ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2562 สลับคิวกันผุดขึ้นมาให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ล่าสุดคือประเด็นบัตรเลือกตั้งที่มีข่าวว่าจะมีการตัดชื่อพรรคการเมือง และโลโก้พรรคการเมืองออก กลายเป็นบัตรเลือกตั้งที่จะมีเพียง ‘หมายเลข’ และ ‘ช่องกากบาท’ เท่านั้น
ล่าสุดวันนี้ (11 ธ.ค. 61) ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวยืนยัน กกต. ยังไม่มีมติตัดโลโก้พรรค-ชื่อพรรคออกจากบัตรเลือกตั้ง โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณา 2 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบบัตรแบบสมบูรณ์ มีรายละเอียด 4 ช่อง คือ ช่องกากบาท หมายเลข ชื่อพรรค โลโก้พรรค
และ 2. แบบสำรอง มีรายละเอียด 2 ช่อง คือ ช่องกากบาท และหมายเลขพรรค
ขณะนี้ กกต. ยังไม่พิจารณาเลือกรูปแบบที่ชัดเจน เช่นเดียวกับรูปแบบบัตรเลือกตั้งที่ต้องรอความชัดเจนว่าจะมีขนาดเท่าไร รวมถึงต้องหารือว่าจะกำหนดบัตรเลือกตั้งเป็นแบบช่องเดียวเรียงจากบนลงล่าง หรือจะเป็นช่องซ้ายขวาไล่ลงมา เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องการจัดเรียงช่องลงคะแนน เนื่องจากบางพรรคการเมืองไม่พอใจหากช่องลงคะแนนของตนเองอยู่ด้านขวา
ส่วนข้อเสนอของพรรคการเมืองที่ระบุว่า ควรให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กับ บัตรเลือกตั้งที่จะใช้จริงในวันเลือกตั้งเป็นคนละรูปแบบ เพื่อลดปัญหาเรื่องการพิมพ์บัตรไม่ทัน กกต. ชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
ขณะที่ปัญหาเรื่องเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ผู้สมัครพรรคการเมืองเดียวกัน มีโอกาสได้คนละหมายเลข เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะจับสลากเบอร์ได้หมายเลขใด เรื่องนี้รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า จริงๆ ข้อกฎหมายไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองหารือกันก่อน ซึ่งหมายความว่า หากพรรคการเมืองทุกพรรคคุยกันและกำหนดร่วมกัน ก็สามารถเป็นเบอร์เดียวกันทั้งหมดได้ แต่การหารือกันต้องได้รับการยอมรับจากทุกพรรค ซึ่งก็อาจมีข้อติดขัดว่า บางพรรคการเมืองไม่ได้ส่งผู้สมัครทั้ง 350 เขต
“การที่อยากให้มีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศจริงๆ ก็ตกลงกันได้ ไม่ได้ยากอะไร ถ้าเอาจริงๆ สมมุติถ้าตกลงกันได้ระหว่างพรรคที่ส่งผู้สมัครครบ 350 เขต กับพรรคที่ส่งผู้สมัครไม่ครบ 350 เขต ว่าจะตกลงกันอย่างไรให้ได้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ คุยกันสิครับ ไม่ได้ว่าอะไรเลย เพราะกฎหมายเปิดช่องให้คุยกันได้ เสร็จแล้วถ้าไปสมัครคุณก็ไปเอาสิ่งที่ตกลงกันไปบอกผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งประจำจังหวัด เขาก็ยินดีทำตามหมดทุกอย่าง เพราะคุณไปก่อนเวลา 8.30 น. ตามกติกา แล้วตกลงกันก่อนยื่นสมัคร เบอร์มันก็จะได้เหมือนกันทั้งประเทศ แต่ถามว่าพรรคที่เขาส่งไม่ครบ แล้วเขาตกลงเบอร์ไม่ได้ เบอร์จะเป็นเบอร์ฟันหลอทันที” รองเลขาธิการ กกต. กล่าว
อย่างไรก็ตาม รองเลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ กกต. ประชุมแล้วมีมติเห็นว่าวันเลือกตั้งคือ 24 ก.พ. 2562 และประธาน กกต. ก็บอกว่าไม่อยากให้เลื่อนไปอีกแล้วเพราะทุกคนรอคอย โดยวันที่ 2 ม.ค. 62 จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และวันที่ 4 ม.ค. 62 กกต. จะประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์