ตลาดการเงินกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวรับกับความเสี่ยงที่ ‘รุนแรงขึ้น’ ตามที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลงต่ำกว่า 1.30% ขณะที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้นแตะ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
ส่วนตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ซึ่งตลาดการเงินเริ่มเห็นภาพความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น และคงต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกสักระยะ รวมถึงยังคงต้องติดตาม Delta Variant ว่าจะสามารถควบคุมได้เมื่อไร เพราะประเด็นนี้จะกลายเป็นปัจจัยหนุนในระยะถัดไป ตลอดจนความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มลดมาตรการ QE ลง
อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่ได้มีแค่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านนโยบาย ได้แก่ การคุมเข้มกฎระเบียบในจีนและด้านการเมืองในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งมีโอกาสสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินต่อไป
โอกาสการลงทุนเริ่มกลับมา เน้นทรัพย์สินคุณภาพดี
การที่ตลาดการเงินกำลังปรับตัวเพื่อสะท้อนปัจจัยเสี่ยงถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีสำหรับนักลงทุนที่กำลังรอจังหวะในการเข้าลงทุน เนื่องจากสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ แม้ SCBS คาดว่าการปรับฐานยังคงไม่จบ แต่การที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ อาทิ พันธบัตร เริ่มสะท้อนว่ามีผลตอบแทนจำกัด ในขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่มีคุณภาพดีปรับตัวลดลงทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ในสถานการณ์แบบนี้จึงแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ ‘ทยอยซื้อสะสม’ ในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก
สำหรับการลงทุน แนะนำกลยุทธ์ Defensive โดยรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ทั้งนี้ ยังคงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในหุ้น Reopening และหุ้นน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมี Downside Risk
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังคงมีโอกาสปรับลดลงมาที่บริเวณ 1,500 จุด ดังนั้นยังคงเน้นการลงทุนในหุ้น Defensive ที่มีการเติบโตดีในช่วงครึ่งปีหลัง โดยแนะนำให้ทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ส่วนหุ้นที่แนะนำคือ GULF ที่มีแนวโน้มกำไรดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แจ็กสันโฮล วันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ โดยต้องจับตาการส่งสัญญาณการปรับลดวงเงิน QE
- การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือในประเด็นกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน
- รายงานดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน (Core PCE) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ
ส่วน ‘หุ้นเด่น’ สัปดาห์นี้ SCBS แนะนำ GULF
สาเหตุที่เลือก บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชั้นนำของไทยและยังมีแผนขยายไปสู่ธุรกิจก๊าซ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสัมปทานกับรัฐบาลเพื่อสร้างกระแสเงินสดให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
ครึ่งหลังของปี 2021 คาดการณ์กำไรเติบโตดีเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกและเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลในเยอรมนี (BKR2) หลังคาดความเร็วลมในทะเลกลับสู่ระดับปกติ อีกทั้งรับรู้รายได้โรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 2 (625MW) ซึ่งกำหนดเริ่มดำเนินงานในเดือนตุลาคมนี้ และมีเงินปันผลรับจาก บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เข้ามาเพิ่ม
โดยราคาหุ้น GULF มีโอกาสปรับขึ้นได้ดีกว่าภาพรวมดัชนี SET เนื่องจากกำไรมีศักยภาพเติบโตได้อีกมากในระยะยาว โดย SCBS ให้เป้าหมายราคาหุ้นไว้ที่ 42 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบจากระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มของ Fed ที่จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด
กองทุนแนะนำ
- Krungsri Global Brands Equity Fund หรือ KFGBRAND-A
กองทุน KFGBRAND-A ลงทุนในกองทุน Morgan Stanley Investment Funds – Global Brands Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่คัดเลือกหุ้นของบริษัทต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ที่มีคุณภาพสูง มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยอำนาจการต่อรองด้านราคา ความสำเร็จและยากที่จะลอกเลียนแบบของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน อาทิ แบรนด์สินค้า
- SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดย บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ: 4
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของวุฒิสภาที่ผ่านร่างงบประมาณ (Budget Resolution) มูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infra Bill) มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ปี 2021 ที่ส่วนใหญ่ออกมาแข็งแกร่งมากกว่าคาด
ส่วนประเด็นที่ควรเฝ้าระวังคือ แนวโน้มการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ของ Fed และการดำเนินการขยายหรือปรับเพิ่มเพดานหนี้ภาครัฐฯ (Debt Limit) เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้และ Government Shutdown แนะนำสัดส่วนถือครองหุ้นสไตล์ Growth อยู่ที่ 60% หุ้นสไตล์ Value และ Defensive ที่ 40%
กองทุนแนะนำ
- SCB Semiconductor Fund หรือ SCBSEMI(A)
กองทุน SCBSEMI(A) ลงทุนในกองทุน VanEck Vectors Semiconductor UCITS ETF ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ London Stock Exchange ซึ่งลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ รวมถึงหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนซื้อขายที่สหรัฐฯ (ADR) ในหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม Semiconductor
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นยุโรป ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ปี 2021 มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด นำโดยหุ้นกลุ่ม Value/Cyclical ที่งบบริษัทออกมาโดดเด่นในทุกอุตสาหกรรม การฉีดวัคซีนที่ต่อเนื่องและแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาด นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม Fit for 55 ล่าสุดของสหภาพยุโรปที่มุ่งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% โดยมีเป้าหมายให้สำเร็จภายในปี 2030 และการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed จะเป็นแรงหนุนหุ้นยุโรปได้ต่อเนื่อง
กองทุนแนะนำ
- MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO
กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ: 3
แม้สกุลเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าและผลตอบแทนแท้จริง (Real Yield) อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งมูลค่า (Valuation) ของหุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอื่นๆ และอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มเติบโตไม่โดดเด่นเท่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป
โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังได้รับปัจจัยกดดันจากการขยายภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและอีกหลายเมืองจนถึงวันที่ 12 กันยายน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมาก และคะแนนความนิยมของรัฐบาลตกต่ำซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการยุบสภา
ตลาดหุ้นจีน
ความน่าสนใจระดับ: 3
ดัชนีหุ้นจีน Offshore (H-Shares/ADR) ยังเผชิญความไม่แน่นอนที่สูง จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการจีน ในด้าน Financial De-Risking, Antitrust, Data Security และ Consumer Protection ที่มีอยู่ และจะกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประกอบกับผลประกอบการของ บจ.จีน ในกลุ่ม Offshore Internet ที่มีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง สะท้อนจากบริษัท Big Tech อาทิ Tencent รายงานรายได้ไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัวน้อยที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2019 และข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมทั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติบนหุ้นกลุ่ม Offshore Internet ที่ลดลง ยังเป็นปัจจัยที่กดดันดัชนีฯ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ: 3
ตลาดหุ้นไทยแม้ว่า Valuation เริ่มน่าสนใจและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่การระบาดยังคงรุนแรงต่อเนื่อง แผนการเปิดประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เห็นได้จากการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีโอกาสสูงที่การประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งปีหลังอาจถูกปรับลดลงและจะกดดันดัชนีฯ ในช่วงที่เหลือของปี
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นเวียดนามแม้อาจจะยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาด แต่เศรษฐกิจยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยรัฐบาลคาด GDP เติบโตได้ราว 6.5-7% ในปี 2021-2025 จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์โลก การบริโภคภายในที่ขยายตัวดี และการใช้จ่ายภาครัฐที่แข็งแกร่ง ตลาดเวียดนามมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนโดดเด่นจากผลประกอบการ บจ. ที่ออกมาดี และสถานะการลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง Valuation ที่ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
กองทุนแนะนำ
- Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนามซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเองและคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return