- ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกยังส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ส่งผลตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรง
- เงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มชะลอลง ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้น โดยจากการติดตามตัวเลขเงินเฟ้อพบว่า 12 ใน 43 ประเทศ เริ่มเห็นตัวเลขเดือนล่าสุดชะลอลง
- ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ 1 ล้านล้านหยวน เพื่อดูแลความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากทั้งการผิดนัดชำระหนี้ภาคอสังหาและการขาดแคลนพลังงานในเสฉวนซึ่งเป็นผลจากภัยแล้ง
- กลยุทธ์ลงทุนหุ้นไทยสัปดาห์นี้ เน้นหุ้นคุณภาพดี มีความปลอดภัยสูงหรือมีปัจจัยบวกเฉพาะ ประเมินแนวโน้มตลาดระยะสั้นมีความผันผวนมากขึ้น ชูหุ้น CPALL เป็นหุ้นเด่นประจำสัปดาห์
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงหลังจากท่าทีของธนาคารกลางต่างๆ ยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ประธานธนาคารกลางสาขาต่างๆ ของสหรัฐฯ ก็ยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อเช่นกัน ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นแรงโดยเฉพาะ 10 ปี ในส่วนของจีน ตัวเลขเศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่อง ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจมีมากขึ้นทั้งประเด็นพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนจากภัยแล้งที่ทำให้แม่น้ำแยงซีแห้งขอด รวมถึงประเด็นภาคอสังหาที่ราคาที่ดินยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลาง (PBOC) ลดดอกเบี้ย LPR 1 ปี และ 5 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า ในภาพใหญ่ เงินเฟ้อเริ่มชะลอลงขณะที่เศรษฐกิจเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยจากการติดตามเงินเฟ้อใน 43 ประเทศ พบว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม เริ่มลดลงจาก 15.2% ในเดือนมิถุนายน สู่ 11.5% ในเดือนกรกฎาคม หากพิจารณาในรายประเทศ พบว่า 12 ใน 43 ประเทศ เริ่มเห็นเงินเฟ้อเดือนล่าสุดลดลง
ขณะที่ตัวเลข Flash Composite PMI ของประเทศขนาดใหญ่ บ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกล่าสุดส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้น โดย PMI ในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าสู่แดนถดถอยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อในประเทศส่วนใหญ่ยังปรับขึ้นอยู่ เช่น อังกฤษ ยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ทำให้ธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้นยังคงขึ้นดอกเบี้ย เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ที่ Fed ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ
ภาพเช่นนี้ทำให้ความตึงตัวทางการเงินจะมีมากขึ้น เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากธนาคารกลางต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณกังวลว่าเศรษฐกิจเริ่มเสี่ยงมากขึ้น ภาพเช่นนี้อาจเริ่มกลับทิศอีกครั้งได้
ขณะที่ในจีน ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอลง รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ภาคอสังหาและการขาดแคลนพลังงานในมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นผลจากภาวะภัยแล้งทำให้น้ำในแม่น้ำแยงซีลดลง ภาพดังกล่าวทำให้ทางการต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านหยวน (1.46 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตในระดับ 4% จากการที่ภาครัฐมีการสนับสนุนสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดดอกเบี้ย LPR 1 ปี และ 5 ปี เพิ่มเติม รวมถึงการที่ปัญหาหนี้เสียภาคอสังหายังเป็นส่วนน้อยมาก (0.3% ของสินเชื่อทั้งระบบของจีน) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด น่าจะยังประคับประคองเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง
จับตาตัวเลข PMI ของจีนในสัปดาห์นี้
สำหรับในสัปดาห์นี้ต้องติดตามตัวเลข PMI ของทางการจีน ว่าจะเริ่มชะลอแรงมากขึ้นหรือไม่ หลังจากเผชิญปัญหาอสังหาต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงาน นอกจากนั้นต้องติดตาม
1. ราคาบ้านสหรัฐฯ ที่วัดโดย S&P Case-Shiller Index จะชะลอตัวหรือไม่ และ
2. การจ้างงานนอกภาคเกษตร ที่คาดว่าจะชะลอแรงที่ 2.9 แสน จากเดือนกรกฎาคมที่ 5.28 แสน ขณะที่มองว่าค่าจ้างจะขยายตัวชะลอลงเช่นกัน
SCBS มองว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงเริ่มลดลง หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอตัว โดยล่าสุด ราคาบ้านในสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณปรับลดลงแล้ว ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ Fed ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ตลาดแรงงานยังคงร้อนแรง แต่การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลงมีส่วนช่วยลดระดับของเงินเฟ้อ ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุน แต่ปัจจัยความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปยังคงต้องระมัดระวังต่อไป
ดังนั้นเรายังคงแนะนำให้เน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก โดยความเสี่ยงสำคัญหลังจากนี้คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร การจ่ายดอกเบี้ย และเงินปันผลในอนาคต
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.6% แบ่งเป็น ตลาดเกิดใหม่ (EM) เพิ่มขึ้น 0.2% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง -0.7% โดยตลาดได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อหลังจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นแรงเป็นผลมาจากซาอุดีอาระเบียจะลดกำลังการผลิตลง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง เงินเฟ้อยุโรปที่เพิ่มขึ้น และปัญหาภัยแล้งในจีน แต่มีข่าวดีจากการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน ทำให้ตลาด EM ปรับตัวเพิ่มขึ้น
4 ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ หากแข็งแกร่งอาจจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
2. ตัวเลขเงินเฟ้อ และ PMI ของยุโรปที่คาดว่าจะทำจุดสุงสุดใหม่
3. ตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะชะลอตัวลง
4. ผลประกอบการ Baidu, Bank of China, Broadcom, China Construction Bank, Citic, Costco Shipping, Crowdstrike, HP, Lululemon, Midea, Pinduoduo, Shaanxi Coal และ Tianqi Lithium
กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้
มุมมองการลงทุนยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังมองช่วงสั้นตลาดมีความผันผวนสูงจึงต้องเลือกลงทุนมากขึ้น โดยแนะนำเน้นหุ้นปลอดภัยที่มีคุณภาพดีและ/หรือมีปัจจัยบวกเฉพาะ หุ้น Big Cap. ที่คาดได้อานิสงส์ Fund Flow ไหลเข้า และ Valuation ยังไม่แพง เลือก BBL, PTT, IVL และ AOT หุ้นที่คาด 3Q65 กำไรเติบโตดีทั้งแบบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เลือก CPALL, SCGP และ CENTEL หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจาก Apple เตรียมจัดอีเวนต์ใหญ่เปิดตัว iPhone 14 ในวันที่ 7 กันยายนนี้ เลือก COM7, CPW และ SYNEX
ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการดังนี้
- หุ้นที่คาดได้ผลกระทบลบจากสุญญากาศทางการเมืองที่อาจต้องรอการประมูลอย่างกลุ่มรับเหมา กลุ่มขนส่งทางรางและโรงไฟฟ้า
- หุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Chain หลังจีนเผชิญภัยแล้ง อย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์
- หุ้นกลุ่มเดินเรือเทกอง เช่น PSL และ TTA ซึ่งคาดได้ Sentiment ลบ จากการปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี BDI
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL - ภาพรวมกำไรจะดูดีขึ้น
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีกค้าส่งในไทยซึ่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งอยู่รอดและเติบโตได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและชะลอตัว
- มองผ่านจุดต่ำสุดปีนี้แล้วใน 2Q22 และกำไรจะเริ่มดูดีขึ้น โดย 3Q22 คาดกำไรปกติจะเติบโต YoY และเข้าสู่พีคของปีนี้ใน 4Q22 แรงหนุนจากธุรกิจ CVS และส่วนแบ่งกำไรจาก MAKRO ที่ดีขึ้นจากฐานต่ำปีก่อนจากการล็อกดาวน์ และยังมี Synergy จาก MAKRO กับ Lotus’s
- ปี 2022 เป็นปีแห่งการฟื้นตัว โดยคาดกำไรปกติพลิกโตเด่น 69%YoY และเติบโตต่อ 27%YoY ในปี 2023 ปัจจัยหนุนจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในธุรกิจ CVS, MAKRO และ Lotus’s ตามการฟื้นตัวของยอดขายสาขาเดิมและรับรู้ยอดขายสาขาใหม่ที่ขยายอย่างต่อเนื่อง
- Valuation ไม่แพง โดยราคาหุ้น CPALL ปรับขึ้นเพียง 4.2%YTD และยังซื้อขายต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ถึง 14.9% ซึ่งมองยังไม่สะท้อนผลการดำเนินงานปีนี้ที่เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสเงินพบว่า
1. กระแสเงินไหลเข้าตราสารหนี้อาจจะมองได้ว่าตลาดเริ่มมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่ตึงตัวน้อยลง
2. กระแสเงินไหลเข้ากลุ่มการเงินและหุ้นขนาดเล็ก เป็นข้อบ่งชี้ว่านักลงทุนกังวลกับภาพเศรษฐกิจน้อยลง
3. กระแสเงินไหลเข้า Utilities และหุ้นเงินปันผล สะท้อนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่จะผ่านจุดสูงสุด
4. มีแรงขายในหุ้นธีม Growth และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากอยู่ในช่วงของการปรับลดแนวโน้มกำไร
5. มีแรงขายในตลาดยุโรปอย่างต่อเนื่องจากความเสี่ยงด้านพลังงาน รวมถึงตลาดหุ้นจีนจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินไหลออกจากตลาดเอเชีย และ EM
6. เงินยังไหลออกจากโลหะมีค่า เงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่ากดดันต่อเนื่อง
ประเด็นความเสี่ยงใหม่ในช่วงนี้จะเห็นได้ในฝั่งยุโรปที่ถูกกดดันจากวิกฤตพลังงานและการลดลงของระดับในแม่น้ำไรน์ที่ส่งผลต่อการขนส่ง ประกอบกับทางฝั่งเมืองจีนที่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของภัยแล้งจนเริ่มส่งผลต่อกิจกรรมการผลิตและ Supply Chain ในบางบริษัท เราแนะให้ระมัดระวังการลงทุนในตลาดยุโรปและจีน หลังความเสี่ยงยังคงสูง
1. วิกฤตพลังงานจากราคาก๊าซที่ปรับตัวขึ้นสูง และความกังวลเรื่องการขาดแคลนพลังงานเมื่อยุโรปเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว
2. การลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำไรน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางหลักของยุโรปที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดโลก ทำให้เรือขนส่งสินค้าไม่สามารถเดินทางผ่านได้ ทำให้เกิดปัญหาด้านขนส่ง
ภาพรวมสองประเด็นนี้ทำให้ราคาต้นทุนสินค้าในบางบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้เกิดปัญหา Supply Chain ไม่คล่องตัว จนเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในภาพใหญ่ เราแนะระวังการลงทุนหลังยังคงมีความเสี่ยงสูง
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัว อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ที่ยังขยายตัวได้ดี จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปัจจัยหนุนจาก Valuation ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวดีขึ้น การประกาศซื้อหุ้นคืนและจ่ายเงินปันผลของ บจ. สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มมากขึ้น และแนวโน้มการพักฐานของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี ในระยะถัดไป และ Sentiment นักลงทุนบนหุ้นสหรัฐฯ ที่ทยอยดีขึ้น รวมทั้งการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Growth ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตลาด DM อื่นๆ จึงทำให้ได้อานิสงส์จากแรงซื้อนักลงทุน หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
วิกฤตพลังงานในยุโรปจะเป็นปัจจัยกดดันหลักซึ่งยังไม่ได้ถูกสะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรของ บจ. ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่แรงกดดันต้นทุนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาด โดยเราจะเห็นผลกระทบของวิกฤตพลังงานเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วง 4Q2022 ในขณะที่นโยบายทางการเงินของ ECB ถูกกดดันจากภาพเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง จะเป็นข้อจำกัดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ จากเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวขึ้น ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้นจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก แต่อย่างไรก็ดี Valuation ยังอยู่ในระดับที่ต่ำนั้นยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนอยู่หากมีการปรับตัวลงมา ประกอบกับข่าวการเปิดประเทศในช่วงเดือนกันยายน เป็นปัจจัยช่วยหนุน Sentiment ในกลุ่ม Re-Opening
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน H-Share ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และจากการออกมาส่งสัญญาณผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินการคลังของทางการจีน อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ทั้งเรื่องการกีดกันการค้า ความเสี่ยง Delisting หุ้นจีน ADRs การคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ ในประเด็นเกี่ยวกับรัสเซีย ข้อพิพาทบนประเด็นไต้หวัน และความกังวลบนภาคอสังหาและภาคธนาคารของจีนที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับการที่ EPS บจ. ในกลุ่ม Platform ใน 2Q2022 ที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อและทำจุดต่ำสุด จะยังกดดัน Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
หุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรพิเศษไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้หมดภายในเดือนนี้ และล่าสุด ทางการจีนได้เปิดเผยแพ็กเกจ 19 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมมูลค่าราว 1 ล้านล้านหยวน แม้ว่าแนวโน้มการคงนโยบาย Zero-Covid โดยรวมที่ยาวนานขึ้นของทางการจีน และปัญหาภาคอสังหาจีนที่ยังน่ากังวล อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนให้ห่างไกลจากเป้าหมาย GDP ที่ 5.5% ก็ตาม
กองทุนแนะนำ
SCB China A Shares Active Equity
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ Schroder International Selection Fund China A กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทรัพย์สินกองทุน ในตราสารทุนและตราสารที่เกี่ยวข้องกับตราสารทุนของบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนและซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศจีน
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
หุ้นไทยด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจาก
1. การเปิดเมืองและการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และ
2. Foreign Fund Flow ที่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
โดยเฉพาะหลังจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามรายได้ท่องเที่ยว สนับสนุนเงินบาทให้ทยอยแข็งค่าในระยะข้างหน้า โดยเราประเมินว่าหุ้นกลุ่ม Consumer Discretionary เช่น ธุรกิจ Retail, Modern-Trade และ Hotel จะเป็นกลุ่มหลักที่เติบโตสอดรับไปกับภาคท่องเที่ยว
ขณะที่กลุ่มธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ มีโอกาสรับประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจกระทบต่อ Fund Flow รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหา Supply Constrain ในจีน (ที่เกิดจากภัยแล้งในพื้นที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) และความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ และไต้หวัน อาจกระทบต่อกลุ่มส่งออก อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์
กองทุนแนะนำ
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นเวียดนามแม้ว่าปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มตลาดหุ้นกู้และตลาดอสังหาของทางการ จะยังจำกัดการปรับเพิ่มขึ้นของตลาดฯ อย่างไรก็ดี มองว่าตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีในช่วง 2H2022 (ตามการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม FDI ที่มากขึ้น และฐานที่ต่ำในช่วง 2H2021) จากผลประกอบการ บจ. เวียดนามที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อ จาก Sentiment ของนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศที่ดีขึ้น และแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ และจาก Valuation ของตลาดฯ ที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
กองทุนแนะนำ
SCB Vietnam Equity Fund
- กองทุน SCB Vietnam ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเวียดนาม และ/หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นอินโดนีเซียโดยมีปัจจัยสนับสนุน
1. เศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง อยู่ที่เฉลี่ย 5.0-5.5% ใน 2H2022-2023 จาก 5.4% ใน 2Q2022 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 ปี หากไม่นับ 2Q2021 และแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น แต่เราเชื่อว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะรองรับดอกเบี้ยขาขึ้นได้
2. Earning มีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่องจาก 2Q2022 ที่ผลประกอบการขยายตัวแข็งแกร่งกว่าในหลาย Sectors เช่น พลังงาน โลหะภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง อสังหา
3. Valuation อยู่ในระดับที่น่าลงทุน โดยเฉพาะกลุ่ม Large และ Mid Cap หากพิจารณาราย Sector เราเน้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่ยังสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น ธนาคาร, อาหาร และ Media เป็นต้น และกลุ่มที่ได้ประโยชน์ระยะกลางจากการเติบโตของชนชั้นกลางและธุรกิจ EV เช่น Consumer Discretionary, อสังหา, นิกเกิล เป็นต้น
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ที่ผ่านมาราคาทองคำได้มีการฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ Fed เริ่มลดความ Hawkish ลง อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และความต้องการถือครองจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น
น้ำมัน / อาหาร
ความน่าสนใจระดับ 4
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว และสมดุลตลาดน้ำมันที่จะกลับมาเป็น Surplus ในช่วง 3Q2022 ไปพอสมควรแล้ว และมองว่าราคาน้ำมันมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์ในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันเพื่อใช้แทนก๊าซธรรมชาติในยุโรป นอกจากนี้กลุ่ม OPEC มีแนวโน้มที่จะยังคงตรึงและมีโอกาสปรับลดกำลังการผลิตยังเป็นปัจจัยช่วยหนุนราคาน้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว ได้รับแรงหนุนจากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมและค้าปลีก และกลุ่มที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ยังได้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่มีมากขึ้น จากความสามารถในการซื้อบ้านลดลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวัง
1. REITs ในกลุ่มที่มีภาระหนี้สูงและหนี้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งจะถูกกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น
2. ความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐฯ/ยุโรป อาจกระทบ REITs ในกลุ่มที่มี Recurring Income ต่ำ และ
3. การกลับมาเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังตลาดกลับมากังวลเงินเฟ้อจากการที่ Fed ยังคงพูดถึงประเด็นเงินเฟ้อที่สูงเกินไป
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ตลาดได้รับผลบวกจากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกและโรงแรม ซึ่งสอดรับไปกับดัชนีค้าปลีกและรายได้ต่อห้องพักว่าง (RevPar) ของสิงคโปร์ที่ฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด และมีแนวโน้มเร่งตัวต่อหลังจากที่ทางการสิงคโปร์ผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเดินทางเข้าประเทศได้ รวมถึงการยกเลิกการใส่หน้ากากในอาคาร ขณะที่การใช้จ่ายหมวดเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวใน 2Q2022 ของไทยก็ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่จัดเก็บข้อมูล อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวัง REITs ในกลุ่มที่มีภาระหนี้สูงและหนี้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว อาจถูกกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?