วันเลือกตั้ง

LGBT กับคำว่าครูในสังคมไทย ผ่านมุมมอง 5 พรรคการเมืองที่อาสามาเปลี่ยนแปลงประเทศ

22.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 5 พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าไม่ควรกีดกันเรื่องเพศต่อการเข้าสู่อาชีพครู แนะต้องดูที่ความสามารถ ความรัก และความรู้ที่จะถ่ายทอดให้ลูกศิษย์
  • ขณะที่บางพรรคบอกว่าข่าวอาจารย์เลือกปฏิบัติทางเพศที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นตะกอนความคิดที่ยังตกหล่นในสังคมไทย รวมถึงนี่คือผลผลิตจากการศึกษาที่ทำให้ผลิตคนที่มีทัศนคติแบบนี้สู่สังคม

 

 

โลกโซเชียลในรอบ 2-3 วันที่ผ่านมามีประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับกรณีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศอีกครั้ง

 

เมื่อนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความร้องเรียน ระบุว่าถูกอาจารย์พิเศษบังคับให้แต่งกายให้ตรงกับเพศกำเนิด รวมถึงได้พูดว่า “เป็นกะเทยก็ไม่ต่างอะไรกับคนบ้า แค่สังคมยอมรับมากกว่า การที่คณะครุศาสตร์ให้พวกกะเทยมาเรียนได้ก็บุญแล้ว คนที่ผิดปกติทางจิตเป็นครูไม่ได้หรอก” ตามที่สื่อหลายสำนักได้รายงานไปก่อนหน้านี้

 

กระทั่งเกิดเป็นกระแสตามมาอีกระลอก เมื่อคณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (USCE) ได้โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามให้สังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า ‘เป็นเพศที่สาม เป็นครูได้หรือไม่’

 

ขณะที่บทความในเว็บไซต์ www.nisitreview.com ได้โพสต์เนื้อหาถึงพฤติกรรมการเหยียดเพศของอาจารย์ท่านหนึ่ง เนื้อหาบางตอนระบุว่า “เขาเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ สอนวิชาจิตวิทยาพื้นฐานการศึกษาและวิชาจิตวิทยาสำหรับครู เป็นวิชาบังคับทั้งสองตัว ซึ่งนิสิตอย่างฉันที่ไม่ชอบ ไม่อยากเรียนกับอาจารย์คนนี้ แต่อยากเป็นครู ก็หลีกเลี่ยงวิชานี้ไม่ได้”

 

ประเด็นของการเหยียดผู้มีสถานะทางเพศหลากหลายในสังคมไทยและตกเป็นข่าว ยิ่งในสถาบันศึกษานั้น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก นั่นหมายความว่าความคิดเหล่านี้ยังเป็นตะกอนตกหล่นในสังคมไทยอยู่มาก แล้วจะทำอย่างไรให้บุคคลมีความเท่าเทียมกันจริงในสังคมนี้ เมื่อโลกต่างก็เปิดรับ และแท้จริงแล้วนี่คือคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพหรือเพศสภาวะแต่อย่างใด

 

THE STANDARD ชวนไปสำรวจมุมมองตัวแทนจาก 5 พรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาทำงานให้กับประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต้องการเข้ามาพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ถึงความรู้สึกและการขยับเรื่องทำนองนี้ในอนาคตว่าจะทำอย่างไรบ้าง

 

ชมพูนุท นาครทรรพ (กลาง), ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ (ขวา)

 

ครูต้องส่งเสริมเด็ก การกีดกันคือภาพใหญ่ทำลายสิทธิมนุษยชน

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย

 

เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก กระทบจิตใจและความรู้สึก ไม่ว่าเด็กนักเรียนที่อายุน้อยหรือโตแล้ว

 

สิ่งที่ต้องเร่งทำทันทีโดยที่ไม่ต้องรอการผ่านกฎหมายหรือขั้นตอนทางเทคนิคคือทัศนคติของทุกคนในสังคมซึ่งสำคัญมาก ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ขยับเรื่องนี้เลย

 

และมองว่าไม่ว่าจะกลุ่ม LGBT หรือเพศไหนก็็ล้วนมีศักดิ์และสิทธิ์ที่เท่าเทียมกันหมด เขาเป็นพลเมืองของประเทศ เป็นสมาชิกของครอบครัว เป็นลูกศิษย์ของครู ไม่ใช่คนเลวร้าย แต่ล้วนมีคุณค่าและความเก่งอยู่ในตัว

 

เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทัศนคติของครูที่แสดงออกถึงการกีดกันเด็ก แต่แท้จริงแล้วควรมองว่าเด็กเป็นเลิศด้านไหน ควรส่งเสริมให้เขาไปได้ดีในด้านนั้น

 

เมื่อมองภาพใหญ่ นี่คือการทำลายสิทธิมนุษยชนของคน พรรคเพื่อไทยยึดหลักนี้ ไม่ใช่แค่ครูอาจารย์ แต่หมายถึงทุกองค์กรไม่ว่ารัฐหรือเอกชน และยิ่งสถาบันการศึกษาที่ผลิตคนให้สังคมจะเลือกปฏิบัติแบบนี้ไม่ได้

 

พรรคเพื่อไทยกำลังประสานกับกลุ่ม LGBT เพื่อจัดทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ เพื่อนำเอานโยบายที่เราร่างไว้แล้วมาปรับรวมกับการรับฟังปัญหาจริงจากกลุ่ม LGBT ที่จะเชิญมาร่วมสะท้อนภาพให้เราฟัง

 

 

อย่าคิดแทนเด็ก โลกกว้างแต่บางคนแคบ

ชมพูนุท นาครทรรพ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

 

ก่อนอื่นอยากจะสื่อสารเริ่มต้นด้วยการให้เลิกใช้คำว่าเพศที่สาม เพราะปัจจุบันไม่สามารถยันกันได้ว่าใครเป็นเพศที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม หรือที่สี่ แต่อยากให้เรียกว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกต้องกว่า

 

กับการที่เขาเรียนเพื่อไปเป็นครูหรืออาจารย์นั้นต้องดูที่พฤติกรรม หากเขาสามารถทำตัวได้เหมาะสมกับอาชีพที่เขาทำ ไม่ว่าอาชีพไหนก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรไปเลือกปฏิบัติ แต่ในสังคมไทยอาจมีเรื่องกาลเทศะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ้าง

 

เราไม่สามารถไปบังคับให้นิสิตนักศึกษามาเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยนได้ มันไม่ใช่พฤติกรรมเลียนแบบกันได้ หากตัวเขาและจิตสำนึกเขาไม่ใช่ เราก็ไม่ควรดูถูกเด็กหรือดูถูกเจเนอเรชันของเขาว่าเขาคิดไม่เป็น เขาคิด เขาเลือกทางของเขาได้

 

การที่ไปมองว่ามาเป็นครูแล้วยิ่งเป็นเพศทางเลือกก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม มันคือการไปคิดแทนเด็ก ควรจะต้องเปลี่ยนทัศนคติได้แล้ว ต้องเปิดกว้าง ประเทศอื่นมีนักการเมือง มีผู้นำประเทศเป็นเพศหลากหลายเยอะมาก แต่ไทยยังมาหยุดอยู่ที่ครู ไม่ควรเป็น LGBT ก็ไม่ต้องบอกแล้ว ให้สังคมตัดสินด้วยตัวเองดีกว่า

 

 

ครูไม่ใช่เรื่องเพศ แต่คือความรู้และความรักในการพัฒนาคน

ณหทัย ทิวไผ่งาม รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ

 

คนเป็นครูไม่ได้จำกัดอยู่ที่ว่าคุณจะต้องเป็นเพศไหน หรือเพศไหนเป็นได้ดีกว่ากัน เราควรวัดกันที่ความสามารถกับความรักที่จะเปลี่ยนชีวิตของเด็กให้ดีขึ้นจะดีกว่า เราใช้ความสามารถเป็นตัวชี้วัดมากกว่าใช้ต้นกำเนิดหรือประสบการณ์ชีวิตของเขาที่เป็นมา

 

ตราบใดที่เขามีความรู้และมีความรักที่จะพัฒนาชีวิตคนอีกคนหนึ่งให้ดีขึ้น เราควรเปิดกว้างให้กับบุคคลเหล่านี้ ซึ่งก็ต้องมีพฤติกรรมและประวัติความเป็นมาที่ดีเหมือนกับทุกคน มีคุณธรรมจริยธรรมในการชีวิตที่เป็นพื้นฐาน

 

วังวนที่เกิดขึ้นต้องกลับมาที่การมองคนให้เป็นคน มองสิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน พรรคประชาชาติให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก ไม่ได้นับว่าต้องเป็นเพศใด และความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เรานำมาแบ่งปันเพื่อให้ความสามารถของคนทุกกลุ่มสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้

 

การจะไปตัดสินว่าเขาเป็นเพศไหนแล้วทำให้เขาต้องเสียโอกาสกับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

 

 

ขอเปิดกว้างและไม่กีดกัน ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียม

เพชรชมพู กิจบูรณะ ในนามกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย

 

อยากให้สังคมเราเปิดกว้างมากขึ้นและทำความเข้าใจถึงความหลากหลายในทุกๆ ด้าน สิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชนคือการมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรของรัฐให้ได้มากที่สุดโดยไม่มีการกีดกัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องเพศ อายุ ศาสนา หรือภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม

 

ทุกคนในสถานศึกษามีสิทธิ์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ปราศจากการถูกคุกคามในทุกรูปแบบ อยากให้เรามาร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย

 

 

เมื่อครูมองนิสิตวิปริตห้ามเป็นครู นี่คือผลผลิตการศึกษาไทย

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่

 

จากการติดตามข่าวต้องบอกว่าฟังแล้วรู้สึกแย่มาก ทัศนคติต่อการเป็นครูนั้นต้องบอกว่าก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่สุจริต และเมื่อบอกว่าอาชีพ ทุกคนก็ควรเป็นได้ เพราะล้วนต้องทำงานแลกกับค่าจ้างทั้งนั้น และทุกคนก็ล้วนแต่มีความเป็นตัวของตัวเองทั้งนั้น ไม่ได้แบ่งแยกแต่อย่างใด และไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม

 

ต้องยอมรับว่าสังคมไทยให้คุณค่ากับยูนิฟอร์มมากเกินไป ให้มากกว่าคุณค่าความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นมืออาชีพ เราเคารพคนที่ยูนิฟอร์ม ไม่ได้เคารพที่ความเป็นคน นั่นเป็นการให้ความสำคัญที่ผิดจุด

 

สิ่งที่เกิดขึ้นถามว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจไหม ต้องบอกว่าไม่น่าแปลกใจ แต่นี่คือตัวอย่างของหลักสูตรการศึกษาของไทยที่ยังสอนว่าคนที่เป็นแบบนี้คือคนเบี่ยงเบนทางเพศ ในโรงเรียนก็ยังสอน คำถามคือเด็กที่เป็นแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร ต้องเก็บกดหรือกดดันแค่ไหนที่ถูกเพื่อนมองว่าตัวเองเป็นคนผิดปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่

 

ผลของการที่ถูกสอนมาแบบนี้ เราจึงได้ตัวอย่างของครูที่มีทัศนคติแบบที่เห็น คือแบ่งแยก กีดกัน ไม่เข้าใจ ยังมองว่าเพศหลากหลายเป็นเรื่องเวรกรรม เรื่องวิปริต นี่คือผลผลิตของสังคมไทย

 

ข่าวที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของสังคมว่าไทยเราไปถึงแค่ไหน และต้องเร่งทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ในสังคมอย่างมาก ซึ่งเป็นงานที่เราจะทำอย่างเต็มที่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X