- สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นได้ แม้ท่าที Fed จะชัดเจนแล้วว่าไม่รีบลดอัตราดอกเบี้ย โดยหุ้นไทยก็เริ่มฟื้นตัวหลังจากคลังเตรียมออกมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุน
- สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนอีก 10% รวมถึงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่จะจัดเก็บในเดือนมีนาคม จะทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทเพิ่มขึ้นใน 1-2 เดือน
- ปัจจัยลบจากสงครามการค้าจะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มประมาณ 0.2% (p.p.) จากประมาณการเดิม และทำให้ Fed ปรับลดดอกเบี้ยได้ยากขึ้น โดยอาจจะลดได้ 1 ครั้งในการประชุมเดือนมิถุนายน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ แม้คำแถลงต่อสภาของประธาน Fed จะระบุว่าไม่รีบลดดอกเบี้ย ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ลงยากมากขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด
ด้านการจ้างงานยังแกร่ง แม้ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะออกมาต่ำกว่าคาด แต่อัตราว่างงานยังคงลดลง อย่างไรก็ตาม หลัง PPI ออกมาคืนวันพฤหัสบดี แม้จะสูงกว่าคาด แต่ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สหรัฐฯ กลับปรับลดลงแรง เนื่องจากตลาดมองว่าองค์ประกอบที่นำไปสู่การประเมินตัวเลขเงินเฟ้อ PCE คาดว่าจะชะลอตัวลงได้ ซึ่ง PCE เป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ Fed ใช้ประกอบการพิจารณาในการวางนโยบายการเงิน
ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ยังเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้า ล่าสุดประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 25% กับทุกประเทศ และลงนามภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ประเทศที่เรียกเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที คาดว่าจะเป็นการเปิดทางให้มีการเจรจากับประเทศคู่ค้าก่อน ทำให้ตลาดมองบวกในระยะสั้น
นอกจากนี้ประธานาธิบดีทรัมป์เผยว่า ได้มีการพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ในประเด็นที่จะมีการเจรจาเพื่อนำไปสู่การยุติสงครามในยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลงจากความกังวลด้านอุปทานที่ผ่อนคลายลง
ด้านตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นแรง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าคาด บ่งชี้ถึงมาตรการกระตุ้นในปีที่ผ่านมา เริ่มทำให้ประชาชนจับจ่ายมากยิ่งขึ้น ขณะที่กลุ่มเทคจีนเพิ่มแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวของ DeepSeek ที่คาดว่าจะทำให้การเข้าถึงการใช้งาน AI มากขึ้น
ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวหลังเริ่มมีแรงซื้อกลับจาก Valuation ที่ลดลงไปมาก ขณะที่คลังเริ่มออกมาระบุถึงการเตรียมออกมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุน
สงครามการค้าเดือน ทำของแพงขึ้น 1-2 เดือนจากนี้
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมที่สูงขึ้นนั้น เป็นผลจากปัจจัยต้นทุน (Cost-Push) เป็นหลัก โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านอาหารและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจาก 0.62% (p.p.) เป็น 0.86% (p.p.) จากราคารถยนต์มือสอง ค่าประกันรถยนต์ และราคาไข่ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 15% จากการระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งส่วนหนึ่งแม้จะเป็นผลจากปัญหาด้านอุปทาน แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากผู้ประกอบการบางรายที่อาจต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความเสี่ยงสงครามการค้าในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อจากความต้องการใช้ (Demand Side) อันได้แก่ ค่าเช่าและค่าที่อยู่อาศัย ที่ชะลอลงชัดเจนต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มองว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะมีแรงผลักดันและแรงต้านจาก 2 ปัจจัยใหญ่คือ
1. สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนอีก 10% รวมถึงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่จะจัดเก็บในเดือนมีนาคม จะทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทเพิ่มขึ้นใน 1-2 เดือนนับจากนี้ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนและสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะรถยนต์
2. ข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากทรัมป์อาจผลักดันให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซียทันที ซึ่งจะทำให้น้ำมันดิบจากรัสเซียที่ค้างอยู่ในทะเลสามารถเข้าสู่ตลาดได้
โดยจากการวิเคราะห์เบื้องต้น รัสเซียซึ่งปัจจุบันส่งออกน้ำมันราว 6-6.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจเพิ่มกำลังการส่งออกกลับสู่ระดับ 7.8-8 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 6-12 เดือนหากมีการยกเลิกการคว่ำบาตร โดยจะมีน้ำมันดิบที่ค้างอยู่ในเรือราว 1.5-2 ล้านบาร์เรลเข้าสู่ตลาดทันทีและอาจกดดันราคาน้ำมันโลกให้ลดลง 5-10% ซึ่งจะทำให้ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อลดลง
อย่างไรก็ตาม บล.อินโนเวสท์ วิเคราะห์ว่า โดยภาพรวมปัจจัยลบจากสงครามการค้าจะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มประมาณ 0.2% (p.p.) จากประมาณการเดิม และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดดอกเบี้ยได้ยากขึ้น โดยอาจจะลดได้ 1 ครั้งในการประชุมเดือนมิถุนายน
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้น Earnings Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นสะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q67 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก ADVANC, TRUE, AMATA, TIDLOR, MTC, AU, HTC
2. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากรัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี (Easy E-Receipt) และแจกเงินหมื่นเฟส 2 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะนำ กลุ่มพาณิชย์ (CRC, HMPRO, TNP) กลุ่มท่องเที่ยว (MINT, AWC, ERW, AOT)
3. หุ้น Real Sector ที่มีพื้นฐานดี โดยคัดเลือกหุ้น SET100 ที่คาดเป็นเป้าหมายของกองทุนและมองมี Downside Risk จำกัด ได้แก่ BCP, AP, PTT, TU, SPALI
4. Trading Idea: 1. หุ้นที่คาดสัปดาห์หน้าจะประกาศงบ 4Q67 กำไรเติบโต YoY และ QoQ แนะนำ CPAXT, MTC, TRUE, CBG และ 2. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์เม็ดเงินไหลเข้าจาก MSCI Rebalance อย่าง GPSC, SCGP
“มอง SET มีโอกาสฟื้นตัวแต่ Upside จำกัด โดยมีแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1320 จุด โดยปัจจัยต่างประเทศมีรายงานการประชุมของ FOMC หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงดัชนี PMI ของสหรัฐฯ คาดว่าจะออกมาชะลอตัวลง จากสงครามการค้าทำให้เกิดความไม่ชัดเจนขึ้นในหลายส่วน ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีประเด็นติดตามจากการประกาศงบ 4Q67 ส่วน GDP 4Q67 ของไทยคาดฟื้นตัวต่อเนื่องและเติบโตได้จากฐานต่ำปีก่อน และแนวโน้ม 1Q68 น่าจะมีการเติบโตขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐแต่ยังเร็วเกินไปที่จะมีการปรับ GDP ” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. รายงานการประชุม Fed ติดตามสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินและมุมมองต่อผลกระทบจากสงครามการค้า
2. ความคืบหน้า/การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับนโยบายการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BLA - กำไรเติบโตดี Valuation ถูก
แนะนำ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในประเทศไทย โดยปี 2023 มีส่วนแบ่งตลาด 3.9% ในแง่ของเบี้ยประกันรับทั้งหมด และ 3.8% ในแง่ของเบี้ยประกันรับรายใหม่ ทั้งนี้บริษัทมีโครงสร้างเบี้ยประกันรับรายใหม่แยกตามช่องทางประกอบด้วยช่องทางธนาคาร 66% ช่องทางตัวแทน 23% และช่องทางอื่นๆ 11%
- 4Q24 คาดกำไรโต 96%YoY (อัตรากำไรจากรับประกันภัยดีขึ้น) และ 14%QoQ (กำไรจากลงทุนเพิ่มขึ้น) สู่ 700 ล้านบาท ขณะเดียวกันคาดกำไรจะเติบโตแข็งแกร่งที่ 32% ในปี 2024 และ 29% ในปี 2025 โดยได้รับแรงหนุนจากการลดภาระตั้งสำรองค่าเผื่อความผันผวน (PAD) ลงได้ และ ROI (กำไรที่เกิดขึ้นจริง) ที่ดีขึ้น
- มอง Valuation น่าสนใจ โดยปัจจุบันซื้อขายที่ P/BV ที่ 0.65 เท่า (เทียบกับ ROE ที่ 8.5%) และ PER ที่ 8 เท่า (EPS Growth ที่ 29%) สำหรับปี 2025 อีกทั้งยังมีแนวโน้มเป็นเป้าหมายลงทุนของกองทุนวายุภักษ์และกองทุน ThaiESG
- เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 27 บาท อิงวิธี P/BV 0.85 เท่า และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 ที่หุ้นละ 0.49 บาท คิดเป็น Div. Yield ราว 2.4%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลัง 1. เจ. ดี. แวนซ์ ประกาศนโยบายให้ระบบ AI ที่ทรงพลังที่สุดต้องผลิตในสหรัฐฯ 2. ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% รวมถึงวิจารณ์กฎระเบียบ AI และ Digital Services Act ของ EU ว่าเข้มงวดเกินไป อย่างไรก็ดีดูเหมือนจีนที่มีความตึงเครียดกับสหรัฐฯ มากที่สุดนั้นจะเริ่มลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ได้พอสมควรสะท้อนผ่านความสำเร็จในการพัฒนาเทค AI ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่ากลุ่มเทคจีนดูมีพัฒนาการเชิงบวกที่ดีขึ้น
- รัฐบาลทรัมป์ โดย เจ. ดี. แวนซ์ เผยแนวทางนโยบายให้ระบบ AI ที่ทรงพลังที่สุดต้องผลิตในสหรัฐฯ โดยใช้ชิปที่ออกแบบและผลิตในประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการรักษาความเป็นผู้นำด้าน AI โดยเฉพาะเมื่อมีการแข่งขันจากจีน ขณะที่ตลาดมองว่านโยบายนี้จะมี Sentiment บวกต่อบริษัทที่มีฐานการผลิตในสหรัฐฯอย่าง Intel และ Global Foundries ในทางตรงกันข้ามมี Sentiment ลบต่อ TSMC ซึ่งปัจจุบันผลิตชิป AI ขั้นสูงประมาณ 90% ของโลก แต่มีส่วนหนึ่งของฐานการผลิตอยู่นอกเหนือจากสหรัฐฯ ทำให้อาจได้รับผลกระทบ
- นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-EU มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น จากการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบ AI และ Digital Services Act ของ EU ว่าเข้มงวดเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในยุโรป เช่น Meta, Google, Apple และ Microsoft
- ขณะที่กลุ่มบริษัทเทคจีนเร่งพัฒนา AI เพิ่มขึ้น โดย 1. Tencent เพิ่มความสามารถให้แชตบอต Yuanbao ด้วยการผนวกโมเดล DeepSeek-R1 โดยเน้นฟีเจอร์การค้นหาและตอบสนองแบบเรียลไทม์ 2. Baidu เตรียมเปิดตัว Ernie 5.0 ในช่วงครึ่งปีหลัง 2025 เน้นพัฒนาด้าน Multimodal โดยปัจจุบัน Ernie มีผู้ใช้งานแบบเสียเงินบนแพลตฟอร์ม Wenku ถึง 40 ล้านคน 3. Alibaba ได้รับเลือกจาก Apple ให้เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี AI สำหรับ iPhone ในจีน ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขาย iPhone รุ่นใหม่ในตลาดจีนได้
- ภาพรวมนี้เราประเมินว่า 1. ในระยะสั้น นโยบายผลิตชิป AI ในสหรัฐฯ มีผลกระทบจำกัดต่อ TSMC ทั้งจากเทคที่โดดเด่นและการย้ายฐานการผลิตชิปกลับสหรัฐอาจจะใช้เวลาและต้นทุนสูง เรายังชอบ TSMC มากกว่า AMD, INTC, GFS 2. ส่วนนโยบายต่อยุโรปนั้นมองเป็นเรื่องการต่อรองโดยการใช้ภาษีนำเข้าสินค้ากับการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นและลดการควบคุมบริษัทสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มจะเห็นผลชัดเจนเพิ่มขึ้นในช่วง 2Q25 เรามองว่าบริษัทที่จะได้ประโยชน์จากความเข้มงวดของ Digital Service Act ที่ลดลงได้แก่ META, GOOGL, AAPL, MSFT 3. แม้จะอุตสาหกรรม AI และเทคจีนจะมีแรงกดดันจากการควบคุมและสงครามเทค แต่อย่างไรก็ดีความสำเร็จของ AI จีนอย่าง DeepSeek และการพัฒนา AI ในกลุ่มเทคจีนที่ดูสำเร็จเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มเทคจีนมีความคาดหวังเชิงบวกในการพัฒนาธุรกิจที่สามารถลดการพึ่งพาจากสหรัฐฯ ได้ ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่ากลุ่มเทคจีนดูมีแนวโน้มไปต่อได้ในระยะถัดไป ซึ่งเราแนะมอง Tencent และ Baidu ที่ราคายังไม่ตอบสนองต่อประเด็นนี้เท่าที่ควร รวมถึงมองแนวโน้มธุรกิจยังคงโดดเด่นในด้าน AI
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าต่างๆ โดยล่าสุดทรัมป์ลงนามมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที แม้สงครามในยูเครนเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หลังมีรายงานว่า รัสเซียและยูเครนอาจทำข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามก็ตาม
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะเพิ่มความชันยังมีอยู่ โดยยีลด์ตัวยาวมีโอกาสทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นต่อ ทั้งจากการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น เงินเฟ้อที่ยังหนืด (ตามนโยบายกีดกันการค้าและกีดกันผู้อพยพ) และ Fed ที่มีแนวโน้มระมัดระวังการลดดอกเบี้ยหลังถ้อยแถลงล่าสุดของพาวเวลล์มองว่ายังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในตอนนี้ ทั้งนี้ บอนด์อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ไม่มากนัก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้น่าสนใจลงทุน และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge
US Treasury & IG
UST Yield มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก CPI สหรัฐฯ เดือนมกราคม ที่สูงกว่าตลาดคาด และจากการที่พาวเวลล์ย้ำว่า Fed ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบปรับลดดอกเบี้ย ประกอบกับ ความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังในสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น หลัง รมว.กลาโหม สหรัฐฯ ต้องการเพิ่มงบด้านกลาโหม และเสริมว่า งบในส่วนนี้ไม่ควรต่ำกว่า 3% ของ GDP ทั้งนี้ แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG bond โดยเน้น Duration สั้นที่ให้ Yield เฉลี่ยสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed เพื่อเป็นการ Lock Coupon
High Yield Bond
US HY ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกจาก
1. อัตราการผิดนัดชำระหนี้ 12 เดือนย้อนหลังของ HY อยู่ที่ 3.8% ต่ำกว่า Leveraged Loan ที่ 7.1%
2. สัดส่วนหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดีขึ้น มีแนวโน้มมากกว่า หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตแย่ลง ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี
3. ความผันผวนของ US HY ยังต่ำ
4. หุ้นกู้ HY ที่ครบกำหนดในปี 2568 ไม่สูงมาก อยู่ที่เพียง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ด้วย Spread ที่ต่ำมาก และ Yield ตัวยาว ที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ อาจทำให้ Upside ของ HY จำกัด
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
REITs เป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงระยะยาว และเป็นการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง Occupancy Rate อยู่ในระดับสูงราว 94% กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) เติบโตต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มดีขึ้น จากต้นทุนการเงินที่ลดลง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง
โดยเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยรวม 50 bps ภายในสิ้นปี 2568 ส่วนงบดุลที่แข็งแกร่ง รองรับการเติบโตในอนาคตได้ และ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง เทียบค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้น จากนโยบายของทรัมป์และเงินเฟ้อหนืด
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ดี เรายังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (first lien seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ มีปัจจัยหนุนจาก
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
2. แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ กนง. ใน 1H68 อีก 25 bps
3. กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และทยอยปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง
4. กองทุนรวม LTF ใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างศึกษาของกระทรวงการคลัง จะช่วยหนุนเม็ดเงินไหลเข้าดัชนีฯ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ เผชิญแรงกดดันจากความกังวลที่สหรัฐฯ จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าไทย เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ติด 15 อันดับแรก และความกังวลด้านธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นไทย เราจึงแนะนำให้ Selective ลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่มีธรรมาภิบาลที่ดี หลีกเลี่ยงหุ้นขนาดกลางและเล็ก
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในระยะสั้น หลัง Fed ยังส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย และความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีนำเข้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ แต่ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกำไรที่ยังเติบโตดี และเป็นวงกว้าง ส่วนหุ้นยุโรป ได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE และจากความหวังการยุติสงครามในยูเครน ที่จะช่วยกดดันต้นทุนพลังงาน แม้หุ้นยุโรปยังเผชิญความเสี่ยงกำแพงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนี ขณะที่ หุ้นญี่ปุ่น ได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินเยน ที่จะช่วยหนุน EPS และการผลักดันการปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่น ที่จะช่วยการเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น
หุ้นสหรัฐฯ
นักลงทุนยังมองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ EPS ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Consensus คาด S&P 500 EPS ปี 2568 และปี 2569 จะ +11% และ +14%YoY ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนว่าตลาดคาดหวังต่อแนวโน้มที่ทรัมป์จะผลักดันแผนลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ และแนวโน้มการผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมถึงจากกระแส AI ในสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินต่อ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Prodictivity และความสามารถในการทำกำไรของ บจ. สหรัฐฯ แม้ 10Y UST Yield ที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ และความไม่แน่นอนด้านนโยบายกีดกันการค้า อาจจำกัดการเพิ่มขึ้นของ P/E ตลาดฯ และเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้น อาจเพิ่มความไม่แน่นอนให้โมเมนตัม EPS ตลาดฯ
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB สู่ Neutral Rate ที่ 2% ขณะที่ Valuation ของดัชนีฯ ที่ถูกกว่าของตลาดสหรัฐฯ ส่วนค่าเงินยูโรที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจส่งผลดีต่อ EPS ดัชนีฯ ที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากนอกยุโรป นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐด้านการทหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่ม defense
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะของเยอรมนี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ ที่มีแนวโน้มชัดเจนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1. ความคาดหวังการผ่านร่างงบใช้จ่ายของปีงบประมาณถัดไป 2. การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่นที่จะหนุน ROE และ P/BV 3. EPS ที่เติบโตดี ตามเงินเยนที่ยังอ่อนค่า และเงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่กลับมา 4. ความคาดหวังการเพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น จากกองทุนบำเหน็จบำนาญ 5. แรงซื้อหุ้นจากรายย่อย ผ่านโครงการ new NISA ขณะที่ ญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบจำกัดจากสงครามการค้า หลังนายกฯ Ishiba สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทรัมป์ โดยยืนยันความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย ยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจาก
1. 10Y UST Yield ที่เพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น
2. ความเสี่ยงการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่
อย่างไรก็ดี ตลาดฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการคลังและการเงินของทางการแต่ละประเทศ แม้ขนาด และความเร็วในการลดดอกเบี้ยอาจจำกัด ตามท่าที Fed ที่ดำเนินนโยบายระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้ เรายังแนะนำให้เน้นลงทุนในตลาดที่ยืดหยุ่น และพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดีย เผชิญแรงกดดันในระยะสั้นจาก
1. ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2568 ลง
2. การเพิ่มขึ้นของ 10Y UST Yield และการอ่อนค่าของเงินรูปี
3. นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสุทธิหุ้นอินเดียต่อเนื่อง
4. Valuation ของตลาดฯ ยังตึงตัว
อย่างไรก็ดี เราคาดว่าตลาดฯ ยังได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของ RBI ในการประชุมฯ ล่าสุด และจากงบประมาณประจำปี FY2568 ที่เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัด จากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ หลังล่าสุดสหรัฐฯ-อินเดียจับมือยกระดับการซื้อขายยุทโธปกรณ์และมุ่งกระชับสัมพันธ์การค้า
หุ้นอินโดนีเซีย
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ได้รับปัจจัยหนุนจาก
1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ FDI ที่เพิ่มขึ้น 33.3%YoY โดย GDP ในช่วง 4Q67 ขยายตัว 5.02%YoY ดีกว่าตลาดคาดที่ 4.98%YoY
2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของปราโบโว ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภค และก่อให้เกิดการจ้างงาน
3. ภาคการบริโภคที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวขึ้น 6.5% ในปี 2568 และ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BI ในปี 2568 อีกราว 50 bps และ 4. Valuation ของดัชนีฯ ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง ผลประกอบการกลุ่มธนาคารที่ออกมาต่ำกว่าคาด รวมทั้งความกังวลต่อนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ส่งผลกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ตลาดฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และจากการทยอยออกมาตรการทางการเงิน การคลัง และตลาดทุน ของทางการจีน โดยให้จับตาการประชุม NPC ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งตลาดและเราคาดว่า ที่ประชุมฯ จะเพิ่มเป้าขาดดุลการคลัง และเพิ่มโควตาการออกพันธบัตรพิเศษ
นอกจากนี้ดัชนีฯ อาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากกระแส AI ในจีน ซึ่งจะช่วยหนุนแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธีม AI แม้ความไม่แน่นอนบนข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนอยู่ก็ตาม
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก
1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงคราม และ การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น
2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง สนับสนุนการถือครองทองคำ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
3. เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง
4. Fund Flow ของ ETF ที่ซื้อสุทธิทองคำต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิราว 18 ตัน ในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและ US Bond Yield ที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดันและทำให้ราคาทองคำผันผวนในระยะสั้น
ภาพ: Wong Yu Liang / Getty Images