- วิกฤตโควิดสร้างความตึงเครียดให้กับระบบสาธารณสุขทั่วโลก และพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วย วงการแพทย์จึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหานี้ในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- ผลสำรวจเผยว่า โมเดลการดูแลแบบใหม่จะช่วยให้บุคลากรมี Work-Life Balance ที่ดีขึ้น (58%) และสร้างความพึงพอใจในการทำงาน (56%) มากกว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบเดิม
- ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์กว่า 48% ทุ่มเงินลงทุนไปกับระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในรูปแบบดิจิทัลมากที่สุด ตามมาด้วยการขยายระบบบริการออนไลน์ (Virtual Care) ที่ 24% แต่ในอนาคตอีก 3 ปีจะไปให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวินิจฉัยและประกอบการตัดสินใจเชิงการแพทย์มากขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าตัวจากระดับในปัจจุบัน (74% ต่อ 34%)
- อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม (43%) การใช้มาตรฐานหรือระบบที่ต่างกันในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ (37%) และขาดความสนใจจากบุคลากร (32%) ยังคงเป็นอุปสรรคในการปรับใช้โมเดลดูแลผู้ป่วยแบบใหม่
‘The Greatest Wealth is Health’ วลีที่ว่าด้วยเรื่องของสุขภาพที่ดีคือรากฐานของความมั่งคั่งอย่างแท้จริง ถูกใช้มาเป็นเวลากว่า 2,000 ปี โดยนักกวีชาวโรมัน Virgil และยังคงสามารถใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้
นับตั้งแต่วิกฤตโควิดที่พิสูจน์ให้เราเห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างความต้องการบริการด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองตามความต้องการได้ ส่งผลให้บุคลากรจำนวนมากเกิดอาการหมดไฟ และผู้ป่วยเองก็ต้องแบกรับค่ารักษาที่สูงขึ้นด้วย ทำให้วงการการแพทย์จำเป็นต้องหานวัตกรรมและโมเดลการแพทย์รูปแบบใหม่ เพื่อรับมือและบรรเทาปัญหาดังกล่าวในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรให้ได้มากที่สุด
ประเทศสิงคโปร์ - วันที่ 26 กรกฎาคม 2023 Philips บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ทำธุรกิจมากว่า 130 ปี ได้เปิดเผยดัชนี Philips Future Healthcare Index (FHI) ประจำปี 2023 ผ่านการสำรวจกลุ่มผู้บริหารแถวหน้าด้านสาธารณสุขและบุคลากรในวงการการแพทย์รุ่นใหม่กว่า 3,000 คน จาก 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์ โดยหัวใจสำคัญของดัชนีคือ เทรนด์การแพทย์แห่งอนาคตสำหรับปี 2023 ที่ชี้ว่า พัฒนาการของเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Big Data จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเพื่อยกระดับการแพทย์ ซึ่งจะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร และสร้างประสบการณ์ที่สะดวกสบายให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
“เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ระบบสาธารณสุขให้บริการจากส่วนกลางหรือโรงพยาบาลเท่านั้น แต่จากผลสำรวจล่าสุดทำให้เราทราบว่า ผู้บริหารส่วนมากในวงการเฮลท์แคร์ในเอเชีย-แปซิฟิกกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับปัญหาด้านบุคลากรและต้นทุนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย และเราเล็งเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่กระจายบริการด้านสาธารณสุขออกไปนอกโรงพยาบาล ด้วยการนำดิจิทัลเฮลท์เทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้เชื่อมต่อบริการสาธารณสุข จะช่วยให้บริการด้านสุขภาพเข้าถึงผู้ป่วยมากขึ้นทุกที่ ทุกเวลา” Caroline Clarke กล่าว
Caroline Clarke ซีอีโอและรองประธานบริหาร
ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก (CEO and Executive Vice President, Philips APAC)
เปิดอินไซต์ดัชนี Philips Future Healthcare Index (FHI) ประจำปี 2023
โมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งผลลัพธ์การรักษาและแนวทางการทำงาน
นอกจากการพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยแล้ว รายงาน FHI ยังเผยให้เห็นว่า โมเดลการดูแลสุขภาพแบบใหม่จะช่วยให้บุคลากรแถวหน้าของวงการเฮลท์แคร์ในเอเชีย-แปซิฟิกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย 2 ใน 3 (66%) ของผู้บริหารแถวหน้าและบุคลากรรุ่นใหม่บอกว่า พวกเขาพร้อมที่จะทำงานภายใต้โมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 59% ในขณะที่ 63% เชื่อว่า กระบวนการดูแลรักษาสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 57%
นอกจากนี้โมเดลใหม่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อกำลังใจและการรักษาบุคลากรในองค์กร โดยบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคหวังว่า โมเดลใหม่นี้จะช่วยให้พวกเขามีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ที่ดีขึ้น (58%) และสร้างความพึงพอใจในการทำงาน (56%) มากกว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบเดิม
มากไปกว่านั้น 44% ของกลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคยังเห็นว่า โมเดลใหม่ในการดูแลผู้ป่วยมีประโยชน์ในการช่วยให้การยอมรับข้อตกลงต่างๆ ของผู้ป่วยในการรักษา (Patient Compliance) เป็นไปได้ง่ายมากขึ้น และ 36% มองว่า โมเดลใหม่จะช่วยให้ความรู้และความเข้าใจกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น รวมไปถึง 35% ที่เห็นว่า ประสิทธิภาพ (เช่น ระยะเวลารอคอยในการรักษาที่สั้นลง, แพทย์ได้ตรวจและพบปะผู้ป่วยมากขึ้น) และความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อพัฒนาด้านสุขภาวะของประชากร คือสิ่งที่โมเดลใหม่เข้ามาช่วยให้ทำได้ง่ายขึ้น
ลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยกระดับบริการทั้งวงการเฮลท์แคร์
ในปัจจุบันข้อมูลจากรายงาน FHI พบว่า ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์กว่า 48% ทุ่มเงินลงทุนและให้ความสำคัญกับระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในรูปแบบดิจิทัลเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยการขยายระบบบริการออนไลน์ (Virtual Care) ที่ 24% เพื่อกระจายทรัพยากรไปยังส่วนต่างๆ ของระบบนิเวศในการบริการสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านของแพทย์สู่ผู้ป่วยและการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนของบุคลากรได้
ทั้งนี้ ถ้าหากมองไปในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า ผลสำรวจชี้ว่า แนวโน้มการลงทุนจะไปให้ความสำคัญกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวินิจฉัยและประกอบการตัดสินใจเชิงการแพทย์ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ เช่น วิเคราะห์แนวโน้มการตอบสนองของผู้ป่วยต่อแผนการดูแลรักษา เพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น (39%) เป็นอันดับแรก และอันดับที่สองคือ การตัดสินใจให้คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยหรือการตรวจหาโรคแบบอัตโนมัติ (35%) และอีกส่วนคือ การช่วยประมวลผลทางคลินิก (Clinical Decision) จากประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย (33%)
โดยในอีก 3 ปี ผู้บริหารวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะลงทุนใน AI เพื่อการแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3 ใน 4 (74%) จากปัจจุบันที่ 34% ของการลงทุนที่เกิดขึ้นไปบ้างแล้วกับเทคโนโลยีนี้ ความพยายามผลักดันการกระจายตัวของบริการสาธารณสุขจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านระบบออนไลน์ โดยครึ่งหนึ่ง (51%) ของผู้บริหารบอกว่า สถานบริการด้านสาธารณสุขของพวกเขามีการให้บริการดูแลผู้ป่วยหนักผ่านระบบออนไลน์แล้ว ในขณะที่ 62% ให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่บ้านแล้วผ่านทั้งระบบออนไลน์และการพบปะตัวบุคคล และ 31% มีการวางแผนที่จะทำเช่นนั้นในอีก 3 ปีข้างหน้า
การเตรียมความพร้อมบุคลากรกับเทคโนโลยี เป็นหัวใจสำคัญของก้าวต่อไปในวงการเฮลท์แคร์
กว่าครึ่ง (58%) ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้มีทักษะที่จำเป็นโดยเฉพาะทักษะในการอ่านและแปลข้อมูล (29%) และความสมัครใจของบุคลากรที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (29%) เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการนำโมเดลใหม่ของการดูแลผู้ป่วยมาใช้
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้และปรับความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็น โดย 44% ของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่มองว่า การอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจในการใช้งานมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัย (41%) และเพื่อช่วยลดภาระงาน (40%) เหตุผลเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้นด้วย
แต่การจะนำโมเดลการแพทย์ใหม่มาใช้อย่างยั่งยืนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นปัจจัยท้าทาย เช่น ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม (43%) การใช้มาตรฐานหรือระบบที่ต่างกันในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ (37%) และขาดความสนใจจากบุคลากร (32%) ดังนั้นกลุ่มผู้บริหารจึงเห็นว่า การสร้างกรณีศึกษาทางธุรกิจและเผยแพร่ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ จะเป็นกุญแจสำคัญในการทลายอุปสรรคเหล่านี้ ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันกับพาร์ตเนอร์และการสรรหาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางเพิ่มขึ้น (35%) จะเป็นประโยชน์ให้บรรลุเป้าหมายได้
อีกหนึ่งส่วนที่ยังมีความท้าทายคือ มาตรฐานการเก็บข้อมูล เนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลและศูนย์ให้บริการสาธารณสุขต่างๆ รวมถึงผู้ป่วยเอง มีการใช้เครื่องมือการแพทย์นับร้อยยี่ห้อ เพื่อตรวจวัดสถานะทางสุขภาพ แต่เครื่องมือเหล่านี้ยังขาดรูปแบบการเก็บข้อมูลที่ใช้เป็นสากลทั่วกัน ทำให้ Philips กำลังเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลเรียกว่า Telebridge ที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งจะช่วยในการเก็บข้อมูลอย่างมีระบบและนำไปใช้ในระบบสาธารณสุขได้มากยิ่งขึ้น
การเพิ่มศักยภาพเฮลท์แคร์ผ่านระบบ Smart Hospital เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลน
แม้จะไม่มีคำนิยามที่ตายตัว แต่ Smart Hospital ในมุมมองของ Kevin Kim หัวหน้าฝ่ายโซลูชันด้านสุขภาพประจำฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก นั้นคือ การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการให้บริการ (Patient-Centric Services) โดยนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้นจากปัญญาประดิษฐ์มาประกอบการตัดสินใจในการหาแนวทางรักษา ให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องมีบุคลากรที่มากประสบการณ์มาช่วยตีความข้อมูลด้วย เพราะหน้าที่ของ AI ตอนนี้ยังมีข้อจำกัด และจำเป็นต้องใช้การตัดสินใจจากบุคลากรที่ก็อยู่ในสภาวะขาดแคลน ณ เวลานี้
ในปัจจุบันการแชร์ข้อมูลความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกันผ่านระบบ Telemedicine ระหว่างโรงพยาบาลจึงเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในโลก ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกากว่า 20 ปีมาแล้ว เรียกว่าระบบ Clinical Command Center เป็นระบบศูนย์บัญชาการที่รวมบุคลากรมากประสบการณ์มาไว้ด้วยกัน เพื่อคอยแนะนำบุคลากรที่มีประสบการณ์น้อยกว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยา การป้องกัน หรือขั้นตอนการรักษาเบื้องต้น
สาเหตุที่ระบบ Clinical Command Center เกิดขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใหญ่และมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ไม่เพียงพอที่จะอยู่ประจำในทุกๆ โรงพยาบาลได้ ทำให้บางโรงพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อรักษา เพราะขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมาก และตอนนี้โรงพยาบาลกว่า 500 แห่งในสหรัฐฯ ได้ใช้โมเดลนี้แล้ว
Kevin Kim กล่าวว่า ทุกวันนี้ปัญหาที่โรงพยาบาลบางแห่งเจอไม่ใช่การขาดสิ่งที่จะใช้ดึงดูดหมอเก่งๆ มาร่วมงาน หากแต่เป็นการไม่สามารถหาหมอที่มีคุณสมบัติตามความต้องการได้เลย ดังนั้น Clinical Command Center จึงเป็นหนึ่งทางที่จะกระจายทรัพยากรการแพทย์ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
Kevin Kim หัวหน้าฝ่ายโซลูชันด้านสุขภาพ
ประจำฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก (Head of Health System Solutions, Philips APAC)
พาชมเครื่องมือแพทย์ภายในสำนักงานใหญ่ฟิลิปส์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
แบบจำลองเส้นทางของผู้ป่วยภายใต้โมเดลเฮลท์แคร์ใหม่
อีกหนึ่งไฮไลต์ภายในงานคือ การสาธิตประสบการณ์คร่าวๆ ของระบบการบริหารจัดการผู้ป่วยแห่งอนาคต โดย Kevin Kim ได้เล่าผ่านชายวัยชราคนหนึ่งชื่อลุง Tan ที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวระหว่างที่ลูกชายของเขาออกไปทำงาน โดยวันหนึ่งคุณลุงเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันและล้มลงกับพื้น แต่โชคดีที่เขาห้อยเครื่องตรวจวัดความเคลื่อนไหวไว้ที่คอ (Philips Lifeline) ซึ่งสามารถวัดความผิดปกติในรูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานได้ ทำให้การล้มลงอย่างรวดเร็วส่งสัญญาณความไม่ปกติไปที่เครื่อง และหากไม่มีการตอบสนองเพราะหมดสติภายใน 30 วินาที เครื่องจะส่งสัญญาณเพื่อเรียกรถพยาบาลโดยอัตโนมัติ หรือถ้าในกรณีที่มีสติ ผู้ป่วยก็สามารถใช้เครื่องติดต่อโรงพยาบาลโดยตรงได้อีกด้วย
เครื่องห้อยคอที่สามารถตรวจวัดความเคลื่อนไหว ()
เพื่อเรียกรถพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน
เมื่อรถพยาบาลมาถึงจุดเกิดเหตุและเคลื่อนย้ายคุณลุงไปสู่โรงพยาบาล ระหว่างนั้นภายในจะมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ส่งข้อมูลอาการต่างๆ เช่น ชีพจรหรือจุดที่บาดเจ็บของคุณลุงในขณะเดินทาง ทำให้แพทย์รับรู้และสามารถประเมินสถานการณ์ได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงห้องฉุกเฉิน
โดยในห้องฉุกเฉินเองก็จะมีระบบติดตามอาการด้วยระบบแดชบอร์ดที่แสดงข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อช่วยแพทย์ในการเรียงลำดับความสำคัญว่าควรให้การดูแลผู้ป่วยรายไหนก่อน ตามความรุนแรงที่แสดงผลผ่านบนแดชบอร์ด
เมื่อคุณลุงได้รับการรักษาเรียบร้อยและกลับบ้านแล้ว แพทย์ยังสามารถติดตามผลการรักษาของคุณลุงได้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งประหยัดเวลาของทั้งผู้ป่วยและบุคลากร และยังสามารถนัดพบเจอกันเพื่อดูอาการได้หากจำเป็นด้วย
หากจะสรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมทางการแพทย์จากมุมมองของ Philips การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนเพื่อการจัดการข้อมูลของผู้ป่วย และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์, โรงพยาบาล และผู้ป่วย มีความเสถียรและแข็งแรงก่อน จากนั้นในอีก 3 ปีจะค่อยๆ ขยับไปเพิ่มการลงทุนกับ AI และ Big Data เพื่อนำอินไซต์จาก AI มาช่วยในการตัดสินใจทางการแพทย์
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อให้พวกเขามั่นใจในการใช้เทคโนโลยี จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้การปรับใช้โมเดลใหม่แพร่หลายยิ่งขึ้น และอีกส่วนคือระบบการรักษาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่หนักอาจสามารถรักษาตัวได้ที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเราเคยเปลี่ยนจากการเรียนและทำงานออนไซต์ในทุกๆ วัน มาเป็นระบบไฮบริดที่เทคโนโลยีมีความเพียบพร้อมมากขึ้น
อ้างอิง: