THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
สถานีหัวลำโพง
EXCLUSIVE CONTENT

เปลี่ยน ‘สถานีหัวลำโพง’ ไปเป็น ‘มิกซ์ยูส’ การแก้ปัญหาขาดทุนของ ‘การรถไฟฯ’ ที่มาพร้อมเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย

... • 25 พ.ย. 2021

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ที่สุดแล้ว ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รมว.คมนาคม ก็ทนต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านของสังคมต่อไปไม่ไหว ยอมถอยกลับมาทบทวนนโยบายหยุดเดินรถไฟเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง ซึ่งเดิมตั้งเป้าจะเริ่มหยุดเดินรถตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564
  • ตามแผนเดิมนั้น หากหยุดเดินรถ ทางภาครัฐมีความต้องการนำที่ดินแปลงทองราว 120 ไร่ของสถานีหัวลำโพง ซึ่งมีมูลค่าที่ดินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท มาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมของการรถไฟฯ ที่มีกว่า 1.6 แสนล้านบาท 
  • กระนั้นการจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหัวลำโพงแบบหักดิบนั้นไม่ใช่ง่าย และอ่อนไหวกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องจับตาการหาบทสรุปในการการพัฒนาสถานีหัวลำโพงจะสามารถเป็นไปได้หรือไม่

ในที่สุด ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รมว.คมนาคม ก็ทนต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านของสังคมต่อไปไม่ไหว ต้องยอมถอยกลับมาทบทวนนโยบายหยุดเดินรถไฟเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง ซึ่งเดิมตั้งเป้าจะเริ่มหยุดเดินรถตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564   

 

โดยนี่เป็นไปตามแผนการเปลี่ยนถ่ายการเดินรถไฟจากสถานีหัวลำโพงสู่สถานีกลางบางซื่อ หลังการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564  

 

ซึ่งล่าสุดสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลับไปเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนให้ครบทุกมิติ เพื่อยุติข้อขัดแย้งทางสังคม

 

ย้อนปม ‘ความขัดแย้ง’

หากจะย้อนไปดูปมความขัดแย้งและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐคือกระทรวงคมนาคม และภาคประชาชนในครั้งนี้ เห็นชัดเจนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่กระทรวงคมนาคมไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมคิดร่วมทำเกี่ยวกับนโยบายหยุดเดินรถที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญและเก่าแก่ที่เปิดให้บริการประชาชนมายาวนานถึง 105 ปี  

 

 

รวมทั้งยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าทางจิตใจของคนไทย ที่ก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2453 ซึ่งถูกเปิดใช้เป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459  

 

ดังนั้น การจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหัวลำโพงแบบหักดิบนั้นไม่ใช่ง่าย และอ่อนไหวกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก

 

กลุ่มที่ดูจะออกตัวแรงคัดค้านหยุดเดินรถไฟหัวลำโพงหัวชนฝา คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) โดย สราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพฯ ออกมาประกาศกร้าวว่าการสั่งหยุดเดินรถสถานีหัวลำโพงของศักดิ์สยาม โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหารถติดในเมืองเพราะมีจุดตัดรถไฟบนถนนจำนวนมาก ไม่สมเหตุสมผล  

 

และการเตรียมนำพื้นที่สถานีหัวลำโพงและบริเวณโดยรอบราว 120 ไร่ ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ เปิดให้นายทุนเช่านำไปพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส โรงแรม ที่พัก ห้างสรรพสินค้า เป็นขบวนการทำลายคุณค่าประวัติศาสตร์รถไฟไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เลือนหายไป

 

ขณะเดียวกันยังอาจจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 6 เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ใช้พื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเพื่อการเดินรถซึ่งเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่นำไปให้นายทุนเช่าหารายได้เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนสะสมให้กับ รฟท. ตามที่ศักดิ์สยามกล่าวอ้าง ซึ่งในครั้งนี้สหภาพฯ ได้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้าน ‘การสั่งปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)’ ซึ่งพบว่ามีประชาชนลงชื่อคัดค้านแล้วกว่า 3,000 คน 

 

 

เพิ่มภาระให้ประชาชน

ภาคประชาชนคนใช้บริการเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยมองว่าการหยุดเดินรถที่สถานีหัวลำโพงส่งกระทบต่อการเดินทางของประชาชนจากทั่วภูมิภาคและแถบชานเมืองที่ต้องการเดินทางเข้ามายังใจกลางกรุงเทพมหานคร และยังมองว่านโยบายหยุดเดินรถไฟที่หัวลำโพงยังย้อนแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาค  

 

ที่สำคัญ ผู้ใช้บริการมองว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนที่ต้องเดินทางมายังสถานีหัวลำโพง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะต้องหันไปใช้บริการระบบโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินแทน ซึ่งมีค่าโดยสารแพงกว่ารถไฟมาก    

 

ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อการเดินทางระบบรางของกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ครอบคลุมครอบสมบูรณ์ หากปิดหัวลำโพงอาจจะเป็นการซ้ำเติมการเดินทางของคนไทย ขนาดมีคนเสนอว่า รฟท. ควรจะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link ให้แล้วเสร็จก่อน จึงค่อยยกเลิกขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

จำเป็นหรือไม่?

หันมาดูเหตุผลและความจำเป็นของภาครัฐอย่างกระทรวงคมนาคมบ้าง ว่ามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหนกับนโยบายการหยุดเดินรถไฟเข้าและออกสถานีหัวลำโพง ศักดิ์สยามออกมาประกาศนโยบายชัดเจนว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะย้ายศูนย์กลางการเดินทางทางรถไฟจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด ภายหลังมีการเปิดเดินรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยตั้งเป้าที่จะหยุดเดินรถที่หัวลำโพงทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

 

โดยให้เหตุผลว่าต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เพราะรถไฟมีจุดตัดกับถนนจำนวนมากในเขตเมือง ทำให้รถยนต์ที่สัญจรต้องจอดรอ และต้องการนำที่ดินแปลงทองราว 120 ไร่ของสถานีหัวลำโพง ซึ่งมีมูลค่าที่ดินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท มาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมของการรถไฟฯ ที่มีกว่า 1.6 แสนล้านบาท 

 

 

และหากรวมหนี้ที่ไม่ลงบัญชีจะมียอดสูงถึง 6 แสนล้านบาท โดยระบุว่าหากการรถไฟฯ นำที่ดินไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายใน 30 ปี จะสามารถสร้างรายได้ให้ รฟท. ได้มากถึง 8 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (เอสอาร์ทีเอ) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. จะต้องเร่งปรับสีผังเมือง จากสีน้ำเงินที่ดินส่วนราชการ ให้เป็นสีแดงเพื่อการพาณิชย์ก่อนที่จะนำไปพัฒนา 

 

โดยจะอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมของอาคารและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้ทั้งหมด ภายใต้คอนเซปต์ Hualampong Heritage Complex ผสมผสานความเก่ากับความทันสมัย โดยพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมือง และนำพื้นที่บางส่วนไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP สร้างเป็นมิกซ์ยูส อาคารสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และคอนโดมิเนียม

 

แบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 5โซน คือ

 

โซน A พื้นที่ถนนเข้า-ออก และลานจอดรถ ด้านคลองผดุงกรุงเกษม 16 ไร่ 

 

โซน B อาคารสถานีกรุงหัวลำโพง 13 ไร่

 

โซน C โรงซ่อมรถดีเซลรางและรถโดยสาร 22 ไร่ จะพัฒนาเป็นร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม และจะปรับปรุงเป็น Waterfront Promenade เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ดูต้นแบบจากเวนิส ประเทศอิตาลี 

 

โซน D ชานชาลาทางรถไฟ 12 ชาน และย่านสับเปลี่ยน 49 ไร่ พัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ลักษณะ Lifestyle Mixed-use รองรับธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน รวมทั้งที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่จัดแสดง โดยยึดต้นแบบโตเกียว มิดทาวน์ (Tokyo Midtown) ประเทศญี่ปุ่น 

 

 

และโซน E อาคารสำนักงานการรถไฟฯ, ตึกคลังพัสดุ 20 ไร่บริเวณอาคารสำนักงาน รฟท., ตึกคลังพัสดุเดิม จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบ Urban Mixed-use เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม รวมถึงพื้นที่ให้ร่มรื่นผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อมต่อรูปแบบสิ่งปลูกสร้างเชิงอนุรักษ์โครงสร้างอาคารเดิม ซึ่งมีระยะห่างกันไม่เกิน 500 เมตร ตลอดแนวคลองและได้ศึกษาชุมชนริมน้ำ โดยยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

 

โดยเฟสแรกจะปรับปรุงอาคารโดมสถานีกรุงเทพ พื้นที่ประมาณ 25,000 ตารางเมตร ซึ่งจะบูรณะโดยคงสถาปัตยกรรมเดิม และพัฒนาโถงด้านในเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าแบรนด์เนม พิพิธภัณฑ์รถไฟ จากนั้นจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ผุดอาคารสูงเป็นสำนักงานออกแบบในลักษณะปีกนกโอบรอบตึก ตามโลโก้ของ รฟท.  

 

ตามมาด้วยพัฒนาพื้นที่ติดกับคลองผดุงกรุงเกษมเป็น Promenade ประมาณ 5 ชั้น พื้นที่ประมาณ 110,000 ตารางเมตร มีร้านค้า สำนักงาน ลานกิจกรรม ทางลงท่าเรือ เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวทางน้ำรูปแบบใหม่ๆ อาคารศูนย์ประชุม และเป็นโรงแรม Service Residence 

 

ส่วนเฟส 2 จะเป็นการพัฒนาทางรถไฟและย่านสีเปลี่ยน ส่วนที่ทำการสำนักงานของการรถไฟฯ และตึกแดง ตึกคลังพัสดุ จะอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิม โดยจะบูรณะเป็นร้านค้า และโรงแรมระดับ 6 ดาวเหมือนในยุโรป ตั้งเป้าที่จะเปิดประมูลเฟสแรกช่วงเดือนตุลาคม 2565

 

จากนี้คงต้องจับตาเวทีเปิดรับฟังความเห็นของกระทรวงคมนาคม ว่าจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและหาบทสรุปในการการพัฒนาสถานีหัวลำโพงได้หรือไม่ อย่างไร

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 25 พ.ย. 2021

READ MORE



Latest Stories