THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
วิกฤตอสังหาจีน
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

วิกฤตอสังหาจีนยังท้าทาย PBOC สั่งลดดอกเบี้ยกู้ ช่วย ‘ระยะสั้น’

... • 27 ก.พ. 2024

HIGHLIGHTS

9 MIN READ
  • ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ หลังรายงานการประชุม Fed เดือนมกราคมมีการระบุถึงการทำ QT ลดลง รวมถึงการประกาศผลประกอบการ NVDA ออกมาแกร่งกว่าคาด ปลุกกระแส AI และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขึ้นมาอีกครั้ง
  • ตลาดหุ้นจีนยังมีปัจจัยหนุนจากการออกมาตรการหนุนกลุ่มอสังหา หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 5 ปี (LPR) ลง 0.25% สู่ระดับ 3.95% 
  • ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 1,400 จุดได้อีกครั้ง รับเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในภูมิภาค ซึ่งตลาดหุ้นไทยยัง Laggard นอกจากนั้น หุ้นในกลุ่มธนาคารยังประกาศจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงกว่าคาด ซึ่งหนุนให้ผลตอบแทนและ Valuation ดียิ่งขึ้น
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า วิกฤตอสังหาจีนยังท้าทาย และการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 5 ปี รวมถึงประกาศมาตรการ White List เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้กับภาคอสังหานั้น เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ แม้ในช่วงต้นสัปดาห์จะมีการปรับฐานลงมาบ้าง แต่หลังรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดือนมกราคมมีการระบุถึงการทำ QT ลดลง รวมถึงการประกาศผลประกอบการ NVDA ออกมาแกร่งกว่าคาด ช่วยปลุกกระแส AI และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งยังได้แรงส่งเชิงบวกจากตัวเลขการท่องเที่ยวของจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ 

 

ในส่วนของตลาดหุ้นจีนยังมีปัจจัยหนุนจากการออกมาตรการหนุนกลุ่มอสังหา หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 5 ปี (LPR) ลง 0.25% สู่ระดับ 3.95% และกระทรวงการเคหะฯ จีนประกาศอัดฉีดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอสังหาผ่านมาตรการ White List 

 

ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 1,400 จุดได้อีกครั้ง หลังกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในภูมิภาค และตลาดหุ้นไทยที่ Laggard นอกจากนั้น หุ้นในกลุ่มธนาคารยังประกาศจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงกว่าคาด ซึ่งนอกจากจะทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลจูงใจมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการบริหารเงินทุนที่จะช่วยหนุนให้ผลตอบแทนและ Valuation ดียิ่งขึ้น 

 

ตลาดน้ำมันปรับขึ้นเล็กน้อยจากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ 

 

วิกฤตอสังหาจีนยังท้าทาย

 

การที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ลดดอกเบี้ยเงินกู้ (LPR) 5 ปี รวมถึงประกาศมาตรการ White List เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้กับภาคอสังหานั้น เป็นการแก้ปัญหาบริษัทอสังหาในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตด้านอสังหาจีนยังคงท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 3 ประการ คือ 

 

  1. กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงจากวิกฤตเงินฝืดและวิกฤตการจ้างงาน (โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว) 
  2. จำนวนที่อยู่อาศัยที่มีมากกว่าความต้องการ โดยเฉพาะเมืองอันดับ 2 และ 3 (Tier 2-3) 
  3. ระบบสำมะโนประชากรจีน (Hukou) ที่จำกัดการย้ายถิ่นฐานของประชากรผ่านระบบสวัสดิการรัฐ ซึ่งจำกัดความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ (Tier 1) 

 

ซึ่งหากปัญหาทั้ง 3 ไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยากที่ภาคอสังหาจีนจะฟื้นตัวอย่างถาวรได้

 

ในประเด็น Fed Minute ที่ส่งสัญญาณดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ยังดูร้อนแรง จนทำให้การลดดอกเบี้ยอาจเลื่อนออกไปนั้น บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า 1. เงินเฟ้อในภาพใหญ่ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ อังกฤษ, 2. ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวเริ่มชะลอลงมากขึ้น เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และ 3. ความเสี่ยงอสังหาเพื่อการพาณิชย์มีมากขึ้น และเริ่มกระทบต่อภาคธนาคาร 

 

“ทำให้เรามองว่ายังเป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม” 

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้นที่คาดว่าได้อานิสงส์บวกจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ตอบสนองมากนัก เลือก AOT และ MINT

 

  1. หุ้นเก็งกำไรหาก SET ฟื้นตัวทะลุ 1400 จุด ซึ่งคาดว่าจะมีแรงซื้อกลับจากการทำ Cover Short และ Fund Flow ไหลกลับ ขณะที่พื้นฐานยังแข็งแกร่ง เลือก AOT, KBANK, KTB, PTT และ IVL

 

  1. นักลงทุนระยะยาวแนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL, BDMS, BEM, CPALL, PTT และ SCC ที่เป็นหุ้น SET100 ซึ่งเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม และมี ESG Ratings ระดับ AAA/AA, Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี และผลการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง 

 

“แม้ช่วงสั้นมองตลาดหุ้นไทยยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ แต่มีโอกาสได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง และเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว รวมถึงธุรกรรม Short Selling ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกดดันบรรยากาศการลงทุนน้อยลง และมีโอกาสลุ้น Fund Flow ไหลกลับ ขณะที่ในประเทศเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการทยอยประกาศผลประกอบการ 4Q23 ของ บจ. ไทย ซึ่งคาดว่ายังมีแนวโน้มอ่อนแอ” 

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการรายงานผลประกอบการ 4Q23 ของ บจ. ไทย
  2. ดัชนีราคา Core PCE ของสหรัฐฯ เดือนมกราคม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ Fed ใช้ประกอบการตัดสินใจในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  3. PMI ทางการจีนเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดคาดว่าภาคการผลิตต่ำกว่า 50 ขณะที่ภาคบริการสูงกว่า 50 เล็กน้อย

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL - กำไรเติบโตแข็งแกร่งสุดในกลุ่ม

 

แนะนำ บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีก-ค้าส่งในไทย ซึ่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและชะลอตัว
  • 4Q23 คาดมีกำไรปกติอยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท เติบโต 59%YoY ดีสุดในกลุ่มพาณิชย์ แรงหนุนจากยอดขายและมาร์จิ้นของธุรกิจ CVS ที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายโบนัสที่ลดลงจากฐานสูงของปีก่อน และส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก CPAXT (ดอกเบี้ยจ่ายลดหลังรีไฟแนนซ์หนี้เสร็จ) หนุนให้ปี 2023 คาดกำไรปกติเติบโตสูง 36%YoY
  • มองได้อานิสงส์บวกจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว และรัฐบาลมีแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อีกทั้ง Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น CPALL ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ 23% ซึ่งมองว่ายังไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยปี 2024 คาดว่ากำไรยังเติบโตต่อเนื่องที่ระดับ 17%
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 74 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7.10% และอัตราเติบโตระยะยาว 2.50%) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.99 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 1.70%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

หุ้นกลุ่มเชิงรับในช่วงนี้จะให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าตลาด คาดว่าเป็นผลมาจากความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตที่เริ่มชะลอตัวลง หลังการปรับขึ้นราคาทำได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ดี จากผลประกอบการที่ออกมาสะท้อนได้ว่า กลุ่ม Personal Care และเครื่องดื่มยังมีแรงซื้อที่แกร่งและยืดหยุ่นกว่ากลุ่มอาหาร

 

  • งบกลุ่มเครื่องดื่มในช่วง 4Q23 นั้น KO ออกมาดีกว่าคาด และยอดขายในส่วนเครื่องดื่มยังเติบโต 6.40%YoY สวนทางกับ PEP ที่งบออกมาผิดคาด และมียอดขายลดลง 2.40% นอกจากนี้ แม้จะมีการปรับขึ้นราคา แต่ปริมาณการขายของ KO ยังเพิ่มขึ้นได้สวนทาง PEP ที่มีปริมาณการขายลดลง 

 

  • ในทางเดียวกัน กลุ่มอาหารอย่าง KHC เผยงบผิดคาด โดยรายได้และ EPS ลดลง รวมถึงมีปริมาณการขายที่ลดลงเช่นเดียวกันกับ PEP ที่มีสัดส่วนธุรกิจในกลุ่มอาหารมากกว่า KO 

 

  • ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าปริมาณการขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Personal Care อย่าง Colgate-Palmolive (CL) และ Procter & Gamble (PG) จะมีภาพที่ฟื้นตัวสวนทางกลุ่มอาหาร โดยจากไตรมาสล่าสุดนั้น CL มีปริมาณการขายที่ฟื้นตัวเป็นบวกหลังจากปีก่อนติดลบ ขณะที่ PG มีปริมาณการขายที่หดตัวในระดับที่น้อยลงจากปีก่อน 

 

  • เรามองว่าในปี 2024 กลุ่มเชิงรับจะยังคงมีแรงกดดันจากการปรับขึ้นราคาขายที่ทำได้อย่างจำกัดแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตในระยะถัดไปมีภาพที่ชะลอตัวลง ซึ่งหากเล่นเพื่อคาดหวังการเติบโตเรามองว่ากลุ่มนี้ค่อนข้างไม่ตอบโจทย์ อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีลักษณะที่เป็นหุ้นเชิงรับที่ดี ทำให้เรามองว่าหุ้นประเภทนี้อาจเหมาะกับช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย หรือช่วงที่มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าในช่วงนี้ที่กลุ่มอื่นดูจะฟื้นตัวได้ดีกว่า นอกจากนี้ หากให้เลือกในกลุ่มนี้ เราแนะมองกลุ่ม Personal Care และกลุ่มเครื่องดื่มที่ดูเหมือนจะมีแรงซื้อที่แกร่งและยืดหยุ่นจากการปรับขึ้นราคามากกว่ากลุ่มอาหาร

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ หลังรายงานการประชุม Fed รอบล่าสุดแสดงถึงความกังวลบนการลดดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วเกินไป นอกจากนี้สภาพคล่องยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากปัญหาด้านความปลอดภัยในทะเลแดงที่ยังมีอยู่

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

‘Higher for Longer’ Sentiment ได้กลับมาอีกครั้งหลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมสูงกว่าคาดการณ์ โดยตลาดได้ปรับลดความคาดหวังในการลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ลงจาก 6 ครั้งในช่วงปลายปี 2023 เป็น 4 ครั้งในปัจจุบัน TGB Yield ยังอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง หลังตัวเลขเศรษฐกิจยังบ่งชี้ภาวะเงินฝืด และผลการประชุม กนง. ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสมากขึ้นในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

แม้จะมีเซอร์ไพรส์ด้านเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ Yield Curve ของตลาด DM ปรับตัวขึ้น แต่อุปสงค์ต่อสินทรัพย์ IG Credit ยังคงแข็งแกร่ง เห็นได้จาก Fund Flow ที่ยังไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องในตลาดรองยังอยู่ในระดับที่ดี ICE BofA US Corporate Index OAS Spread ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 

 

ICE BofA US High Yield Index OAS Spread อยู่ที่ 3.34% ซึ่งเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างตึงตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี ถึงแม้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะแข็งแกร่งกว่าคาด และสินทรัพย์มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น แต่ความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์อาจยังไม่ได้ Price In ในราคา โดยการเร่งตัวขึ้นของการครบกำหนดชำระในช่วงปลายปีอาจเป็นสาเหตุให้ Spread กว้างขึ้นหลังจากนี้

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

Fed มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยช้ากว่าตลาดคาดการณ์ และแม้ประมาณการ EPS ปี 2024 ของ S&P 500 ถูกปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำไรใน 4Q2023 ของหุ้นกลุ่ม Tech และกลุ่ม Quality (ส่วนใหญ่อยู่ใน Consumer Discretionary และ Communication Services) โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์และ AI แข็งแกร่ง แต่ EPS ในกลุ่ม Old Economy (Financial และ Energy) ยังอ่อนแอ ขณะที่ Valuation อยู่ในระดับที่ตึงตัวมาก

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

STOXX 600 EPS ใน 4Q2023 ยังหดตัว และมีสัดส่วน บจ. ที่เปิดเผยงบฯ ดีกว่าคาดน้อยกว่าของสหรัฐฯ ขณะที่ Consensus คาด EPS ดัชนีฯ ใน 1Q2024 ยังหดตัวต่อ อย่างไรก็ดี Valuation ที่ยังไม่แพง ประกอบกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE ภายในช่วงที่เหลือของปี จะยังช่วยหนุนการฟื้นตัวของ P/E

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 2

 

 

ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้นมามากในปีที่ผ่านมา และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องค่อนข้างดีนับจากต้นปี (YTD) ส่งผลให้ Valuation ดัชนีฯ เริ่มตึงตัวมากขึ้น ขณะที่เราคาดว่า BOJ มีแนวโน้มทยอยคุมเข้มทางการเงินในเดือนเมษายน (ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและยกเลิกมาตรการ YCC) ซึ่งจะส่งผลให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และ JGB Yield เพิ่มขึ้น

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการมีแนวโน้มส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะในการประชุม Two Sessions ที่จะเริ่มในวันที่ 5 มีนาคม โดยเราคาดว่า PBOC มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ อาจจำกัดการปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องของดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มผ่านจุดที่ต่ำสุดไปแล้ว และเติบโตได้ดี รวมทั้งแรงฉุดบน EPS จากภาคอสังหาที่ลดลง หลังทางการทยอยออกมาตรการเยียวยาภาคอสังหา ขณะที่ Valuation ดัชนีฯ ที่ยังไม่แพง และ Position ของนักลงทุนบนดัชนีฯ ที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ดัชนีฯ มีความเสี่ยงขาลงจำกัด อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาททางเทคโนโลยีและทางการค้าระหว่างจีน-คู่ค้าที่ยังมีอยู่จะยังจำกัด Upside ของดัชนีฯ

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจาก Sentiment เชิงลบบน GDP ที่โตต่ำกว่าคาด ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน และอาจต้องรอถึงเดือนพฤษภาคมจนกว่าจะเห็นการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นต่อเนื่อง มีแนวโน้มจะส่งผลบวกต่อการบริโภคในประเทศ โดยเราเริ่มเห็นการกลับเข้ามาซื้อสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากภาพเศรษฐกิจใหญ่ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกและการลงทุนโดยตรง (FDI) นอกจากนี้ กิจกรรมในภาคอสังหามีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามซื้อขายบน Forward P/E 10.6x หรือ -1 s.d. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจ

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีแนวโน้มสำเร็จในรอบแรก โดยกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการสานต่อนโยบายและการลงทุนที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวการบริโภคในประเทศยังอ่อนแอ ในขณะที่การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ยังโดนกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมูลค่าการส่งออกเดือนมกราคม 2024 ลดลง 8.10%YoY ทำให้เรายังคงมุมมอง Neutral บนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

 

ตลาดหุ้นอินเดีย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

กำไร FY3Q2024 แข็งแกร่ง สนับสนุนโดยการขยายตัวของอัตรากำไรบนธุรกิจการบริโภคและลงทุนในประเทศ นำโดยธุรกิจยานยนต์ สินค้าทุน สินค้าโภคภัณฑ์ และยา ตัวเลข Pre-Sales และ New Launches ของกลุ่มอสังหายังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การขยายตัวของสินเชื่อยังมีอยู่ต่อเนื่อง แต่ NIM ยังคงหดตัวเล็กน้อย ภาคเอกชนมีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจ สะท้อนมาที่แผนในการขยายกำลังการผลิต และงบ CAPEX ที่ขยายตัว

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคาทองคำได้รับอานิสงส์เชิงบวกตามแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2024 ส่งผลให้ 10Y UST Real Yield มีโอกาสปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความต้องการซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่ลดลง อาจทำให้ Upside ราคาทองคำค่อนข้างจำกัด

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากการบริโภคและการผลิตน้ำมันทั่วโลกค่อนข้างสมดุล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากประเทศกลุ่ม Non-OPEC ค่อยๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงโดนกดดันจากราคาน้ำมันรัสเซียที่ขายในราคา Discount

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

DM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง บอนด์ยีลด์ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ Demand Indicators เมื่อพิจารณาจาก Net Absorption และ Occupancy Rate นั้นอ่อนแอลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจที่เข้าสู่ Soft Landing ด้าน Valuation เมื่อพิจารณาจาก P/BV น่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ในส่วน Dividend Yield Spread ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เราค่อนข้างมีมุมมองเชิงลบต่อ REITs ไทย เนื่องจากปัญหาในเชิงโครงสร้างหลายประการ ขณะที่เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ REITs สิงคโปร์ เนื่องจากมีสภาพคล่องและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่า REITs ไทย ประกอบกับ Occupancy Rate โดยรวมยังแข็งแกร่ง ค่าเช่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

 

Private Asset

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง 

 

ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่ 

 

ภาพ: HUNG CHIN LIU / Getty Images

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 27 ก.พ. 2024

READ MORE



Latest Stories