กลายเป็นประเด็นปัญหาเมื่อประกาศ กกต. เรื่องการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดเรื่องหลักฐานการยื่นสมัคร ส.ส. ในส่วนของหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง (2559-2561) แต่มีนักการเมืองโต้แย้งว่า การยื่นภาษีปี 2561 ต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2562 จึงควรใช้หลักฐานเสียภาษีย้อนหลังที่เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2558-2560 แทน ทั้งนี้ หากนับตามปฏิทินของ กกต. ที่จะรับสมัคร ส.ส. ที่กำหนดไว้ในวันที่ 4-8 ก.พ. ก็จะทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ทุกพรรคเหลือเวลาการยื่นภาษีให้เสร็จสิ้นเพียงแค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์
วันนี้ (25 ม.ค.) พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า การเสียภาษีของปี 2561 ทางกรมสรรพากรให้เสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2562 ดังนั้นผู้ที่จะสมัครสามารถยื่นเสียภาษีประจำปี 2561 ได้แล้ว และขอหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำมายื่นสมัคร
ส่วนที่มีบางคนอาจจะมีปัญหาในการรวบรวมหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ให้ไปยื่นเสียภาษีประจำปีกับกรมสรรพากรก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานใบเสร็จการเสียภาษีมายื่นสมัครต่อ กกต. ก่อน แล้วค่อยไปยื่นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ภายหลังต่อกรมสรรพากร ยืนยันว่าการเสนอให้ กกต. ผ่อนผันเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดอยู่ในกฎหมาย
ส่วนการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียนั้น ขณะนี้ใครที่มีเฟซบุ๊กหรือไลน์ก็ไม่ต้องลบแอ็กเคานต์ โดยสามารถแจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งได้เลย แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดรับสมัคร แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้งแล้ว การหาเสียงต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ
ทั้งนี้ระเบียบ กกต. ที่ออกมาในเรื่องดังกล่าวก็เพื่อที่จะปกป้องตัวของผู้สมัครที่จะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ให้ไม่ถูกผู้อื่นปลอมแอ็กเคานต์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และเพื่อ กกต. จะคำนวณเป็นค่าใช่จ่ายในการหาเสียง ยืนยันว่า กกต. ให้อิสระและเสรีภาพในการหาเสียงเต็มที่ แต่ขอให้เก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายไว้เป็นหลักฐาน
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้บริหารกูเกิล เรื่องการคำนวณค่าใช้จ่าย และสัปดาห์หน้าก็จะไปคุยกับไลน์ ประจำประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย
พ.ต.อ. จรุงวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้สมัครพรรคการเมืองตำหนิ กกต. ล่าช้าเรื่องการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงว่า กกต. กำลังเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับสมัครจึงไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่เขต ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผูกกับการคำนวณจำนวนป้าย ผู้ช่วยหาเสียง และการคำนวณค่าใช้จ่ายซึ่งเริ่มนับแล้ว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์