สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยจากภาพของสงครามการค้าที่เริ่มไม่ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น โดยทั้งสหรัฐและจีนเริ่มส่งสัญญาณระดับเพดานภาษีตอบโต้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่มีการชะลอการเรียกเก็บสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ออกไป นอกจากนั้นยังระบุกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเลื่อนเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนฯ ออกไป เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการกลับมาสร้างโรงงานในสหรัฐได้
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามนโยบายตอบโต้กันในรูปแบบการห้ามส่งออกหรือรับมอบจากทั้งสองฝ่าย โดยจีนได้สั่งให้สายการบินของตนงดรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง ขณะที่ทรัมป์ลงนามคำสั่งสอบสวนเพื่อพิจารณาการเก็บภาษีแร่ธาตุสำคัญ และปรับเงื่อนไขการส่งออกชิปไปจีนให้เข้มงวดมากขึ้น
ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 นำอัตราเงินฝากลงมาที่ 2.25% ตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งภายในสิ้นปี เพื่อตอบรับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้า ตรงข้ามกับประธาน Fed ที่ยังให้มุมมองเชิง Hawkish และเตือนว่านโยบายภาษีของทรัมป์อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ตลาดหุ้น EM ฟื้นตัวได้ดีกว่า DM โดย GDP จีน 1Q68 เติบโต 5.4% ดีกว่าคาด แต่ต้องติดตามผลกระทบจากภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ใน 2Q68 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ในทิศทางเดียวกับ EM เอเชีย โดยรัฐบาลเริ่มจัดเตรียมแผนและมีกำหนดการเริ่มเจรจาการค้ากับสหรัฐในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นแรง สงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกออกมาบ้าง รวมถึงความกังวลด้านอุปทานชะงักเพิ่มขึ้นหลังสหรัฐคว่ำบาตรโรงกลั่นจีนที่มีการซื้อน้ำมันจากอิหร่านเพิ่มเติม
จับตา ‘ยุโรป’ เป้าหมายปลายทางส่งออกทั่วโลก
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะแสดงความแข็งแกร่งในไตรมาสแรก แต่สถานการณ์จะเลวร้ายลงตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เนื่องจากผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ โดยข้อมูลการขนส่งสินค้าล่าสุดแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือจีน เช่นเดียวกับการจองตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกระหว่างวันที่ 1-8 เมษายนลดลง 49% และการนำเข้าของสหรัฐลดลง 64% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ เราได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีนในปี 2568 ลงเหลือ 3.6%
โดยเรามองว่า รัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป รวมถึงการ
ลดอัตราดอกเบี้ย การกู้ยืมและใช้จ่ายทางการคลังเพิ่มเติม และการสนับสนุนผู้ส่งออก
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น กำลังผลักดันให้ตลาดยุโรปกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของสินค้าส่งออก เนื่องจากยุโรปและประเทศที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัดส่วนถึง 44% ของ GDP โลกและ 64% ของการค้าโลก
จีนที่กำลังถูกปิดกั้นจากตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเบี่ยงเป้าการส่งออกมูลค่ามหาศาลไปยังยุโรป ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงไทย ก็มองหาโอกาสเดียวกัน ยุโรปจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเปิดรับการไหลบ่าของสินค้าจากเอเชีย หรือจะตั้งกำแพงการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่ายุโรปมีแนวโน้มจะเลือกทางสายกลาง โดยจะเปิดเจรจาการค้าเสรีกับประเทศที่มีขนาดเล็กกว่า อย่างไทย และชาติอาเซียนอื่นๆ ขณะที่อาจใช้มาตรการกีดกันบางส่วนกับจีนเพื่อป้องกันการทุ่มตลาด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่อ่อนไหว เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด
ดังนั้น ประเทศไทยและผู้ส่งออกในภูมิภาคจึงควรเร่งเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ก่อนที่ยุโรปจะตัดสินใจใช้มาตรการปกป้องทางการค้าในวงกว้างเพื่อรับมือกับการไหลบ่าของสินค้าจากเอเชีย
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นที่คาดเป็นเป้าหมาย ThaiESGX สำหรับ SET50 ที่น่าสนใจ ได้แก่ ADVANC BBL BDMS CPALL PTT ส่วนหุ้น SET100 ที่น่าสนใจ ได้แก่ BCH BTG
- หุ้น Undervalued สำหรับลงทุน แนะนำ BJC CPF AP HMPRO OR
- นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกำไร แนะนำ
3.1 หุ้นที่มีรายได้ภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะหากสามารถกำหนดราคาและส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งคาดจะได้ประโยชน์จากการปรับลงของราคาน้ำมันและดอกเบี้ย ได้แก่ BCH CPALL CPAXT GULF MTC OR และ TRUE
3.2 หลีกเลี่ยงกลุ่มที่ได้ผลกระทบทางตรงจากส่งออกไปสหรัฐ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ยาง สินค้าเกษตร เครื่องประดับ และกลุ่มที่ได้ผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ นิคม ท่องเที่ยว ธนาคาร
“มอง SET ยังแกว่งตัวผันผวนและการซื้อขายจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐที่มีต่อ
ประเทศคู่ค้า รวมทั้งยังต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐ
และจีน ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นจะส่งผลกดดันต่อการ
ขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและบรรยากาศการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
ขณะที่ในประเทศมองยังไร้ปัจจัยบวกใหม่และอยู่ระหว่างจับตาการเข้าเจรจาทาง
การค้าของรัฐบาลไทยกับสหรัฐ ซึ่งคาดข้อสรุปอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
สัปดาห์นี้ต้องติดตาม
- ดัชนี PMI ประเทศเศรษฐกิจสำคัญ
- ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งสหรัฐกับไทย หลังรัฐบาลไทยส่งคณะเจรจาไปสหรัฐในสัปดาห์หน้า
- รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จาก Fed และแนวโน้มเศรษฐกิจจากการประชุม Spring Meetings IMF/World Bank 2025
- ยอดส่งออกและนำเข้าของไทยเดือนมีนาคม (คาด 12% จาก 14% เดือนก่อน)
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: ADVANC - ตัวเลือกที่ดีในยามตลาดผันผวน
แนะนำ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC เนื่องจากเหตุผลหลัก
ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในไทย มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของในด้านจำนวนผู้ใช้บริการสูง 45% อีกทั้งยังมีจำนวนคลื่นในมือมากที่สุดในกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพและผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตได้ดีในระยะยาว
- 1Q68 คาดมีกำไรปกติ 9.9 พันลบ. เติบโต 17.7%YoY และ 7.4%QoQ แรงหนุนจากรายได้ให้บริการหลักที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนให้บริการรวมค่าเสื่อมราคาที่ลดลง ส่วนปี 2025 คาดมีกำไรปกติ 3.85 หมื่นลบ. เติบโต 10.5%YoY ซึ่งมี Downside จำกัดจากภาษีการค้าสหรัฐเพราะมีรายได้เกือบ 100% มาจากภายในประเทศ
- มองเป็นหุ้น Defensive ที่มีกำไรเติบโตได้ต่อเนื่อง และคาดเป็นเป้าหมายกองทุนThaiESGX หลังมี SET ESG Ratings ‘AA’ อีกทั้งยังมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 310 บาท อิงวิธี DCF (WACC 6% และอัตราเติบโตระยะยาว 1.5%) ซึ่งมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 8 บาท/หุ้นจากการประมูลคลื่นความถี่ใน 2Q25 ซึ่งจะมีการทบทวนอีกครั้งหลังจากทราบผลการประมูล
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯเริ่มเผยผลประกอบการใน 1Q68 ซึ่งเรามองว่าภาพรวมงบ 1Q68 ของทุกกลุ่มที่ออกมาอาจจะยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบ Tariff และนโยบายภาษีของทรัมป์เต็มที่ ทำให้ในระยะสั้นอาจเห็นหุ้นบางกลุ่มมีการฟื้นตัวได้ แต่อย่างไรก็ดีตั้งแต่ 2Q25 เป็นต้นไป เราเชื่อว่าแนวโน้มผลกระทบจะเริ่มเห็นได้ในผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเรายังคงเน้นตั้งรับและแนะมองกลุ่ม Domestic
ที่มีผลกระทบจาก Tariff ของทรัมป์ที่จำกัด
- กลุ่มธนาคาร (GS WFC C MS BAC): ในภาพรวมเรามองว่า 1) Positive: งบ 1Q68 ดีกว่าคาดหนุนจาก NII ที่เป็นผลมาจากการลดต้นทุน และรายได้จาก Capital market และ M&A ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการตั้งสำรองน้อยกว่าที่คาดชดเชย NIM ที่ลดลงได้ 2) Negative: จุดที่เรามองว่าน่ากังวลคือ NPL, Loan Growth และ NIM ที่อ่อนแอ ประกอบกับแนวโน้มในระยะถัดไปที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยและนโยบายทรัมป์ที่ผันผวน
- กลุ่มเซมิฯ: หากตัดความคาดหวังตลาดออก เรามองว่าภาพรวมงบ 1Q68 ของ TSM และ ASML เติบโตได้โดยมีแรงหนุนจากอุปสงค์ AI เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี 1) งบ 1Q68 เป็นภาพก่อนเกิด Tariff 2) แนวโน้มของกลุ่มเซมิฯมีความไม่แน่นอนสูงมากจากความเสี่ยงนโยบายภาษีกลุ่มเซมิฯที่ทรัมป์ยังคงเล็งเก็บเพิ่ม รวมถึงกฎการควบคุมการส่งออกชิปของสหรัฐฯที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งในภาพรวมมีส่วนทำให้บริษัทเตรียมรับมือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยภาพนี้จะทำให้ผู้บริโภคแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่ม มีความเสี่ยงที่แรงซื้อจะชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อยอดขายของกลุ่มเซมิฯในที่สุด
- กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย: ผลประกอบการ 1Q68 ในภาพรวมของกลุ่ม เช่น LVMH Hermès และ Moncler ยังมีแรงกดดันจากแรงซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะจากจีนที่เป็นตลาดหลัก ขณะที่แนวโน้มมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผลจาก Tariff ของทรัมป์รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าและการดำเนินนโยบายของทรัมป์เช่นกัน
- กลุ่มการแพทย์: ภาพงบ ABT และกลุ่มร้านขายยาที่ออกมาในสัปดาห์ก่อน (Walgreens Boots Alliance) สะท้อนให้เห็นได้ว่ากลุ่ม Healthcare ยังมีการเติบโตที่ดีใน 1Q68 ซึ่งสวนทางกับภาพ UNH ที่มีแรงกดดันเฉพาะตัวอย่างต้นทุนทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการปรับประมาณการกำไร FY25 ลง อย่างไรก็ดีแนวโน้มในระยะถัดไปเราเชื่อว่า Healthcare Service อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่มีผลกระทบจาก Tariff ที่จำกัดกว่ากลุ่ม Pharma ที่ยังคงมีความเสี่ยงจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้ายาของทรัมป์
เรายังคงเน้นตั้งรับและแนะมองกลุ่ม Domestic ที่มีผลกระทบจาก Tariff ของทรัมป์ที่จำกัด โดย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แนะนำ Verizon, CVS, Pfizer, UnitedHealth, Costco, Pepsico, Colgate Palmolive , ตลาดหุ้นยุโรปแนะนำ Siemens, Carrefour, Metro, Deutsche Telekom, BNP Paribas, Enel, Iberdrola, ตลาดหุ้นจีนแนะนำ Xiaomi, JD.com, Hong Kong Exchange, Trip.com, China Mobile, Tencent, Alibaba
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จาก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และจากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าที่ยังดำเนินต่อ โดยทรัมป์อาจขู่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอีกหลายรายการ เช่น เวชภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ และ ทองแดงรวมทั้ง การควบคุมการส่งออกชิปของ NIVDIA ไปจีน แม้ทรัมป์จะแสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ และ EU จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้ภายในระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
แม้แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดของ Fed สาขา Atlanta ชี้ว่า GDP สหรัฐฯ ใน 1Q68 จะ -2.2% ซึ่งจะชะลอการเพิ่มขึ้นของ UST Yield แต่เราคาดว่า UST yield ตัวยาว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้จากการขาดดุลการคลังที่แย่ลง และความเสี่ยงเงินเฟ้อ ขณะที่ ล่าสุด เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย โดยจะรอความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับจุดยืนด้านนโยบาย ดังนั้นเราจึงยังคงแนะนำลงทุน Bond ตัวสั้นถึงกลางที่มีความเสี่ยง Duration ต่ำ
U.S. Treasury & IG
UST Yield ตัวยาว ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น หลังทรัมป์ได้ก่อให้เกิดสงครามการค้าโลกระลอกใหม่ และสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ สอดรับกับที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขเงินเฟ้อระยะใกล้ ทั้งจากการสำรวจและจากการอ้างอิงในตลาด ต่างกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แนะนำลงทุน UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุน Duration ระยะสั้นถึงกลาง ที่ยังให้ Yield สูง และช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุน
High Yield Bond
การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังผลักดันสงครามการค้ารอบใหม่ที่เป็นวงกว้าง อาจเพิ่มความเสี่ยงขาลงมากยิ่งขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้ US HY spread มีแนวโน้มกว้างขึ้น ประกอบกับ UST Yield ตัวยาว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อ และปัญหาหนี้สาธารณะที่สูง จะจำกัด upside ของ US HY แม้ว่า default rate และการ leverage (Net debt to EBITDA) ของ US HY ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้ง หุ้นกู้ US HY ที่จะครบกำหนดในปี 2568 ไม่สูงมากก็ตาม
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
REITs เป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงระยะยาว และเป็นการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs *สำหรับนักลงทุน Ultra High Networth เท่านั้น
เรามองว่า การลงทุนใน US REITs จะช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุน ท่ามกลางสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ด้วยภาพรวมปัจจัยพื้นฐานที่ดี ได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง โดย US REIT มี Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93% และ กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม US REITs อาจได้รับปัจจัยกดดันในระยะสั้น จากมาตรการภาษีของทรัมป์ ซึ่งกดดันภาค Industrial และ Retail กอปรกับ 10 UST Yield ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
Private Credit
เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตได้ แม้โมเมนตัมการเติบโตเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เรายังเน้นการลงทุนใน Private credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (first lien seniority)
หุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนในระยะสั้น จาก
- มาตรการ Reciprocal Tariffs จะส่งผลกดดันภาพรวมเศรษฐกิจ
- ความกังวลบนประเด็นด้านความเชื่อมั่นในตลาดทุน
- EPS ดัชนีฯ ในปี 2568 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลงต่อ จากการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ในระยะกลาง-ยาว ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของกนง.ในปีนี้ อีก 3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยหนุน EPS ของหุ้นขนาดใหญ่ ท่ามกลาง Valuation ที่ไม่แพง ทั้งนี้ จับตาผลการเจรจาภาษีไทย-สหรัฐฯ ในวันที่ 23 เมษายนนี้ ซึ่งหากออกมาคืบหน้าที่ดี จะช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไทย หลังมีการปรับฐานไปมากแล้ว
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มผันผวนต่อในระยะสั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ที่เป็นวงกว้าง ซึ่งจะกดดันแนวโน้ม EPS และ Valuation ของตลาดฯ ในส่วนหุ้นยุโรป ก็ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariff เช่นกัน ซึ่งเราคาดว่า EU จะตอบโต้กลับอย่างระมัดระวัง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB และแนวโน้มการใช้จ่ายด้านการทหารกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเยอรมนี
ด้านหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของค่าจ้าง และความคืบหน้าการปฏิรูปบรรษัทภิบาล แม้ความไม่แน่นอนของผลกระทบจากสงครามการค้าและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงขาลงต่อ EPS หุ้นญี่ปุ่นก็ตาม
หุ้นสหรัฐฯ
เรามอง ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า มีแนวโน้มทำให้ Consensus ปรับลดคาดการณ์ EPS ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทำให้ตลาดฯ มีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการประกาศงบของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน 1Q68 ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดฯ จะขึ้นอยู่กับ ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าต่างๆ และการปรับท่าทีทางการค้าของทรัมป์
นอกจากนี้ เรามอง ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ยังไม่มากนัก โดย Consensus คาดโอกาสที่จะเกิดขึ้นใน 1 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 30% และ กำไรของ บจ. สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ และกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยได้อานิสงส์จากกระแส AI และการผ่อนคลายกฎระเบียบ ควบคู่กับ แผนลดภาษีเงินได้
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรป มีแนวโน้มเผชิญความผันผวนในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยในการประชุมล่าสุด ECB ได้แสดงถึงความกังวลบนเศรษฐกิจในภายภาคหน้า ที่อาจส่งผลให้ earnings consensus สำหรับ FY2568 ถูกปรับประมาณการลงเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี วัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB สู่ระดับ 2% ภายในปี 2568 และ แผนเพิ่มการขาดดุลการคลัง เพื่อเพิ่มงบป้องกันประเทศ และการจัดตั้งกองทุน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอด 10 ปี ของรัฐบาลเยอรมนี มีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และ sentiment การลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคาร ผ่านการเติบโตของสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
หุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และจากการที่บริษัทญี่ปุ่นให้ guidance ที่ระมัดระวังขึ้น
อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง-ยาว ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก
- การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่นที่ยังดำเนินต่อ
- เงินเฟ้อญี่ปุ่นที่กลับมา สอดคล้องกับการเติบโตของค่าจ้าง
- ญี่ปุ่นมีแนวโน้มเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไป โดยล่าสุด ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
แม้ทรัมป์เลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้เต็มรูปแบบออกไปอีก 90 วัน แต่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่ยังมีอยู่ ผ่านการค้าและการลงทุนที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี เราคาดจะเริ่มเห็นหลายประเทศรีบเร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งแม้ อาจต้องใช้เวลาในการเจรจา แต่คาดว่าจะมีความคืบหน้า รวมทั้ง ยังคาดว่า แต่ละประเทศ จะดำเนินนโยบายกระตุ้นต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า แม้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายที่มาก อาจทำได้อย่างจำกัด
หุ้นอินเดีย
ความผันผวนบนฯ ดัชนียังมีแนวโน้มคงอยู่ จากความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จนกว่าจะเริ่มเห็นการเจรจาที่คืบหน้า ขณะที่ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นบริษัทในกลุ่ม Consumer Discretionary, Financials, IT และ Materials มีการปรับลดประมาณการณ์รายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มได้รับปัจจัยสนับสนุนระยะยาว จาก
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่ง
- แนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของ RBI บนประมาณการเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 4% ใน 4Q2568
- การพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของ GDP อินเดีย
หุ้นจีน
แม้ระยะสั้น ตลาดหุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มผันผวน และจะเผชิญแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังน่ากังวล และจากการกีดกันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ต่อจีน หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการจำกัดการส่งออกชิป AI รุ่นพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับตลาดจีน
อย่างไรก็ดี เราคาดว่าทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ เช่น เร่งใช้จ่ายทางการคลัง รวมทั้ง ลด RRR และลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน จีนยังพยายามหาพันธมิตรทางการค้า เห็นได้จากการที่สีจิ้นผิงเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ในช่วงที่ผ่านมา
สินค้าโภคภัณฑ์
ทองคำมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจาก
- ความกังวลความไม่แน่นอนจากสงครามทางการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังมีอยู่
- ความกังวลต่อหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง สนับสนุนการถือครองทองคำ ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ โดย PBoC ได้ซื้อทองคำในเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
- ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนได้ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง
- Fund Flow ของ ETF ที่ซื้อสุทธิทองคำ 4 เดือนติดต่อกัน โดยเดือนมีนาคมซื้อสุทธิ 92 ตัน อย่างไรก็ตาม 10Y UST Yield ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และแรงขายทำกำไร อาจส่งผลกดดันราคาทองคำ
ภาพ: Sergio Mendoza Hochmann / Getty Images, Create image / Getty Images