THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกมอง ‘แง่ลบ’ มากที่สุดในรอบ 20 ปี ความกังวล Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังปกคลุมตลาด

... • 24 ต.ค. 2022

HIGHLIGHTS

  • ตลาดเงิน-ตลาดทุนป่วนทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ที่ยืนยันเรื่องการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มเข้าแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน 
  • เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลประเทศเศรษฐกิจสำคัญจะส่งผ่านอิทธิพลมายังตลาดเงิน-ตลาดทุนต่อเนื่อง ทั้งจีนที่มีการแต่งตั้ง สีจิ้นผิง ให้สืบทอดอำนาจต่อ และอังกฤษที่กำลังปั่นป่วนจากการเปลี่ยนนายกฯ และรัฐมนตรีอีกหลายตำแหน่ง 
  • ปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทั้งหลายส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นติดลบมากที่สุดในรอบ 20 ปี

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอาเซียน ฟื้นตัวหลังผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

1. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ทรงตัวแม้ว่าเงินเฟ้อสูง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม 

 

2. เงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ เดือนกันยายน อยู่ที่ 8.2% ต่อปี สูงกว่าตลาดคาด แต่เป็นทิศทางลดลงจากเดือนที่แล้ว ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อเริ่มปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

 

3. โอกาสการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยมีสูงขึ้น โดยตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 0.75% (ความน่าจะเป็น 96%), 0.75% (79%) และ 0.25% (53%) ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน, ธันวาคม และกุมภาพันธ์ 2023 ตามลำดับ

 

4. ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพิ่มเติม เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลงสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น 

 

4. สำนักวิจัย Bloomberg ให้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในปีหน้าที่ 100% 

 

5. ผลสำรวจนักลงทุนของ Bank of America พบว่า นักลงทุนมีมุมมองแง่ลบต่อการลงทุนหุ้นสูงสุดตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อปี 2002 

 

6. ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ยังคงยืนยันทำนโยบาย Zero-COVID ต่อไป พร้อมยึดมั่นในการพึ่งพาตนเองในประเด็นเทคฯ ตามนโยบาย Dual Circulation และ Common Prosperity 

 

7. นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ลาออก หลังจาก รมว.คลังคนใหม่ เจเรมี ฮันต์ ยกเลิกแผนการลดหย่อนภาษีของ รมว.คลังคนเดิม แทบทั้งหมด 

 

8. สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลในเอเชียได้ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปแล้ว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน ในการปกป้องค่าเงิน 

 

9. ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศขยายกรอบซื้อ-ขายอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินดอง เพื่อยอมให้เงินดองอ่อนค่าได้มากขึ้น

 

10. ทางการญี่ปุ่นส่งสัญญาณเข้าแทรกแซงค่าเงินเพิ่มเติม หลังเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับจิตวิทยาที่ 150 เยนต่อดอลลาร์

 

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% (EM +0.2%, DM +2.2%) รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของกลุ่มธนาคารและสายการบิน ตัวเลขการใช้กำลังการผลิตภาคโรงงานอยู่ที่ 80% สูงสุดในรอบ 22 ปี และการเปลี่ยนนโยบายการเงินและการคลังของอังกฤษ ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

 

หุ้นกลุ่ม Growth (+2.4%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Value (+1.6%) หุ้นขนาดใหญ่ (2.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (+1.1%) กลุ่มสื่อสารและกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังผลประกอบการ 3Q22 กลุ่มการเงินมีแรงเก็งกำไรต่อเนื่อง ในขณะที่หุ้นกลุ่มเชิงรับอย่าง Healthcare และ Consumer Staples ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1-0.7%

 

“สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้งหลังผลประกอบการที่เริ่มประกาศออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นทำให้หลายฝ่ายยังคงเชื่อว่า Fed ยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้ออังกฤษกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางส่งสัญญาณพร้อมดูดสภาพคล่องกลับ ทำให้ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น สะท้อนจากราคาน้ำมันที่ลดลงอีกครั้ง โดยล่าสุดสำนักวิจัย Bloomberg ให้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในปีหน้าที่ 100%”

 

นักวิเคราะห์มองตลาดหุ้นแง่ลบสูงสุดรอบ 20 ปี 

InnovestX มองว่า เศรษฐกิจกับการลงทุนโลกกำลังมองภาพแตกต่างกัน โดยตัวเลขเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ในปัจจุบันแม้จะชะลอลง แต่มุมมองของนักลงทุนกังวลในภาพเศรษฐกิจอย่างมาก เห็นได้จากรายงานการสอบถามนักวิเคราะห์ (Fund Manager Survey) ของ Bank of America ที่มีมุมมองแง่ลบต่อการลงทุนในหุ้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 2002 จากปัจจัยเสี่ยงที่มาก โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ยังพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบของดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกระทบทุกตลาดการเงิน ทั้งพันธบัตรที่ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี และกระทบต่อต้นทุนการเงินของภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอสังหา รวมถึงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินทั้งประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่อ่อนลงรุนแรงเทียบกับดอลลาร์ เช่น เยนแตะระดับ 150 เยน อ่อนสุดในรอบ 32 ปี ขณะที่ค่าเงินหยวนในตลาดต่างประเทศอ่อนลงรุนแรงเช่นกัน 

 

ตลาดเกิดใหม่มีสัญญาณเข้มแข็งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปัจจุบันตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี เช่น การเติบโตที่ดี ทุนสำรองที่มากขึ้น และตลาดทุนในท้องถิ่นที่ลึกขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญคือการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่จะขึ้นจนกว่าจะเห็นหลักฐานชัดเจนว่าเงินเฟ้อกำลังลดลง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเสี่ยงเผชิญวิกฤตในปีหน้า 

 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเอเชียของเราพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีเสถียรภาพเศรษฐกิจมากกว่าประเทศเจริญแล้ว โดยพบว่า ไต้หวันและอินโดนิเซียแข็งแกร่งที่สุด เวียดนามและไทยอยู่อันดับกลาง ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เปราะบางที่สุด 

 

สัปดาห์นี้ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่เลื่อนออกจากสัปดาหที่แล้ว เนื่องจากการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงการประชุมนโยบายการเงิน ECB (คาดขึ้นอีก 75 bps ไปสู่ 1.5% (Deposit Rate)) และ BOJ (ติดตามว่าจะเปลี่ยนนโยบายหรือไม่ท่ามกลางเยนอ่อน) และตัวเลขเงินเฟ้อ Core PCE สหรัฐฯ (คาดชะลอที่ 4.7% จาก 4.9%) และตัวเลข GDP ไตรมาส 3 (คาด +2.0%QoQ จาก -0.6% QoQ)

 

“เราเชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์/ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง” 

 

ในสัปดาห์หน้าติดตาม 

 

1. ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะลดลง 0.6%QoQ 

 

2. ตัวเลข GDP 3Q22 ของจีน ที่คาดว่าจะลดลง 1.5%QoQ 

 

3. การขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ที่คาดว่าจะขึ้น 75 bps หลังตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่าง 10%YoY 

 

4. เงินเฟ้อของสิงคโปร์และเวียดนามที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง 

 

5. BOJ ถูกคาดการณ์ว่าจะคงดอกเบี้ยแม้ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3%YoY 

 

6. ดีลซื้อกิจการ Twitter ของ อีลอน มัสก์ ซึ่งหากไม่สำเร็จจะมีการดำเนินการทางกฎหมายในเดือนพฤศจิกายน 

 

7. ผลประกอบการไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีหุ้นกุล่มเทคโนโลยีประกาศผลประกอบการเป็นสำคัญ

 

กลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย

แม้มองตลาดรับรู้ความเสี่ยงต่างๆ ไประดับหนึ่งแล้ว แต่คาดว่า Upside ยังจำกัด เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนจะยังถูกกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีมากขึ้น หลังธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ย กลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นจึงแนะนำ Selective ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้

 

1. หุ้น Non-Bank ซึ่งคาดว่าจะพรีวิวโมเมนตัมกำไรยังแข็งแกร่งใน 3Q65 เลือก CRC, CPF, ZEN, SNNP, AOT (สัปดาห์หน้า HMPRO, TU, SCGP) 

 

2. เก็งกำไรหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีน (หาก GDP ไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าที่คาด) เราเลือก IVL, PSL, WICE ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีของนโยบาย Zero-COVID

 

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ (ที่คาดว่าจะรู้ในช่วงปลายพฤศจิกายน) อย่าง เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน เลือก BJC, ERW, CENTEL 

 

4. หุ้นรอจังหวะซื้อหาก SET หลุด 1.550+/- ส่งผลให้ราคาปรับลงแรง (PBV ต่ำกว่า -1SD.) สวนทางพื้นฐานที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ เลือก MTC, GPSC, BGRIM, CBG, CPALL

 

ช่วงสั้นยังแนะนำให้เลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้

  

1. หุ้นโรงกลั่น หลังคาดงบ 3Q65 อาจได้รับผลกระทบค่าการกลั่นลดลง และขาดทุนสต๊อก โดยเฉพาะ บจ. ที่ไม่ได้ทำ Hedging

 

2. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง

 

3. แม้ว่าเรายังมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่บนภาพฟื้นตัว แต่เรามองว่าหาจังหวะขายทำกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานหากตลาดปรับเพิ่มขึ้นมาแถว 1,600 จุด ซึ่งสะท้อนภาพผลประกอบการไปแล้ว

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

1. การประกาศตัวเลข GDP 3Q22 ของจีน หลังถูกเลื่อนมาจากสัปดาห์ก่อน และ GDP 3Q22 ของสหรัฐฯ 

 

2. การประชุมนโยบายการเงิน เพื่อตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ ECB และ BOJ 

 

3. การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั้งของไทยและสหรัฐฯ 3Q22

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: HMPRO - 3Q22 กำไรจะเติบโตเร่งตัวขึ้น

สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ หรือ HMPRO เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

1. ผู้นำธุรกิจ Home Improvement ของไทย ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและผลการดำเนินงานยังมีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ตามแผนขยายสาขาที่มีอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยราวปีละ 4-6 แห่ง และการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSS) ราวปีละ 3%YoY

 

2. 3Q22 คาดกำไรจะเติบโตเร่งตัวขึ้น YoY แรงหนุนจาก SSS ที่ดีขึ้น มาร์จิ้นกว้างขึ้น (จากการขายสินค้าอัตรากำไรสูงได้เพิ่มขึ้น) และรายได้ค่าเช่าที่สูงขึ้นจากฐานต่ำใน 3Q21 จากการล็อกดาวน์ แต่จะทรงตัว QoQ จากปัจจัยฤดูกาล

 

3. ปี 2022 คาดกำไรจะเติบโต 16%YoY จาก SSS ที่คาดจะฟื้นตัวกลับมาเติบโต 4.5%YoY พร้อมมีแผนเร่งขยายสาขา โดยจะเปิดสาขาใหม่ 6 สาขา และย้ายสถานที่ตั้งร้านโฮมโปรใหม่ 1 สาขา ขณะที่มาร์จิ้นคาดปรับตัวดีขึ้นควบคู่ไปกับยอดขายที่ฟื้นตัวและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น 

 

4. ฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมี Net Debt to Equity ต่ำเพียง 0.6 เท่า และมีเงินสดดำเนินงานเฉลี่ยปีละ 8 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอรองรับแผนลงทุนปีละ 3 พันล้านบาท อีกทั้งความเสี่ยง Downside จากต้นทุนที่สูงขึ้นมีจำกัด เพราะมีมาร์จิ้นสูง และยังมีหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในกลุ่มพาณิชย์

 

5. เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 18.00 บาท (อิงวิธี DCF) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 อีกหุ้นละ 0.33 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 2.5%

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อการถือครองเงินสด และ/หรือ สินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้นโยบายแทรกแซงค่าเงิน

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยเรามอง UST Yield ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ โดยเฉพาะอายุ 2 ปี ตามการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลัง Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 bp ในเดือนพฤศจิกายน และจะขึ้น 50 bp ในเดือนธันวาคมปีนี้ (ตลาดเริ่มมองว่ามีโอกาสมากขึ้นที่จะขึ้น 75 bp) อย่างไรก็ดี ด้วยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น (ความน่าจะเป็นที่จะเกิด Recession ในสหรัฐฯ อีก 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 60%) จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ 10y UST Yield

 

กองทุนแนะนำ

 

 

Krungsri Yenjai Fund

  • กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม Investment Grade (IG) โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA เนื่องจากอุปสงค์โดยรวมที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะจาก บลจ. และบริษัทประกัน (โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 10 ปีขึ้นไปที่ Bid-Cover ที่ยังสูงเมื่อเทียบกับค่ากลางในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา) แม้อุปทานจะอยู่ในระดับที่สูง ท่ามกลางสัญญาณจากการขายหุ้นกู้ที่ไม่หมดในบางบริษัท อย่างไรก็ตาม Bond Yield ของไทยไม่ได้ปรับตัวขึ้นรุนแรง รวมทั้ง Corporate Spread โดยเฉพาะกลุ่ม AAA และ AA ที่ยังต่ำใกล้เคียงกับ Pre-COVID

 

เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม IG โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมอง Slightly Negative ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศกลุ่ม High Yield (HY) โดย HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นได้อีก จากความเสี่ยงการถูกปรับลดอันดับเครดิตที่ยังคงมีอยู่ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาจีนที่ยังน่ากังวล รวมทั้งยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้เกี่ยวเนื่องกับรัสเซีย

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังสูงและความกังวลเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ บจ. ของ DM ใน 3Q65 ที่มีแนวโน้มดีกว่าตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดฯ จะยังคงมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่องของ Fed และความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ แต่เรามองว่าตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจาก Valuation ของตลาดฯ ที่ลดความตึงตัวลงจาก Sentiment นักลงทุนที่ค่อนข้าง Bearish เกินไป ขณะที่การซื้อหุ้นคืน บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และผลประกอบการ บจ. ใน 3Q65 ที่แนวโน้มออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้การที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Quality Growth สูงกว่าตลาด DM อื่น จึงทำให้ได้อานิสงส์ หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

 

 

เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป โดยปัจจัยที่ยังกดดัน ได้แก่ วิกฤติพลังงานในยุโรป ที่ยังจะกระทบต่อทั้งภาคการผลิตและการบริโภคผ่านเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และเราเริ่มเห็นสัญญาณของเงินเฟ้อที่กระจายตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้นโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลือ ในขณะที่การดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องระหว่างการคลังและการเงินอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างเช่น หนี้สาธารณะในระยะกลางได้ อีกทั้งรัสเซียมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังกดดันภาพการลงทุนในหุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรายังคงมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในระยะสั้นนั้น Sentiment การลงทุนยังคงถูกสนับสนุนด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวเป็นปัจจัยกดดันภาพการลงทุนในระยะกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นวัฏจักร ในขณะที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้นเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศจากราคาสินค้านำเข้าที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเริ่มมีการเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะช่วยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นเมื่อดัชนีฯ ปรับลดลงมา

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ของดัชนีฯ ที่ไม่แพง การคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่น่าจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการกีดกันการค้า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการโดนคว่ำบาตรทางอ้อม ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและไต้หวัน ความกังวลภาคอสังหาที่ยังคงมีอยู่ และสถานการณ์การระบาดในจีนที่ยังไม่แน่นอน จะยังคงกดดัน Upside ของดัชนีฯ 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน A-Share โดยแม้ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนยังมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติม ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุม Politburo ปลายเดือนนี้ และ/หรือ การประชุม CEWC ในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของจีนกำลังหารือกันว่าจะลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าจีนหรือไม่ แต่เรายังคงคาดว่าการยกเลิกนโยบาย Zero -COVID จะเกิดขึ้นช่วง 2Q65 ตลอดจนกิจกรรมภาคอสังหาที่ซบเซา โดยปัจจัยกดดันข้างต้น จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องจนถึง 1Q66

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว (GDP ยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องในปีนี้-ปีหน้า) ผนวกกับนโยบายการเงินที่ตึงตัวไม่มาก ซึ่งหนุน Earning ให้ขยายตัวได้ ขณะที่ Valuation ยังน่าลงทุน นอกจากนี้ตลาดมีโอกาสได้ปัจจัยบวกชั่วคราวจากช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งของไทยในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดการเงินโลกทำให้เรายังเน้นหุ้นในกลุ่ม High Quality เพื่อรับมือความเสี่ยงต่างๆ รอบด้าน โดยเกาะไปกับกลุ่มท่องเที่ยว/ดอกเบี้ยขาขึ้น แต่หลีกเลี่ยงกลุ่มส่งออก

 

กองทุนแนะนำ

 

 

SCB Dividend Stock Open End Fund

  • กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าตลาดฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวดีขึ้น และผลประกอบการ บจ.เวียดนาม ใน 2H65 ที่มีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างดี แต่มีความเสี่ยงที่ธนาคารกลางเวียดนามจะยังเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้และเงินดองที่ยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าต่อเทียบดอลลาร์ หลังทางการได้ขยายกรอบการซื้อ-ขายสำหรับค่าเงินดอง นอกจากนี้ Sentiment นักลงทุนรายย่อยภายในประเทศยังคงซบเซาต่อ ตามที่ความไม่แน่นอนในการปราบปรามการทุจริตของทางการเวียดนามที่ยังคงมีอยู่

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นอินโดนีเซีย โดยมีปัจจัยหนุนจาก 

 

  1. เศรษฐกิจโดยรวมที่ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกถ่านหินตามอุปสงค์ของ EU ที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวใน 4Q65 และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ในปีหน้าจะได้แรงหนุนจากการเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งต้นปี 2567
  2. EPS ในปี 2565-2566 มีแนวโน้มถูกปรับขึ้นและ Valuation ยังน่าสนใจ
  3. ปัจจัยเชิงโครงสร้างจาก FDI, Relocation และการเติบโตของชนชั้นกลาง ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศที่ยังดี ผนวกกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันใน IDR 

 

กองทุนแนะนำ 

 

 

SCB Indonesia Equity Fund

  • กองทุน SCB Vietnam เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังความเจริญเติบโต และการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก

 

1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และกังวลต่อความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียดมากขึ้น 

 

2. ธนาคารกลางต้องการถือครอง เพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น

 

น้ำมัน 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

เรามีมุมมอง Slightly positive ต่อน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง แต่เรามองว่าราคายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในยุโรปช่วงฤดูหนาว ขณะที่อุปทานยังคงมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น

 

1. กลุ่ม OPEC+ ยังคงพยายามเข้ามาควบคุมราคาน้ำมันด้วยการลดกำลังการผลิต

 

2. ผลของการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของกลุ่ม EU จะเริ่มเห็นผลชัดมากขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยปัจจัยลบคือการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield จากนโยบายการเงินที่ตึงตัวของ Fed และเงินเฟ้อที่ยังสูงในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ผลตอบแทนรวม (USD Term) ของตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาลดลงหนัก ขณะที่ตลาดยุโรปมีความเสี่ยงที่ผลกำไรของ REITs ถูกกดดันจากเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง และภาวะการเงินตึงตัว สำหรับญี่ปุ่น แรงกดดันจากตลาดพันธบัตรมีไม่มาก ท่ามกลางการได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยเอเชียถูกกระทบจากการเพิ่มขึ้นของ LT Bond Yield แต่ไม่รุนแรงเท่ากับสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะไทยที่ตลาดลดลงไม่มาก ผนวกกับผลบวกจากการเปิดเมืองและ Relocation-FDI บางส่วน ขณะที่สิงคโปร์ในระยะข้างหน้าต้องติดตามความเสี่ยงของการกลับมาใช้มาตรการดูแลโควิดอีกครั้งหลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำให้เลี่ยง REITs ที่มีหนี้สูง/มีสภาพคล่องต่ำ เพื่อลดผลลบจากภาวะการเงินที่ตึงตัวทั่วโลกในขณะนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 24 ต.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories