THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ตลาดโลกเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากจีนคลายล็อกดาวน์ และเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด

... • 6 มิ.ย. 2022

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ตลาดการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากทั้งจีนคลายล็อกดาวน์ และเงินเฟ้อที่ดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว 
  • ภาพการลงทุนระยะข้างหน้ายังต้องติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ทั้งเงินเฟ้อที่ทรงตัวระดับสูง การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และความเสี่ยงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีมากขึ้น 
  • ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ระยะสั้นยังผันผวนจากปัจจัยภายนอก ส่วนปัจจัยในประเทศมีค่อนข้างจำกัด แนะคงน้ำหนักพอร์ตในหุ้นที่มีการเติบโตดี
  • ชู AMATA หุ้นเด่นประจำสัปดาห์ หลังกำไรมีแนวโน้มดีขึ้นทั้งในไทยและในเวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเคลื่อนไหวผันผวนและเริ่มลดลงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ คือ 1. ตัวเลขเงินเฟ้อยุโรปที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณตึงตัวนโยบายการเงินเร็วขึ้น 2. สหภาพยุโรปตกลงที่จะคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียที่นำเข้าผ่านทางทะเลเพิ่มเติม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน 3. ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 4. ราคาบ้านในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง และ 5. คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ท่านหนึ่งกล่าวสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ต่อเนื่องจนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ 2%

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีปัจจัยบวกที่ดีขึ้นจาก 1. การเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ทางการจีนและรัฐบาลท้องถิ่น (เช่น เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น) ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 2. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประชุมหารือกับ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ในประเด็นลดเงินเฟ้อ โดยจะผลักดันการปฏิรูปภาษีและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดปัญหา Supply Chain 3. ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (Core PCE) ชะลอตัวลง ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้เงินออม ผลจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และ 4. รัฐสภาญี่ปุ่นออกงบประมาณพิเศษสำหรับวงเงิน 2.7 ล้านล้านเยน เพื่อรับมือกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยในฝั่งยุโรปเงินเฟ้อยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ (Core PCE) เริ่มปรับลดลงตาม CPI ที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ด้านราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับขึ้นเกิน 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังยุโรปประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย 

 

เรามองว่า แม้เงินเฟ้อที่ผ่านจุดสูงสุดของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยบวก ทำให้ตลาดมองว่านโยบายการเงินสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะลดทอนความตึงตัวลง แต่เศรษฐกิจการลงทุนโลกในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยง 3 ประการ คือ 

 

1. ทิศทางเงินเฟ้อทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปที่จะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในสหรัฐฯ ยังเผชิญความเสี่ยงจากราคาบ้านที่ยังสูงสุดต่อเนื่อง ซึ่งจะผลักดันให้ค่าเช่าบ้านที่คำนวณจากราคาบ้าน (Rent-Equivalent Cost) ยังคงสูง ในขณะที่ยุโรป การคว่ำบาตรรัสเซียด้านน้ำมันเพิ่มขึ้นก็จะมีส่วนกดดันให้ยุโรปขาดแคลนพลังงาน และเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเช่นกัน 

 

2. นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง โดยในฝั่งของสหรัฐฯ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ คณะกรรมการ FOMC กล่าวสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ 2% ในขณะที่ในยุโรป ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมและกันยายนเป็นอย่างน้อย 

 

3. ความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มมีมากขึ้น ทั้งจากดัชนี ISM ที่เริ่มปรับลดลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งภาพดังกล่าวน่าจะทำให้การบริโภคของชาวสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงมากขึ้นในระยะถัดไป ท่ามกลางเงินเฟ้อระดับสูงและการตึงตัวภาคการเงินที่มากขึ้น นอกจากนั้น การที่ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าพร้อมจะคุมเงินเฟ้อโดยการปฏิรูปภาษีเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อลดปัญหา Supply Chain นั้น แม้จะทำให้เงินเฟ้อลดลงระยะยาว แต่ระยะสั้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอลง (จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น) และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (จากการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน) ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นสัญญาณบวกเล็กน้อยจากจีน หลังจากเริ่มลดทอนมาตรการล็อกดาวน์ หลังผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้น ซึ่งหากภาครัฐดำเนินนโยบายป้องกันเชื้อโอมิครอนอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสม ก็อาจช่วยลดทอนปัญหาเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้บ้าง

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.8% แบ่งเป็น ตลาดเกิดใหม่ (EM) เพิ่มขึ้น 2.4% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 1.1% โดยได้รับแรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนและมีสัญญาณการคลายล็อกดาวน์ของจีน ในขณะที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มทำ QT รวมถึงคาดการณ์ที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วและมากกว่าที่คาด จึงเป็นแรงกดดันตลาด DM

 

หุ้นกลุ่ม Growth (-0.4%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (-1%) หุ้นขนาดใหญ่ (-0.7%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (-0.8%) หุ้นที่กลุ่ม Consumer Discretionary ให้ผลตอบแทนดีที่สุด +0.3% 

 

ทั้งนี้มองว่าได้รับแรงหนุนจากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนมากขึ้น หุ้นกลุ่มสื่อสารปรับเพิ่มขึ้น 0.2% ในขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และพลังงานปรับตัวลดลงราว 1% ทั้งนี้มองเรื่องดอกเบี้ยและค่าเงินที่ผันผวนเป็นสำคัญ

 

ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับลดงบดุลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน

2. ตัวเลขเงินเฟ้อของจีนและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

3. การประชุมนโยบายการเงินของ ECB ที่คาดว่าจะมีการพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% 

4. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยที่คาดว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย และอาจจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย

 

“ความเสี่ยงของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในฝั่ง DM ที่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่ ในขณะที่ EM เป็นการฟื้นตัวบนความคาดหวัง หลังจากที่จีนเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการคลายล็อกดาวน์มากขึ้น การจะมองตลาดปรับตัวขึ้นนั้นอาจจะต้องมองไปที่การเปิดประเทศของจีนเพิ่มขึ้นและต้นทุนพลังงานเริ่มลดลง แต่เรายังไม่ได้เห็นภาพนั้น การลงทุนในช่วงเวลานี้จึงยังต้องเน้นไปที่บริษัทที่มีงบดุลแข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดดีต่อเนื่อง รวมถึงมองไปที่บริษัทที่เป็น Cash Cow ที่มีแนวโน้มปลอดภัยในช่วงเวลานี้”

 

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า

 

การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัด และหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น

 

1. คงน้ำหนักพอร์ตในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANK, AMATA, LH, GULF และ ADVANC

2. หุ้นที่กำไร 1Q22 ดีเกินคาด และ 2Q22 โมเมนตัมกำไรดีต่อเนื่อง เลือก IVL, AMATA, MTC และ CPALL

3. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อยู่ในทิศทางขาขึ้น เลือก BLA 

4. หุ้นที่ได้อานิสงส์จากบาทอ่อน และ/หรือ จากวิกฤตราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น เลือก GFPT และ CPF 

5. ระมัดระวังหุ้นกลุ่มขนส่ง, วัสดุก่อสร้าง, ยานยนต์, โรงไฟฟ้า, อสังหา และบรรจุภัณฑ์ ที่มีโอกาสถูก Downgrade Earning จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นต่อเนื่อง 

6. แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นที่คาดผลประกอบการและมาร์จิ้นจะถูกกดดันจากการมีสินค้าเกษตรเป็นต้นทุนวัตถุดิบหลัก ได้แก่ SNNP, TFMAMA, NSL, SNP และหุ้นกลุ่มที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นต้นทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AMATA - กำไรจะดีขึ้นทั้งในไทยและเวียดนาม

 

สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ
AMATA เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

1. เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในไทย ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 1,000 ราย โดยมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง คือ นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี, ระยอง และในเวียดนาม 1 แห่ง คือ นิคมฯ อมตะซิตี้ เบียนหัว

 

2 . มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวตามธุรกิจ EV Car และโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักและเป็นธุรกิจ New S-Curve ที่คาดจะหนุนการเติบโตของของยอดขายที่ดินและกำไรในอนาคต นอกเหนือไปจากธุรกิจค่าบริการและสาธารณูปโภคที่มีแนวโน้มจะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 10% 

 

3. มองผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดในรอบ 12 ปีแล้ว และปีนี้กำไรจะมีโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่อง หลังหลายประเทศคลายล็อกดาวน์และทยอยยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันบริษัทมี Backlog ในมือโดดเด่นกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าอย่างน้อย 60% จะสามารถบันทึกเป็นรายได้ในช่วง 2H22 

 

4. ปี 2022 คาดกำไรปกติพลิกเติบโต 81%YoY บนรายได้รวมที่เติบโต 10%YoY และการกลับมาฟื้นตัวของ Gross Margin ภายใต้สมมติฐานการกลับมาขายและโอนนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ซึ่งเป็นนิคมฯ ที่มีมาร์จิ้นสูงกว่านิคมฯ อื่นๆ ส่วนนิคมฯ ที่เวียดนามทั้ง 3 แห่งคาดฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด

 

5. เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่ 24.60 บาท (อิง PER 20x) และคาดจ่ายเงินปันผลจากกำไรปี 2022 หุ้นละ 0.29 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 1.5%

 

หุ้น Cash Cow น่าสนใจ

 

ตลาดฟื้นตัวในช่วงสั้นแต่ไม่มีปัจจัยบวกที่ทำให้มองว่าเป็นตลาดกระทิง เรายังคงท่าทีระมัดระวังต่อการลงทุนในช่วงเวลานี้ แม้ว่าจะมีการเก็งกำไรในหุ้นความเสี่ยงสูงอยู่บ้าง เรามองว่าหุ้นธีมที่น่าจะตอบโจทย์การลงทุนในช่วงเวลาที่ผันผวนคือหุ้นที่มีลักษณะ Cash Cow ที่ผันผวนน้อยกว่า เติบโตชัดเจนกว่า ถูกกว่า เงินปันผลสูงกว่า และมีกระแสเงินสดดีกว่า ซึ่งมีส่วนป้องกันความเสี่ยงที่เยอะกว่า

 

1. Cash is King กลับเข้ามาในตลาดช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน นักลงทุนกำลังมองว่าหุ้น Cash Cow ซึ่งมีการเติบโตไม่สูงแต่ส่วนแบ่งทางการตลาดสูง มีความน่าสนใจในการลดความเสี่ยงในช่วงเวลาที่ตลาดพักตัวและมีความเสี่ยงมาก

 

2. กระแสเงินไหลเข้าหุ้นที่มีเงินสดอิสระสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถทนทานกับความเสี่ยงได้ ตั้งแต่ในช่วงโควิดก็บ่งชี้ว่าหุ้นในธีมนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นช้ากว่าตลาดในรอบขาขึ้น แต่มีส่วนป้องกันความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลง โดยมีค่า Beta ที่ 0.45

 

3. ความเสี่ยงจากสภาวะถดถอยที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามองว่าหุ้นในกลุ่มนี้มีความน่าสนใจและตอบโจทย์การลงทุน

 

4. หุ้นในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตของเงินปันผลเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 14% ต่อปี และมีอัตราเงินปันผลที่ 5.7% (เทียบกับตลาดที่ 2.2%) ซึ่งน่าจะเป็นตัวกันชนกับความเสี่ยงได้ นอกจากนั้นมี Free Cash Flow Yield ที่ 14% เทียบตลาดที่ 8-9%

 

5. ค่าเฉลี่ย Valuation อยู่ที่ P/E 12.5x (vs. ตลาด 15.5x), P/B 2x (vs. ตลาด 3x)

 

6. ในธีมนี้เราชอบ Exxon, BAT, Bristol-Myers Squibb, Philip Morris, Pfizer, AT&T, Unilever และ Airbus ส่วนหุ้นไทยเราเลือก PTTEP, EGCO, CPALL, CPN และ HM

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งยังกดดัน Sentiment ตลาดฯ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางหลักใน DM 

 

อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นของประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในปี 2022 ที่ยังมีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นต่อในช่วงนี้ จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้นฯ ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลวิกฤตยูเครน และการที่ Fed มีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม และจะเริ่มลดขนาดงบดุลในเดือนมิถุนายน โดยล่าสุด หนึ่งในผู้ว่าการ Fed ได้ออกมาสนับสนุนให้ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในหลายๆ การประชุมฯ 

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า EPS ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้ที่ถูกปรับประมาณการดีขึ้นต่อ และการซื้อหุ้นคืนที่มีมากขึ้น จะช่วยประคองตลาดฯ ได้ ขณะที่ Valuation ตลาดฯ ที่ลดลงมามากจะช่วยจำกัด Downside

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

วิกฤตในยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อยุโรปเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มถูกกดดันเพิ่มเติมจากปัญหาอุปทานขาดแคลนที่ยังคงยืดเยื้อ หลังการใช้มาตรการ Zero-COVID ในจีนที่นานขึ้น ประกอบกับ ECB มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันเงินเฟ้อ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่ EPS ตลาดหุ้นยุโรปตั้งแต่ 2Q22 เป็นต้นไปและทั้งปีนี้ จะถูกปรับประมาณการลงและกดดันหุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนีฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และมาตรการล็อกดาวน์ของจีนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นออกงบประมาณพิเศษสำหรับ FY2022 เพื่อรับมือกับราคาน้ำมันและราคาอาหารที่สูงขึ้น หลังเงินเฟ้อล่าสุดจะสูงกว่าเป้าของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ 2% และทางการญี่ปุ่นยังมีแผนเปิดประเทศรับต่างชาติตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน ขณะที่ BOJ มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และตามที่ญี่ปุ่นจะมีการเลือกตั้งสภาสูงในเดือนกรกฎาคม

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

หุ้นจีน H-Share ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่มแพลตฟอร์ม ที่ส่วนใหญ่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ยกเว้นกลุ่ม Live Streaming อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่อง Delisting หุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่ หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ยังคงหาข้อสรุปกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลหลักทรัพย์จีน (CSRC) บนข้อตกลงการตรวจสอบบัญชีระหว่างกันไม่ได้ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จีน โดยเฉพาะกลุ่มแพลตฟอร์มที่ส่วนใหญ่อาจมีแนวโน้มทำจุดต่ำที่สุดในช่วง 2Q22 ตามผลกระทบจากการใช้มาตรการ Zero-COVID ที่ยังมีอยู่ จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีฯ โดยรวม

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน A-share มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ โดยในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนออกมาตรการรวม 33 มาตรการ เพื่อประคับประคองผลลบจากการปิดเมืองเข้มข้น ประกอบกับทางการเซี่ยงไฮ้ได้ยกเลิกล็อกดาวน์นับตั้งแต่ในวันที่ 1 มิถุนายน พร้อมทั้งออกมาตรการเยียวยาอีก 50 มาตรการ แม้ว่าการที่มาตรการ Zero-COVID ในภาพรวมที่ยังดำเนินต่อ จะกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจและผลประกอบการ บจ. ในช่วง 2Q22 ก็ตาม

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยพักฐานจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง ที่เน้นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เรามองว่า Valuation ตลาดฯ สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยตัวเองในอดีต ดังนั้น เราจึงแนะนำลงทุนบนตลาดหุ้นไทย โดยเน้นลงทุนหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ธนาคาร ท่องเที่ยว และสุขภาพเป็นหลัก

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Dividend Stock Open End Fund

กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเวียดนามเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับการคุมเข้มในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นกู้ และตลาดอสังหา แต่เราเชื่อว่าความกังวลดังกล่าวจะกดดันให้ตลาดหุ้นเวียดนามพักฐานเพียงช่วงสั้น รวมทั้งตลาดฯ เริ่มมี Downside จำกัดหลังจากนี้ ตามที่ Margin Loan ลดลงค่อนข้างมากแล้ว ขณะที่ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ภาคอสังหายังต่ำ ดังนั้นเราจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม ตามที่ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจ และผลประกอบการ บจ. เวียดนามที่ยังขยายตัวต่อ ประกอบกับ Valuation ตลาดฯ ล่าสุดอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Vietnam Equity Fund

กองทุน SCB Vietnam ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเวียดนาม และ/หรือ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่พักฐานช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ ที่ยังเพิ่มสูงขึ้น (โดยเฉพาะใน 2Q22) ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

อุปสงค์น้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากมาตรการ Zero-COVID ในจีน ที่กดดันการขยายตัวเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน แม้ทางการเซี่ยงไฮ้วางแผนจะยุติมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ก็ตาม ด้านอุปทานน้ำมันยังตึงตัวจากการที่ EU ทำข้อตกลงร่วมกัน โดยจะหยุดนำเข้าน้ำมัน 90% จากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และกลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด แม้ว่าเรื่องอุปทานน้ำมันที่อาจมากขึ้นจากเวเนซุเอลายังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าติดตามก็ตาม

 

REITs ประเทศพัฒนา

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดฯ ถูกจำกัด

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs ด้านสิงคโปร์มีการยกเลิกมาตรการคุมโควิดเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่แม้ประเทศไทยจะยังมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และรัฐบาลได้เริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะอันใกล้ รวมทั้งมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้มากขึ้น

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 6 มิ.ย. 2022

READ MORE



Latest Stories