จากกรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เปิดตัวโซเชียลมีเดียส่วนตัวในทุกช่องทางทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และเว็บไซต์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชน THE STANDARD ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านในหัวข้อ ‘คุณคิดว่าการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าข่ายการหาเสียงหรือไม่’
ผลการสำรวจในเฟซบุ๊กปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมโหวตกว่า 8,300 ครั้ง ส่วนใหญ่มองว่าเข้าข่ายการหาเสียง 89% หรือประมาณ 7,400 โหวต ขณะที่อีก 11% หรือ 929 โหวตมองว่าไม่ใช่การหาเสียง เช่นเดียวกับในทวิตเตอร์ที่ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกันจากจำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งสิ้น 1,355 ครั้ง 88% ระบุว่าเข้าข่ายการหาเสียง ขณะที่อีก 12% มองว่าไม่เข้าข่าย
ด้านสวนดุสิตโพลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,165 คน ระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม หัวข้อ ‘ประชาชนคิดว่าอย่างไรกับเพจนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ผลการสำรวจระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ 42.75% มองว่าการที่นายกฯ เปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนในโซเชียลมีเดียเป็นการหยั่งเสียงวัดความนิยม หวังผลทางการเมือง รองลงมา 24.67% มองว่ามีทั้งกระแสตอบรับที่ดีและคัดค้าน ส่วน 23.47% มองว่าเป็นสิทธิของนายกฯ ทุกคนสามารถมีได้ในโลกยุคออนไลน์ อีก 18.80% มองว่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวและการทำงานของนายกฯ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาพูดคุย ที่เหลือ 14.49% มองว่าอยากให้นายกฯ เป็นผู้ตอบคำถามด้วยตนเอง ไม่ใช่คนอื่นตอบให้
ส่วนในคำถามที่ว่า ‘ประชาชนคิดว่าการเปิดเพจนายกฯ เป็นการหาเสียงหรือไม่’ ส่วนใหญ่ 42.92% มองว่าเป็นการหาเสียง เพราะใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดี เป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานของนายกฯ ให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อสร้างคะแนนนิยม ฯลฯ รองลงมา 40.17% ระบุว่าไม่แน่ใจว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับเจตนาและความตั้งใจในการเปิดเพจของตัวท่าน มีหลายกระแสที่โยงไปเรื่องการเมือง ฯลฯ และอีก 16.91% ระบุว่าไม่เป็นการหาเสียง เพราะนายกฯ ยังไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาจเพียงต้องการปรับปรุงการทำงานและสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ฯลฯ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์