- IMF เตือนหนี้สาธารณะทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอีกรอบ หลังจากลดลงเล็กน้อยเมื่อปี 2021-2022 โดยคาดว่าหนี้สาธารณะโลกจะเฉียด 100% ต่อ GDP โลกอีกครั้ง โดยอยู่ที่ 99.6% ภายในปี 2028
- การแก้ปัญหาความเปราะบางของหนี้สาธารณะควรเป็น ‘ลำดับความสำคัญสูงสุด เหนือกว่าสิ่งอื่นๆ’ เพื่อหลีกเลี่ยงวังวนหายนะ (Doom Loop) ซึ่งหมายถึงการเกิดวิกฤตการเงิน (Financial Crisis) พร้อมกับๆ วิกฤตหนี้สาธารณะ (Sovereign Debt Crisis)
- รายงาน Fiscal Monitor ยังประเมิน ‘ไทยจ่อขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง’ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยอยู่ที่ -3.5% ต่อ GDP ในปี 2028 ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะไทยน่าจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงเวลาดังกล่าว นับเป็นความท้าทายทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ
Vitor Gaspar ผู้อำนวยการฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดอย่างหนัก หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งสูงถึงเกือบ 100% ของ GDP ก่อนลดลง 2 ปีติดต่อกัน กระนั้น ระดับหนี้สาธารณะของโลกยังคงสูงกว่าช่วงก่อนโควิดอยู่ประมาณ 8%
อย่างไรก็ตาม Gaspar กล่าวเตือนว่า อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP คาดว่า จะเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2023 นี้ ก่อนจะแตะ 99.6% ของ GDP โลก ภายในปี 2028 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในขอบข่ายการคาดการณ์ของ IMF
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังเตือนอีกว่า ประมาณการหนี้สาธารณะกำลังเร่งตัวสูงขึ้นและเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด เนื่องจากได้แรงหนุนหลักจากสหรัฐอเมริกาและจีน สองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
โดย 60% ของประเทศทั่วโลก คาดว่า จะเห็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลงจนถึงปี 2028 แต่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น บราซิล จีน และสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
“(IMF) คาดว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก และประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ จะมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึง บราซิล จีน ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ตุรกี สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร โดยอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 2 แห่งของโลก” Gaspar กล่าว
ในทางตรงกันข้าม Gaspar กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ ‘อยู่ในระดับปานกลาง’ คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงสู่ระดับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านงบประมาณ (Budgetary Constraint) ที่ตึงตัวมากขึ้น และปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น จะขัดขวางความพยายามในการลดความยากจน และขัดขวางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย IMF ระบุในรายงาน Fiscal Monitor ฉบับล่าสุด ประจำเดือนเมษายน 2023
IMF แนะนานาประเทศร่วมใจหลีกเลี่ยง ‘Doom Loop’ หรือวังวนหายนะ
โดยรายงานของ IMF เตือนว่า การแก้ไขปัญหาความเปราะบางของหนี้สาธารณะควรเป็น ‘ลำดับความสำคัญสูงสุด เหนือกว่าสิ่งอื่นๆ’ (Overriding Priority) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อย รวมถึง 39 ประเทศที่มีปัญหา หรือใกล้ประสบกับปัญหาหนี้สิน (Debt Distress) อยู่แล้ว
Gaspar กล่าวอีกว่า ปัญหาในภาคการธนาคารเมื่อเร็วๆ นี้ในสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ได้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงินมากขึ้น และยิ่งสร้างแรงกดดันต่องบดุลของภาครัฐ หากรัฐบาลถูกร้องขอให้เข้าช่วยเหลือ
เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม หรืออาจเลวร้ายลง หน่วยงานกำกับดูแลควรพิจารณาการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกรอบการจัดการวิกฤตและระบอบการกำกับดูแลสถาบันที่มีปัญหา
“ในบรรดาวิกฤตเลวร้ายที่สุด ที่สามารถเกิดขึ้นได้ คือวิกฤตการเงิน (Financial Crisis) พร้อมกับๆ วิกฤตหนี้สาธารณะ (Sovereign Debt Crisis) และนั่นเป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘วังวนแห่งหายนะ’ (Doom Loop) ซึ่งเราต้องหลีกเลี่ยง” Gaspar กล่าว
IMF วอนรัฐบาลทั่วโลกคุมเข้มการใช้จ่าย เพื่อกดเงินเฟ้อ
IMF ยังร้องขอให้ทุกประเทศวางนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้สอดคล้องกัน เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และสร้างเกราะป้องกันที่จะสามารถนำมาใช้ในกรณีที่เกิดวิกฤตได้
Gaspar เสริมอีกว่า ตราบใดที่ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) ถูกควบคุมได้อยู่ การต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมทั้งเสริมว่า นโยบายการคลังที่เข้มงวดขึ้นสามารถระงับอุปสงค์ได้ และช่วยลดความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงมากขึ้นด้วย
น่าห่วง! ดุลงบประมาณ ‘ไทย’ ในระยะข้างหน้าห่างไกล ‘สมดุล’
ตามการประเมินของ IMF คาดการณ์ว่า ดุลงบประมาณโดยรวมของไทย (General Government Overall Balance) ไม่น่าจะกลับมาสมดุลได้ไปจนถึงปี 2028 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในขอบข่ายการคาดการณ์ของ IMF
ทั้งนี้ General Government Overall Balance ของ IMF หมายถึงการให้กู้ยืม (Lending) และการกู้ยืม (Borrowing) สุทธิของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศหมายถึงรายได้และเงินช่วยเหลือรวม และหักลบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดและเงินให้กู้ยืมสุทธิ
โดยในรายงาน IMF คาดการณ์ว่า ในปี 2023 นี้ ไทยจะขาดดุลงบประมาณ 3.1% ต่อ GDP ลดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ที่ขาดดุล 4.7% ต่อ GDP ในปี 2020 ขาดดุล 7% ต่อ GDP ในปี 2021 และขาดดุล 5.5% ในปี 2022 นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า IMF ยังประเมินว่า ไทยจะยังขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ -3.5% ต่อ GDP ในปี 2028
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ IMF ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2019 ที่ติดลบ 0.8% ต่อ GDP เทียบกับปีก่อนหน้าที่เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.1% ต่อ GDP
โดยตามข้อมูลของ TDRI ระบุว่า การขาดดุลงบประมาณเรื้อรังอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะและความสามารถในการให้บริการประชาชนได้ ท่ามกลางการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตลอดจนปัญหาความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและประเทศ ซึ่งจะส่งผลไปถึงภาคธุรกิจที่จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น
IMF ประเมินหนี้สาธารณะไทยไม่น่ากลับสู่ระดับก่อนโควิดใน 5 ปีข้างหน้า
สำหรับระดับหนี้สาธารณะไทยปี 2023 นี้ IMF ประเมินว่า จะอยู่ที่ 61.0% ต่อ GDP และแตะระดับ 61.6% ต่อ GDP ในปี 2024 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 57.3% ในปี 2028 นับว่าอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะเดิมของไทยที่ 60% อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าวยังสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ที่ 41.1% ต่อ GDP ในปี 2019
แม้หนี้สาธารณะอาจมีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลักดันให้ประเทศเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าการใช้เงินที่กู้ยืมมา ‘ไม่ถูกต้อง’ ก็อาจจะส่งผลเสียได้ ไม่ว่าจะเป็น การก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ความเป็นไปได้ที่จะกระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ หากต้องมีการชำระหนี้ต่างประเทศ การจัดอันดับเครดิตของประเทศ รวมไปถึงผลต่อภาระงบประมาณ เนื่องจากการมีหนี้สาธารณะจำนวนมากก็อาจเป็นการสร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต เนื่องจากการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องแบกรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
อ้างอิง: