สัญญาณการเลือกตั้งแจ่มชัดขึ้นอีกครั้ง หลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง
ฉบับแรกคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และอีกฉบับคือ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งในประกาศลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561 ถือเป็นการปักหมุดวัน ว. เวลา น. เริ่มต้นศักราชให้ประชาชนได้เลือกผู้แทนฯ อย่างเป็นทางการ
สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561
ขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
กฎหมายทั้งสองฉบับถือว่าเป็น ‘จุดสำคัญ’ ที่ทำให้สนามการเมืองจะเปลี่ยนรอยต่อของอำนาจ จากรัฐบาล คสช. ไปสู่รัฐบาลเลือกตั้ง แม้ยังมีข้อน่ากังวลถึงการสืบทอดอำนาจด้วยการวางกติกาต่างๆ เอาไว้แล้ว แต่ถึงอย่างไร ‘การเลือกตั้ง’ ก็ยังเป็นช่องทางสำคัญ เพื่อให้ ‘ประชาชน’ ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อบ้านเมืองของตัวเอง
7 ปีที่คนไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้ง
นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย มีการจัดการเลือกตั้งมาแล้ว 27 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา แต่ทว่าในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น หากนับเอาการเลือกตั้งทั่วไปที่ประชาชนในทุกจังหวัดของประเทศได้ออกไปใช้สิทธิ์ของตนเองก็คือ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลานั้นพรรคการเมืองต่างรณรงค์หาเสียงกันเต็มที่ โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นกรรมการผู้ควบคุมกติกา ในที่สุดพรรคพลังประชาชนก็คว้าชัยชนะ สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคอื่นตั้งรัฐบาล และส่งผลให้ไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมือง
ฉะนั้น หากนับเอาวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นการหย่อนบัตรครั้งสุดท้ายของคนไทย นับเนื่องจนถึงเวลานี้ คนไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาแล้ว 7 ปี ซึ่งเท่ากับว่ากลุ่ม New Voter หรือคนรุ่นใหม่ที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในห้วงเวลานี้ ยังไม่เคยมีโอกาสได้เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตแต่อย่างใด
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีอายุการทำงานเพียง 2 ปี 275 วัน ถ้าหักช่วงเวลานี้ออกไป อาจย่นระยะเวลาเหลือห้วงที่ไม่ได้เลือกตั้งประมาณ 5 ปี แต่ขณะนั้นรัฐบาลที่บริหารประเทศ คือรัฐบาลที่มาจากการ ‘เลือกตั้ง’ หาใช่รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการยึดอำนาจ
หากแต่คำสัญญาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ต่างหาก ที่ผูกมัดเป็นนายตน ว่าจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ตั้งแต่ขวบปีแรกที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง
แต่จนถึงวันนี้ก็เกือบเข้าปีที่ 5 ของอายุ คสช. แล้ว การเลือกตั้งเพิ่งจะมีสัญญาณและท่าทีแจ่มชัดขึ้น และหากไม่มีเหตุอื่นใด ด้วยกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวเนื่อง และเป็นจุดสำคัญของการหาผู้แทนเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้ประกาศแล้ว การเลือกตั้งต้องเดินหน้าตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด
คนไทยได้เลือกตั้งปี 2562 ตามกรอบรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 วางกรอบเวลาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ไว้ในมาตรา 268 โดยให้ดําเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายที่มีผลบังคับใช้ ทำให้กรอบเวลา 150 วันนับตั้งแต่วันดังกล่าว และจะครบวันสุดท้ายคือวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
นั่นคือการเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 มิเช่นนั้นแล้วก็จะถือเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในทันที
ดังนั้น หากไล่เรียงไทม์ไลน์ยึดตามกรอบเวลาเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบแล้ว ในปี 2562 จะต้องเกิดการเลือกตั้ง ไม่มีทางเลื่อนไปเป็นอื่นได้อีก
1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ภายใน 90 วันนับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ต้องตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งให้เสร็จ ตามกรอบนี้คือ ภายในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ขณะที่ตามโรดแมปของคณะกรรมการการเลือกตั้งวางกรอบไว้วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562
3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ภายใน 150 วันนับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ต้องกำหนดวันเลือกตั้งให้เสร็จ คือต้องเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
ขณะที่ตามโรดแมปของคณะกรรมการการเลือกตั้งวางกรอบไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
ส่วนรัฐบาลวางโรดแมปไว้ช่วงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นับเอาวันเลือกตั้งเป็นทุกวันอาทิตย์ปลายเดือน
ซึ่งสัญญาณล่าสุดจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในวันนี้ว่า ยังคงเป็นช่วงเวลาเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกประชุมคณะกรรมการและหน่วยงานภายในของ กกต. วันนี้ (13 ก.ย.) ทันที เพื่อวางกรอบและเร่งทำงานทั้งในส่วนเลือกตั้ง ส.ส. และกระบวนการให้ได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะกฎหมายในส่วนนี้มีผลบังคับใช้แล้ว
ใครคือผู้แทนปวงชนชาวไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 114 เขียนไว้ว่า ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย’
ขณะที่การทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย รัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบัน กำหนดให้ต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
การเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา ‘นักการเมือง’ ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘นักเลือกตั้ง’ ส่วนหนึ่งเพราะไม่เห็นบทบาทในฐานะผู้แทน แต่จะเห็นหน้าเมื่อการเลือกตั้งใกล้มาถึง ประชาชนจึงสัมผัสได้แต่ตัวตนก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่นักการเมืองเองก็ถูกทำให้เป็นปีศาจที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาโดยตลอด
วาทกรรม ‘คนดี’ ‘คนเลว’ จึงถูกนำมาใช้อธิบายภาพของขั้วตรงข้ามระหว่างนักการเมืองและนักการเลือกตั้ง กล่าวคือมุ่งแสวงหาคนที่ปราศจากตำหนิหรือโปรไฟล์ที่มีคุณธรรมยิ่งเข้ามาทำงานบ้านเมือง ยิ่งทำให้นักการเมืองถูกทำให้เป็นสิ่งน่ารังเกียจ กระแสของคนรุ่นใหม่จึงเป็นทางเลือกที่ต้องการให้เกิดกลุ่มก้อนของความหวังที่เป็นอนาคตที่สดใส ดังจะเห็นได้จากทุกพรรคที่พยายามแข่งกันเรื่องนี้
นักการเมืองย่อมหมายถึง ส.ส. และ ส.ว. นักการเมืองจึงถูกตีกรอบด้วยคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ค่อนข้างเข้มงวด
แต่กระนั้น ส.ส. ยังคงมีที่มาจากเจ้าของอำนาจอธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง แต่ ส.ว. กลับถูกเลือกโดยคณะบุคคลที่ชื่อว่า คสช. แม้ในขั้นตอนจะให้มีการเลือกจากตัวแทนในระดับต่างๆ ตามโครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาคและกลุ่มอาชีพ แต่สุดท้ายแล้วทุกรายชื่อต้องผ่านการการันตีจาก คสช. ยังไม่นับ 6 ผู้แทนเหล่าทัพที่ถูกล็อกไว้แล้ว
ตามรัฐธรรมนูญ ส.ส. มีจำนวน 500 คน ขณะที่ ส.ว. มีจำนวน 200 คน แต่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ 5 ปีแรก ส.ว. มี 250 คน และมาจาก คสช. เลือกทั้งหมด
แม้กูรูการเมืองหลายคนจะมองว่า การเลือกตั้งอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์หรือเป็นทางออกของความขัดแย้ง แต่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองคือวิถีตามประชาธิปไตย ขณะที่การเลือก ส.ว. ยังถูกตั้งคำถามถึงที่มา เพราะต้องเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะ ‘ผู้แทนปวงชนชาวไทย’ พร้อมๆ กับคำถามถึงสถานะ คสช. ว่าจะวางที่ทางตนเองในเกมเลือกตั้งอย่างไรด้วย
แน่นอนว่า ปี่กลองเลือกตั้งดังขึ้นแล้ว กลุ่มการเมืองเริ่มขยับ ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็จะไม่อยู่เฉยอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล