- แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเกิด Stagflation ในปี 2022 มากขึ้น หลังจาก Fed ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 4.1%
- ลุ้นการเจรจาสงบศึกระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หากสำเร็จมีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- ตลาดหุ้นโลก การฟื้นตัวยังคงจำกัด และตลาดยังคงมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงเรื่องนโยบายการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐฯ
- ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้ถึงบริเวณ 1,700-1,718 จุด จากแรงหนุนของเงินทุนต่างชาติ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศมากขึ้น
- ตลาดหุ้นจีนมีสัญญาณ Bottom-out แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานและความชัดเจนของนโยบายยังไม่ชัดเจน ความผันผวนจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนกว่าจะเห็นมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเกิด Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอเงินเฟ้อสูง) ในปี 2022 มากขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันด้วยมุมมองล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ปรับลดเป้า GDP ปี 2022 ลงจาก 4.0% เป็น 2.8% แต่ปรับเพิ่มเป้าเงินเฟ้อขึ้นจาก 2.7% เป็น 4.1% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทุกการประชุมในปี 2022 ซึ่งเป็นมุมมองเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับ ECB ในสัปดาห์ก่อนหน้า
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า คือการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ของ U of Michigan ที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง และความคาดหวังเงินเฟ้อว่าจะปรับมากขึ้นกว่า 4.9% ในเดือนก่อนหรือไม่
ในขณะที่หากการเจรจาสงบศึกระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสำเร็จก็จะส่งผลดีให้ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรลได้
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า คือการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ของ U of Michigan ที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง และความคาดหวังเงินเฟ้อว่าจะปรับมากขึ้นกว่า 4.9% ในเดือนก่อนหรือไม่ ในขณะที่หากการเจรจาสงบศึกระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสำเร็จก็จะส่งผลดีให้ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลได้
ตลาดหุ้นโลกการฟื้นตัวยังจำกัด
แนวโน้มตลาดหุ้นโลก คาดว่าการฟื้นตัวยังคงจำกัด และตลาดยังคงมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงเรื่องนโยบายการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐฯ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในยุโรป รวมถึงการระบาดของโควิดในจีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่ง Supply สำคัญ
ทั้งนี้ แนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังหุ้นกลุ่มน้ำมัน โภคภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่คาดว่าจะผันผวนมากขึ้น โดยยังคงแนะนำลงทุนในธุรกิจที่มี Pricing Power สูงเป็นหลัก รวมถึงธีมด้านพลังงานสะอาด และ Cybersecurity ด้านตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง แนะนำหุ้นที่ได้รับปัจจัยหนุนจากรัฐบาลและหุ้นที่มีการเติบโตดีเป็นหลัก
หุ้นไทยมีลุ้นทะลุ 1,700 จุด จากแรงหนุนเงินทุนต่างชาติ
แนวโน้มตลาดหุ้นไทย คาดว่า SET Index มีโอกาสฟื้นตัวได้ถึงบริเวณ 1,700-1,718 จุด จากแรงหนุนของเงินทุนต่างชาติ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ระมัดระวังหุ้นน้ำมันและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีโอกาสผันผวนตามภาวะตลาดโลก แนะนำลดพอร์ตหาก SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเน้นหุ้นที่สามารถทนทานกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และมีอำนาจในการกำหนดราคา เช่น ADVANC, BDMS, BJC, CPALL, OSP
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL ฟื้นตัวชัดเจนสุดในกลุ่ม
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เนื่องจาก 3 เหตุผลหลัก ดังนี้
- 1Q22 คาดกำไรดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ จากยอดขายสาขาเดิมที่จะกลับมาฟื้นตัวเด่นสุดในกลุ่ม
- คาดได้รับผลกระทบจำกัดจากต้นทุนพลังงานและต้นทุนสินค้าที่ปรับขึ้น เพราะสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า
- ปี 2022 คาดกำไรปกติพลิกโตเด่น 82%YoY แรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในธุรกิจ CVS, Makro และ Lotus’s ตามการฟื้นตัวของยอดขายสาขาเดิม และรับรู้ยอดขายสาขาใหม่ที่เปิดต่อเนื่อง
‘หุ้นจีน’ มีสัญญาณ Bottom-out แต่ในเชิงนโยบายยังไม่ชัดเจน
ตลาดจีนมีความผันผวนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนสาเหตุหลักเป็นผลมาจาก
- มาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมืองใหญ่จากการดำเนินนโยบาย Zero COVID
- ความกังวลต่อการคว่ำบาตรจีนที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนสนับสนุนรัสเซีย
- เศรษฐกิจชะลอตัวลงและต่ำกว่าที่คาดการณ์
- ก.ล.ต.สหรัฐฯ จะมีการเพิกถอนหุ้นจีนที่ไม่ทำตามมาตรฐานบัญชี แต่ท่าทีของรัฐบาลจีนทำให้หุ้นจีนมีการฟื้นตัวได้ดีในสัปดาห์นี้
SCBS มองว่าหุ้นจีนยังสามารถลงทุนได้ แต่ให้เน้นหุ้นที่มีนโยบายสนับสนุนและมาร์จิ้นดี ขณะเดียวกันยังประเมินว่า ตลาดมีสัญญาณการ Bottom-out แต่ในเชิงของปัจจัยพื้นฐานและความชัดเจนของนโยบายยังไม่ชัดเจน ความผันผวนจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนกว่าจะเห็นมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
แม้ว่าภาพการ Bottom-out ยังไม่ชัดเจน แต่เรามองเห็นโอกาสในการลงทุนในจีนใน 3 ธีมการลงทุน
- หุ้นที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง เช่น China Longyuan Power, Kweichow Moutai, Wuliangye, Tencent
- Valuation มีส่วนลดมาก แต่การเติบโตสูง อย่าง JD.com, Country Garden Services
- หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนลูกคนที่ 3 เช่น Mengniu, Yili Industrial Group, Feihe
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งยังกดดันต่อ Sentiment ตลาด นอกจากนี้ตลาดยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการทยอยลดการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางหลักใน DM หลังอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องผลกระทบโอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และผลประกอบการของ บจ.ในกลุ่ม DM ที่โดยรวมยังขยายตัวได้ดี จะยังสามารถช่วยประคองตลาดหุ้น DM ได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และจากการที่ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกการประชุมที่เหลือของปี รวมทั้งอาจมีการให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับแผนปรับลดขนาดของงบดุลในรายงานการประชุม Fed รอบล่าสุด ที่จะเปิดเผยต้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ลดลงไปค่อนข้างมาก และผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวดี จะยังสามารถช่วยประคองตลาด ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ต่อกลุ่ม Value อยู่ที่ 50:50
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
เนื่องจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายลงทุนของบริษัทต่อไป
อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามาก และผลกระทบทางตรงของรายได้ บจ.ยุโรปในดัชนี STOXX Europe 600 ที่มาจากรัสเซียอยู่ต่ำ จะช่วยจำกัด Downside ตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดมากขึ้น และเริ่มมีสัญญาณถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตยูเครน ด้าน BOJ มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป จากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2%
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นจีน H-Share มี Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก นอกจากนี้ ล่าสุดทางการจีนยังระบุว่า การออกกฎระเบียบกับกลุ่ม Internet Platform จะโปร่งใส่และคาดการณ์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นจีนกับรัสเซีย และจีนกับไต้หวัน ประกอบกับผลประกอบการของ บจ.ในตลาดที่ยังมีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวได้เพียงปานกลาง จะยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดโดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นจีน A-Share โดยดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น การเร่งเพิ่มการลงทุนบนโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียมให้กลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในฮ่องกงและจีนที่น่ากังวลมากขึ้น จะทำให้ทางการจีนมีแนวโน้มเพิ่มมาตรการควบคุมการระบาด และคงใช้มาตรการ Zero COVID Policy ไว้นานขึ้น ซึ่งจะส่งผลกดดันภาคการบริโภคและภาคบริการ นอกจากนี้ข้อพิพาทสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงมีอยู่ อาจกดดัน Sentiment การลงทุนในช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการทยอยเปิดเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนค่อนข้างจำกัด
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงหนุนจากเม็ดเงินต่างชาติที่มีแนวโน้มไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ เราแนะนำการลงทุนในหุ้น Domestic Play เป็นหลัก
กองทุนแนะนำ
SCB Selected Equity Fund
กองทุน SCBSEA เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30 หลักทรัพย์ ซึ่งมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนการลงทุนโดยผู้จัดการในแต่ละสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นเวียดนาม ได้รับแรงหนุนจากการที่เวียดนามมีแนวโน้มเปิดเศรษฐกิจมากขึ้น และจากแนวโน้มที่รัฐบาลทยอยเบิกจ่ายแพ็กเกจกระตุ้นสำหรับปี 2022-2023 รวมทั้งการที่ธนาคารกลางเวียดนามยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมอย่างน้อยในช่วง 1H2022 ประกอบกับ Consensus ยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มประมาณการ EPS ของ VN-Index ดีขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตยูเครนต่อเวียดนามมีจำกัด และทางการเวียดนามยังทยอยออกนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบ
กองทุนแนะนำ
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ทองคำเริ่มได้รับแรงกดดันจากความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน และได้รับแรงกดดันจากการที่ Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50%
อย่างไรก็ดี ทองคำยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความต้องการถือครองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันถูกกดดัน หลังทิศทางการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งได้รับแรงกดดันหลังประเทศจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้น หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันยังมีแนวโน้มตึงตัว และได้แรงหนุนหลัง IEA ประเมินว่า หากรัสเซียถูกคว่ำบาตรรุนแรงขึ้น อาจกระทบต่อการส่งออกน้ำมันให้ปรับลดลง 3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน และจะทำให้อุปทานน้ำมันยิ่งตึงตัวมากขึ้น
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดยังถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) แม้ REITs ไทยยังคง Laggard และได้รับประโยชน์จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง และ Dividend Yield Gap ของ REITs ไทย อยู่ในระดับที่ไม่ค่อยน่าสนใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
ขณะที่สิงคโปร์มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการลงอย่างต่อเนื่อง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสิงคโปร์เริ่มลดลง นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเริ่มทยอยกลับมาใช้โครงการ Vaccinated Travel Lane และตั้งเป้าเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในสนามบิน Changi เป็น 50% ของระดับ Pre-COVID