- สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นได้โดดเด่น โดยตลาดยังไม่กังวลต่อประเด็นที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากขึ้น หลังผ่านการดีเบตครั้งแรก
- การประชุม Fed และท่าทีของประธาน Fed ระบุว่า เห็นความก้าวหน้าด้านการชะลอตัวของเงินเฟ้อ แม้ว่าจะไม่ระบุชัดเจนถึงช่วงเวลาการลดดอกเบี้ย
- เศรษฐกิจที่ชะลอลงในสหรัฐฯ เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น ทั้งจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจากสถาบัน ISM ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ บ่งชี้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มถูกกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงยาวนานขึ้น รวมถึงตลาดแรงงานที่ชะลอลง
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ปรับประมาณการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed จากเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนกันยายน สอดคล้องกับมุมมองของประธาน Fed
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ หลังมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในสัปดาห์ก่อน (กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2%) ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกายังปรับตัวขึ้นได้โดดเด่น โดยตลาดยังไม่กังวลต่อประเด็นที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากขึ้น หลังผ่านการดีเบตครั้งแรก
นอกจากนั้น รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และท่าทีของประธาน Fed ระบุว่า เห็นความก้าวหน้าด้านการชะลอตัวของเงินเฟ้อ แม้ว่าจะไม่ระบุชัดเจนถึงช่วงเวลาการลดดอกเบี้ย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ยังมีทิศทางชะลอลงทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ตลาดแรงงานเริ่มชะลอลง ทั้งการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน สอดคล้องกับมุมมองคณะกรรมการ Fed หลายท่านเริ่มแสดงความกังวลต่อการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านตลาดหุ้นฝั่ง EM ปรับขึ้นเช่นกัน นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีและไต้หวัน ตามทิศทางของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่จีนบวกได้เล็กน้อย แม้ตัวเลขเศรษฐกิจยังอ่อนแอจากความคาดหวังการประชุม Third Plenum เพื่อกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวในเดือนนี้
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเล็กน้อย ยังยืนเหนือ 1,300 จุดได้เล็กน้อย การเริ่มใช้ Uptick สำหรับธุรกรรม Short Sales ส่งผลให้มูลค่า Short Sales ลดลงกว่า 70% จากค่าเฉลี่ยในช่วง 1H24 อีกทั้งยังพบสัญญาณการทำ Cover Short เกิดขึ้น จากปริมาณการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนลดลง ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง หลังจากปริมาณน้ำมันสำรองสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ลดลงกว่าคาดมาก สะท้อนภาวะอุปทานตึงตัว
อินโนเวสท์ เอกซ์ ปรับคาดการณ์ เชื่อ Fed ลดดอกเบี้ยเดือนกันยายนนี้
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าเศรษฐกิจที่ชะลอลงในสหรัฐฯ เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น ทั้งจาก
1. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจากสถาบัน ISM ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ บ่งชี้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มถูกกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงยาวนานขึ้น ท่ามกลางดัชนีย่อยด้านราคาที่ลดลง
2. ตลาดแรงงานที่ชะลอลง ทั้งตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) ที่แม้ปรับเพิ่มขึ้น แต่มีการปรับลด (Revise down) ในเดือนก่อน และการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ที่ลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าความต้องการแรงงานใหม่เริ่มลดลง กระทบต่อค่าจ้างในระยะต่อไป
3. เงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐฯ ที่ชะลอต่อเนื่อง
“ภาพทั้งหมดทำให้เราปรับประมาณการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed จากเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนกันยายน สอดคล้องกับมุมมองของประธาน Fed”
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เรามองว่ามาตรการภาครัฐยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในปัจจุบัน เนื่องจากการผลักดันเศรษฐกิจผ่านการส่งออกด้วยการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจที่รัฐบาลมองว่าเป็นอนาคต เช่น EV แบตเตอรี่ และเซมิคอนดักเตอร์ นั้นผลักดันด้วยการกดค่าแรงในประเทศเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่อง เห็นได้จาก Caixin Manufacturing PMI
ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ (วัดจาก Official PMI) ยังคงหดตัว นอกจากนั้น ยังรวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่กองทุน 3 แสนล้านหยวนช่วยในการระบายสต็อกบ้านสร้างเสร็จ แต่ไม่มีส่วนช่วยการขายบ้านใหม่ ทำให้ยอดขายบ้านใหม่จึงยังคงตกต่ำ (แม้เริ่มลดลงก็ตาม)
ทั้งนี้ ต้องจับตาการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 (Third Plenum) ที่จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนนี้ ที่เราคาดว่าจะส่งสัญญาณถึงแนวนโยบายรัฐในการสนับสนุนเศรษฐกิจ (เช่น ด้านอสังหา การบริโภค ตลาดทุน และเศรษฐกิจจริง) ผ่านมาตรการการคลังต่อเนื่อง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่คาดจะได้อานิสงส์ Cover Short หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มใช้มาตรการ Uptick ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 เลือก HANA, TOP, BEM, MINT, OSP, BBL, SCGP และ AOT
2. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี เลือก ADVANC, CPALL, BDMS, BBL และ BEM
3. หุ้น Global Play ที่คาดผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่จะขึ้นกับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่แน่นอน เลือก KCE, SCGP, TU และ MINT (ทั้งนี้ KCE และ SCGP แนะนำซื้อเมื่ออ่อนตัว หลังมีแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาอ่อนแอ)
4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมอง SET Index ยังเปราะบางและแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังการเมืองในประเทศยังยืดเยื้อ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียื่นวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 กรกฎาคม และคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 17 กรกฎาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศน่าจะได้รับแรงหนุนจากท่าทีของประธาน Fed ที่อาจส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ทั้งนี้ดัชนี CPI เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ คาดจะชะลอตัวลงเหลือ 3.1%YoY จาก 3.3%YoY ในเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางตัวเลขตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง และตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. ประเด็นทางการเมืองไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีนัดพิจารณาคดีถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้
2. ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ และจีน เดือนมิถุนายน
3. หอการค้าไทยแถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือนมิถุนายน
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: KTB - หุ้น ESG ที่มี Valuation ถูก ให้ปันผลดี
แนะนำ บมจ.ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นธนาคารของรัฐที่มีสินทรัพย์ในงบการเงินรวมมากเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มธนาคาร และมองอยู่ในตำแหน่งดีที่สุดในการคว้าโอกาสปล่อยสินเชื่อภาครัฐ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลติดต่อกันมาแล้ว 22 ปี ด้วย Div. Yield จูงใจอย่างน้อยปีละ 5% และมีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ
- 2Q24 คาดกำไรเติบโต 7%YoY จาก NIM และ Non-NII ที่ดีขึ้น ขณะที่ปี 2024 คาดมีกำไรเติบโต 5%YoY สู่ 3.86 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังมี Upside จาก NIM (โอกาสที่จะคงดอกเบี้ยนโยบาย) และ Credit Cost (จากลดความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ)
- เป็นหุ้นใน SETESG Index ที่น่าสนใจ ซึ่งได้เรตติ้ง ‘AAA’ จึงคาดได้ประโยชน์จากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ปีนี้ที่จะเพิ่มวงเงินเป็น 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี ขณะที่ Valuation ถูก โดยซื้อขายด้วย P/BV ปี 2024F ที่ 0.53x เทียบกับ ROE ที่ 10% และยังให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลดี
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 20 บาท อิงวิธี P/BV 0.7 เท่า และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.97 บาท คิดเป็น Div. Yield ปีนี้ราว 5.5%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
เราเริ่มเห็นท่าทีของ Fed ผ่อนคลายกว่าที่คาดไว้จาก Dot Plot ผ่านสปีชของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed และรายงานการประชุม Fed เดือนมิถุนายน ประกอบกับตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลงตามทิศทางเงินเฟ้อ ทำให้เรามองว่า Fed เริ่มประเมิน Downside ตลาดแรงงานและความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงเงินเฟ้อชะลอตัวลง เราจึงให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ย 2H24 เพิ่มขึ้น ขณะที่ในภาพเศรษฐกิจชะลอระยะสั้น เรายังคงแนะมองกลุ่มสินค้าจำเป็นและเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มการเติบโตและอุปสงค์ที่ดี
สถานการณ์เงินเฟ้อ: ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังกลับสู่แนวโน้มที่ลดลง โดยมาตรวัดเงินเฟ้อที่ Fed ชอบ เพิ่มขึ้นน้อยสุดในรอบ 6 เดือนที่ 0.1% ในเดือนพฤษภาคม
ตลาดแรงงานในเดือนพฤษภาคมชะลอตัวลง: ตำแหน่งงานว่าง การจ้างงาน และการเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นเกินคาด ส่วนอัตราส่วนของตำแหน่งงานว่างต่อคนว่างงาน รวมถึงปริมาณการลาออกอยู่ในระดับต่ำ
สปีชของพาวเวลล์ และรายงานการประชุม Fed เดือนมิถุนายน ออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยผ่อนคลายกว่าที่คาดไว้จาก Dot Plot: คณะกรรมการดูเหมือนจะเคลื่อนเข้าใกล้การผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น แม้ว่ายังไม่ถึงจุดตัดสินใจ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า
1. การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ชะลอตัวลง
2. มีความกังวลว่าการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นหากอุปสงค์อ่อนแอลง
3. เห็นความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อ
4. ยังคงต้องการหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยแบบแน่ชัด
เรามองว่า Fed เริ่มประเมิน Downside จากตลาดแรงงานและความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้อชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้น้ำหนักในการปรับลดดอกเบี้ยมีเพิ่มขึ้นใน 2H24 ซึ่งเราคาด Fed จะปรับลด 2 ครั้งในปีนี้
ขณะที่หากดูภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในระยะสั้น เราแนะมองกลุ่มสินค้าจำเป็นที่ยังคงมีแรงซื้อ ได้แก่ WMT และ COST และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ AMZN, GOOGL, MSFT และ AAPL
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง ข้อพิพาทในช่องแคบไต้หวัน และข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยล่าสุดจีนเริ่มตรวจสอบนโยบายการค้าของ EU ต่อจีน ว่าเข้าข่ายละเมิดข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างประเทศหรือไม่
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
ตลาดแรงงานที่กำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุล แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงต่อ และตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคาด ส่งผลให้ UST Yield ทั้งตัวสั้นและตัวยาวกลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงอีกครั้ง โดยตัวสั้นปรับลดลงแรงกว่าตัวยาว
Real Yield มีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือ เพื่อ Hedge ในกรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด
เราคาดว่า Volatility ของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดย Bond รุ่นตัวยาว (มากกว่า 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนเรื่องเลือกตั้ง และขนาดของ Fiscal Policy หลังเลือกตั้ง Bond ช่วง Mid-Curve (2-4 ปี) มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ที่ได้รับเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
US Treasury & IG
UST Yield ปรับตัวลดลงต่อจากเดือนมิถุนายน หลังตัวเลขจ้างงานอยู่ในแนวโน้มของการลดความร้อนแรงลง และเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนยังต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม Credit Spread ของ IG Bond ไม่ได้ดีดตัวขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเกิดจากซัพพลายของ IG Bond ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดีมานด์ / TGB Yield Curve ทรงตัวต่อเนื่อง Spread ของ IG ยังทรงตัว ด้านอัตราผลตอบแทนยังน่าสนใจ
แนะนำลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond Duration 2-4 ปี เนื่องจาก Fed อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด และผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 4.5-5.5% ยังสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ ที่ 2.6%
High Yield Bond
US HY Yield-to-Worst และ HY Spread ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และซัพพลายของการรีไฟแนนซ์ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2024
สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอ จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
หุ้นกลุ่ม Quality Growth กลับมา Outperform ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจาก Bond Yield ที่ทรงตัวระดับต่ำ
กลุ่มสาธารณูปโภคได้รับประโยชน์จากกระแส AI
ตลาดกลับมาให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนอีกครั้ง เร็วขึ้นจากเดือนธันวาคม
ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปลดต่ำลง หลังผ่านช่วงเลือกตั้งสำคัญ และเริ่มเห็นทิศทางของการจัดตั้งพรรครัฐบาล และแนวทางนโยบายของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยุโรปมากขึ้น เรามองว่า EPS ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี หลังตัวเลขเศรษฐกิจ EU ส่วนใหญ่ยังดีกว่าที่คาดไว้
หุ้นสหรัฐฯ
วัฏจักรของกำไรบริษัทจดทะเบียนกำลังเข้าสู่ช่วงเร่งตัวขึ้น และเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรกระจายตัวสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จากที่เคยกระจุกตัวอยู่ใน IT, Consumer Service และ Consumer Discretionary โดยคาดการณ์ EPS ในปี 2024 อยู่ที่ 243 ดอลลาร์สหรัฐ (+11%YoY) และในปี 2025 อยู่ที่ 278 ดอลลาร์สหรัฐ (+14%YoY) การเร่งตัวของกำไรรายไตรมาส และ Financial Condition ที่ยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย ช่วยประคอง Valuation ของตลาด
คาดการณ์กำไรในครึ่งปีหลังจะเห็นส่วนต่างการเติบโตระหว่างหุ้น Magnificent 7 และหุ้นที่เหลือในตลาดเริ่มหดแคบลง จากฐานที่สูงของ Magnificent 7 และจะเริ่มกดดันการเติบโต YoY ขณะที่กำไรกลุ่มที่เหลืออยู่ในแนวโน้มของการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ
หุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE ที่หนุน Valuation ที่ยังไม่แพง และช่วยหนุน EPS ผ่านต้นทุนการเงินที่ลดลงกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ EPS ยังได้แรงหนุนเพิ่มจากโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ว่าข้อพิพาททางการค้ากับจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝรั่งเศสที่ยังมีอยู่ อาจสร้างความผันผวนและกดดันตลาดโดยรวมอยู่ก็ตาม
หุ้นญี่ปุ่น
เราคาดหุ้นกลุ่ม Value ญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลในญี่ปุ่นที่จะหนุน P/BV และ ROE โดยรวมให้สูงขึ้น นอกจากนี้ กลุ่ม Value ญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากเงินฝืดในญี่ปุ่นที่สิ้นสุดลง และการคุมเข้มทางการเงินของ BOJ โดยเราคาด BOJ มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อในดือนนี้ และเริ่มลดการซื้อ JGB ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
การฟื้นตัวด้านการค้าโลกยังมีแรงส่งให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มเร่งตัวต่อ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ฟื้นตัวได้ดียังคงค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มเทคโนโลยี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มเปลี่ยนทิศทางมาเป็นอ่อนค่า เป็นแรงสนับสนุน Fund Flow ของหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
หุ้นอินเดีย
ความกังวลบนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่านร่างนโยบายต่างๆ และความต่อเนื่องของนโยบายหลัก บรรเทาลง หลังรัฐบาลผสมภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี ไม่ได้สับเปลี่ยนตำแหน่งคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ นโยบายภาคการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอินเดียจะดำเนินต่อไป แต่อาจมีนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนภาคการบริโภคมากขึ้น เราชอบหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่า และมี Valuation ที่ถูกกว่า และได้แรงหนุนจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ฟื้นตัว บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ทำผลงานได้ดีกว่ามากเมื่อปีที่แล้วมีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไร เนื่องจากการประเมินมูลค่าที่สูง
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีได้รับปัจจัยกดดันในระยะสั้นจากค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่า และกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดีจากภาคการบริโภคที่ฟื้นตัว ภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัว และ FDI ที่ไหลเข้าเพิ่ม โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ เนื่องจากอินโดนีเซียมีแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV กอปรกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วง 2H24
ขณะที่ Valuation ยังไม่แพง นอกจากนี้ ในระยะกลางถึงยาวยังได้แรงหนุนจากการเติบโตเชิงโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่
สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาทองคำมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น หลังปรับขึ้นมารวดเร็วบนความกังวลของสงคราม อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ประกอบกับเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลางถึงยาว
ภาพ: Max Zolotukhin / Getty Images