXPE, T

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ แม้ล่าสุด Fed ลดดอกเบี้ยลง 50 bps นอกจากนี้ สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ข้อพิพาททางการค้า ความไม่แน่นอนบนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง หลังล่าสุดเพจเจอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ได้ระเบิดพร้อมกันหลายร้อยเครื่อง

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี 50 bps แต่ตลาด Bond มี Market Reaction ที่ต่างกัน โดย 10Y UST Yield ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 9 bps ขณะที่ 10Y TGB ปรับลดลง 7 bps สะท้อนว่าตลาด UST มีการ Pricing ล่วงหน้าไปพอสมควร ส่วนตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge กรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

 

เราคาดว่าความผันผวนของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดย Bond ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงจากนโยบายการคลังหลังเลือกตั้ง ขณะที่ Bond ช่วงอายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ยังเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

US Treasury & IG

 

Yield Curve ในปัจจุบันปรับตัวจาก ‘Inverted’ สู่ภาพของ ‘Normal Curve’ แล้ว

 

YTW ของ IG ปรับตัวลงตาม UST แต่ Spread ค่อนข้างทรงตัวตลอดเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับ 10Y TGB Yield ที่ยังคงทรงตัว แนะนำลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond โดยยังแนะนำให้ลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี เพื่อ Lock Rate ในช่วงของ Curve Steepening โดยผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 3.5-4.8% ซึ่งสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ ที่ 2.9%

 

High Yield Bond

 

ภาพรวมของตลาด HY ปรับตัวดีขึ้นจาก

 

1. Default Rates ปรับตัวลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

2. สัดส่วนของการ Upgrade จาก HY ขึ้นสู่ IG สูงกว่าการ Downgrade IG ลงมา HY โดย BB Rating มีการปรับมุมมองดีขึ้น

3. ประเด็นเรื่อง Maturity Wall ที่เรากังวลว่าจะเห็นการเร่งตัวในปี 2025 ถูกปรับโครงสร้างจนการเร่งตัวอาจเลื่อนออกไปเป็นปี 2026

 

สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ ส่วนสินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก

 

1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่าจะปรับลดอีก 2 ครั้งใน 4Q67 ครั้งละ 25 bps รวม 50 bps

2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93.6% ในช่วง 2Q67

3. กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง

4. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต

5. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก

 

1. เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2H67 จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยภาครัฐจะสนับสนุนเงิน 1 หมื่นบาทต่อคน การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นในเดือนสิงหาคม และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

2. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง โดยดัชนี SET ซื้อขายอยู่บนระดับ Valuation ที่น่าสนใจ 12M Forward P/E อยู่ที่ 14.7x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ -1SD

3. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ของสหรัฐฯ ที่มากกว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

เรามองว่าการที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายบนสมมติฐานของเราที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing โดยไม่ถดถอย จะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation ของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับที่สูง (นำโดยหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย) อาจทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่า ‘Soft Landing’ ในรอบก่อนๆ

 

BOJ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ สะท้อนความระมัดระวังหลังเกิดเหตุการณ์ Yen Carry Trade

 

เรายังคงแนะนำทยอยสะสม โดยยังเน้นการลงทุนหุ้นในกลุ่ม Quality Growth และกลุ่ม Defensive ที่จะยังให้ผลตอบแทนที่ดีในกรณีที่เกิด Soft Landing

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

นับตั้งแต่ 3Q67 จนถึงสิ้นวันที่ 20 กันยายน ผลตอบแทนของหุ้นสหรัฐฯ ได้กระจายตัวออกจากกลุ่ม IT (-0.72%QTD) กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ (-8.9%QTD) ไปยังหุ้นกลุ่มอื่นๆ สะท้อนผ่านดัชนี S&P 500 Equal Weight (+8.5%QTD) ที่ Outperformed ดัชนีหลักทั้ง S&P 500 (+4.6%QTD) และ NASDAQ (+1.3%QTD) ขณะที่กลุ่ม Defensive (Utilities +16.0%QTD, Healthcare +7.1%QTD, Consumer Staples +7.4%QTD) ยังให้ผลตอบแทนที่ชนะตลาด เรายังเน้นกลยุทธ์ลงทุนแบบ Barbell Strategy ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นกลุ้ม Quality Growth ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive

 

หุ้นยุโรป

 

ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป โดยเราคาด BOE และ ECB จะลดดอกเบี้ยครั้งถัดไปในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ ตามลำดับ โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรป ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมถึงประเด็นข้อพิพาททางการค้ากับจีน ทั้งบนเซมิคอนดักเตอร์และรถยนต์ EV อาจสร้างความผันผวนและกดดัน Sentiment ดัชนีอยู่ก็ตาม

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

การบรรลุเป้าหมายการเติบโต GDP ที่ 5% ในปี 2567 ของจีน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยวงจรการส่งออกและการค้าโลกเริ่มอ่อนกำลังลงในปีหน้า ตลาดอสังหาและอุปสงค์ภายในประเทศของจีนยังคงอ่อนแอ ตลาดยังคงคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนัยจากทางการจีน

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลงจากฐานที่สูง สินเชื่อที่เติบโตช้า และการรัดเข็มขัดทางการคลังที่จะเริ่มส่งผลในช่วง 2H67

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนในอินโดนีเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 2H67 นำโดยกลุ่มการบริโภคในประเทศและกลุ่มการเงิน ขณะที่ Valuation ทั้ง FWD P/E และ P/BV ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

 

หุ้นอินเดีย

 

เรามีมุมมองระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้น จากการขยายตัวของ GDP ที่มีทิศทางชะลอตัวลง โดย GDP ใน CY2Q67 ขยายตัว +6.7%YoY ชะลอตัวลงจาก +7.8%YoY ใน CY1Q67 ขณะที่กำไรของ บจ. ถูกปรับประมาณการลง โดยได้รับแรงกดดันจากกำไรที่ตกต่ำในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ 12M FWD P/E ของดัชนี MSCI India ยังคงอยู่ที่ 24.5 เท่า (+2.4SD) สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าตลาด MSCI ASIA ex. Japan ราว 92% (เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 54%) นอกจากนี้ 7 ใน 17 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมี Valuation ที่สูงกว่า +2.0SD อย่างไรก็ดี โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีมีการอ่อนตัว

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก

 

1. เศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งจากการบริโภคที่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวดีราว 7.1%YoY ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BI โดยเราคาดว่า BI จะปรับลดดอกเบี้ยในช่วง 4Q67 อีก 50 bps

2. FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ในช่วง 2Q67 +16.6%YoY

3. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวใน 2H67

4. Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง

5. ค่าเงินรูเปียห์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าจากผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารกลางอินโดนีเซียที่อยู่ในระดับสูงราว 7.0% ซึ่งจะช่วยดึงเงินไหลเข้า

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มจากทางการในช่วงที่เหลือของปี หลัง GDP ในปีนี้เสี่ยงขยายต่ำกว่าเป้าที่ราว 5% มีมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed จะทำให้ PBOC มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน โดยไม่ต้องกังวลความเสี่ยงเงินทุนไหลออกมากนัก นอกจากนี้เราคาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีนใน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นผ่านการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลมากขึ้น

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก

 

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้

2. เริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์

3. ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น

4. เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำ เริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และ US Bond Yield ที่ปรับลดลง จากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ยังสนับสนุนราคาทองคำให้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 23 ก.ย. 2024

READ MORE



Latest Stories