- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงิน-ตลาดทุนเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่เติบโตเกินคาด ทำให้ตลาดเริ่มกลับมากังวลการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อีกครั้ง
- การบริโภคในสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวหรือไม่หดตัวลงมาก จะช่วยให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2023 มีความรุนแรงลดลงได้บ้าง
- เศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จะกดดันให้จีนต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่น Zero-COVID รวมถึงมาตรการผ่อนปรนด้านสินเชื่อให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- หากว่าจีนมีแผนที่จะยกเลิกนโยบาย Zero-COVID จะช่วยเพิ่มการเติบโตทั่วโลกและบรรเทาปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานได้อย่างชัดเจน โดยจะเป็นบวกให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ หรือยุโรป
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเริ่มปรับตัวลดลงหลังฟื้นตัวดีขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่เติบโตเกินคาด ทำให้ตลาดเริ่มกลับมากังวลการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อีกครั้ง ขณะที่คณะกรรมการ FOMC บางท่านยังคงส่งสัญญาณกังวลเงินเฟ้อ แม้ว่าเงินเฟ้อ CPI และ PPI ชะลอเกินคาดก็ตาม
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเริ่มปรับตัวลดลงด้วยเหตุผลหลักๆ ดังนี้
1.ตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่เติบโตเกินคาด โดยปรับขึ้นถึง 1.3%MoM ทำให้ตลาดเริ่มกลับมากังวลการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อีกครั้ง
2. คณะกรรมการ FOMC บางท่าน เช่น เอสเธอร์ จอร์จ ประธาน Kansas Fed และ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ สมาชิก FOMC ยังคงส่งสัญญาณกังวลเงินเฟ้อ แม้ว่าเงินเฟ้อ CPI และ PPI จะชะลอเกินคาดก็ตาม ขณะที่ เลล เบรนาร์ด รองประธาน Fed เห็นด้วยกับการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย
3. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนชะลอต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดค้าปลีกหดตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวรชะลอตัว แต่ตลาดจีนปรับตัวดีขึ้นจากสัญญาณนโยบาย Zero-COVID และนโยบายสินเชื่อภาคอสังหาที่ผ่อนคลายมากขึ้น
4. สัญญาณความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะประเด็นขีปนาวุธตกในโปแลนด์ ซึ่งประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่ามาจากรัสเซีย แม้ว่า NATO และผู้นำชาติตะวันตก กล่าวว่าอาจมาจากยูเครนเอง
5. เงินเฟ้ออังกฤษทำระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่รัฐบาลประกาศมาตรการขึ้นภาษีและลดการใช้จ่ายภาครัฐ
6. ผู้ติดเชื้อใหม่ในจีนยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนได้รับปัจจัยบวกจาก
1. การพบกันครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน และ สีจิ้นผิง จบลงอย่างราบรื่น
2. ผู้นำรัสเซียและยูเครนไม่ Walk Out ขณะที่อีกฝ่ายแถลงในการประชุม G20
3. เดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาสูง ขณะที่รีพับลิกันครองสภาล่าง ทำให้โอกาสรอมชอมมีมากขึ้น
4. รัสเซียต่ออายุข้อตกลงการส่งออกธัญพืชจากยูเครน
5. เงินเฟ้อยูโรโซนเดือนตุลาคมอยู่ที่ 10.6% ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย
ตลาดการลงทุนทั่วโลกปรับตัวลดลง 1% (EM +0.7%, DM -1.2%) โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากท่าทีของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างที่ตลาดคาด ประกอบกับตัวเลขภาคการผลิตและยอดค้าปลีกออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางอาจจะยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ส่วน EM ได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเปิดประเทศมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นสำคัญ
โดยหุ้นกลุ่ม Value (-0.8%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-1.2%) หุ้นขนาดใหญ่ (-0.8%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (-1.9%) กลุ่มที่อิงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างกลุ่มเทคโนโลยี Consumer Discretionary และอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง 2-3% ส่วนกลุ่มเชิงรับอย่าง Staples และ Utilities ปรับเพิ่มขึ้น 0.5%
ยอดจับจ่ายในสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดี ช่วยลดความรุนแรง Recession
InnovestX มองว่าการที่ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ขยายตัวดีเกินคาดบ่งชี้ว่า ประชาชนยังคงมีรายได้ที่ใช้ในการจับจ่าย แม้ว่าจะมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคต โดยประชาชนยังมีเงินออมเหลือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ณ เดือนตุลาคม 2022 ชาวอเมริกันมีเงินออมส่วนเกินอยู่ประมาณ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงสูงสุด ณ เดือนมกราคม 2022 ที่ประมาณ 3.06 ล้านล้านดอลลาร์ จึงคาดการณ์ได้ว่าเงินออมส่วนเกินจะลดระดับจนหมดภายในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2023 ซึ่งจะช่วยให้ระดับการบริโภคยังคงทรงตัวหรือไม่หดตัวลงมาก ซึ่งน่าจะช่วยให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2023 มีความรุนแรงลดลงได้บ้าง (Soften the Blow)
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อ InnovestX มองว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องจะทำให้ความรู้สึกอยากจับจ่าย (Sentiment) ในระยะต่อไปลดลง และจะช่วยลดทอนการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยและ/หรือบริการต่างๆ ได้บ้าง ซึ่งจะเป็นการลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้บ้างในระยะต่อไป
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน InnoestX มองว่าสัญญาณเศรษฐกิจล่าสุด ทั้งยอดค้าปลีกและยอดส่งออก-นำเข้าที่หดตัวนั้นบ่งชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจีนกำลังมีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้จีนต้องผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เช่น Zero-COVID รวมถึงมาตรการผ่อนปรนด้านสินเชื่อให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ มองว่าทางการจีนจะผ่อนคลายนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้นหากเศรษฐกิจชะลอลงอีก โดยอาจจะ
1. ลดอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) และดอกเบี้ยต่างๆ
2. เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
3. ผ่อนคลายภาคอสังหาเพิ่มเติม
ขณะที่มาตรการ Zero-COVID นั้นเป็นไปได้ที่จะยกเลิกในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ทำให้เศรษฐกิจจีนในปี 2023 ขยายตัวที่ประมาณ 5.0% เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่ขยายตัวประมาณ 3.5%
กลยุทธ์การเล่นหุ้นเปิดเมืองของจีน
หากว่าจีนมีแผนที่จะยกเลิกนโยบาย Zero-COVID จะช่วยเพิ่มการเติบโตทั่วโลกและบรรเทาปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานได้อย่างชัดเจน ซึ่งมองว่าจะส่งผลรวมที่เป็นบวกให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ หรือยุโรป แต่จะส่งผลดีกับ Sentiment ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
หากมองย้อนไปในช่วงที่สหรัฐฯ และไทย มีประสบการณ์ในการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นนั้นบ่งชี้ว่า การฟื้นฟูสู่สภาพปกติอย่างสมบูรณ์ใน 1-2 ไตรมาสและจะมีมาตรการลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการคลี่คลาย และจะไปติดอยู่ที่ตำแหน่งของ Pre-COVID ในช่วงเวลาที่มีการประกาศเปิดประเทศทั้งหมด
เรายังคงมองว่ากระบวนการจะค่อยเป็นค่อยไปในจีน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การเริ่มเดินทางระยะสั้นและระยะไกลอีกครั้งในต้นปี 2023 ตามด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเดินทางข้ามพรมแดนตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2023
หากพิจารณาจากการทำเมืองต้นแบบคล้ายกับบ้านเราในช่วงเดือนตุลาคม 2021 และเปิดเต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคม 2022 นั้นก็จะบ่งชี้ว่า จีนมีแนวโน้มเปิดประเทศในช่วงเดือนมิถุนายน 2023 โดย InnovestX เชื่อว่าการขึ้นราคาล่าสุดยังไม่ได้สะท้อนราคาเต็มที่ในการเปิดใหม่เต็มรูปแบบ
โดย InnovestX ชอบหุ้นที่ราคายังไม่กลับไปที่ Pre-COVID โดยในระยะสั้นชอบ China Southern (-16% จาก Pre-COVID) และ Fosun Tourism Group (-19%) ส่วนการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 2/26 ในช่วงสุดท้ายชอบ China Eastern (-9%), Air China (-13%), Shanghai International Airport (-24%), BCIA (-39%) Trip.com (-18%), คาสิโนมาเก๊า (-62%) และ HK REIT (-30-35%)
แต่ในช่วงสั้นยังมองว่ายังมีความเสี่ยงจากการปรับตัวลดลงในช่วงสั้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยจีนปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้มีความเสี่ยงในการล็อกดาวน์
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
ช่วงสั้นมองว่า SET จะแกว่งตัวแคบและมีโอกาสพักตัว หลัง Fund Flow พลิกมาไหลออกโดยเป็นการขายใน
1. กลุ่มพลังงานที่ผลประกอบการไม่ค่อยดีและราคาน้ำมันผันผวน
2. บริษัทที่แนวโน้มไม่ดี
3. บริษัทที่ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าคาด
4. กลุ่มโรงพยาบาลจากภาพของการเปลี่ยนกลุ่มเล่น
นอกจากนั้นไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ มาหนุนบรรยากาศลงทุน ดังนั้นกลยุทธลงทุนจึงแนะนำเป็น ‘Selective Buy’ โดยเน้นรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
1. หุ้นที่คาดว่าโมเมนตัมกำไร 4Q65 เติบโตแข็งแกร่ง YoY และ QoQ เลือก BBL, GULF, MAKRO, CRC, SPALI และ AOT
2. หุ้นเก็งกำไรที่คาดว่าได้อานิสงส์จากการที่จีนมีแนวโน้มเปิดประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะหนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เลือก MINT, ERW, SCGP และ IVL
3. หุ้นเก็งกำไรที่คาดว่าได้อานิสงส์จากเทศกาลฟุตบอลโลก (เริ่มวันที่ 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2565) ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นบรรยากาศการบริโภคในช่วงเชียร์บอล เลือก CPALL, CENTEL และ MINT
ส่วนช่วงสั้นยังแนะนำให้เลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
1. หุ้นที่คาดว่าจะถูกนำออก SET50 ซึ่งจะประกาศวันที่ 16 ธันวาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ใน 1H66 เช่น BLA, IRPC, KCE และ SAWAD (SET100 ที่คาดว่าจะถูกนำออก MAJOR, STEC, SUPER, SYNEX, TASCO และ TTA)
2. หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่า และผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอต่อใน 4Q65
3. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. ผลการประชุม FOMC ที่ตลาดมองหาสัญญาณการเปลี่ยนท่าทีของการทำนโยบายการเงิน
2. Flash PMI ของสหรัฐฯ และยุโรป ในเดือนพฤศจิกายน ว่าจะยังชะลอลงและต่ำกว่า 50 หรือไม่
3. การประชุม รมว.พลังงานยุโรป ที่อาจมีมาตรการควบคุมราคาพลังงาน
4. ท่าทีของจีนหลังจากจำนวนผู้ป่วยทะลุ 40,000 รายต่อวัน
5. GDP ไตรมาส 3/22 ของไทย โดยคาดว่าจะขยายตัว 4.0% ฟื้นตัวต่อเนื่องจาก 2.5% ในไตรมาส 2/22
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AOT - โมเมนตัมกำไรดีรับเปิดประเทศ
สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.ท่าอากาศยายไทย หรือ AOT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาด ~90% ของจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมดในประเทศไทย AOT ประกอบกิจการท่าอากาศยานหลัก 2 แห่งในกรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง) และท่าอากาศยานภูมิภาค 4 แห่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญ (ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และเชียงราย)
- มองเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศสูงสุดในกลุ่มฯ จึงคาดการฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะช่วยหนุนฐานะการเงินดีขึ้น และลดความเสี่ยงด้านการฟื้นตัวของผลกำไร
- 4QFY22 ผลประกอบการจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หลังรัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 โดยคาดว่าจะมีผลขาดทุนปกติที่ ~1.0 พันล้านบาท ขาดทุนลดลงทั้ง YoY และ QoQ
- มอง 3QFY23 จะพลิกกำไร หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ (วันที่ 31 มีนาคม 2023) โดย AOT จะกลับมาเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร ทำให้คาดว่าปี FY23 พลิกมีกำไรปกติ 1.38 หมื่นล้านบาท จากขาดทุนปกติ 1.0 หมื่นล้านบาทในปี FY22
- Valuation น่าสนใจ หลังราคาหุ้น AOT ยังตามหลังหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มท่องเที่ยวที่เทรดสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่เฉลี่ย 30% และเราประเมินราคาเป้าหมายสิ้นปี 2023 ที่ 75 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อการถือครองเงินสดและ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดัน จากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแทรกแซงค่าเงิน
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยเรามอง UST Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ โดยเฉพาะอายุ 2 ปี ตาม Dots ใหม่ของ Fed ที่จะถูกเปิดเผยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ มีแนวโน้มถูกปรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หลังประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ เผยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีความเข้มงวดเพียงพอ (Restrictive Rate) อาจอยู่ที่ระหว่างราว 5 และ 7% อย่างไรก็ดี ด้วยความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีอยู่ (โอกาสเกิด Recession ในสหรัฐฯ อีก 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 60%) จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ 10Y UST Yield
กองทุนแนะนำ
Krungsri Yenjai Fund
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม Investment Grade (IG) โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA เนื่องจากอุปสงค์โดยรวมที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดย Bond Yield และ Corporate Spread ของไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นรุนแรง ทั้ง Long-End และ Short-End (Bond Yield ใน MTD กลับปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากต่างชาติที่กลับเข้ามาในตลาดไทย เพื่อหวังทำกำไรจากค่าเงินบาท) อย่างไรก็ตาม ภาวะความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้นและดอกเบี้ยที่ยังเป็นทิศทางขาขึ้น เรายังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้กลุ่ม Unrated Bond และ HY
เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม IG โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม High Yield (HY) โดย HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นได้อีกจากความเสี่ยงการถูกปรับลดอันดับเครดิตที่ยังมีอยู่ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ต่างประเทศของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาจีน รวมทั้งยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้เกี่ยวเนื่องกับรัสเซีย
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยล่าสุดเงินเฟ้ออังกฤษเดือนตุลาคมเร่งตัวขึ้นต่อทำจุดสูงสุดในรอบ 41 ปี และความกังวลเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ บจ. ใน DM ของ 3Q65 ที่ส่วนใหญ่ยังออกมาดีกว่าคาด จะสามารถช่วยทำให้ตลาดฟื้นตัวขึ้นได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ในปี 2566 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลงต่อ และตลาดฯ ยังเผชิญความผันผวนจนกว่าจะเห็นสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง แต่เรามองว่าตลาดฯ ยังได้รับแรงหนุนจาก Valuation ตลาดฯ ที่ลดความตึงตัวลง และจากการซื้อหุ้นคืน บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับหุ้นกลุ่มที่เราคาดว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดฯ ได้แก่ กลุ่มพลังงานและเฮลท์แคร์
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นยุโรป แม้ว่ายุโรปจะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติได้ค่อนข้างเร็ว แต่เรามองว่าภาคการผลิตและการบริโภคยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากวิกฤติพลังงาน และต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวต่อไป ในขณะที่การดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างการคลังและการเงิน อาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนี้สาธารณะในระยะกลางได้ อีกทั้งการปรับเงื่อนไขในโครงการ TLTRO มีโอกาสนำไปสู่การชะลอตัวในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งยังกดดันภาพการลงทุนในหุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในระยะสั้น Sentiment การลงทุนยังคงถูกสนับสนุนด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ ประกอบกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวยังคงกดดันภาพการลงทุนในระยะกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นวัฏจักร ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า และส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มมีการเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่า BOJ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในเร็วๆ นี้
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ของดัชนีฯ ที่ไม่แพง ความคาดหวังของนักลงทุนต่อทั้งประเด็นการเปิดเมืองของจีนและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับหุ้นจีน ADRs อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังน่ากังวล โดยเฉพาะการกีดกันทางเทคโนโลยี ประกอบกับการระบาดในจีนที่ยังไม่แน่นอนสูง เงินหยวนที่อ่อนค่า ผลประกอบการกลุ่ม Internet Platform อย่าง Alibaba และ Tencent ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และการทยอยผลักดัน Common Prosperity ของทางการจีนจะยังคงกดดัน Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-Share โดยแม้ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติม ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุม CEWC กลางเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนเริ่มคาดหวังมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน แต่เราคาดว่าทางการจีนมีแนวโน้มยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ในช่วง 2Q66 นอกจากนี้ภาคอสังหาที่มีแนวโน้มซบเซาต่อจะยังกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจที่อยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว (โดย BOT คาดว่า 3Q GDP จะโตได้มากกว่า 3% vs. 2.5% และ 2.2% ใน 2Q และ 3Q ตามลำดับ ซึ่งได้แรงส่งจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ โดยจะมีแรงทนทานต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก) ส่งให้ EPS เติบโตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางหุ้นไทยที่ผันผวนต่ำกว่าภูมิภาค Valuation ที่ยังน่าลงทุน และมีแรงหนุนจาก Fund Flow ที่กลับเข้ามา ทั้งนี้ ควรเน้นหุ้นกลุ่ม High Quality ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและดอกเบี้ยขาขึ้น แต่หลีกเลี่ยงกลุ่มส่งออก
กองทุนแนะนำ
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าในระยะกลาง-ยาวตลาดฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังเติบโตสูง (ทางการเวียดนามตั้งเป้า GDP ปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 6.5%) และผลประกอบการ บจ.เวียดนาม ที่ยังขยายตัวได้ดี (ปี 2566 ยังขยายตัวสองหลัก) ขณะที่ Valuation ของตลาดฯ อยู่ในระดับที่ไม่แพง แต่การที่ Sentiment รายย่อยในประเทศยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ ตามความไม่แน่นอนในการปราบปรามการทุจริตของทางการเวียดนามที่ยังมีอยู่ ประกอบกับความกังวลปัญหาสภาพคล่องและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาที่มีมากขึ้น จะยังคงกดดันภาพรวมการลงทุนบนตลาดหุ้นเวียดนาม
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นอินโดนีเซีย โดย GDP 3Q65 โตสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส (ตามการลงทุนในประเทศที่เร่งตัวขึ้น ผนวกกับส่งออกที่ได้แรงหนุนจากสินค้าโภคภัณฑ์และการท่องเที่ยว) สอดรับไปกับผลประกอบการ 3Q65 ที่ยังเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ Infrastructure การเปิดเมืองและภาคธนาคาร แม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจอ่อนตัวลง ท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อและค่าเงิน แต่การลงทุนในประเทศและการเติบโตของชนชั้นกลางจะยังช่วยหนุนให้ EPS เติบโตต่อเนื่อง
กองทุนแนะนำ
SCB Indonesia Equity Fund
- กองทุน SCBINDO เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังความเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และเงินดอลลาร์มีทิศทางที่อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก
- การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และกังวลต่อความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น
- ธนาคารกลางต้องการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่เรามองว่าราคายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์น้ำมันในช่วงฤดูหนาว
ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจาก
1. กลุ่ม OPEC+ ยังคงพยายามเข้ามาควบคุมราคาน้ำมันด้วยการลดกำลังการผลิต ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในเดือนพฤศจิกายน
2. การคว่ำบาตรนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของกลุ่ม EU จะเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการเคลื่อนไหวของ LT Bond Yield ซึ่งนโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูงยังกดดันให้ Yield อยู่ในระดับสูง กระทบต่อผลตอบแทนรวมของ REITs ให้ฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ยุโรปยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบต่ออัตรากำไรของ REITs ขณะที่กลุ่มสำนักงานถูกกดดันจากการ Work From Home & Hybrid ที่ยังมี (แม้โควิดจะคลี่คลาย) และกระแสการเลิกจ้างที่กระทบต่อ Take-Up Rate โดยเฉพาะผู้เช่าที่เป็นกลุ่ม Tech Firm
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) แม้เอเชียถูกกระทบจากการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield แต่ไม่รุนแรงเท่ากับ DM โดยเฉพาะไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการเปิดเมืองและ Relocation-FDI หนุนกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรม / โกดัง ขณะที่ตลาดที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวยังมี Upside Risk ที่มาจากการเปิดเมืองของจีน ซึ่งอาจช่วยหนุนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับตลาดนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำให้เลี่ยง REITs ที่มีหนี้สูง / สภาพคล่องต่ำ เพื่อลดผลลบจากภาวะการเงินที่ตึงตัวทั่วโลกที่ยังมีอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม