สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยดัชนี S&P500 ปิดทำจุดสูงสุดใหม่ แรงหนุนมาจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามที่สามารถบรรลุข้อตกลงได้เป็นประเทศที่ 3 ต่อจาก สหราชอาณาจักรและจีน โดยเวียดนามตกลงที่จะจ่าย ภาษี 20% สำหรับสินค้าทั้งหมดที่ส่งเข้ามายังสหรัฐฯ จ่าย ภาษี 40% สำหรับสินค้าสวมสิทธิ์ และให้สหรัฐฯ สามารถส่งออกสินค้าทุกชนิดไปเวียดนามโดยไม่เสียภาษี (Zero Tariff)
นอกจากนั้น ยังได้ปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายการกีดกันด้านเทคโนโลยีกับจีน หนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ด้านกลุ่มธนาคารเป็นอีกกลุ่มที่ปรับขึ้นได้ดี 2% จากความคาดหวังต่อผลประกอบการโอกาสการซื้อหุ้นคืน หลังธนาคารสหรัฐผ่านการทำ Stress Test
นอกจากนั้น ตัวเลขการจ้างงานและการผลิตของสหรัฐ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐผสมผสานภาคการผลิตยังคงออกมาดี แต่การใช้จ่ายผู้บริโภคหดตัวลง การจ้างงาน ADP ลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2022 แต่หักล้างจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ตลาดยังคงมองการลดดอกเบี้ยของ Fed 2 ครั้งในปีนี้
ตลาด EM ปรับตัวขึ้นได้เช่นกัน หนุนโดยประเด็นการเจรจาการค้าของเวียดนาม และตัวเลข PMI การผลิตของทางการจีน เดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นและสูงกว่าตลาดคาด แม้จะยังอยู่ในโซนหดตัว ด้าน PMI นอกภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50.5 จุด เท่ากับที่ตลาดคาด
ตลาดหุ้นไทย ปรับขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ศาลฯ จะรับคำร้องและให้นายกฯ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ตลาดอยู่ระหว่างจับตาการเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐที่เริ่มแล้วในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันฟื้นตัวหลังปรับลดลงแรงสัปดาห์ก่อน โดยมีข่าวอิหร่านระงับการให้ความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับ IAEA
ภาษีการค้าจ่อกระทบ GDP และภาคเกษตรไทย
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่า ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เวียดนามเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2025 ทำให้ไทยเผชิญความเสี่ยงจากการเจรจาการค้าครั้งสำคัญที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ จาก
- ไทยอาจต้องลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 0% เช่นเดียวกับเวียดนาม
- ผลกระทบของภาษีส่งออกของไทยสู่สหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
โดยหากไทยเจรจาสำเร็จให้ได้ภาษีลดลงเหลือ 10% GDP จะเติบโต 1.7% ในปี 2025 (ความน่าจะเป็น 10%) แต่หากการเจรจาได้ผลบางส่วนและต้องเผชิญภาษี 15-20% GDP จะเติบโตเพียง 1.1-1.4% (ความน่าจะเป็น 60%)
ส่วนในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด หากต้องเผชิญภาษี 25-36% GDP อาจหดตัวที่ -1.1% ถึง +0.5% พร้อมการส่งออกลดลงเกิน 10% (ความน่าจะเป็น 30%) ซึ่งความเป็นไปได้ของสถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากแม้แต่เวียดนามที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ยังถูกเก็บภาษีในอัตราสูง
ทั้งนี้ หากไทยต้องยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ราคาอาจลดลง 15-25% และภาคยานยนต์ที่ต้องปรับโครงสร้างการผลิตเมื่อรถยนต์อเมริกันเข้ามาแข่งขัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาจะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยี เครื่องจักร และวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ในราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะภาคพลังงานที่จะนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตัน เป็น 3-4 ล้านตันต่อปี
อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ในปัจจุบันความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้องจับตาความเสี่ยงเงินเฟ้อ โดยหากเงินเฟ้อ CPI ไม่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า อาจเปิดทางให้ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เดือน ก.ย. เนื่องจากตัวเลขตลาดแรงงานและการบริโภคเริ่มลดลง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ยังแข็งแกร่งจะทำให้ Fed ชะลอการลดดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Earnings Play ซึ่ง 2Q68 คาดกำไรปกติจะเติบโต YoY และ QoQ แนะนำ ADVANC BCH CBG CPALL SCCC
- หุ้น Defensive ที่ผันผวนต่ำและต้านทานความเสี่ยงภายนอกได้ แนะนำ ADVANC BCH DIF
- หุ้นปันผลที่มีคุณภาพดี (SET50 ที่มี SET ESG Ratings A ขึ้นไป) โดยคาดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไร 1H68 และให้ Div. Yield เกิน 2% แนะนำ ADVANC BBL PTT
- Trading Idea สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกำไร แนะนำ 1) หุ้น Undervalue (PER PBV < -1SD) ซึ่งคาดให้ Div. Yield ไม่ต่ำกว่าปีละ 3% แนะนำ BBL BCPG BDMS CPALL DIF PTT SIRI TIDLOR 2) หุ้นที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวไทย แนะนำ ERW CENTEL AAV และ 3) หุ้นที่คาดฟื้นตัวเร็วหากสงครามการค้ามีความชัดเจน แนะนำ WHA AMATA AOT MINT PTT TU
“ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัวไซด์เวย์ โดยมีโอกาสปรับขึ้นหากว่ามีความชัดเจนเบื้องต้นเกี่ยวกับการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย หลังเข้าใกล้เส้นตาย 9 ก.ค. อีกทั้งมองสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศจะยังไม่มีแรงกดดันเพิ่มเติมเข้ามาในช่วงสั้น เนื่องจากยังต้องรอผลการตัดสินขั้นสุดท้ายของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากที่มีมติให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ดีเราประเมิน SET ที่บริเวณต่ำกว่า 1100 จุด คิดเป็น PER ปี 2568 ต่ำกว่า 12 เท่า ยังเป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
สัปดาห์นี้ต้องติดตาม
- ครบกำหนดช่วงผ่อนปรน 90 วันภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะกลับมามีผลเต็มรูปแบบในวันที่ 9 ก.ค.
- เงินเฟ้อ CPI ไทย เดือน มิ.ย. ในวันที่ 7 ก.ค.
- เงินเฟ้อ CPI จีน เดือน มิ.ย. ในวันที่ 9 ก.ค.
- รายงานการประชุม FOMC Minutes เมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย.
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: ADVANC - ผลประมูลหนุนกำไรโต ปันผลดี
แนะนำ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในไทย มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของในด้านจำนวนผู้ใช้บริการสูง 45% อีกทั้งยังมีจำนวนคลื่นในมือมากที่สุดในกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพและผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตได้ดีในระยะยาว
- 2Q25 คาดมีกำไรปกติจะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ แรงหนุนจากรายได้ให้บริการหลักที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนให้บริการรวมค่าเสื่อมราคาที่ลดลง ส่วนปี 2025 คาดมีกำไรปกติแตะ 4.07 หมื่นลบ. เติบโต 16.9%YoY ซึ่งมี Downside จำกัดจากมาตรการภาษีการค้าของสหรัฐเพราะมีรายได้เกือบ 100% มาจากภายในประเทศ
- มองเป็นหุ้น Defensive ที่มีกำไรเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นซึ่งจะทำให้ ARPU ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจ FBB ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 332 บาท อิงวิธี DCF (WACC 6% และอัตราเติบโตระยะยาว 1.5%) และคาดให้ Div. Yield ปีนี้ ราว 5.1%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
สภาคองเกรสสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมาย big, beautiful bill ของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีและการใช้จ่ายจำนวนมาก ร่างกฎหมายนี้คาดว่าจะกลายเป็นกฎหมายในไม่ช้า โดยเราประเมินว่าเนื้อหาหลักยังออกมาในทิศทางเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งส่งผลลบต่อกลุ่มประกันสุขภาพและพลังงานหมุนเวียน ในทางตรงกันข้ามส่งผลบวกต่อกลุ่มเทคฯและกลุ่มสินค้าจำเป็น
กลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ
- Healthcare Service : ได้รับผลกระทบจากการเตรียมตัดงบ Medicaid และเพิ่มเงื่อนไขที่เข้มงวด ทำให้ผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพมีน้อยลงซึ่งกดดันแหล่งรายได้หลักของกลุ่ม ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มจากการหมดอายุของเครดิตภาษีสมัยไบเดน ทำให้เราแนะหลีกเลี่ยงกลุ่มที่เกี่ยวข้อง Medicaid ไปก่อน CVS, UNH, 2BH, THC, C
- Clean Energy : มีการยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีพลังงานสะอาดเร็วกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับเพิ่มภาษีใหม่สำหรับโครงการพลังงานลมและแสงอาทิตย์หลังปี 2027 ซึ่งเรามองเป็นความเสี่ยงที่ทำให้หุ้นผันผวนได้ แต่เรายังเชื่อว่าหุ้นกลุ่มนี้มีแรงหนุนจากปัจจัยเฉพาะตัวและความสามารถในการทำกำไรที่ฟื้นดีขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การเติบโตผ่านจุด Bottom มากกว่าการสนับสนุนของทางภาครัฐฯ FSLR SEDG
กลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก
- Technology: มีการเพิ่มเครดิตภาษีการลงทุนกับผู้ผลิตเซมิฯให้สูงขึ้นจาก 25% เป็น 35% หากเริ่มก่อสร้างโรงงานใหม่ในสหรัฐฯ ก่อนปี 2026 ซึ่งภาพนี้เป็นบวกต่อกลุ่มเซมิฯที่จะตั้งโรงงานในสหรัฐฯ เช่น INTC TSM MU Samsung GlobalFoundries หลังช่วยลดต้นทุนการผลิตโรงงานใหม่ และดึงดูดการลงทุนในสหรัฐฯ
- Consumer staple: การลดหย่อนภาษีครั้งใหญ่สำหรับครัวเรือนและบุคคลธรรมดา จะเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งภาพนี้เป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีกอย่าง WMT AMZN
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
ให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ยังสูง หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ดีกว่าคาด อาจหนุนให้ Fed ไม่รีบลดดอกเบี้ย และมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง และความไม่แน่นอนการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้า ที่เข้าใกล้เส้นตาย 9 ก.ค.
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
ความไม่แน่นอนเงินเฟ้อสหรัฐฯ จากกำแพงภาษี และความกังวลหนี้สาธารณะ มีแนวโน้มหนุน UST Yield ตัวยาว เพิ่มขึ้นต่อ ด้านตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง-ยาว น่าจะยังปรับลดลง จากการปรับลดดอกเบี้ยของกนง.อีก 2 ครั้งในปีนี้ ท่ามกลางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย
U.S. Treasury & IG
ส่วนชดเชยความเสี่ยงจากการถือพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความกังวลขาดดุลการคลังสหรัฐฯ ตามร่างกฎหมาย OBBB ขณะที่ ดัชนี US IG bond ยังมีปัจจัยพื้นฐานดี เมื่อเทียบ US HY bond แนะนำลงทุน UST และ US IG bonds โดยเน้น duration สั้นถึงกลาง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงพอร์ต ท่ามกลางความไม่แน่นอน
High Yield Bond
ความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้า อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ US HY default rate จะปรับเพิ่มขึ้น จากระดับในปัจจุบันที่ยังต่ำ ประกอบกับ UST Yield ตัวยาว มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นต่อ และ US credit spread ที่ค่อนข้างแพง อาจจำกัด upside ของ US HY
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
REITs ถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น แต่ REITs เป็นสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดที่มั่นคงและมีอัตราการเติบโตของเงินปันผล และมีความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอก
US REITs
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง จากการผ่านร่างกฎหมายลดภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ Yield Spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีและอัตราเงินปันผลของ REIT ยังติดลบที่ -0.2% อย่างไรก็ดี ตลาดคาดว่า Fed จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. นี้ ทำให้ US REIT เริ่มกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น
Private Credit *สำหรับนักลงทุน Ultra High Net Worth เท่านั้น
เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มถูกปรับลงต่อได้อีกไม่มาก หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตร และ ISM ภาคบริการล่าสุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และสูงกว่าที่คาด ทั้งนี้ แนะนำเน้นลงทุนใน Private credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก
หุ้นไทย
ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดระยะสั้น เพิ่มความเสี่ยงการผ่านร่างงบประมาณปี 2569 และการปรับลด GDP ในปีนี้ ทั้งนี้ ติดตามความคืบหน้าการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ หลังเข้าใกล้เส้นตาย 9 ก.ค. และสหรัฐฯ ประกาศลดภาษีนำเข้าจากเวียดนามจาก 46% เป็น 20% สะท้อนโอกาสที่ไทยจะถูกเก็บภาษีมากกว่า 10%
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ความคืบหน้าของร่างกระตุ้นการคลัง และการผลักแผนผ่อนคลายกฎระเบียบภาคธนาคารของสหรัฐฯ อาจประคอง sentiment หุ้นสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจยุโรปได้แรงหนุนจากความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากค่าจ้างญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
หุ้นสหรัฐฯ
การผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Trump ที่จะสิ้นสุดลง 9 ก.ค. ทำให้นักลงทุนบางส่วนยังคงระมัดระวังการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ส่วนในระยะกลาง เรามอง กำไรบจ.สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตดี และเป็นวงกว้างขึ้น จากกระแส AI ร่างกฎหมายลดภาษีเงินได้-เพิ่มการใช้จ่าย และการผ่อนคลายกฎระเบียบเพิ่มเติม
หุ้นยุโรป
ตลาดยุโรปได้แรงหนุนระยะสั้นจากความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้า หลังยุโรปเปิดรับแนวทางข้อตกลงที่กำหนดภาษีนำเข้าในอัตรา 10% แต่เรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดภาษีในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น กลุ่มรถยนต์และเหล็ก ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยของ ECB ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาทางการค้า ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับใกล้เคียงเป้าหมาย
หุ้นญี่ปุ่น
ความไม่แน่นอนการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และประเด็นการเมืองของญี่ปุ่น อาจเพิ่มความผันผวนต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะสั้น แต่ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่นที่คืบหน้า และค่าจ้างในญี่ปุ่นที่เติบโตดี หลังญี่ปุ่นบรรลุเจรจาค่าจ้างประจำปี เพิ่มอีกเฉลี่ย 5.25% สูงสุดในรอบ 34 ปี
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
แม้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย มีแนวโน้มถูกกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ แต่เราคาด จะเห็นประเทศในเอเชียรีบเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. นอกจากนี้ ยังคาด ทางการประเทศต่างๆ ยังมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการค้า
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดีย ยังมีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ย และการใช้จ่ายการคลัง ที่ช่วยหนุนอุปสงค์ภายในประเทศ ประกอบกับ ความคาดหวังการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ตามที่คณะผู้แทนเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และอินเดียกำลังเร่งเจรจากัน เพื่อเร่งบรรลุข้อตกลงภาษีนำเข้าให้ทันก่อน 9 ก.ค.นี้
หุ้นจีน A-Share
เราคาด ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีน A-share มีแนวโน้มได้แรงหนุนต่อเนื่อง หลังทั้งสองประเทศสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงการค้าร่วมกันที่ลอนดอนก่อนหน้านี้ ซึ่งนำไปสู่การที่ล่าสุด สหรัฐฯ ได้ยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกซอฟต์แวร์ออกแบบชิปไปยังจีน
สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ เนื่องจาก รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายลดภาษีที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความไม่แน่นอนด้านอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำต่อ ถึงแม้ว่าจะมีข้อตกลงกับบางประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น
ภาพ: Busakorn Pongparnit/Getty Images