- ดัชนี US Flash PMI เดือนมกราคมเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน ท่ามกลางการฟื้นตัวของ Manufacturing PMI บ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
- ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นี้ ทำให้เป็นไปได้มากขึ้นที่ Fed จะยังคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA หุ้นไทย เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มเทค สหรัฐฯ ที่ดี ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจดูดีขึ้น ทำให้โอกาสในการลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมลดลงจากปัจจัยดังนี้
- ดัชนี US Flash PMI เดือนมกราคมเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน สู่ระดับ 52.3 ท่ามกลางการฟื้นตัวของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) บ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
- ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จาก University of Michigan พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 เดือน โดยอยู่ที่ 78.8 โดยดัชนีย่อยด้านความคาดหวังเงินเฟ้อลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2020
- จีนเริ่มส่งสัญญาณช่วยเหลือเศรษฐกิจมากขึ้น หลังผู้ว่าการธนาคารกลางจีนเตรียมลดอัตรากันสำรอง ธนาคารพาณิชย์ (RRR) ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องอีก 1 ล้านล้านหยวน
- ดัชนี Eurozone Flash Composite PMI ปรับตัวขึ้นสู่ 47.9 จาก 47.6 ในเดือนธันวาคม แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดคาดที่ 48.0
- GDP สหรัฐฯ ขยายตัว 3.3% ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเครื่องจักรสำคัญในการขยายตัว ได้แก่ การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.8% ต่อปี โดยเป็นการบริโภคทั้งสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารนอกบ้านและพักแรม (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายในช่วงหยุดยาวและเทศกาล) และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น 3.3% ต่อปี ซึ่งเป็นการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น (มลรัฐ) เป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็นการใช้จ่ายตามมาตรการ Build Back Better ของรัฐบาลไบเดน
นอกจากนั้น การลงทุนเอกชนก็ขยายตัวที่ 2.1% โดยเป็นการลงทุนในอุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องขณะที่นำเข้าขยายตัวต่ำกว่า ทำให้การส่งออกสุทธิเป็นบวกต่อ GDP ถึง 0.43% (Percentage Point) ซึ่งเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและมีโมเมนตัมส่งต่อมายังไตรมาส 1 ทำให้โอกาสในการลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมลดลงเหลือ 46.2% ขณะที่การลดดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 51.2%
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงดอกเบี้ยไว้ที่ 4% ขณะที่ประธาน ECB ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อเสี่ยงลดลง แต่ ECB จะยังจับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลางต่อเนื่อง
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดอกเบี้ยท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลง แต่ผู้ว่าการฯ ส่งสัญญาณว่า โอกาสที่เงินเฟ้อในระยะยาวจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% เป็นไปได้มากขึ้น ทำให้ตลาดมองว่าโอกาสที่ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีแรกมีมาก
“ตลาดปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ (Magnificent 7) ที่ดี ขณะที่ดัชนี US Flash PMI เดือนมกราคมเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน ท่ามกลางการฟื้นตัวของ Manufacturing PMI บ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จาก University of Michigan พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 เดือน ด้านจีนเริ่มส่งสัญญาณช่วยเหลือเศรษฐกิจมากขึ้น หลังผู้ว่าการธนาคารกลางจีนเตรียมลดอัตรากันสำรอง ธนาคารพาณิชย์ (RRR) ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องอีก 1 ล้านล้านหยวน”
ประชุมเดือนมีนาคม คาด Fed ‘คงดอกเบี้ย’
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณมากขึ้นว่าฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนี US Flash PMI เดือนมกราคมเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยเฉพาะคำสั่งซื้อและมาตรวัดด้านต้นทุน ขณะที่ US Manufacturing PMI ก็ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 15 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นหลังสินค้าคงคลังหมดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้จ่ายของประชาชนที่วัดจากยอดค้าปลีกที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มองว่าสาเหตุที่ภาคการผลิตกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพื่อเติมสินค้าคงคลังที่หมดลง จึงต้องจับตาว่า ความต้องการสินค้าจะดีขึ้นอย่างถาวรจนทำให้ภาพการผลิตฟื้นตัวยั่งยืนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นี้ ทำให้เป็นไปได้มากขึ้นที่ Fed จะยังคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม
ในส่วนของจีน เรามองว่าการที่ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณว่าจะลดอัตรากันสำรอง ธนาคารพาณิชย์ (RRR) ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องอีก 1 ล้านล้านหยวน แต่ยังไม่ปรับ ณ ขณะนี้นั้น บ่งชี้ว่าทางการไม่ต้องการที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางประสิทธิภาพนโยบายการเงินที่ลดลง เห็นได้จากการเติบโตของสินเชื่อและปริมาณเงินชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรามองว่ารัฐบาลจะหันไปเน้นนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- นักลงทุนระยะสั้น (3-4 เดือน) ที่ต้องการลงทุนในหุ้นปันผลคุณภาพดีในเทศกาลจ่ายเงินปันผลและขึ้น XD ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนี้ โดยคาดให้ Div. Yield ปี 2023 (หลังหักจ่ายระหว่างกาลแล้ว) เกิน 5% เลือก AP, BCP, KTB ขณะที่นักลงทุนระยะยาวที่ต้องการลงทุนในหุ้นปันผลคุณภาพดีเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่ดีต่อเนื่อง โดยคาดให้ Div. Yield ปี 2024 เกิน 5% เลือก AH, AP, BCP, KTB, PTT และ TTB
- นักลงทุนที่กังวลตลาดผันผวนเชิงลบ แนะนำลงทุนในหุ้นตั้งรับซึ่งคาดจะสามารถชนะตลาดได้ โดยมี Beta ต่ำกว่า 1, ราคาหุ้นปรับตัว YTD ดีกว่า SET เลือก ADVANC, AOT, BDMS, TISCO
- นักลงทุนระยะยาว แนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL, BDMS, BEM, CPALL, PTT และ SCC ซึ่งเป็นหุ้น SET100 ซึ่งเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม และมี ESG Ratings ระดับ AAA / AA, Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี และผลการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประชุมนโยบายการเงินของ Fed วันที่ 30-31 มกราคม นักลงทุนคาดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% พร้อมจับตาการส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้
- GDP 4Q23 ที่รายงานครั้งแรกของยูโรโซน ตลาดคาดหดตัว -0.1%QoQ ต่อเนื่อง 3Q23 ที่หดตัว -0.1%QoQ
- ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือนมกราคม ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 1.62 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้น 2.16 แสนตำแหน่ง
- ตัวเลขการจ้างงาน ADP ตลาดคาด 1.3 แสนตำแหน่ง ลดลงจาก 1.64 แสนตำแหน่ง
- ISM Manufacturing PMI โดยตลาดคาดการณ์ที่ 47.4 เท่าเดิม
- อัตราว่างงาน (ตลาดคาด 3.7% เท่าเดิม)
- ค่าจ้างรายสัปดาห์ (ตลาดคาด 4% จาก 4.1%)
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AOT - 1QFY24 คาดกำไรเติบโตแข็งแกร่ง
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาด ~90% ของจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมดในไทย โดย AOT มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศสูงสุดในกลุ่มฯ จึงคาดการฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
- มีปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นในระยะสั้นจากกำไร 1QFY24 (ตุลาคม-ธันวาคม 2023) ที่คาดแข็งแกร่ง โดยคาดกำไรปกติ 5.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด YoY และ 54%QoQ อิงจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสู่ 16.9 ล้านคน (+54%YoY, +13%QoQ)
- ปี FY2024 คาดกำไรปกติเติบโตก้าวกระโดดจาก 9.2 พันล้านบาท ในปี FY2023 สู่ 2.57 หมื่นล้านบาท ขณะที่ประเด็นการยกเลิกร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เราประเมินว่าผลกระทบจะมีจำกัด (3-4% ต่อกำไร หรือ 2 บาทต่อหุ้น ต่อราคาเป้าหมาย)
- ราคาหุ้น AOT ซื้อขายที่ PEG ระดับ 0.2 เท่า ต่ำกว่า PEG เฉลี่ยของหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดภูมิภาคที่ 0.3 เท่า ซึ่งบ่งชี้ถึงความคาดหวังของตลาดที่ต่ำ ขณะที่กำไรมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จึงมองเป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อสำหรับลงทุนระยะยาว หลังคาดกำไรอยู่ในทิศทางฟื้นตัวแข็งแกร่ง
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 84 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7.2% และอัตราเติบโตระยะยาว 2.0%) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี FY2024 หุ้นละ 0.90 บาท คิดเป็น Div. Yield 1.5%
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
เราเชื่อว่า Bond Yield ของ UST ยังอยู่ในเทรนด์ขาลง แม้ระยะสั้นอาจมีการปรับขึ้นบ้างตามตัวเลขเงินเฟ้อที่ลงช้า ทำให้ Fed อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดคาด / สำหรับ TGB โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ตถูกเลื่อนออกไป ทำให้แรงกดดันต่อราคา TGB ลดลง และ TGB Yield มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงสั้น
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
หุ้นกู้ IG ยังได้แรงหนุนจาก 1. เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวจำกัด 2. Yield ยังสูงเมื่อเทียบกับอดีต และ 3. เงินเฟ้อปรับลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของ Yield ที่ซึมซับข่าวไปมากอาจทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด เราจึงแนะนำให้เน้นเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการ Manage Duration หรือ Selective Bond รายตัว
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นกู้ IG ยังได้แรงหนุนจาก 1. เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวจำกัด 2. Yield ยังสูงเมื่อเทียบกับอดีต และ 3. เงินเฟ้อปรับลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของ Yield ที่ซึมซับข่าวไปมากอาจทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด เราจึงแนะนำให้เน้นเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการ Manage Duration หรือ Selective Bond รายตัว
US HY OAS Spread ยังค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี โดยเรามองว่ากิจกรรมการ Refinance ที่จะเริ่มเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2024 มีโอกาสที่ Supply Bond ของ HY เพิ่มขึ้น และ Spread ปรับเพิ่มขึ้นได้ / Interest Coverage Ratio อ่อนตัวลง 4 ไตรมาสติดต่อกัน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
Valuation ของดัชนีฯ ตึงตัวมากขึ้น และเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงเข้าสู่ Soft Landing แต่การที่ตลาดคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว อาจเผชิญความเสี่ยงการปรับฐานได้ หาก Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไม่เป็นไปตามคาด โดยล่าสุดตัวเลขค้าปลีกที่ออกมาดีกว่าคาด ลดโอกาสการลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคมลง
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
Consensus คาด EPS ของดัชนี STOXX600 ในปี 2024 ไว้ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ความเสี่ยงถูกปรับประมาณการลงมีจำกัด ขณะที่ความคาดหวังที่มากขึ้นของตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของ P/E ดัชนีฯ ผ่าน Bond Yield ที่มีแนวโน้มลดลง แม้ความไม่แน่นอนการเลือกตั้งยุโรปในปีนี้ยังมีอยู่
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 4
บจ.ญี่ปุ่น มีแนวโน้มออกมาตรการหนุน ROE และ P/BV ตามการผลักดันการปฏิรูปธรรมาภิบาลจากทาง TSE ขณะที่นักลงทุนรายย่อยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มการลงทุนหุ้นญี่ปุ่นจากการเริ่มโครงการ New NISA ด้าน BOJ มีแนวโน้มไม่รีบคุมเข้มนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ ซึ่งจะเป็นการช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินเยน
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยออกมาตรการกระตุ้นของทางการ หลังตัวเลขเศรษฐกิจยังชะลอลงและตลาดหุ้นยังซบเซา โดยล่าสุดจีนเตรียมปรับลด RRR ลง 50 bps ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นจีน แม้ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จะยังกดดันดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัว ประกอบกับเงินหยวนที่มีแนวโน้มชะลอการอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ P/E ของดัชนีฯ ยังไม่แพง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ภาคอสังหา และการกีดกันเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ กับจีน จะยังสร้างความผันผวน และจำกัดการเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ เผชิญความผันผวนระยะสั้นจาก Sentiment เชิงลบบนเศรษฐกิจปี 2023 ที่โตต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวแรงในเดือนมกราคม (2.1 ล้านคน ระหว่างวันที่ 1-21 มกราคม) และการเข้าสู่ฤดูกาลวันหยุดปีใหม่จีนเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งผลบวกต่อภาคบริโภคในประเทศ ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
เราเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามเพิ่มขึ้น จากการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่เรายังมีความกังวลบนหุ้นกู้ในภาคอสังหาที่จะครบกำหนดชำระหนี้ในปี 2024 ท่ามกลางแผนการเพิ่มทุนบนตลาดหุ้นของผู้พัฒนาอสังหา เราแนะนำให้ถือ โดยเน้นการลงทุนในกองทุนที่ใช้กลยุทธ์ Bottom-Up รวมถึงรักษาสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตภายใต้เงื่อนไขตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น Frontier Market ที่มีความผันผวนได้สูง
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นจากเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่หุ้นขนาดใหญ่ โดยเรามีมุมมองเป็นบวกจากภาพการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีแนวโน้มราบรื่นมากขึ้น โดย Prabowo Subianto ได้คะแนนนิยมทิ้งห่างจากพรรคคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม การคงดอกเบี้ยของ BI เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน จะยังกดดันภาคการบริโภคและการลงทุน
ตลาดหุ้นอินเดีย
ความน่าสนใจระดับ 4
เงินเฟ้อเดือนธันวาคมสูงขึ้นเล็กน้อย แตะระดับ 5.7%YoY เทียบ 5.6%YoY ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงสู่ระดับ 3.9%YoY ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดีย (4%YoY) และเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 เพิ่มโอกาสให้ธนาคารกลางอินเดียสามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายได้เพิ่มขึ้นในปี 2024
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำได้รับอานิสงส์เชิงบวกตามแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2024 ส่งผลให้ 10Y UST Real Yield มีโอกาสปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความต้องการซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่ลดลง อาจทำให้ Upside ราคาทองคำค่อนข้างจำกัด
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนระยะสั้นจากความกังวลเรื่องกลุ่มกบฏในเยเมนก่อเหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง และ EIA รายงานสต๊อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง และอุปทานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประเทศกลุ่ม Non-OPEC นำโดยสหรัฐฯ เป็นหลัก ขณะที่กลุ่ม OPEC+ ยังไม่สามารถกำหนดโควตาการผลิตน้ำมันอย่างเป็นทางการใน 1Q24
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
DM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังปรับตัวขึ้นแรงจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ Demand Indicators เมื่อพิจารณาจาก Net Absorption และ Occupancy Rate นั้นอ่อนแอลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วง Soft Landing ขณะที่ในเชิง Valuation เมื่อพิจารณาจาก P/BV อาจดูน่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ในส่วน Dividend Yield Spread ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
EM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังเพิ่มขึ้นแรงจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมี Valuation และเงินปันผลที่อยู่ในระดับน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อีกทั้งสภาพคล่องของ REITs ไทยที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการกระจุกตัวของสินทรัพย์ที่ไปลงทุน คู่สัญญา และ Sponsor ที่ค่อนข้างสูง
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority); มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลงส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่