THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
Fed
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

‘3 ความเสี่ยง-ผลกระทบ’ ต้องจับตา หลัง Fed ตรึงดอกเบี้ยสูง-นาน

... • 9 พ.ค. 2024

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงเล็กน้อย สาเหตุหลักมาจากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยระดับสูงที่ยาวนานขึ้น
  • การที่ Fed ดอกเบี้ยคงเดิม ไม่ลด-ไม่ขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงประกาศเริ่มลดมาตรการ QT โดยลดการขายพันธบัตรจาก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่ MBS คงเดิม ถือเป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายให้กับตลาดโดยพฤตินัย
  • สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินว่าจะมีความเสี่ยง 3 ด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจต่างกันไป

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว เนื่องจากความกังวลดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะฟื้นตัวได้ หลังการประชุม Fed ที่มีมติคงดอกเบี้ยตามตลาดคาด อย่างไรก็ตาม ตลาดมองท่าทีของประธาน Fed ค่อนข้าง Dovish โดยระบุดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงแล้ว

 

นอกจากนั้นยังเตรียมลดวงเงินทำ QT ทำให้ BY กลับลดลงมา 10 ปี ล่าสุด 4.5-4.6% ตลาดหุ้น EM ปรับตัวได้ดีกว่า โดยเพิ่มขึ้น 1.1% หนุนโดยตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะจีน หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของทางการจีนเดือนเมษายนที่ 50.4 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในโซนขยายตัว และท่าทีของรัฐบาลที่จะมีมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นปัจจัยกดดันในช่วงที่ผ่านมา

 

นอกจากนั้นมาตรการด้านการเงินจะมีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วยเช่นกัน ทำให้หุ้นจีนฟื้นได้ดี ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างทรงตัว ไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาอย่างชัดเจน ตลาดให้น้ำหนักกับผลประกอบการ 1Q24 ที่ทยอยประกาศในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงแรง หลังความกังวลความไม่สงบในตะวันออกกลางลดลงมาก ทำให้เกิดแรงขายทำกำไร หลังขึ้นมาแรงในช่วงก่อน

 

3 ความเสี่ยงต้องจับตา หลัง Fed คงดอกเบี้ยสูง-นาน

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า การที่ Fed ดอกเบี้ยคงเดิม ไม่ลด-ไม่ขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงประกาศเริ่มลดมาตรการ QT โดยลดการขายพันธบัตรจาก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่ MBS คงเดิม ถือเป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายให้กับตลาดโดยพฤตินัย เนื่องจากจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเริ่มลดลง ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเริ่มลดลง และเป็นผลบวกต่อการลงทุนได้บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม เรากังวลในความเสี่ยง 3 จุด ได้แก่

 

  1. เงินเฟ้อจะไม่ลดลงโดยง่าย เนื่องจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงเริ่มผลักดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เงินเฟ้อจากอุปสงค์ (Demand Pull) เริ่มเพิ่มขึ้น เห็นได้จากต้นทุนการจ้างงานที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น
  2. เศรษฐกิจและการจ้างงานที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้ง GDP 1Q24 ที่แย่ลง ดัชนี ISM ภาคการผลิตที่กลับมาแดนลบ และตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) ที่ลดลงต่อเนื่อง
  3. การที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ลดลงง่าย ท่ามกลางเงินเฟ้อที่อื่นๆ ที่ลดลงเร็วกว่า ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ต้องอยู่สูงท่ามกลางการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ เกิดสัญญาณ Monetary Divergence และเป็นความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย

 

ด้วยภาพดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับ 3 สถานการณ์ ได้แก่

 

  1. ภาวะ Inverted Yield Curve ที่ดอกเบี้ยระยะยาวต่ำกว่าดอกเบี้ยระยะสั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจลดลง แต่ความเสี่ยงของภาคธนาคารเพิ่มขึ้น
  2. ภาวะ Stagflation อย่างอ่อนๆ ทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยได้ยากแม้เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูง
  3. ภาวะ Monetary Divergence ทำให้ความเสี่ยงวิกฤตค่าเงินมีมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เผชิญ Reverse Carry Trade หรือการกู้เงินสกุลประเทศตลาดเกิดใหม่และกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ซึ่งพื้นฐานแข็งแกร่ง ผลประกอบการไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจ เลือกหุ้นการแพทย์ (BDMS, BCH), หุ้นขนส่งทางบก (BEM), หุ้นค้าปลีก (CPALL, CPAXT), หุ้นสื่อสาร (ADVANC) และหุ้นอสังหาปันผลดี (AP)
  2. หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q24 จะมีอัตราการเติบโตที่ดี YoY ซึ่งจะประกาศในสัปดาห์หน้า เลือก AOT, ERW, MINT, KCE และ OSP ขณะที่แนะนำระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งมีความเสี่ยงค่าเงินบาทอ่อนจะกดดันผลประกอบการ 1Q24
  3. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
  4. สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกำไรในหุ้น Mid-Small Cap. ซึ่งคาดมีโมเมนตัมกำไร 1Q24-2Q24 เติบโตดีทั้ง YoY และ QoQ เลือก ONEE, SNNP, THRE และ TIDLOR

 

“ช่วงสั้นมอง SET จะเคลื่อนไหวในกรอบ หลังขาดปัจจัยชี้นำ โดยปัจจัยในประเทศยังอยู่ระหว่างรอดูผลประกอบการ 1Q24 ของกลุ่ม Real Sector ที่กำลังทยอยประกาศภายในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่การประชุมของ Fed ที่มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณว่า Fed จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิถุนายนนี้ เป็นไปตามตลาดคาด”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. ยอดส่งออกของจีนในเดือนเมษายน ตลาดคาด -2.0% ต่อเนื่องจาก -7.5% ในเดือนมีนาคม
  2. ดัชนี PMI ขั้นสุดท้ายของยุโรปว่าจะฟื้นตัวขึ้นตามดัชนีขั้นต้นหรือไม่

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: OSP - ราคาหุ้นกำลังฟื้นตัวตามกำไรที่ดีขึ้น

 

แนะนำ บมจ.โอสถสภา หรือ OSP เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยที่มีศักยภาพเติบโตดี โดยสินค้าที่รู้จักดี เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลังแบรนด์ M-150 และลิโพ, เครื่องดื่ม Functional แบรนด์ซี-วิท และของใช้ส่วนบุคคลแบรนด์เบบี้มายด์ เป็นต้น
  • 1Q24 คาดกำไรปกติ 814 ล้านบาท เติบโต 72.4%YoY และ 79.7%QoQ สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส แรงหนุนจากรายได้ที่โตดีจากส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศที่เพิ่มขึ้น และยอดขายต่างประเทศเติบโตสูง โดยเฉพาะจากเมียนมา อีกทั้งคาดมาร์จิ้นดีขึ้น หลังต้นทุนก๊าซลดและโรงงานผลิตขวดแก้วมีประสิทธิภาพดีขึ้น
  • มองราคาหุ้น OSP กำลังเข้าสู่โหมดการฟื้นตัว หลังปี 2024 คาดกำไรจะยังสามารถเติบโตต่อเนื่อง 9.2%YoY สู่ระดับ 2.6 พันล้านบาท ปัจจัยหนุนจากรายได้ที่เติบโตดี หลังมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังเพิ่มและมีต้นทุนขายที่ลดลง
  • เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 28 บาท อิง -0.5SD PER ที่ 32 เท่า และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.83 บาท คิดเป็น Div. Yield ปีละ 4%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ภาพรวมงบหุ้นสหรัฐฯ ออกมาในทิศทางผสม โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่มีการฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอตามแต่อุตสาหกรรมของชิป ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยียังเติบโตดี หนุนจากอุปสงค์ AI เป็นสำคัญ ด้านกลุ่มผู้ผลิตยาและบริการชำระเงินออกมาดีกว่าคาด สวนทางกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ซึ่งเรามีมุมมองบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ และผู้ผลิตยาที่มีภาพการฟื้นตัวดีใน FY24 และแนะเลี่ยง F&B ไปก่อน

 

กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์: ในภาพรวมงบออกมาดีกว่าคาดทั้ง AMD, NXPI และ ON อย่างไรก็ดี ด้วยคาดการณ์ที่ออกมาแตกต่างกัน โดย ON และ AMD ให้คาดการณ์ 2Q24 ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย จึงทำให้ราคาตอบสนองเชิงลบสวนทาง NXPI

 

กลุ่มเทคโนโลยี: Amazon เผยงบ 1Q24 ดีกว่าคาด หลังความต้องการใช้บริการคลาวด์และ AI เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจ Ads ฟื้นตัวดีเช่นกัน นอกจากนี้ในระยะถัดไปเตรียมลงทุน AI เพิ่ม หนุนรายได้ราวหมื่นล้านดอลลาร์

 

กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม: MCD และ SBUX เผยงบต่ำกว่าคาด กดดันจากการชะลอตัวของผู้บริโภค และผลกระทบจากการคว่ำบาตรประเด็นสงครามในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ปรับลดคาดการณ์ FY24 ลง

 

กลุ่มผู้ผลิตยา: LLY และ PFE เผยงบโตดีกว่าคาด หลังความต้องการยาแกร่ง รวมถึงเพิ่มคาดการณ์กำไรปี 2024 ขึ้น

 

กลุ่มผู้ให้บริการการชำระเงิน: PYPL และ MA เผยงบดีกว่าคาด แต่หุ้น MA ปรับตัวลง หลังให้คาดการณ์งบ FY24 ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม สวนทาง PYPL ที่ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรใน FY24 ขึ้น

 

“ภาพรวมเรามองว่ากลุ่มที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวดีใน FY24 คือ 1. กลุ่มเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังคงได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ AI ที่เพิ่มขึ้น หนุนธุรกิจคลาวด์และชิป AI โดยเราชอบ MSFT, GOOGL, AMZN, NVDA, TSM และ AMD 2. กลุ่มผู้ผลิตยาอย่าง LLY ที่อุปสงค์ยาลดน้ำหนักและยารักษาเบาหวานโต และ PFE มองมีแรงหนุนจากฐานต่ำในปีก่อน และการเข้าซื้อกิจการยาต้านมะเร็ง ขณะที่แนะหลีกเลี่ยงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม หลังมีแรงกดดันจากหลายปัจจัย”

 

คำแนะนำการลงทุนสำหรับ Core Portfolio (พอร์ตลงทุนหลัก)

 

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อตลาดหุ้นโลก โดยการปรับฐานของตลาดหุ้นโลกในเดือนเมษายน รวมถึงการปรับประมาณการกำไร หลังภาพรวมกำไรที่ประกาศยังดีกว่าคาด นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ Valuation ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา แนะนำทยอยสะสมตลาดหุ้นที่พื้นฐานดี Valuation เหมาะสมเข้าพอร์ตระยะยาว

 

เรามองความเสี่ยงในตลาดตราสารหนี้ก็มีอยู่อย่างจำกัด หลัง Bond Yield ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางใน 2H24 และ Coupon Rate ที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน พอที่จะชดเชยโอกาสขาดทุนจากการ Mark-to-Market ราคาตราสารหนี้ได้ แนะนำทยอยสะสมพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ IG ระยะสั้น

 

นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยแนะนำลงทุนผ่านกองทุนรวมผสมที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลปรับพอร์ตลงทุนตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหากยังมีสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ ในพอร์ตลงทุนอยู่น้อย อาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำในช่วงที่ราคาทองคำปรับลดลง โดยควรมีประมาณ 5-10% ของพอร์ตโดยรวม

 

นักลงทุนควรให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว มากกว่าการถือเงินสดเพื่อรอจับจังหวะเวลาเข้าลงทุนในตลาด (Market Timing) ซึ่งมีโอกาสพลาดได้มาก และการถือเงินสดไม่สามารถสู้เงินเฟ้อได้

 

คำแนะนำการลงทุนสำหรับ Opportunistic Portfolio (พอร์ตลงทุนส่วนเสริม)

 

แนะนำลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามจาก

 

  1. ภาคการผลิตและการส่งออกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง
  2. โมเมนตัมของ FDI ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  3. มีแนวโน้มการอัปเกรดสถานะตลาดสู่ตลาดเกิดใหม่ (EM) และการเข้าไปคำนวณอยู่บนดัชนี FTSE EM Index

 

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้จาก

 

  1. พัฒนาการบนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นำโดยการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น
  2. นโยบาย Corporate Value-up จากพรรคฝ่ายรัฐบาล และนโยบายจากพรรคฝ่ายค้าน ที่มุ่งเน้นการปกป้องสิทธิ์ของรายย่อย
  3. ดัชนีซื้อขายอยู่ในระดับ Valuation ที่น่าสนใจ ด้วย 12M fwd P/E อยู่ที่ 10.0 เท่า หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีประมาณ -1 S.D.
  4. EPS Growth ฟื้นตัวแรง +71%YoY ในปี 2024

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share จาก

 

  1. การดำเนินมาตรการกระตุ้นของทางการ หลังผลการประชุมโปลิตบูโรล่าสุดที่ค่อนข้าง Dovish
  2. แนวโน้ม Fund Inflows ผ่าน Southbound Stock Connect ที่มากขึ้น
  3. จากการเพิ่มการซื้อหุ้นคืนและการเพิ่มปันผลของบรรดาหุ้นจีนฝั่ง Offshore
  4. Valuation ของตลาดในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ P/E และ P/BV ของตลาด

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 9 พ.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories