- ความกังวลแนวนโยบายสุดโต่งของทรัมป์โดยเฉพาะสงครามการค้ามีมากขึ้น สะท้อนผ่านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น
- ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นมากหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง รวมถึงหลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินหยวนมากที่สุดในเอเชีย
- โดยดัชนีค่าเงินบาททั้งรูปแบบปกติและเมื่อหักผลเงินเฟ้อ (NEER และ REER) ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งกว่า 26.7% และ 6.4% นับตั้งแต่ปี 2012 ตามลำดับ
- ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัว Sideway โดยปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างจำกัดหลังตลาดรับรู้ปัจจัยบวกที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงแนะนำเก็งกำไรหุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากรัฐเตรียมพิจารณาออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลง หลังพรรครีพับลิกันชนะแบบเด็ดขาดทั้งประธานาธิบดีและสามารถคุมสภาได้ทั้งสภาสูงและสภาล่าง ทำให้ความกังวลแนวนโยบายสุดโต่งของทรัมป์โดยเฉพาะสงครามการค้ามีมากขึ้น สะท้อนผ่านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น ความกังวลเงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้น แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามคาด แต่ส่งผลให้ล่าสุดตลาดปรับความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2025 ลงเหลือ 2 ครั้งจาก 4 ครั้ง
สอดคล้องกับถ้อยแถลงของประธาน Fed ล่าสุดที่ระบุถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้ Fed อาจไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วในอนาคต ขณะที่หุ้นสหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวลดลงมาบ้างท้ายสัปดาห์
ขณะที่ตลาดหุ้น DM อื่นปรับลดลง ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่องจากความเสี่ยงสงครามการค้า ทำให้เงินสกุลเอเชียรวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลงกดดันหุ้น EM เอเชียปรับลดลงแรง ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อของจีนยังไม่สะท้อนมาตรการกระตุ้นในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความพยายามผลักดันเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านอสังหายังมีต่อเนื่อง ผ่านการลดภาษีการโอนบ้านลงจากเดิม 3% เหลือ 1% สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกและหลังที่สองที่มีพื้นที่ไม่เกิน 140 ตารางเมตร และลดภาษีมูลค่าเพิ่มของที่ดินลง 0.5%
ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ผลประกอบการ 3Q24 อ่อนตัวลงทั้ง YoY และ QoQ ถูกกดดันจากกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีเป็นหลัก หากไม่รวมกำไรของ SET ยังปรับขึ้น YoY SET อยู่ในช่วงพักฐานรอปัจจัยบวกใหม่ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นที่คาดว่าจะมีความคืบหน้าในสัปดาห์หน้า ราคาน้ำมันปรับลงแรง กดดันจากเงินดอลลาร์แข็งค่าและอุปสงค์ที่อาจถูกกระทบจากสงครามการค้า
ค่าเงินบาท ‘แข็งค่า’ มากกว่าประเทศคู่ค้า
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมที่สูงขึ้นนั้นเป็นผลจากปัจจัยต้นทุน (Cost-push) เป็นหลัก โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านอาหารและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจาก 0.12% (p.p.) เป็น 0.26% (p.p.) จากฐานราคาน้ำมันสำเร็จรูปปี 2023 ที่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.6 ดอลลาร์ต่อแกลลอน จาก 3.9 ดอลลาร์ในเดือนก่อน
ด้านเงินเฟ้อจากราคาบ้านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผลจากแรงกดดันในอดีต ส่วนเงินเฟ้อจากค่าจ้างและองค์ประกอบอื่นชะลอต่อเนื่อง บ่งชี้ Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้ในเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ มองว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นมากหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง รวมถึงหลายฝ่ายกังวลเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินหยวนมากที่สุดในเอเชีย นอกจากนั้นดัชนีค่าเงินบาททั้งรูปแบบปกติและเมื่อหักผลเงินเฟ้อ (NEER และ REER) ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งกว่า 26.7% และ 6.4% นับตั้งแต่ปี 2012 ตามลำดับ
ในส่วนของการเติบโตของสินเชื่อจีนที่ต่ำกว่าคาด และการที่ทางการจีนออกมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น เรามองว่า
- มาตรการการเงินต่างๆ ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนยังไม่สามารถกระตุ้นความต้องการสินเชื่อได้อย่างมีนัยสำคัญ ผลจากการขาดความเชื่อมั่น
- ตลาดอสังหายังน่ากังวล แม้ยอดขายที่อยู่อาศัยในเดือนตุลาคมจะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่ยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ โดยผู้ประกอบการรัฐได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นมากกว่าเอกชน
ทั้งนี้ มองว่ามาตรการลดภาษีอสังหาอาจช่วยกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้นได้บ้าง แต่ปัญหาสำคัญคือความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ในระยะต่อไปเศรษฐกิจจีนอาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากรัฐเตรียมพิจารณาออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น แจกเงินหมื่นบาทเฟส 2, ช้อปดีมีคืน (Easy e-Receipt) แนะนำกลุ่มค้าปลีก (CPALL, CPAXT, CRC, HMPRO, TNP)
- หุ้นที่ได้อานิสงส์บวกจากดอลลาร์แข็งค่า/บาทอ่อนค่า แนะนำกลุ่มที่มีรายได้จากการส่งออก (CPF, DELTA) และกลุ่มท่องเที่ยว (AWC, AOT, MINT)
- หุ้น Earning Play ซึ่งมองว่ามีโมเมนตัมกำไร 4Q24 จะเติบโตดี YoY และ QoQ อีกทั้งเราแนะนำ Outperform เลือก BCP, GULF, OSP, CBG, AMATA, AU, TIDLOR
- หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนวายุภักษ์และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เลือก BBL, ADVANC, HMPRO, BCP
“ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัว Sideway โดยปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างจำกัดหลังตลาดรับรู้ปัจจัยบวกรู้ปัจจัยบวกที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สะท้อนได้จากผลตอบแทนและกระแสเงินที่ไหลเข้าไปยังหุ้นกลุ่มการเงินและหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ รวมถึงกระแสเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้น EM และตลาดหุ้นจีนจากความกังวลเรื่องนโยบายปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยในประเทศมองว่าอาจอยู่ในช่วงปรับประมาณการของ บจ. และกำไรตลาดหลัง 3Q24 หลังจากภาพรวมกำไรออกมาต่ำกว่าคาด อีกทั้งยังมีประเด็นต้องติดตามจากบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจเตรียมหารือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในวันที่ 19 พฤศจิกายน และลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องคดียุบพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมทั้งระยะสั้น กลาง และยาวในวันที่ 19 พฤศจิกายน
- ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องคดียุบพรรคเพื่อไทยในวันที่ 22 พฤศจิกายน
- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น GDP 3Q24 ของไทย, ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: LHHOTEL - ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยลง ปันผลดี
แนะนำ บมจ.แอล เอช โฮเทล หรือ LHHOTEL เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นกอง REIT ประเภทโรงแรมที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุด และมูลค่าตามราคาตลาดสูงที่สุดในประเทศไทย โดยเข้าลงทุนในโรงแรม 5 โครงการ (3 โครงการใน กทม. และ 2 โครงการในพัทยา) ซึ่งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ อีกทั้งได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
- 3Q24 กำไรออกมาดีกว่าคาด และ 4Q24 คาดว่ากำไรจะยังเติบโต YoY และ QoQ ตามปัจจัยฤดูกาลและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ส่วนปี 2024 คาดมีกำไรปกติ 1.4 พันล้านบาท เติบโตเด่น 45.5%YoY ซึ่งในประมาณการยังมี Upside หลังกำไรปกติ 9M24 คิดเป็น 79.7% ของประมาณการทั้งปีของเรา
- เป็น Top Pick ของกลุ่ม REIT และ IFF จากทรัพย์สินทุกโครงการมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และยังให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจ อีกทั้งมองว่าได้อานิสงส์จากโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะปรับขึ้นต่อจากระดับปัจจุบันนี้มีจำกัด และคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก
- เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 16.50 บาท (อิงวิธี DDM) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 ที่หน่วยละ 1.24 บาท คิดเป็น Dividend Yield สูงถึงปีละ 9.6%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา งบกลุ่มที่มีแรงหนุนจาก AI อย่างเซมิคอนดักเตอร์ Hon Hai และ Quanta ยังโตดี แต่อย่างไรก็ดี AMAT มีแรงกดดันจากสินค้าอุตสาหกรรมและยานยนต์ทำให้แนวโน้มรายได้ผิดคาด ด้านสตรีมมิ่งและคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ มีภาพการฟื้นตัวที่ดี สวนทางคอมเมิร์ซในจีนและลักชัวรีที่กดดันจากเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก ระยะถัดไปเราแนะติดตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและนโยบายของทรัมป์ที่คาดส่งผลต่อแนวโน้มผลประกอบการของหุ้น
กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์: งบกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ยังเติบโตดีจากอุปสงค์ AI เป็นสำคัญ Hon Hai และ Quanta ที่มีสัดส่วนเซิร์ฟเวอร์ AI เป็นสินค้าหลักยังให้แนวโน้มการเติบโตในระดับสูง ขณะที่ AMAT ได้รับแรงหนุนจาก AI เช่นเดียวกันทำให้งบดี แต่อย่างไรก็ดี มีสัดส่วนธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและยานยนต์ที่ความต้องการอ่อนแอทำให้แนวโน้มออกมาผิดคาด
กลุ่มสตรีมมิ่ง: ธุรกิจสตรีมมิ่งมีผลกำไรดีกว่าที่คาดและจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นทั้ง DIS และ SPOT ซึ่งภาพนี้ออกมาในทิศทางเดียวกับ NFLX และ YouTube หลังในกลุ่มนี้มีแรงกดดันจากการแข่งขันการลดราคาที่ลดลง
กลุ่ม e-Commerce: SHOP งบโตดีในทุกมิติ ทั้งรายได้ กำไร และส่วนแบ่งตลาด หลังมีแรงหนุนจากการขยายฐานลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่และการเติบโตในตลาดต่างประเทศ ด้าน JD.com ควบคุมต้นทุนดีส่งผลให้อัตรากำไรขยายตัวดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การแข่งขันในตลาดจีนยังกดดันการเติบโตของรายได้และส่วนแบ่ง
กลุ่มสินค้าลักชัวรี: Burberry และ Richemont เผยรายได้หดตัวลงกดดันจากความต้องการของผู้บริโภคลดลงโดยเฉพาะในตลาดเอเชียที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก อย่างไรก็ดี Burberry เตรียมปรับกลยุทธ์ทำให้ราคาหุ้นขึ้นได้
เรามองว่าระยะถัดไปสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามคือ
- ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อแรงซื้อในกลุ่มลักชัวรี คอมเมิร์ซในจีน และสวนสนุกของ DIS
- แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ซึ่งภาพนี้จะส่งผลดีต่อกลุ่มสตรีมมิ่ง รวมถึงกลุ่มชิปในสินค้าอุตสาหกรรมและยานยนต์ที่จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น
- นโยบายของทรัมป์ ว่ามีข้อจำกัดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในทิศทางใด ซึ่งภาพนี้ทำให้กลุ่มสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่มีสัดส่วนรายได้จากจีนมีความเสี่ยง เช่น AMAT (30% ของรายได้รวม)
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสดมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังล่าสุด พาวเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการลดดอกเบี้ย
นอกจากนี้ สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และข้อพิพาทการค้า หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งในสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าที่อัตรา 60% กับสินค้าจีนทั้งหมด และเก็บ 10% กับสินค้าจากทั่วโลก (ยกเว้นจีน)
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะเพิ่มความชัน (UST Yield ตัวยาว เพิ่มขึ้นนำ) ยังคงมีอยู่ หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งในสหรัฐฯ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงขาขึ้นของเงินเฟ้อทั้งจากการจำกัดผู้อพยพ การกีดกันทางการค้า และการเพิ่มการขาดดุลการคลัง ที่หนุนอุปทาน UST ตัวยาวให้มากขึ้น
นอกจากนี้ความเสี่ยงเงินเฟ้ออาจทำให้ Fed ระมัดระวังมากขึ้นในการลดดอกเบี้ย โดยที่บอนด์ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขณะที่บอนด์อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ที่มากเพียงพอ จึงทำให้ตราสารหนี้ตัวสั้นยังมีความน่าสนใจในการถือลงทุน เพื่อรับ Coupon Income และยังคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge หากเกิดกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาดมาก
US Treasury & IG
10Y UST Yield ยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังที่ลดลงของตลาดฯ เกี่ยวกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่มากของ Fed หลัง พาวเวลล์ย้ำว่า ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ที่ทำให้ Fed จำเป็นต้องรีบร้อนในการลดอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับความกังวลยอดขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้น ผ่านการออก UST ที่มากขึ้นจากนโยบายของทรัมป์หลังได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และพรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากในสภาคองเกรส
แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond (ซึ่งมีงบการเงินที่ยังดี) โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ Yield ในกรอบ 4.3-4.9% ซึ่ง Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed ที่ 2.9% เพื่อ Lock Coupon
High Yield Bond
แม้ Spread ของ US HY มีแนวโน้มทรงตัวถึงแคบลงได้อีกเล็กน้อยจาก
- US HY LTM Default Rate ที่ทยอยลดลงและยังอยู่ต่ำ
- จำนวน HY Issuers ที่ถูก Upgrade มากกว่าที่ถูก Downgrade
- ความผันผวนของตลาด US HY ที่ยังต่ำ
- Maturity Wall ในปี 2025 ยังไม่ได้น่ากังวล เมื่อเทียบกับของปี 2026 ที่มีค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม ด้วย US HY Spread ที่แพงมากเมื่อค่าเฉลี่ย 10 ปี และ UST Yield ตัวยาว ที่เสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นต่อ จึงทำให้ Upside ของ US HY มีค่อนข้างจำกัด
สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
- แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอีก 125 bps จนถึงสิ้นปี 2025 ส่งผลให้ US REITs มีความน่าสนใจในแง่ของเงินปันผลที่สูงราว 4.0%
- Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
- ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง
- งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต
- Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม Bond Yield ที่ปรับตัวขึ้นจากแผนขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นของทรัมป์กดดันราคา US REITs ในระยะสั้น
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีได้ปัจจัยหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากโครงการแจกเงิน 10,000 บาท การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
- การประกาศแผนลงทุนในไทยของ NVIDIA ช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้าน Data Center และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีนี้
- ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
- Valuation ที่ดูจาก Earning Yield Gap ของไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เนื่องจาก Bond Yield ของไทยยังไม่ได้ปรับขึ้นมาก
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
เรามองว่า การที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing จะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน ด้านผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการของทรัมป์ เช่น กลุ่มการเงินและกลุ่มพลังงาน
ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ท่ามกลางความขัดแย้งการเมืองภายในเยอรมนี
หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ทำให้เงินเยนอ่อนค่า และสนับสนุนหุ้นในกลุ่มส่งออกของญี่ปุ่น เน้นติดตามการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ในระยะต่อจากนี้
หุ้นสหรัฐฯ
ความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ แบบ Soft Landing ยังมีอยู่ หลังถ้อยแถลงของพาวเวลล์ล่าสุดระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง ขณะที่ในการทยอยรายงานงบของ S&P 500 ใน 3Q24 พบว่าโดยเฉลี่ย บจ. ที่รายงานแล้ว มี EPS Surprise ที่ +5 และอาจช่วยหนุนให้ Consensus ทยอยปรับประมาณการ EPS ของดัชนีฯ ทั้งปี 2024 ดีขึ้น
ส่วนผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีและพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา หนุนความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการผ่อนคลายด้านกฎระเบียบและการปรับลดภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรปที่มีความสามารถในการกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ยังมีความเสี่ยงจากภาคการเมืองของเยอรมนีที่เสถียรภาพลดลงหลังนายกรัฐมนตรีสั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 16 ธันวาคม 2024 รวมทั้งข้อพิพาทการค้ากับจีน (หลังจีนบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวต่อการนำเข้าบรั่นดีจาก EU) และแนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
เงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชีย (ไม่รวมจีน) ส่วนใหญ่ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ สร้างความกังวลต่อประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ขณะที่ 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้นและสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
แม้ที่ประชุม NPC Standing Committee อนุมัติแผนวงเงิน 10 ล้านล้านหยวน สำหรับให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปรีไฟแนนซ์หนี้ LGFVs แต่ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้คาดว่าต้องมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลง ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายงานกำไรของบริษัทจดทะเบียนออกมาน้อยกว่าคาด และอาจถูกปรับประมาณการลง กดดันดัชนีฯ ระยะสั้น
หุ้นอินเดีย
เรามีมุมมองที่ระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้น จากอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2024 ที่เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ +6.2% (สูงกว่าเป้าที่ 6%) ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Valuation ของดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่แพง ท่ามกลางการโยกเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติออกจากอินเดียนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม คิดเป็นมูลค่าราว 13 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี สัดส่วนส่งออกสินค้าอินเดียไปสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศ EM ส่วนใหญ่ ในกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อ GDP อินเดียจำกัด โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีฯ ย่อตัว
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีฯ ได้แรงหนุนจาก
- เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีจากการบริโภคที่ฟื้นตัว โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายนจะช่วยสนับสนุนภาคการบริโภค กอปรกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่จะช่วยสนับสนุนภาคการลงทุน
- FDI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย FDI ใน 2Q24 ขยายตัว +16.6%YoY
- ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากความต้องการแร่นิกเกิลในการผลิตแบตเตอรี่ EV
- กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวใน 2H24
- Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย 12M Forward P/E อยู่ที่ 13.0x หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ -1.0 S.D. อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง จากความกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ส่งผลกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากมาตรการส่งเสริมตลาดทุนจีนจากมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ซ่อนเร้นของรัฐบาลท้องถิ่น และจากมาตรการเยียวยาภาคอสังหา โดยล่าสุดจีนออกมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับบ้านและที่ดิน
นอกจากนี้ในการประชุม CEWC เดือนธันวาคมนี้ เรามองมีโอกาสที่ทางการจีนอาจผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้น ผ่านการส่งสัญญาณเกี่ยวกับเป้าการเติบโตและงบทางการคลังที่เน้นกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ สำหรับปี 2025 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามการค้ารอบใหม่กับสหรัฐฯ
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก
- เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า
- Fund Flow ของ ETF ทองคำที่กลับมาซื้อสุทธิ 6 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่ปรับขึ้นหลังชัยชนะของทรัมป์มีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาทองคำในระยะสั้น