- ตลาดการเงินทั่วโลกยังไม่เข้าโหมด Risk-Off หลังจากพบว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแม้จะแพร่ระบาดเร็วแต่ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา และไม่มีการล็อกดาวน์ที่รุนแรง
- ช่วงรอยต่อปี 2564-2565 ตลาดยังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายการเงินตึงตัวและตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
- หลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ต้องเฝ้าระวังโควิดว่าจะมี New Wave หรือไม่ ขณะที่ภาพรวมตลาดจะมี Downside Risk หลังจากตลาดตอบรับเชิงบวกมากเกินไป
ตลาดการเงินยังคงมีความหวังในเชิงบวก โดยให้น้ำหนักกับการที่สายพันธุ์โอไมครอนไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา และการล็อกดาวน์ที่ไม่รุนแรง แต่เรายังกังวลกับประเด็นการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ตลาดการเงินเริ่มส่งสัญญาณกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับภาวะ Risk-Off สังเกตได้จากการที่ตลาดหุ้นยังคงทรงตัวได้ แต่ความผันผวนมากขึ้น
โดยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ทรงตัวบริเวณ 1.50% สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มแข็งค่า ภาพดังกล่าวบ่งชี้ว่าตลาดการเงินมีความเสี่ยงหลังจากนี้ หากการแพร่ระบาดของโอไมครอนเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนทำให้ต้องมีการนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ระหว่างรอการพัฒนาวัคซีนป้องกัน
ประเด็นสำคัญในช่วงปลายปี 2564
จำนวนผู้ติดเชื้อจากโอไมครอนที่เริ่มมาทดแทนสายพันธุ์เดลตา แม้ว่าผู้ป่วยอาการจะไม่รุนแรงเท่า แต่โอกาสในการติดเชื้อง่ายอาจทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วและมากกว่าเดลตา ซึ่งในที่สุดจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรอบใหม่
ทั้งนี้ ล่าสุดเริ่มเห็นการนำมาตรการล็อกดาวน์และปิดพรมแดนกลับมาใช้มากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ เช่น ISM สหรัฐฯ และ PMI ทั่วโลก รวมถึงรายงานการประชุมของ FOMC และตัวเลขการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ได้
Macro View
SCBS ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 2021 ต่อเนื่องต้นปี 2022 จะยังคงมีความเสี่ยงจาก
- การตึงตัวนโยบายการเงิน
- เงินเฟ้อที่ยังคงสูง ซึ่งต้องเริ่มระมัดระวังปัญหาเรื่องการขนส่งที่อาจแย่ลงจากการระบาดของโอไมครอน
- การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเริ่มมาแทนเดลตา ทำให้มีโอกาสเกิด Wave ใหม่ที่รุนแรงคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับเดลตาในช่วงแรก หลังเทศกาลปีใหม่
- การที่ตลาดตอบรับข่าวดีไปมาก ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดการเงินมี Downside Risk
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% (EM +0.3%, DM +2.1%)
โดยที่ตลาดลดลงแรงในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนฟื้นตัวแรงเช่นกันในช่วงปลายสัปดาห์ (V-Shape) แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ในยุโรปและสหรัฐฯ ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน รวมถึงความไม่ชัดเจนของร่างนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะยังดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง แต่ตลาดมองข้ามถึงการฟื้นตัวเนื่องจากโควิด ไม่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นและวัคซีนที่มีสามารถต่อกรได้ดีระดับหนึ่ง
แนวโน้มตลาดหุ้นโลก: กระแสเงินใน ETF ไหลออกจากตราสารทุนเข้าตราสารหนี้ ติดตามสถานการณ์ของโอไมครอนเป็นหลัก
โดยตลาดหุ้นมีข่าวดีและข่าวร้ายสลับกันไปมาทำให้ราคาหุ้นค่อนข้างผันผวน แม้ว่าปัจจัยที่กระทบตลาดนั้นเป็นปัจจัยเดิม เช่น การระบาดของโอไมครอนและนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ สะท้อนภาพตลาดยังคงมีสภาพคล่องสูง และเนื่องจากเริ่มมีสัญญาณเงินทุนไหลออกจาก ETF ตราสารทุนไปตราสารหนี้ ทำให้ควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโอไมครอนจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดต่อไปในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
แนวโน้มตลาดหุ้นไทย เคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นโลก
ตลาดหุ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คาดว่าจะเป็นการแกว่งตัวตามตลาดหุ้นโลก ประเด็นการลงทุนเป็นเรื่องเฉพาะบริษัทมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงหลักคือ มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมของไทย หากการแพร่ระบาดของโอไมครอนหลังปีใหม่รุนแรง ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลบวกต่อภาพรวม
กลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น
จากความเสี่ยงการล็อกดาวน์หลังเทศกาลปีใหม่ หากการระบาดของโอไมครอนเพิ่มขึ้นเร็ว ทำให้นักลงทุนควรเริ่มหาจังหวะขายทำกำไรหุ้นในพอร์ตในส่วน 25% ของพอร์ต สำหรับหุ้น Global Reopening เพื่อเตรียมรอซื้อหุ้น Domestic Consumption หากมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ ส่วนพอร์ตอีก 25% สำหรับหุ้น Blue Chip แนะนำถือต่อไป
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์ถัดไป
- การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทั่วโลก ในช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส
- การผ่านร่างกฎหมาย Build Back Better วงเงิน 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ของวุฒิสภาสหรัฐฯ
- การออกมาตรการคุมเข้มโควิดของประเทศไทยหลังพบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศ
NYT หุ้นเด่นประจำสัปดาห์ - รับผลบวกยอดส่งออกรถยนต์ฟื้นตัว
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ NYT เนื่องจากหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำการให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้ารถยนต์แบบครบวงจรของไทย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% โดยท่าเทียบเรือ A5 ของบริษัทมีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งที่ดี สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และยังใกล้ฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทต่างๆ
- การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์จะส่งผลดีโดยตรงต่อผลดำเนินงานของ NYT เพราะมีรายได้กว่า 75-80% จากให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อส่งออกและนำเข้ารถยนต์ ส่วนอีก 15-20% มาจากรายได้คลังสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีอัตราใช้พื้นที่คลังสินค้าเกือบเต็ม 100% (ค่าเช่าปรับขึ้นเฉลี่ยราว 10% ทุก 3 ปี)
- ผลดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดย 4Q21 คาดกำไรฟื้นตัวเด่นหลังการคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกและปัญหาขาดแคลนชิปที่คลี่คลายลง ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ในไทยกลับมาเร่งตัวขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 คาดกำไรสุทธิปี 2011 เติบโต 11%YoY และโตเร่งขึ้น 30%YoY ในปี 2022 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า (เอเชีย, ออสเตรเลีย, Middle East และยุโรป)
- SCBS ประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 5.30 บาท (อิง PER 20x) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2021 ที่หุ้นละ 0.20 บาท (จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง)
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดฯ ยังได้รับแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฉีดวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับสูตรวัคซีนเพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้เร็วกว่า ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน 4Q2021 ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นฯ มีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนต่อเศรษฐกิจ แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูง ปัญหาอุปทานขาดแคลน และแนวโน้มการทยอยปรับลดวงเงิน QE ของ Fed
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากการที่ Fed จะเร่งปรับลดวงเงิน QE และมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นในปี 2022 และจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการระบาดของโอไมครอนที่ยังมีอยู่ ประกอบกับโอกาสที่แผนการลงทุนระยะยาว Build Back Better จะผ่านสภาคองเกรสได้ทันภายในปีนี้ลดลง อย่างไรก็ดี เราแนะนำลงทุนหุ้นสหรัฐฯ กลุ่ม Quality Growth ที่มีผลประกอบการแข็งแกร่งและมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ต่อ และแนะนำลงทุนตามธีม เช่น Healthcare และ Semiconductor ในขณะที่หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่ม Travel
กองทุนแนะนำ
SCB Global Experts Fund
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากผลกระทบการแพร่ระบาด ขณะที่ประเทศต่างๆ ทยอยออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาฝั่งอุปทานเริ่มบรรเทาลง ภาคธุรกิจเริ่มสร้างสินค้าคงคลังได้ ทำให้ภาวะเงินเฟ้อและงบดุลของภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้น
นอกจากนี้ ECB ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้ากว่ากลุ่มประเทศ DM อื่น ยังแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth จากผลประกอบการที่แข็งแกร่ง
กองทุนแนะนำ
Krungsri Europe Equity Hedged Fund
กองทุน KFHEUROP-A ลงทุนในกองทุน Allianz Europe Equity Growth Fund ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งผู้จัดการกองทุนหลักมีความสามารถในการคัดเลือกหุ้น รวมทั้งผลการดำเนินงานย้อนหลังโดดเด่น ปัจจุบันเน้นลงทุนในกลุ่ม Technology และ Industrial
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 4
Valuation ของหุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่น มองภาพเศรษฐกิจและตลาดยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ต่อ จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังเดินหน้า และ BOJ ยังมีท่าที Dovish แม้ผลการประชุมล่าสุดจะมีมติเริ่มชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ในส่วนของ Commercial Paper และ Corporate Bond ให้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด แต่ยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETF และ J-REITs
นอกจากนี้ BOJ เผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อน้อยกว่า ทำให้ความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยมีอยู่ต่ำ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
Valuation ของดัชนีหุ้นจีน Offshore เริ่มอยู่ในระดับที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี และเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นโลกและดัชนีหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่ม Internet Platform อย่างไรก็ดี ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการคุมเข้มเฉพาะจุดมากขึ้น และข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ในด้านตลาดทุน เช่น ประเด็น VIE และความเสี่ยง Delisting ของหุ้นจีน ADRs และในประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อจีน ในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียงยังคงมีอยู่ ประกอบกับ EPS ใน 4Q2021 ของ บจ.จีน Offshore มีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง ยังคงกดดันการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นจีน Offshore ในภาพรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ เห็นได้จากการปรับลด RRR ลง 50 bps (0.5%) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR 1 ปีลง 5 bps (0.5%) และการปรับลด Relending Policy ลง 25 bps (0.25%) ในช่วงที่ผ่านมา
ประกอบกับการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจจีนสำหรับปี 2565 (CEWC) ที่ประชุมส่งสัญญาณเน้นส่งเสริม SMEs กลุ่ม Tech และกลุ่ม Green Energy และเพิ่มการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงต้นปี 2565
อย่างไรก็ตาม การที่ทางการจีนมีแนวโน้มคงมาตรการคุมการระบาดและคุมการผลิตที่ก่อมลพิษเข้มงวดไปจนถึงช่วงสิ้นสุดการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ยังคงกดดันภาพการฟื้นตัวของภาคบริโภค ภาคการผลิต และเศรษฐกิจโดยรวมของจีน
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มองเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/64 และมีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อ แต่แผนการเปิดประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาด และการยกเลิกแผน Test & Go ในขณะที่ Valuation หุ้นไทยยังคงตึงตัว ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ Upside ของตลาดยังถูกกดดัน
อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบล่าสุดจะช่วยส่งอานิสงส์บางส่วนต่อหุ้นการบริโภคภายในประเทศในระยะข้างหน้า
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในเวียดนามจะทยอยเพิ่มสูงขึ้น แต่การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ทำให้เราคาดว่าโอกาสที่จะเกิดการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบยังต่ำ และทางการกำลังพิจารณาแผนที่จะกลับมาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศในวันที่ 1 มกราคา 2022 นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความคาดหวังแผนกระตุ้นทางการคลัง ที่มีวงเงินเบื้องต้นตามข้อเสนออยู่ที่ USD 35 พันล้าน ทั้งนี้ Consensus คาดว่า EPS Growth ของ VN-Index ในปี 2022 จะเพิ่มขึ้น 25%YoY
กองทุนแนะนำ
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return