THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
แบงก์ชาติ
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

‘แบงก์ชาติ’ น่าจะปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ยเป็นที่แน่นอนแล้ว

... • 13 พ.ค. 2024

HIGHLIGHTS

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นหลังจากตัวเลขจ้างงานออกมาต่ำกว่าคาด เช่นเดียวกับตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าคาด ทําให้ตลาดมองว่าโอกาสในการลดดอกเบี้ยในปีนี้มีเพิ่มขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยทรงตัวหลัง GDP ถูกปรับลดลงต่อเนื่อง ล่าสุด โดย กกร. แต่ได้ชดเชยจากผลประกอบการที่ทยอยประกาศในช่วงที่ผ่านมาดีกว่าคาด และราคาน้ำมันที่ขยับขึ้น
  • ตลาดแรงงานและดัชนี PMI กําลังสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยโมเดลของอินโนเวสท์ เอกซ์ พบว่า หาก JOLT ลดลงสู่ระดับ 8 ล้านตําแหน่ง อัตราว่างงานจะเข้าสู่ 4% ซึ่งเป็นอัตราที่ Fed คาดในปีนี้ ทําให้ลดดอกเบี้ยได้
  • ขณะที่การฟื้นตัวของเงินเฟ้อของไทยเป็นลักษณะ Cost-Push ซึ่งจะเป็นเหมือนภาษีและกดดันการใช้จ่ายของประชาชนในระยะต่อไป ด้วยความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีมากขึ้น และการที่ Fed ส่งสัญญาณดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for Longer) ทําให้มองว่า ธปท. น่าจะปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ยแล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวขึ้นได้ดีภายหลังจากตัวเลขจ้างงานออกมาต่ำกว่าคาด เช่นเดียวกับตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าคาด ทําให้ตลาดมองว่าโอกาสในการลดดอกเบี้ยในปีนี้มีเพิ่มขึ้น โดยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ลดลงต่ำกว่า 4.5% อีกครั้ง หนุนตลาดสินทรัพย์เสี่ยงปรับขึ้นได้ ล่าสุดตลาดปรับความคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ของ Fed เพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้งในเดือนกันยายนและธันวาคม 

 

หุ้นในกลุ่ม Defensive เช่น Healthcare และ Consumer Staples ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6-1.8% เช่นเดียวกับกลุ่ม Utilities ที่เพิ่มขึ้น 3.6% จาก Yield ที่ลดลง ส่วนกลุ่มการเงินปรับเพิ่มขึ้น 2.2% จากผลประกอบการที่ดีกว่าคาดและตัวเลขเศรษฐกิจจีน 

 

ฝั่งตลาดหุ้น EM ปรับตัวขึ้นเช่นกันจากปัจจัยหนุนของตลาดหุ้นโลก รวมถึงความคาดหวังมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนและตัวเลขการส่งออกและนําเข้าของจีนที่ดีกว่าที่คาด เป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจจีน 

 

ในยุโรปเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ย นําโดยธนาคารกลางสวีเดนลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และหลายฝ่ายคาดว่า ธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษจะลดในการประชุมเดือนมิถุนายน

 

ตลาดหุ้นไทยทรงตัวหลัง GDP ถูกปรับลดลงต่อเนื่อง ล่าสุด โดย กกร. แต่ได้ชดเชยจากผลประกอบการที่ทยอยประกาศในช่วงที่ผ่านมาดีกว่าคาด และราคาน้ำมันที่ขยับขึ้น

 

ธปท. น่าจะปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ยแล้ว

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ตลาดแรงงานและดัชนี PMI กําลังสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยนอกจากอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ตําแหน่งงานเปิดใหม่ก็ยังชะลอต่อเนื่อง โดยโมเดลของเราพบว่า หาก JOLT ลดลงสู่ระดับ 8 ล้านตําแหน่ง อัตราว่างงานจะเข้าสู่ 4% ซึ่งเป็นอัตราที่ Fed คาดในปีนี้ ทําให้ลดดอกเบี้ยได้ แต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันอาจทําให้การลดดอกเบี้ยทําได้ยากขึ้น ขณะที่ตัวเลข ISM, PMI ภาคบริการล่าสุดบ่งชี้การชะลอตัว เช่นเดียวกับ S&P Global Composite PMI ที่ชะลอลง ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ

 

ด้านการส่งออกจีนที่ดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังซึมเซา ทําให้จีนเน้นการส่งออกผ่านการลดราคาสินค้าส่งออกเพื่อเป็นการเร่งระบายสต็อก และเป็นการเร่งตัวของการส่งออกอาเซียนเป็นหลัก (ขยายตัว 13%) ท่ามกลางการกีดกันการค้าของฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การนําเข้าของจีนเพิ่มขึ้นรุนแรง โดยเฉพาะสินค้าเซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ บ่งชี้ว่าอาจมีการเร่งผลิตเพื่อส่งออกในระยะต่อไป

 

ด้านเงินเฟ้อไทย เรามองว่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกมากขึ้นในระยะต่อไปจากมาตรการรัฐที่หมดลง น้ำมันที่แพงขึ้น และภัยแล้งที่กระทบสินค้าเกษตร ซึ่งการฟื้นตัวของเงินเฟ้อในลักษณะนี้เป็นลักษณะ Cost-Push ซึ่งจะเป็นเหมือนภาษีและกดดันการใช้จ่ายของประชาชนในระยะต่อไป ด้วยความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีมากขึ้น และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for Longer) ทําให้เรามองว่า ธปท. น่าจะปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ยแล้ว

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

1. หุ้นธีม Earning Play สําหรับเก็งกําไรผลประกอบการ 1Q24 ซึ่งคาดว่าจะเติบโตดี YoY และจะประกาศในสัปดาห์หน้า อีกทั้งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นไม่มาก เลือก AOT, BDMS, BEM, ERW, MINT, BCH, OSP

 

2. สําหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกําไรในหุ้น คาดว่ามีโมเมนตัมกําไร 2Q24 เติบโตดีทั้ง YoY และ QoQ เลือก BEM, KCE, HMPRO, THRE, TIDLOR

 

3. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET จะเคลื่อนไหวในกรอบ โดยยังให้น้ำหนักกับการติดตามโค้งสุดท้ายของการประกาศผลประกอบการ 1Q24 ของกลุ่ม Real Sector ที่จะทยอยออกมาในสัปดาห์หน้าเป็นสัปดาห์สุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะยังเห็นภาพการฟื้นตัวของผลการดําเนินงานที่ช้า ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยูโรโซนที่จะประกาศออกมา คาดว่ายังไม่เห็นสัญญาณการปรับลง ซึ่งอาจกดดันตลาดการเงินในช่วงสั้นได้ แต่อย่างไรก็ดี ภาพการผลิตของจีนคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ” 

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. สภาพัฒน์แถลง GDP 1Q24 ของไทย และ ส.อ.ท. แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

2. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยูโรโซนเดือนเมษายน

3. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนเมษายน เช่น ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราว่างงาน

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: MINT - ผ่านจุดต่ำสุด 2Q24 High Season

 

แนะนํา บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้ประกอบธุรกิจพักผ่อนและสันทนาการที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน NH Hotel Group (NHH) ซึ่งเป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในทวีปยุโรป
  • 1Q24 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี โดยคาดมีผลขาดทุนปกติ 243 ล้านบาท ดีขึ้นจากขาดทุนปกติ 647 ล้านบาทใน 1Q23 ปัจจัยขับเคลื่อนมาจากธุรกิจโรงแรมที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในยุโรปและไทย ขณะที่ผลการดําเนินงาน 2Q24 คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้น (เพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ) จากการเข้าสู่ High Season ของยุโรป
  • มองเป็นหนึ่งในหุ้นเด่นของกลุ่มท่องเที่ยว และ Valuation ยังไม่แพง เนื่องจากซื้อขายที่ PER 2024F ระดับ 23 เท่า เท่ากับระดับใกล้เคียง -1SD ของ PER เฉลี่ยในอดีต และยังไม่ได้สะท้อนกําไรปกติปี 2024 ที่คาดว่าจะเติบโต 12%YoY สู่ระดับ 8.0 พันล้านบาท และจะยังเติบโตต่อเนื่องอีก 13%YoY ในปี 2025
  • เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 44 บาท (อิงวิธี SOTP) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกําไรปี 2024 ที่หุ้นละ 0.44 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 1.3% เงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.83 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละ 4%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวขึ้นกว่า 11% โดยเราประเมินว่าเป็นผลมาจาก 1. การผ่อนคลายมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ 2. ตัวเลขการท่องเที่ยวที่ดี 3. การยกระดับตลาดหุ้นให้โปร่งใส 4. ตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่ได้แย่ ซึ่งเราเห็นพัฒนาการเชิงบวกของตลาดหุ้นฮ่องกงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่หากมองภาพการฟื้นตัวจริงถือได้ว่ายังไม่ชัดเจน จึงประเมินตลาดเป็นการรีบาวด์สั้นๆ และแนะ Selective Buy รายตัว

 

จีนเร่งแก้ปัญหาอสังหาโดยดันโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบได้ รวมถึงส่งเสริมอสังหาแนวใหม่ และลดสินค้าคงคลัง ซึ่งจะให้แต่ละเมืองดําเนินการตามความเหมาะสม ล่าสุดเซินเจิ้นมีการผ่อนคลายกฎการซื้อบ้านบางส่วน

 

ขณะที่ตัวเลขการท่องเที่ยวถือว่าออกมาดีกว่าคาด ทั้งรายได้และจํานวนผู้เดินทางที่เติบโต ด้านตัวเลขเศรษฐกิจถือได้ว่าเป็นไปตามคาด ในส่วน PMI ภาคบริการและตัวเลขส่งออกที่พลิกกลับมาเป็นบวก

 

ก.ล.ต.จีน ยังได้ประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อพัฒนาตลาดหุ้นฮ่องกงเพิ่มเติม เช่น ผ่อนคลายเกณฑ์การผนวก ETF ใน Stock Connect รวมทั้งผลักดันให้บริษัทชั้นนําในอุตสาหกรรมจีนออก IPO ในตลาดฮ่องกงมากขึ้น

 

เราเห็นพัฒนาการเชิงบวกของความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อตลาดหุ้นฮ่องกงที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีมองว่าการสนับสนุนของทางการจีนยังคงเป็นแค่มาตรการที่ยังไม่ได้เห็นผลและยังคงต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งหากดูที่ภาพการฟื้นตัวผ่านตัวเลขเศรษฐกิจจีนถือได้ว่ายังคงมีภาพที่ไม่ชัดเจน

 

ด้วยภาพนี้ทําให้เรามองว่าการปรับตัวขึ้นของตลาดเป็นการรีบาวด์สั้นๆ หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยการที่จะให้ HSI กลับไประดับ 22,000-30,000 ยังคงยากและท้าทาย แต่ด้วยภาพความผันผวนตลาดที่มีน้อยกว่าช่วงก่อนและ Valuation ถูก ทําให้เรามองว่ายังลงทุนในตลาดฮ่องกงได้ด้วยกลยุทธ์ Selective Buy ในหุ้นที่มีแนวโน้มธุรกิจดีอย่าง Baidu, AIA, Lenovo, Galaxy Ent. และ Kweichow Moutai

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

เงินสด/สภาพคล่อง 

สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มอยู่สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในลักษณะ Soft Landing โดยล่าสุด การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน และความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง

 

ตราสารหนี้/เงินฝากระยะยาว

Bond Yield ได้ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนการลดดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มถูกเลื่อนออกไป และเงินเฟ้อที่ยังหนืดอยู่พอสมควร เรามองว่า ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลงได้ และคาดว่าจะเห็น Yield Curve ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปรับลดลง หลัง Fed มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายใน 2H24 สำหรับ Real Yield ในปัจจุบันมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือเพื่อ Hedge ในกรณีที่เกิด Growth Shock (เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด)

 

US Treasury & IG

UST Yield ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือนพฤษภาคม โดยพันธบัตรระยะกลาง ปรับตัวดีกว่าพันธบัตรระยะอื่น หลังจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด และอุปสงค์การประมูลพันธบัตรได้รับผลตอบรับที่ดี ส่วน 10Y TGB ทรงตัว 2.75-2.80% ต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์ที่ 4

 

เราคาดการณ์ว่า Spread ของ US IG จะตึงตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากระดับที่ตึงตัวอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนที่ยังน่าสนใจและการชะลอตัวของซัพพลายใหม่ หลังจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 1Q24

 

High Yield Bond

US Yield-to-Worst ปรับตัวลดลง หลังปรับขึ้นแรงในเดือนเมษายน จากการปรับตัวรับความคาดหวังในการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่ถูกเลื่อนออกไป และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่แทรกเข้ามาช่วงกลางเดือน อย่างไรก็ตาม HY Spread กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และซัพพลายของการ Refinance ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2024

 

สินทรัพย์ผสม/กึ่งหนี้กึ่งทุน/REIT

ในสภาวะที่ Spread ของ Public Credit (อย่างเช่น IG และ HY) ค่อนข้างแคบ การเพิ่ม REIT จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงิน (Income Return) ให้กับ Portfolio ได้ในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอ จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ/สินทรัพย์ผสม ช่วยลดความผันผวน เนื่องจากเป็นการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

US REITs มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจาก 10Y UST Yield ที่เริ่มปรับตัวลดลง และมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อการที่ Fed จะกลับมาพิจารณาลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ จากอัตราการว่างงานสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนที่ต่ำกว่าคาด กอปรกับ PMI ภาคบริการสหรัฐฯ ที่เริ่มหดตัวลงในเดือนเมษายน ซึ่งส่งสัญญาณถึงเงินเฟ้อภาคบริการที่มีแนวโน้มปรับตัวลง นอกจากนี้ ภาพรวม Occupancy Rate และ Rental Rate ของ US REITs ยังดี โดยเรามองบวกต่อภาค Data Center ที่ได้รับปัจจัยหนุนจากกระแส AI และ Cloud Computing ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว

 

Private Credit

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจาก 1. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้น หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุน 14 มาตรการ 2. ผลประกอบการของ บจ. ในช่วง 1Q24 ที่ประกาศออกมาแล้วราว 20% มีภาพรวมผลประกอบการที่ดีกว่าคาด 3. ความคาดหวังเชิงบวกของนักลงทุน หลังกระทรวงการคลังเตรียมพิจารณารื้อฟื้นกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นบวกต่อเม็ดเงินไหลเข้าดัชนีฯ 4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นบวกต่อภาคการบริโภค และ 5. การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วง 3Q24 เป็นบวกต่อภาคการลงทุนในประเทศ

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และยุโรปชะลอลงอย่างช้าๆ นำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วง 2H24 ด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียนใน 1Q24 ของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ออกมาดีกว่าคาดการณ์ ในสัดส่วนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ส่วนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปเริ่มเห็นสัญญาณกลับตัวขึ้น หลังปรับเพิ่มขึ้น QoQ ในไตรมาส 1 สิ้นสุดการปรับลดลง QoQ นาน 6 ไตรมาสติดต่อกัน

 

หุ้นสหรัฐฯ

กำไร 1Q24 ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศแล้วกว่า 90% ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ในช่วงก่อนประกาศงบ (+7.4%YoY เทียบกับช่วงก่อนประกาศงบที่ +5.1%YoY) นำโดยหุ้นในกลุ่ม Information Technology, Communication Service, Consumer Staple และ Health Care สำหรับ Valuation ของดัชนีฯ ปรับลดลงสู่ระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น เมื่อเทียบกับการขยายตัวของกำไรที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก

 

หุ้นยุโรป

ตลาดหุ้นยุโรปมี Valuation ที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่ 12M Forward EPS ของตลาดหุ้นยุโรปทยอยถูกปรับประมาณการสูงขึ้น โดยกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง มีงบดุลที่ดี (Leverage ที่ต่ำ และกระแสเงินสดที่สูง) และมีแนวโน้มประกาศเพิ่มการซื้อหุ้นคืนกับการจ่ายปันผลมากขึ้น มีแนวโน้ม Outperform ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวม

 

หุ้นญี่ปุ่น

หุ้นกลุ่ม Value ญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) ซึ่งจะหนุนการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผล นอกจากนี้ กลุ่ม Financials (ที่อยู่กลุ่ม Value) มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการทยอยลดการผ่อนคลายทางการเงินของ BoJ ที่หนุนอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน และ JGB Yield ให้ทยอยเพิ่มสูงขึ้น

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

ด้วยท่าทีของ Fed ที่ Dovish น้อยกว่าที่คาด และความเสี่ยงด้านสงครามที่สูงขึ้น กดดันให้ Fund Flow ไหลออก และค่าเงินอ่อนค่าในช่วงสั้น แต่ด้วยปัจจัยเฉพาะตัวที่เป็นบวกในหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ (เช่น ปัจจัยเชิงโครงสร้างในอินเดียและอินโดนีเซีย) รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการเงินของทางการจีนจะช่วยสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้ดี นอกจากนี้ เราคาดว่าความเสี่ยงด้าน Fund Flow ไหลออกจะลดลงใน 2H24 หลัง Fed ระบุว่าเป็นไปได้ยากที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ขณะที่มีการปรับอัตราการลดขนาดงบดุลลง สะท้อนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

 

หุ้นอินเดีย

ตลาดหุ้นอินเดียมีปัจจัยการเติบโตเฉพาะตัว ที่ช่วยผลักดันให้กำไรบริษัทจดทะเบียนยังจะเติบโตได้ดีในระยะยาว ได้แก่ 1. รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 2. โครงสร้างประชากรที่มีชนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว 3. สัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงงบดุลของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีช่องว่างให้สามารถระดมทุนได้อีกมาก หลายอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนกำลังเข้าสู่ช่วง ‘New S-Curve’ เช่น ภาคการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการอุดหนุนการผลิต (PLI Scheme) หรือกลุ่มอุตสาหกรรม Internet และ Technology Service ที่ได้ประโยชน์จากอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่สูง ต้นทุนการใช้งานดาต้าที่ต่ำ อัตราการใช้ Digital Payment ที่สูง รวมไปถึงระบบขนส่ง และโครงสร้างทางดิจิทัลที่พัฒนาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ และก่อให้เกิดธุรกิจที่เป็น Innovation

 

หุ้นอินโดนีเซีย

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับปัจจัยหนุนจาก 1. ค่าเงินรูเปียห์ที่ชะลอการอ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา 2. เงินทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยยอด FDI 1Q24 เพิ่มขึ้นราว 16%YoY 3. นโยบายเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมของว่าที่ประธานาธิบดีปราโบโว (จะเข้ารับตำแหน่งเดือนตุลาคม) ที่เน้นด้านสุขภาพ แรงงาน และอสังหา จะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้ว่าการบริโภคจะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงในระยะสั้น

 

หุ้นจีน A-Share

ดัชนีหุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้แรงหนุนตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ตามการทยอยออกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน การคลัง และด้านอสังหา จากทางการ และตามแรงซื้อสุทธิหุ้นจีนของต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว แม้ว่าเมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีฯ อาจมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนมากขึ้น จากท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นของทางการสหรัฐฯ ก็ตาม โดยล่าสุด ประธานาธิบดีไบเดนเตรียมประกาศอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน โดยมุ่งเป้าไปที่ภาคส่วนยุทธศาสตร์ ซึ่งรวมถึงยานพาหนะไฟฟ้า

 

สินค้าโภคภัณฑ์

ราคาทองคำมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น หลังปรับขึ้นมารวดเร็วบนความกังวลของสงคราม อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ประกอบกับคนเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ กลับไปถือทองคำมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น สนับสนุนราคาทองคำให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 13 พ.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories