วันเลือกตั้ง

ไม่ได้สัญญาว่าจะเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 เลขาฯ กกต. เผยกำหนดวันเลือกตั้ง กกต. ต้องฟัง คสช.

12.11.2018
  • LOADING...

แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะตั้งโต๊ะกางปฏิทินนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 แต่พรรคการเมืองฝ่ายต่อต้าน คสช. ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ เห็นตรงกันว่ายังไม่มีหลักประกันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันนั้นจริง เพราะยังมีอำนาจ ม.44 ของหัวหน้า คสช. อยู่

 

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช. เชื่อว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62 จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ให้การรับรองการจดทะเบียนพรรคการเมืองอีก 31 พรรค

 

หากจะเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 62 กฎหมายกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน หรือก่อนวันที่ 26 พ.ย. 2561 จึงเชื่อว่า กกต. จะใช้เหตุผลนี้ในการเลื่อนการเลือกตั้ง

 

เช้าวันนี้ (12 พ.ย.) พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงกรณีที่นายจตุพรกล่าวมานั้นจะเป็นเหตุปัจจัยให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 ก.พ. 62 หรือไม่

 

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า “กรณีพรรคที่จดจัดตั้งใหม่ ตาม พ.ร.บ. พรรคการเมืองฉบับปัจจุบันยื่นมาทั้งหมด 37 พรรค กกต. รับจดจัดตั้งไปแล้ว 25 พรรค เหลืออีก 12 พรรค กำลังเร่งรัดอยู่ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะรับรองได้อีก 2-3 พรรค เพราะมีบางกลุ่มเพิ่งยื่นขอมาเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง กกต. กำหนดห้วงเวลาการรับรองไว้ที่ 45 วัน กรณีที่ข้อปัญหาน้อย”

 

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า กรณี กกต. รับรองไม่ทัน จะเกิดอะไรขึ้น

 

“เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การที่นายทะเบียนรับรองกฎหมายเขียนไว้ว่าเฉพาะผู้ร่วมก่อตั้งอย่างน้อย 500 คนขึ้นไป ที่ยื่นเสนอชื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติ

 

“สมมติ กกต. รับรองวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งเลย 26 พ.ย. แล้ว (กำหนดสังกัดพรรคภายใน 90 วันก่อนการเลือกตั้ง)  

 

“แต่กฎหมายเขียนให้มีผลย้อนหลังเฉพาะรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง 500 คนนี้ ให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่กรณีสมาชิกที่รับสมัครภายหลังจะลงสมัครไม่ได้”

 

ผู้ดำเนินรายการถามต่ออีกว่า ถ้ารับรองไม่ทัน ยืนยันว่าไม่เป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้งใช่หรือไม่

 

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า “ที่บอกว่า 24 ก.พ. คือวันที่สำนักงาน กกต. พร้อมที่จะจัดเลือกตั้ง คือมีหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วยทั่วประเทศ กรรมการประจำหน่วย 1 ล้านคน

 

“แต่ประเด็นต่อไปคือ วันเลือกตั้งมาอย่างไร กฎหมายกำหนดว่า นับแต่ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือวันที่ 11 ธ.ค. 61 ไปจนถึงวันที่ 9 พ.ค. 62 ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าวันใดวันหนึ่งก็ได้ให้เป็นวันเลือกตั้ง โดยให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่ง กกต. ยังไม่ได้ประชุมเลยว่าจะกำหนดวันที่ 24 ก.พ. 62 เพียงแต่เป็นเป้าหมายของวันที่สำนักงาน กกต. พร้อมจัดการเลือกตั้ง”

 

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า ฟังไปฟังมาวันที่ 24 ก.พ. 62 ไม่ได้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้ง เพียงแค่บอกว่าสำนักงาน กกต. พร้อมเร็วที่สุดวันนั้น

 

เลขาธิการ กกต. ตอบว่า “ครับ เพราะคนที่มีอำนาจประกาศวันเลือกตั้งคือ กกต. หลังจากที่มี พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง”

 

ผู้ดำเนินรายการย้ำว่า วันที่ 24 ก.พ. 62 ที่พูดกันเป็นวรรคเป็นเวร ไม่ได้สัญญาเลยจะเลือกตั้งวันนั้น

 

เลขาธิการ กกต. บอกว่า “กกต. ยังไม่ได้ประชุมเลย”

 

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า เลือกตั้งวันไหน คสช. มีส่วนร่วมกำหนดด้วยหรือไม่

 

เลขาธิการ กกต. ตอบว่า “ตาม ‘คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560’ ให้ คสช. ร่วมกับ กกต. หารือกัน เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง”

 

ผู้ดำเนินรายการถามทวนว่า หมายความว่า กกต. จะไม่ได้กำหนดไปโดยลำพัง แต่จะต้องหารือกับ คสช. ก่อน

 

เลขาธิการ กกต. ตอบว่า “ต้องฟังด้วย และก็ฟังหลายๆ อย่างว่านักการเมืองพร้อมไหม ฟังว่าสำนักงาน กกต. พร้อมหรือไม่”

 

ภาพ: AFP

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X