- ตลาดปรับตัวดีขึ้นจากประธาน Fed เริ่มส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย โดยบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของการคาดการณ์เศรษฐกิจและดอกเบี้ยของ FOMC (หรือ Dot Plot) ลดลง
- จากการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ล่าสุด กำลังส่งสัญญาณว่าผลตอบแทนพันธบัตรที่ขึ้นทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อลดลง
- INVX มองว่า Fed ยังคงเปิด Room ในการขึ้นดอกเบี้ยได้ โดยประธาน Fed ย้ำว่ายังมีหนทางอีกยาวไกลในการทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาตามเป้าหมาย และเงินเฟ้อในระยะต่อไปอาจจะกระโดด หรือ Lumpy ขึ้นได้
- ทิศทางการตึงตัวนโยบายการเงินทั่วโลก (ยกเว้นญี่ปุ่น) น่าจะเข้าสู่ปลายทางหรือสิ้นสุดลงแล้ว หลังการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อชะลอลง แต่ธนาคารกลางขนาดใหญ่จะยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะหนึ่ง ท่ามกลางการลดทอนขนาดของงบดุลที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินโลกตึงตัวมากขึ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวดีขึ้นจาก
1. ประธาน Fed เริ่มส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย โดยบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของการคาดการณ์เศรษฐกิจและดอกเบี้ยของ FOMC (หรือ Dot Plot) ลดลงจากดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ความจำเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยลดลง ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีลดลงถึงกว่า 20 bps
- ดัชนี ISM ภาคการผลิตสหรัฐฯ ปรับลดลงรุนแรง (ISM) มาสู่ระดับ 46.7 ในเดือนตุลาคม จาก 49.0 ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ที่ระดับ 49.2 โดยได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อและการจ้างงานที่ลดลง
- ตัวเลข GDP ยูโรโซนหดตัว -0.1% ใน 3Q23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนท่ามกลางเงินเฟ้อที่ขยายตัว 2.9% ต่ำกว่าคาดที่ 3.1% โดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น เยอรมนี หดตัว -0.1% ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 10 การประชุมติด และเริ่มยุติการขึ้นในการประชุมสัปดาห์ก่อน
- การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ (ADP) อยู่ที่ 113,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าคาดที่ 130,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างเพิ่มขึ้น 5.7% น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับนโยบายควบคุมเส้นผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% ขณะที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ซึ่งการปรับครั้งนี้น้อยกว่าที่ตลาดคาดจนเกิดกระแสเทขายพันธบัตรญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารกลางต้องเข้าแทรกแซง
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ของ Conference Board ลดลงสู่ระดับ 102.6 ในเดือนตุลาคม ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 104.3 ในเดือนกันยายน จากราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed รวมทั้งสถานการณ์ในตะวันออกกลาง (6) PMI ภาคการผลิตของทางการจีนปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.5 จากระดับ 50.2 ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าคาดที่ 50.2 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนตุลาคม ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.6 จาก 51.7 ในเดือนกันยายน
- อิสราเอลประกาศสงครามในกาซา ‘เข้าสู่เฟสใหม่’ โดย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล กล่าวว่า สงครามในพื้นที่ฉนวนกาซาจะเป็นสงครามที่ยาวนานและยากลำบาก โดยเป้าหมายของการยกระดับสงครามสู่เฟสใหม่ในครั้งนี้เพื่อทำลายล้างกลุ่มติดอาวุธฮามาสและช่วยเหลือตัวประกันที่ยังติดอยู่ออกมา โดยก่อนหน้านี้กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ได้เข้าสู่ฉนวนกาซาจากสองจุด: เบต ฮานูน เมืองทางตอนเหนือ และบูเรจ ใกล้จุดกึ่งกลางแคบของฉนวนกาซาที่ยาว 45 กิโลเมตร โดยใช้การโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดทางให้รถถังและรถหุ้มเกราะอื่นๆ ที่บรรทุกทหารราบและกองกำลังวิศวกรรมการรบเข้าพื้นที่
ตลาดปรับตัวดีขึ้นจากประธาน Fed เริ่มส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย โดยบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของการคาดการณ์เศรษฐกิจและดอกเบี้ยของ FOMC (หรือ Dot Plot) ลดลงจากดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ความจำเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยลดลง นอกจากนั้น ภาพเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มส่งสัญญาณชะลอแรงขึ้น ทั้ง
1. ดัชนี ISM ภาคการผลิตสหรัฐฯ ปรับลดลงรุนแรง
2. ตัวเลข GDP ยูโรโซนที่หดตัว -0.1% ใน 3Q23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ขยายตัว 2.9% ต่ำกว่าคาดที่ 3.1%
3. การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ (ADP) อยู่ที่ 113,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าคาดที่ 130,000 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอลงท่ามกลางธนาคารกลางชั้นนำต่างๆ เริ่มคงดอกเบี้ยหลังขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
5 สัญญาณน่าสนใจจากนโยบายของ Fed ครั้งล่าสุด
ในประเด็นการทำนโยบายการเงินของ Fed เรามองว่ามีประเด็นน่าสนใจ 5 ประเด็น คือ
- มติคงดอกเบี้ยตามคาด แต่เริ่มส่งสัญญาณคงดอกเบี้ย โดยมองว่าประสิทธิภาพ Dot Plot ในการทำนายเศรษฐกิจและดอกเบี้ยลดลง บ่งชี้ว่าโอกาสในการขึ้นอีกครั้งลดลง
- ส่งสัญญาณว่า ผลตอบแทนพันธบัตรที่ขึ้นทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อลดลง
- ยังคงเปิด Room ในการขึ้นดอกเบี้ยได้ โดยประธาน Fed ย้ำว่ายังมีหนทางอีกยาวไกลในการทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาตามเป้าหมาย และเงินเฟ้อในระยะต่อไปอาจจะ ‘กระโดด’ (Lumpy) ขึ้นได้
- นโยบายการเงินยังไม่ช่วยชะลอเศรษฐกิจได้แรงพอ เพราะผู้กู้ยืมจำนวนมากตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า (Fix Rate) แต่เมื่อต้องรีไฟแนนซ์ต้นทุนการกู้ยืมจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง (บ่งชี้ว่าสภาพคล่องจะตึงตัวมากขึ้นแม้ไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ)
- ผลของ QT ต่อดอกเบี้ยพันธบัตรจำกัด และ FOMC ยังคงระดับการลดของการถือครองพันธบัตรต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาด Bullish ขึ้นหลัง FOMC และประธาน Fed เริ่มส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม INVX มองว่า การที่ประธาน Fed ไม่เริ่มส่งสัญญาณลดทอน QT ท่ามกลางการขาดดุลการคลังที่มากขึ้นและการขึ้นดอกเบี้ยที่แรงในช่วงก่อน จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรกลับขึ้นไปได้อีก และกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเราเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4/23 เป็นต้นไป และ Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2/24
นอกจากนั้น ในภาพใหญ่ เรามองว่าทิศทางการตึงตัวนโยบายการเงินทั่วโลก (ยกเว้นญี่ปุ่น) น่าจะเข้าสู่ปลายทางหรือสิ้นสุดลงแล้ว หลังการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อชะลอลง แต่ธนาคารกลางขนาดใหญ่จะยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะหนึ่ง ท่ามกลางการลดทอนขนาดของงบดุลที่มากขึ้น (ขณะที่ในญี่ปุ่นจะเป็นการลดการอัดฉีดลงผ่านการปรับเงื่อนไขของนโยบาย Yield Curve Control) ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินโลกตึงตัวมากขึ้น ท่ามกลางการขาดดุลการคลังของรัฐบาลทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรจะยังอยู่ระดับสูงและเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะถัดไป
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้น Undervalued ซึ่งราคาปรับลงมาจนเข้าเขต Oversold และยังมีพื้นฐานดี อีกทั้ง Valuation ไม่แพง (PER และ PBV 23F ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) เลือก BDMS, CPALL, CPN, MINT
2. หุ้นที่คาดผลประกอบการดีต่อเนื่องไปใน 4Q23 (+YoY, +QoQ) เลือก AP, AOT, BCH, CENTEL รวมทั้ง KCE ที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว (+QoQ)
3. หุ้นเก็งกำไร ซึ่งคาดได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันปรับขึ้นหรือทรงตัวในระดับสูง หากความตึงเครียดในตะวันออกกลางไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น (Upside ราคาน้ำมัน 5-10 ดอลลาร์) แนะนำเทรดดิ้งราคาน้ำมันเบรนต์ในกรอบ 84-94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เลือก BCP, PTTEP
ขณะที่ระยะกลางแนะนำระมัดระวังหุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภาคเกษตรลดลง ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL) กลุ่มสินเชื่อ (MTC, SAWAD) กลุ่มยานยนต์ (SAT, STANLY) กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF, GFPT)
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่ผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เตรียมประกาศท่าทีของกลุ่มต่อการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
- รายงานภาวะเงินเฟ้อและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือนตุลาคม รวมทั้งความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
- รายงานมูลค่าการส่งออกและอัตราเงินเฟ้อของจีนเดือนตุลาคม
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: GULF - 3Q23 คาดกำไรปกติทำนิวไฮ
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชั้นนำของไทย มีการกระจายความเสี่ยงโดยขยายไปสู่ธุรกิจก๊าซ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสัมปทานกับรัฐบาลเพื่อสร้างกระแสเงินสดให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในระยะยาว
- 3Q23 คาดทำกำไรปกติรายไตรมาสสูงสุดใหม่ เติบโต YoY และ QoQ จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก Jackson Generation ดีขึ้นหลังมีราคาไฟฟ้าต่ำใน 1H23 และการรับรู้โรงไฟฟ้า IPP อีกแห่งหนึ่ง คือ GPD หน่วยที่ 1 (662.5MW) เต็มไตรมาส ขณะที่ 4Q23 คาดกำไรปกติทำนิวไฮต่อจาก GPD หน่วยที่ 2 ซึ่งเริ่ม COD ตุลาคม 2023 และเข้า High Season ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม
- ปี 2023 คาดกำไรปกติเติบโต 32%YoY ปัจจัยหนุนจากกำลังผลิตใหม่ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โดยสิ้นปีนี้คาดมีกำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนลงทุน 6,113MW เพิ่มขึ้น 21%YoY และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH ซึ่งมีเสถียรภาพปีละ 4-5 พันล้านบาท
- ราคาหุ้นปรับลง 20.4%YTD จากความกังวลในนโยบายพลังงานของรัฐบาลที่อาจกระทบธุรกิจโรงไฟฟ้า IPP อย่างไรก็ตาม มองการปรับสัญญา PPA ทำได้ยากเพราะมีข้อผูกพันหลายฝ่าย อีกทั้งคาดราคาหุ้นปรับลงจนเริ่มมี Downside จำกัด ขณะที่กำไรยังเติบโตดี จึงมองน่าสนใจลงทุน
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 63 บาท (อิงวิธี DCF) อีกทั้งคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็น Div. Yield ปีละ 1.3%
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง/เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed ยังมีแนวโน้มดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบ Higher-for-Longer) ประกอบกับ ความหวังเศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing มากขึ้น ขณะที่สินทรัพย์สภาพคล่องยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังดำเนินอยู่
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Long-Duration Bond มากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ปลายวัฏจักรขาขึ้นแล้ว ความน่าจะเป็นที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอย่างมีนัย ตามตัวเลขเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง และตลาดแรงงานที่ลดความตึงตัวลง รวมถึงคาดการณ์การอ่อนตัวลงของกิจกรรมเศรษฐกิจใน 4Q23
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
Effective Yield ของ IG Bond ยังยืนในระดับสูง ถึงแม้ว่า Spread ยังแกว่งตัวแคบ / IG มีความทนทานต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ Corporate ที่ออก IG ส่วนใหญ่ได้ล็อกต้นทุนทางการเงินตอนที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในช่วงก่อนหน้า จึงได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจำกัด
Interest Coverage ของ US HY ลดลงสู่ระดับต่ำกว่า Pre-COVID สะท้อนถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ลดลง Spread ที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังไม่สะท้อน 1. ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง และ 2. HY Outstanding ที่ต้อง Refinance จะเร่งตัวขึ้นในปี 2024 ต่อเนื่องไปในปี 2025
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
ผลประกอบการในไตรมาส 3/23 ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด นำโดยกลุ่ม Consumer Discretionary, Communication Service และ Information Technology รวมถึงกลุ่ม Big Tech (Alphabet, Amazon, Meta, และ Microsoft) คาดว่ากำไรของ บจ. ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 และจะดีขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ดัชนีฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจากผลประกอบการ บจ. ในตลาดหุ้นยุโรปในไตรมาส 3/23 ที่มีแนวโน้มออกมาหดตัวค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี Valuation ของดัชนีฯ ยังไม่แพง ประกอบกับทั้ง ECB และ BOE มีแนวโน้มลดท่าที Hawkish ลง หลังล่าสุด BOE ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% และปรับคาดการณ์เงินเฟ้ออังกฤษลง
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
Earnings บจ.ญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยแรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า นอกจากนี้ บจ. มีแนวโน้มประกาศเพิ่มการซื้อหุ้นคืนในช่วงการรายงานงบฯ ขณะที่ผลการประชุม BOJ ล่าสุด ค่อนข้าง Dovish กว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับล่าสุด นายกฯ คิชิดะของญี่ปุ่น ได้ประกาศแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินราว 17 ล้านล้านเยน
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ท่ามกลาง PMI ภาคการผลิตของจีนล่าสุดที่กลับมาต่ำกว่า 50 ขณะที่ EPS ของดัชนีฯ มีแนวโน้มออกมาขยายตัว และ บจ. ยังมีประกาศซื้อหุ้นคืนมากขึ้น แต่ด้วยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่ออาจชะลอแรงซื้อบนดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่ Valuation ไม่แพง รวมทั้งได้อานิสงส์จากการแนวโน้มการปรับลด Stamp Duty ของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ความกังวลการชะลอตัวในภาคอสังหา ข้อพิพาทเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯ และความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ จะยังกดดันดัชนีฯ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตามการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตรและภาคการผลิตที่หดตัวน้อยลงในเดือนตุลาคม ขณะที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ช่วง High Season ใน 4Q23 รวมถึงการหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อาจช่วยส่งเสริมตลาดในระยะสั้น
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แม้การส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ดัชนี PMI เดือนตุลาคมที่หดตัว รวมถึงการออกหุ้นกู้โดยบริษัทใหญ่ที่มีสัดส่วนน้ำหนักมากบนดัชนีฯ ในขณะที่นักลงทุนย้ายเงินลงทุนสู่สินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความเสี่ยงสงครามอาจทำให้ปัจจัยสนับสนุนตลาดในระยะสั้นมีจำกัด
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจากการที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สูง หลัง BI ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 6% กระทบการบริโภคในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า จำกัดการส่งออกถ่านหินในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาวเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการลงทุนโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปแร่โลหะ
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำได้รับแรงหนุนในระยะสั้นจากสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ประกอบกับการที่ Bond Yield อ่อนตัวลงจากการหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed รวมถึงโอกาสที่สหรัฐฯ เป็น Soft Landing มากขึ้น นอกจากนี้การที่ USD มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะถัดไปจะช่วยสนับสนุนราคาทองคำในระยะกลาง
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และ BOE ในการประชุมฯ ครั้งล่าสุด รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่ชะลอตัวลงตามสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และ PMI จีนที่ชะลอลงยังกดดันราคา
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (CMBS) ลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายน หลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5M ขณะที่ค่าเช่ายังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย แต่อุปสงค์โดยรวมและ Vacancy Rate ยังคงอ่อนแอ ประกอบกับ Valuation ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ไทยเริ่มมี Fund Flow ไหลเข้าเล็กน้อยในเดือนกันยายน หลังจากเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องจาก Property Fund นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม อีกทั้งมี Valuation ค่อนข้างถูกทั้งในแง่ PBV, Dividend Yield Spread ขณะที่ REITs สิงคโปร์ Yield Spread ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าสนใจ
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly Negative on Private Equity, Private Real Estate และ Private Debt ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและบริษัทใน Private Debt