THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

คาด ‘ความขัดแย้งตะวันออกกลาง’ ทรงตัว แต่ยังต้องจับตาการตอบโต้ด้วยขีปนาวุธที่อาจกระทบโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

... • 7 ต.ค. 2024

HIGHLIGHTS

  • หุ้นโลกเริ่มเห็นสัญญาณการปรับฐาน จากแรงกดดันความกังวลภาพสงครามในตะวันออกกลางจากสงครามตัวแทนไปสู่สงครามตัวจริง โดยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธประมาณ 200 ลูกใส่อิสราเอล
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางน่าจะไม่เพิ่มความรุนแรงขึ้นมากกว่าปัจจุบันมากนัก เนื่องจากอิสราเอลประสบความสำเร็จในการโจมตีที่ผ่านมา และทำให้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงลดลงได้ระดับหนึ่ง
  • สิ่งที่ต้องจับตาต่อคือ การตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธว่าจะรุนแรงจนกระทบโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
  • สำหรับตลาดหุ้นไทย มอง SET แกว่งตัว Sideway โดยมี Upside จำกัด เนื่องจากในประเทศขาดปัจจัยหนุนใหม่ และแนะนำให้เก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากกองทุนวายุภักษ์รอบใหม่ ซึ่งจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 7 ตุลาคมนี้ ใช้ชื่อย่อว่า ‘VAYU1’

สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นโลกเริ่มเห็นสัญญาณการปรับฐาน จากแรงกดดันความกังวลภาพสงครามในตะวันออกกลางจากสงครามตัวแทนไปสู่สงครามตัวจริง ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่าขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุยังไม่ลดดอกเบี้ยในอัตราเร่งและขึ้นกับภาพเศรษฐกิจ โดยตัวเลขจ้างงานส่วนใหญ่ยังออกมาดี ทั้งนี้ตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและสูงกว่าคาด เช่นเดียวกับตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนกันยายนที่สูงกว่าเดือนก่อนและสูงกว่าคาดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่าคาด ขณะที่ PMI ภาคการผลิตอยู่ในโซนหดตัว ขณะที่ภาคบริการยังแข็งแกร่ง

 

ด้าน EM ตัวเลขการผลิตจีนยังอ่อนแอ PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการของจีนเดือน กันยายนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่ตลาดคาด กำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมของจีนลดลงแรง ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นดูเอาจริงเอาจังกับมาตรการภาคอสังหา ทั้งในส่วนของการผ่อนปรนเกณฑ์การซื้อบ้านที่สอดคล้องกับมาตรการที่ออกมาในสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงการเร่งให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย

 

ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงรุนแรงหลังจากที่ ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น กล่าวว่าเศรษฐกิจยังไม่พร้อมสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง

 

ด้านตลาดหุ้นไทยเริ่มพักฐาน เงินบาทเริ่มอ่อนค่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มเห็นแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่วนหนึ่งคาดเป็นผลจากเม็ดเงินกองทุนวายุภักษ์ที่เริ่มเข้าสู่ตลาด

 

ตลาดน้ำมันดีดตัวขึ้นแรงหลังความไม่สงบในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น และการตอบโต้ของอิสราเอลมีโอกาสกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันของอิหร่าน

 

‘ความขัดแย้งตะวันออกกลาง’ น่าจะไม่เพิ่มความรุนแรงขึ้น

 

ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธประมาณ 200 ลูกใส่อิสราเอล หลังจากที่ ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ถูกสังหารโดยอิสราเอลในเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศที่เบรุต ขณะที่กองทัพอิสราเอลเริ่มบุกทางภาคพื้นดินเข้าสู่เลบานอนเพื่อทำลายโครงสร้างทางการทหารของฮิซบอลเลาะห์

 

ซึ่ง บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า แม้ความเสี่ยงในระยะสั้นจะดูรุนแรงขึ้น แต่ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา หลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น มีผู้นำของกลุ่มต่อต้านอิสราเอลถึง 3 ท่าน ได้แก่ โมฮัมเหม็ด เดอิฟ (Mohammed Deif), หัวหน้าปีกทหารของกลุ่มฮามาส, ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ (Hassan Nasrallah), และประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ของอิหร่าน ทำให้แกนนำกลุ่มต่อต้านอิสราเอลอ่อนกำลังลง

 

ทั้งนี้ เรามองว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางน่าจะไม่เพิ่มความรุนแรงขึ้นมากกว่าปัจจุบันมากนัก เนื่องจากอิสราเอลประสบความสำเร็จในการโจมตีที่ผ่านมา และทำให้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงลดลงได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่าการตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธจะรุนแรงจนกระทบต่อโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

 

ในส่วนของราคาน้ำมัน เรามองว่าความรุนแรงล่าสุดทำให้เกิด War Premium ประมาณ 5 ดอลลาร์ ขณะที่ในปัจจุบันปริมาณการผลิตในกลุ่ม OPEC ทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 26.5 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่ต้นปี โดยผู้ที่คงกำลังการผลิตเป็นหลัก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ที่ยังคงกำลังการผลิตที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน ขณะที่ผู้ผลิตอื่น เช่น อิหร่าน UAE และอิรัก เพิ่มกำลังการผลิตเล็กน้อย ทำให้เราคาดว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจทำให้ซาอุเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและเพิ่มรายได้เข้าประเทศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. ธีม Earning Play สำหรับนักลงทุนระยะกลางที่ต้องการหุ้นพื้นฐานดีที่กำไร 3Q67 คาดมีโมเมนตัมเติบโต YoY และ QoQ เลือก BEM, BCH, BDMS, GULF และ TRUE

 

2. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากกองทุนวายุภักษ์รอบใหม่ เลือก KTB, BBL, BCP, ADVANC และ HMPRO

 

3. หุ้นเก็งกำไรซึ่งคาดว่าจะได้อานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง แนะนำเป็น กลุ่มเช่าซื้อ (MTC), กลุ่มอสังหา (AP), กลุ่มค้าปลีก (CPALL), กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF) และ กลุ่ม REITs (LHHOTEL หรือ DIF)

 

4. หุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ได้ ดังนั้นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง จึงยังคงเลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET แกว่งตัว Sideway โดยมี Upside จำกัด เนื่องจากในประเทศขาดปัจจัยหนุนใหม่ โดยอยู่ระหว่างรอความชัดเจนเรื่องทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งอาจถูกหักล้างด้วยความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้น ซึ่งทำให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยติดต่อกันมา 6 วันทำการ ขณะที่ปัจจัยภายนอกมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลต่อตลาดการเงินมากนัก โดยคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนกันยายน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด 0.76% จาก 0.35% เดือนสิงหาคม

 

2. รายงานการประชุม FOMC เพื่อติดตามสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน

 

3. เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนกันยายน ตลาดคาด 2.4% เทียบกับเดือนสิงหาคมที่ 2.5%

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AOT - กำไรแกร่ง…1QFY25 เข้าสู่ไฮซีซัน

 

แนะนำ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานรายใหญ่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาด ประมาณ 90% ของจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมด โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศสูงสุดในกลุ่มท่าอากาศยาน จึงคาดการณ์การฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

 

  • 4QFY24 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2024) คาดกำไรปกติอยู่ที่ 4.1 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 14%YoY (จากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น) แต่ลดลง 10%QoQ (จากรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ลดลง) ส่วน 1QFY25 คาดว่ากำไรจะแข็งแกร่งขึ้น YoY และ QoQ จากเป็นไฮซีซันของธุรกิจท่องเที่ยวไทย และเป็น Golden Week ของจีน

 

  • ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับขึ้น 7.5% น้อยกว่ากลุ่มท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.6% ซึ่งมองว่ายังไม่สะท้อนกำไรที่กลับสู่ขาขึ้น โดยปี FY2024 คาดว่ามีกำไรปกติที่ 1.93 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโต 108.6%YoY และโตต่อ 21%YoY ในปี FY2025

 

  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 70 บาท โดยอิงวิธี DCF และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี FY2024 หุ้นละ 0.68 บาท คิดเป็น Dividend Yield 1.1%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้นจนภาพรวมกดดันต่อการลงทุนในตลาดทุน ทำให้มีความผันผวนขึ้นและปรับตัวขึ้นได้อย่างจำกัด ซึ่งในระยะถัดไป หากสถานการณ์ยังคงรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่สงคราม ซึ่งภาพรวมสถานการณ์ในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวคือ

 

1. ล่าสุดอิสราเอลมีการยกระดับการบุกโจมตีจนส่งผลให้ผู้นำคนสำคัญในกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เสียชีวิต ในขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนโจมตีอิสราเอลจากชายแดนทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งติดกับทางตอนเหนือของอิสราเอล

 

2. ส่วนอิหร่านที่เป็นผู้สนับสนุนฮิซบอลเลาะห์นั้นก็อยู่ในช่วงตอบโต้อิสราเอลผ่านเลบานอนและมีท่าทีว่าจะตอบโต้ไปอย่างต่อเนื่อง

 

3. ขณะที่สหรัฐฯ มีท่าทีที่จะสนับสนุนการโจมตีของอิสราเอลต่อ Oil Facility ของอิหร่าน ซึ่งหลังจากที่ประธานาธิบดี Joe Biden ให้สัมภาษณ์นั้น ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate เพิ่มขึ้นต่อแตะ 8% ในสัปดาห์นี้ รวมถึงราคาหุ้นพลังงานก็ปรับขึ้นในทางเดียวกัน

 

4. ภาพรวมจาก 3 สถานการณ์ในตะวันออกกลางสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นและหาทางออกอย่างสมดุลไม่ได้ ซึ่งทำให้เรามองว่าในระยะถัดไปหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนนำไปสู่สงคราม ควรจะเก็งกำไรกลุ่ม Defense, พลังงาน และ Commodities ได้ และแนะการพิจารณาหุ้นกลุ่มเชิงรับที่ได้รับผลกระทบน้อยและจำกัดกว่ากลุ่มเชิงวัฏจักร อย่าง WMT หรือ TGT

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่องหรือเงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ แม้ Fed เริ่มลดดอกเบี้ย 50 bps

 

นอกจากนี้ สภาพคล่องหรือเงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ข้อพิพาททางการค้า, ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ, สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังล่าสุดมีรายงานว่า Biden กำลังหารือกับอิสราเอลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการโจมตีคลังน้ำมันของอิหร่าน

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

โอกาสที่ US Bond Yield ทั้งระยะสั้นและยาวจะปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนกันยายนออกมาดีกว่าคาดมาก และลดโอกาสการเกิด Bull Steepening เพิ่มเติมในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge กรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

 

เราคาดว่าความผันผวนของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดย Bond ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงจากนโยบายการคลังหลังเลือกตั้ง ขณะที่ Bond ช่วงอายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ยังเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

US Treasury & IG

 

UST Yield อายุ 2Y และ 10Y ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ Yield Spread ปรับตัวลดลงกลับไปแตะระดับต่ำสุดในรอบปี หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนกันยายนออกมาดีกว่าคาดมาก ซึ่งลดความกังวลทางด้านเศรษฐกิจและปรับความคาดหวังของตลาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เพียงครั้งละ 25 bps จากเดิมคาดลดลงที่ 50 bps ในเดือนพฤศจิกายน

 

แนะนำลงทุน ทั้ง US Treasury และ IG Bond โดยยังแนะนำให้ลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) โดยผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 3.8%-4.8% ซึ่งสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ “ระยะยาว” ที่ 2.9%

 

High Yield Bond

 

High Yield (HY) Spread ทำจุดต่ำสุดใหม่จากภาพตลาดแรงงานที่ดีกว่าคาดมาก ภาพรวมของตลาด HY ปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

 

1. Default Rates ปรับตัวลดลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

 

2. สัดส่วนของการ Upgrade จาก HY ขึ้นสู่ IG สูงกว่าการ Downgrade IG ลงมา HY โดย BB Rating มีการปรับมุมมองดีขึ้น

 

3. ประเด็นเรื่อง Maturity Wall ที่เรากังวลว่าจะเห็นการเร่งตัวในปี 2025 ถูกปรับโครงสร้างจนการเร่งตัวอาจเลื่อนออกไปเป็นปี 2026

 

สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก

 

1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่าจะปรับลดอีก 2 ครั้ง ใน 4Q2567 ครั้งละ 25 bps รวม 50 bps

 

2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93.6% ในช่วง 2Q2567

 

3. กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง

 

4. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต

 

5. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก

 

1. เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2H2567 จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการแจกเงิน 10,000 บาท และโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ที่คาดว่าจะนำกลับมา การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่เร่งตัวขึ้นในเดือนสิงหาคมและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

 

2. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง โดยดัชนี SET ซื้อขายอยู่บน 12M Forward P/E ที่ 14.7x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ -1.0 S.D.

 

3. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

 

4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed Fund ของสหรัฐฯ ที่มากกว่าของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

เรามองว่า การที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายบนสมมติฐานของเราที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing โดยไม่ถดถอย จะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation ของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับที่สูง (นำโดยหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย) อาจทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่า ‘Soft Landing’ ในรอบก่อนๆ

 

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบล่าสุด ซึ่งสะท้อนความระมัดระวังหลังเกิดเหตุการณ์ Unwind Yen Carry Trade

 

เรายังคงแนะนำให้ทยอยสะสม โดยยังเน้นการลงทุนหุ้นในกลุ่ม Quality Growth และ กลุ่ม Defensive ที่จะยังให้ผลตอบแทนที่ดีในกรณีที่เกิด Soft Landing

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดี นำโดยภาคการบริโภค โดย GDP ใน 2Q2567 ถูกปรับประมาณการรอบสุดท้ายสู่ระดับ 3%QoQ SAAR ซึ่งสูงกว่าการเติบโตที่เป็น Trend ระยะยาวของสหรัฐฯ และ สูงกว่าที่ตลาดคาดอย่างมาก 

 

ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนกันยายนที่ออกมาน้อยกว่าคาด ยังคงช่วยลดความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย ในส่วน GDI (Gross Domestic Income) มีการปรับประมาณการขึ้นมาใกล้เคียงกับ GDP ซึ่งช่วยลดข้อกังวลว่า GDP ที่แท้จริง อาจต่ำกว่าคาดเมื่อเทียบกับ GDI เรายังคงเน้นกลยุทธ์ลงทุนแบบ Barbell Strategy ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นกลุ้ม Quality Growth ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive

 

หุ้นยุโรป

 

ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราคาด ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยต่อในเดือนตุลาคม และเดือนธันวาคมนี้ตามลำดับ โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรป ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองการคลังในฝรั่งเศส และข้อพิพาททางการค้ากับจีน โดยล่าสุด EU ได้ลงมติบังคับใช้ภาษีสูงสุด 45% ต่อรถยนต์ EV ที่นำเข้าจากจีน ซึ่งอาจสร้างความผันผวนและกดดัน Sentiment ดัชนีฯ

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

ตลาดหุ้นจีนตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารแห่งชาติจีน (PBOC) และรัฐบาลกลาง (นับจากวันที่ 24 กันยายน 2024) โดยดัชนีทั้ง A-Share และ H-Share ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ตลาดคาดหวังว่าจะมีนโยบายการคลังทยอยออกมาหลังวันหยุดช่วง 1-7 ตุลาคมนี้

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดีย เติบโตชะลอตัวลงจากฐานสูง เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตช้าและการรัดเข็มขัดทางการคลังที่จะเริ่มส่งผลในช่วง 2H2567

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนในอินโดนีเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ในช่วง 2H2567 นำโดยกลุ่มการบริโภคในประเทศ และ กลุ่มการเงิน ขณะที่ Valuation ทั้ง FWD, P/E และ P/BV ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

 

หุ้นอินเดีย

 

เรามีมุมมองที่ระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้น จากการขยายตัวของ GDP ที่มีทิศทางชะลอตัวลง โดย GDP ใน CY2Q2567 ขยายตัว +6.7%YoY ชะลอตัวลงจาก +7.8%YoY ใน CY1Q2567 ขณะที่กำไรของ บจ. ถูกปรับประมาณการลงโดยได้รับแรงกดดันจากกำไรที่ตกต่ำในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

 

นอกจากนี้ 12M FWD P/E ของดัชนี MSCI India ยังคงอยู่ที่ 24.2 เท่า (+2.2 S.D.) สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าตลาด MSCI Asia ex Japan ราว 70% (เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 55%)

 

นอกจากนี้ 7 ใน 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ยังมี Valuation ที่สูงกว่า +2.0 S.D. อย่างไรก็ดี โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีฯ มีการอ่อนตัว

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก

 

1. เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีจากการบริโภคที่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวดีราว 7.1%YoY ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BI โดยเราคาดว่า BI จะปรับลดดอกเบี้ยในช่วง 4Q2567 อีก 50 bps

 

2. FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ในช่วง 2Q2567 +16.6% YoY

 

3. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวใน 2H2567

 

4. Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง

 

5. ค่าเงินรูเปียห์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า จากผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารกลางอินโดนีเซียที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจาก Sentiment ของนักลงทุนที่ดีขึ้นหลังทางการออกมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ ซึ่งครอบคลุมทั้งนโยบายการเงิน, นโยบายการคลัง, การเยียวยาอสังหา และการส่งเสริมตลาดทุน ซึ่งจะช่วยทำให้ความเสี่ยงที่ GDP Growth ในปีนี้จะขยายต่ำกว่าเป้าหมายที่ราว 5% มีน้อยลง ประกอบกับเรายังคาดว่า บริษัทจดทะเบียนจีนใน A-share มีแนวโน้มออกมาตรการเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และยกระดับมูลค่ากิจการผ่านการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลมากขึ้น

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก

 

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้

 

2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ และประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยงโดยลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น

 

3. เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม

 

นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่า และ US Bond Yield ที่ปรับลดลง จากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ยังสนับสนุนราคาทองคำให้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 7 ต.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories