THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

Trade War ลากยาว แต่ไทยอาจได้ประโยชน์จาก ‘การเบี่ยงเบนทางการค้า’

... • 21 พ.ค. 2024

HIGHLIGHTS

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นหลายแห่งทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างสัปดาห์ จากความคาดหวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ลดลงและต่ำกว่าคาด
  • ทางการจีนประกาศเริ่มขายพันธบัตรระยะยาวอายุ 20-50 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นให้ GDP เพิ่มขึ้น 1% และเริ่มมีแนวคิดกระตุ้นภาคอสังหาเพิ่มเติม 
  • มาตรการภาษีจีนของประธานาธิบดีไบเดน เป็นการหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก โดยสินค้าที่รัฐบาลวางแผนจะเก็บภาษีเป็นสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ ต่างจากทรัมป์ที่กล่าวในการหาเสียงว่า พร้อมจะขึ้นภาษีกับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากจีนเป็น 60%
  • ในภาพใหญ่ มาตรการนี้จะนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้า (Retaliation) จากจีน รวมถึงนำไปสู่การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ซึ่งไทยอาจได้ประโยชน์บ้าง แต่ต้องจับตารายละเอียดต่อไป

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง หลายตลาดทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างสัปดาห์ ความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของ Fed เพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ลดลงและต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ ลดลงต่ำกว่า 4.4% ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนที่ได้ปัจจัยบวกจากตัวเลขการจ้างงานที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง หนุนสินทรัพย์เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้น ทองคำ อย่างไรก็ตาม ท่าทีของกรรมการ Fed ยังออกมาในโทนเดิมคือยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลดดอกเบี้ย 

 

ในส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่น เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ฝั่งตลาด EM ปรับตัวขึ้นเช่นกัน นำโดยตลาดฮ่องกง ได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขผลประกอบการของจีนออกมาดีกว่าที่คาด การออกมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยทางการจีนเริ่มประกาศขายพันธบัตรระยะยาวอายุ 20-50 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 1% จากกรณีฐาน และเริ่มมีแนวคิดกระตุ้นภาคอสังหาเพิ่มเติม โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าไปซื้ออสังหาที่ยังขายไม่ได้ เพื่อไปปล่อยเช่าต่อในราคาต่ำ 

 

ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นเล็กน้อย หลังตัวเลขผลประกอบการ 1Q24 ที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่ดีกว่าคาด แสดงถึงการฟื้นตัว YoY ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ราคาน้ำมันทรงตัว แม้ตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด แต่ IEA ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ลง

 

 Trade War ระหว่างจีน-สหรัฐฯ อาจทำให้ไทย ‘ได้ประโยชน์’

 

ในมุมมองของเรา มาตรการภาษีจีนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั้น เป็นการหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออาจไม่มากนัก เนื่องจากวงเงินของสินค้าที่จะขึ้นภาษีอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มสินค้าที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศที่มูลค่ารวม 2.3 แสนล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่รัฐบาลไบเดนวางแผนจะเก็บภาษีส่วนใหญ่เป็นสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ เช่น รถ EV แบตเตอรี่ และโซลาร์เซลล์ เป็นหลัก ต่างจากทรัมป์ที่กล่าวในการหาเสียงว่า พร้อมจะขึ้นภาษีกับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากจีนเป็น 60% นอกจากนั้น การปรับขึ้นภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้นมากนัก 

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่มาตรการนี้จะนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้า (Retaliation) จากจีน รวมถึงนำไปสู่การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ซึ่งไทยอาจได้ประโยชน์บ้าง แต่ต้องจับตารายละเอียดต่อไป

 

ในประเด็นเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ลดลงเกินคาดนั้น เป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางที่ลดลงเป็นหลัก ซึ่งทำให้องค์ประกอบเงินเฟ้อด้านต้นทุนการผลิต (Cost-push) ลดลงจาก 0.97% (p.p.) สู่ 0.88% ขณะที่องค์ประกอบเงินเฟ้อจากค่าจ้างและอื่นๆ (Demand-pull) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (จาก 0.41% สู่ 0.45%) ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านทรงตัว (2.03%) ซึ่งทำให้โอกาสในการลดดอกเบี้ยมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรากังวลว่าแม้ราคาน้ำมันในปัจจุบันจะลดลงจากในเดือนเมษายน แต่ก็ยังอยู่สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนมากขึ้น (ปัจจุบันน้ำมันดิบห่างกันถึงกว่า 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงยังมีอยู่ในระยะต่อไป

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้น Big Cap. ซึ่งกำไร 1Q24 ออกมาดีกว่าตลาดคาด และ 2Q24 มองกำไรจะยังสามารถเติบโตทั้ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังไม่แพง เลือก MINT, ADVANC, TU, BEM
  2. สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกำไรหุ้น Mid-Small Cap. ซึ่งคาดกำไร 2Q24 จะมีแนวโน้มเติบโตดีทั้ง YoY และ QoQ เลือก KCE, BTG, OSP, HMPRO, TILDOR
  3. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET จะยังแกว่งตัวเคลื่อนไหวในกรอบ หลังขาดปัจจัยชี้นำและสิ้นสุดเทศกาลประกาศผลประกอบการ 1Q24 ของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ขณะที่ประเด็นในประเทศ

ติดตามตัวเลข GDP 1Q24 ซึ่งคาดจะมีอัตราการเติบโตต่ำเพียง 0-1%YoY แต่อาจมีแรงเก็งกำไรในหุ้นขนาดใหญ่จากความคาดหวังข่าวความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุน LTF หลัง FETCO นัดสมาชิก 7 องค์กรหารือกันในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้

นอกจากนั้นตัวเลขเศรษฐกิจในต่างประเทศเองก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. GDP 1Q24 ของไทย ตลาดคาด +2.0%YoY เร่งขึ้นจากที่ขยายตัว 1.7% (เราคาด 0-1.0%) 
  2. รายงานการประชุม FOMC และสุนทรพจน์ของประธาน Fed
  3. S&P Flash Composite PMI ของสหรัฐฯ และยุโรป โดยสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอลง แต่สูงกว่า 50 จุด ขณะที่ยุโรปจะสูงขึ้นจากภาคบริการเป็นหลัก
  4. PMI ภาคการผลิตและบริการของจีน โดยตลาดจับตาว่าจะฟื้นตัวเกิน 50 จุดต่อเนื่องหรือไม่
  5. การส่งออก-นำเข้าเดือนพฤษภาคมของจีนว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องหรือไม่ (เดือนเมษายนอยู่ที่ 1.5% และ 8.4%)

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPF - ผลประกอบการจะฟื้นตัวต่อเนื่อง 

 

แนะนำ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจสุกร และธุรกิจกุ้งแบบครบวงจรชั้นนำของโลก ซึ่งมีฐานผลิตและตลาดในหลายประเทศ รวมทั้งมีสินค้าจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการทำกำไรที่สูง
  • 1Q24 พลิกมีกำไรปกติเป็นไตรมาสแรก หลังขาดทุนต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ขณะที่ 2Q24 คาดกำไรปกติเติบโต QoQ และฟื้นตัวจากขาดทุนใน 2Q23 แรงหนุนจากราคาสัตว์บกที่ดีขึ้นทั้งในไทยและเวียดนาม ท่ามกลางต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง
  • ช่วงสั้นมองราคาหุ้นจะได้ผลบวกจากต้นทุนอาหารสัตว์ (ข้าวโพด, กากถั่วเหลือง) ที่ปรับลง หลังคลายกังวลอุปทานขาดแคลนจากยูเครนเริ่มส่งออกธัญพืชสู่ตลาดโลกได้ ขณะที่ราคาสัตว์บกยังเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในไทย จีน และเวียดนาม รวมทั้งตลาดส่งออกที่ปรับดีขึ้น
  • เราประเมินราคาเป้าหมายหุ้นละ 26 บาท อิงวิธี SOTP ประกอบด้วย 2 บาทจากธุรกิจของ CPF (PER 12 เท่าจากธุรกิจอาหารสัตว์, PER 10 เท่าจากธุรกิจฟาร์ม และ PER 14 เท่าจากธุรกิจอาหาร) และ 24 บาทจากถือหุ้นใน CPALL และ CPAXT

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

บริษัทจีนอย่าง Baidu, JD.com, Alibaba, Tencent รวมถึง SE เผยงบ 1Q24 ออกมาดีกว่าคาดในภาพรวม หลังมีแรงหนุนจากความคาดหวังที่ต่ำ, การส่งเสริมการขายในกลุ่มคอมเมิร์ซ และการปรับแผนธุรกิจ ซึ่งทำให้การเติบโตในระยะสั้นยังคงดี จึงแนะเก็งกำไร โดยเราเลือก Tencent และ JD.com ที่มีแนวโน้มดีสุด แต่อย่างไรก็ดี ระยะกลาง-ยาวแนะระมัดระวัง หลังการฟื้นตัวยังเปราะบางจากภาพการแข่งขันสูงและเศรษฐกิจที่ฟื้นช้า

 

  • Baidu เผยงบดีกว่าคาดในภาพรวม หนุนจาก Baidu Core อย่างไรก็ดี การเติบโตถือว่าช้าที่สุดในรอบปี หลังรายได้จาก AI มาค่อนข้างช้า เทียบกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ผลจากแรงกดดันจากคู่แข่งหลายราย เช่น Qwen จาก Alibaba
  • JD.com เผยงบ 1Q24 ดีกว่าคาดทั้งรายได้และกำไร หลังมีแรงหนุนการเร่งรายการส่งเสริมการขายและลดราคา นอกจากนี้มีการเร่งขายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้งบออกมาดีกว่าคู่แข่งอย่าง Alibaba
  • Alibaba เผยรายได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด หนุนจากการมุ่งเน้นไปที่สินค้าราคาประหยัด แต่อย่างไรก็ดี การลดราคาสินค้ากลับทำให้กำไรลดลงมากกว่าคาด 86%YoY ขณะที่ใน FY25 มองคอมเมิร์ซในต่างประเทศขาดทุนกว้างขึ้น สวนทางคลาวด์ที่โต 2H25
  • Tencent เผยงบดีกว่าคาด หนุนจากการเติบโตของรายได้โฆษณาและธุรกิจเกมที่ฟื้นตัว รวมถึงการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ เห็นผลจากความนิยมของวิดีโอแพลตฟอร์ม Short Video สไตล์ TikTok ของ WeChat
  • Sea Limited เผยงบดีเกินคาด หนุนจากธุรกิจเกมดิจิทัลที่กำไรพลิกกลับมาเป็นบวก และธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ฟื้นตัว ผลจากการปรับปรุงต้นทุนและปรับแผนธุรกิจ นอกจากนี้ Sea คาดว่าจะทำกำไรได้ต่อเนื่องใน FY24

 

ภาพรวมเรามองว่าหุ้นจีนยังคงมีแรงกดดันจากภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้า รวมถึงภาพตลาดที่ความเชื่อมั่นน้อย และการแข่งขันที่สูงในหลายอุตสาหกรรม เช่น คลาวด์ คอมเมิร์ซ อย่างไรก็ดี ด้วยภาพ 1) ความคาดหวังที่ค่อนข้างต่ำ 2) การส่งเสริมการขาย

โดยเฉพาะในกลุ่มคอมเมิร์ซอย่าง JD, SE, BABA 3) การปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ ซึ่งภาพเหล่านี้มีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตได้ในระยะสั้น ทำให้เรามองว่ายังคงสามารถเก็งกำไรจากภาพงบที่ออกมาดีได้ 

 

โดยในกลุ่มนี้เลือก Tencent และ JD.com ที่มีแนวโน้มดีสุด แต่อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง-ยาว เรามองการฟื้นตัวยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยง ทำให้แนะระมัดระวัง พร้อมกับแนะติดตามแนวโน้มธุรกิจเป็นรายไตรมาสไป

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง 

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มอยู่สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในลักษณะ Soft Landing นอกจากนี้ สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยที่ล่าสุด คณะทำงานของไบเดนได้ประกาศแผนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ


ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

ตัวเลขตลาดแรงงานในเดือนพฤษภาคมที่เริ่มอ่อนลง ยอดค้าปลีกที่เติบโตต่ำกว่าตลาดคาด และเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ต่ำกว่าตลาดคาด ทำให้ตลาดให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed เพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้ง จากที่ให้เพียง 1 ครั้งในเดือนเมษายน / 10yr UST Yield ปรับลดลง 30bps MTD สู่ระดับ 4.38% เราคาดว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) มีแนวโน้มทรงตัว ก่อนที่จะปรับลดลงใน 2H24 / Real Yield ในปัจจุบันมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือ เพื่อ Hedge ในกรณีที่เกิด Growth Shock (เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด)

 

US Treasury & IG

 

UST Yield ปรับตัวลดลงต่อในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัวลดลง เงินเฟ้อต่ำกว่าคาด และตัวเลขค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาด โดยตัวยาวปรับลงมากกว่าตัวสั้น (Curve Flattening) / 10Y TGB ทรงตัว 2.75-2.80% ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 / Spread ของ IG สัปดาห์นี้ยังทรงตัวตามคาด หลังมีการชะลอตัวของ Supply ใหม่ ด้านอัตราผลตอบแทนยังน่าสนใจ

 

High Yield Bond

 

US Yield-to-Worst ปรับตัวลดลง หลังปรับขึ้นแรงในเดือนเมษายน จากการปรับตัวรับความคาดหวังในการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่ถูกเลื่อนออกไป และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่แทรกเข้ามาช่วงกลางเดือน อย่างไรก็ตาม HY Spreads กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และ Supply ของการ Refinance ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2024

 

สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REIT

 

ในสภาวะที่ Spread ของ Public Credit (อย่างเช่น IG และ HY) ค่อนข้างแคบ การเพิ่ม REIT จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงิน (Income Return) ให้กับ Portfolio ได้ในระยะกลาง-ยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม ช่วยลดความผันผวน เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนจาก 1) 10yr UST Yield ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน จากความคาดหวังเชิงบวกของนักลงทุนต่อการลดดอกเบี้ยของ Fed หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเมษายนออกมาต่ำกว่าคาด 2) US REITs มี Valuation ที่ไม่แพง โดยมี P/BV ที่บริเวณ 2.1x ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่บริเวณ 2.3x และ 3) ภาพรวม US REITs มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (FFO) ที่แข็งแกร่ง และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2022

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

ตลาดมีการ Re-pricing Valuation อีกครั้ง หลัง 10yr UST Yield ปรับลดลงค่อนข้างมากในเดือนพฤษภาคม (30bps MTD จาก 4.7% สู่ระดับ 4.4%) / Fed ผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการชะลอการทำ QT / ภาพรวมของการประกาศกำไรใน 1Q24 ของทั้งสหรัฐฯ และยุโรปออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ค่อนข้างมาก ขณะที่จำนวนบริษัทที่ให้ Positive Guidance ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และกำไรของตลาดหุ้นในยุโรปกลับมาเป็นบวก QoQ ครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส / นโยบายการเงินของ BOJ ถึงแม้ตึงตัวขึ้น แต่ยังน้อยกว่าตลาดคาด การกลับมาของเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสนับสนุนการเติบโตของกำไรในระยะกลาง-ยาว ถึงแม้ GDP ใน 1Q24 อาจหดตัวมากกว่าคาด

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

กำไร 1Q24 ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศแล้วมากกว่า 90% พบว่า 75% มีกำไรที่ดีกว่าที่คาด และเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรกระจายตัวสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จากที่เคยกระจุกตัวอยู่ใน IT, Consumer Service และ Consumer Discretionary / ความคาดหวังของ Disinflationary รวมถึงการปรับลดลงของ Bond Yield รวมถึงความคาดหวังการเร่งตัวของกำไรรายไตรมาส จะเป็นตัวประคอง Valuation ที่ยืนอยู่สูงของตลาดสหรัฐฯ 

 

หุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นยุโรปมี Valuation ที่ไม่แพง และยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB ขณะที่ EPS มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น โดยกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง มีงบดุลที่ดี (Leverage ที่ต่ำ และกระแสเงินสดที่สูง) และมีแนวโน้มประกาศเพิ่มการซื้อหุ้นคืนกับการจ่ายปันผลมากขึ้น มีแนวโน้ม Outperform ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวม

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

แม้ว่า EPS ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นยังเสี่ยงถูกปรับประมาณการลง หลัง GDP ใน 1Q24 หดตัวกว่าที่คาด แต่เราคาดกลุ่ม Value ญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลของ TSE ที่จะหนุนการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผล นอกจากนี้ กลุ่ม Financials (อยู่กลุ่ม Value) มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการทยอยลดการผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเริ่มครอบคลุมในส่วนนโยบายการคลังและนโยบายตลาดทุนมากขึ้น จากที่เคยจำกัดอยู่ในส่วนของนโยบายการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ กอปรกับ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เร่งให้เกิด ‘Risk on’ Sentiment / ปัจจัยเฉพาะตัวที่เป็นบวกในหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ (เช่น ปัจจัยเชิงโครงสร้างในอินเดียและอินโดนีเซีย) รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และภาคการเงินของทางการจีน จะช่วยสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้ดี นอกจากนี้ เราคาดว่าความเสี่ยงด้าน Fund Flow ไหลออกจะลดลงใน 2H24 หลัง Fed ระบุเป็นไปได้ยากที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ

 

หุ้นอินเดีย

 

ปัจจัยผลักดันการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในระยะยาว ได้แก่ 1) รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 2) โครงสร้างประชากรที่มีชนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว 3) สัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงงบดุลของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีช่องว่างให้สามารถระดมทุนได้อีกมาก หลายอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนกำลังเข้าสู่ช่วง New S-Curve เช่น ภาคการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจาก PLI Scheme หรือกลุ่มอุตสาหกรรม Internet และ Technology Service ที่ได้ประโยชน์จากอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่สูง ต้นทุนการใช้งาน Data ที่ต่ำ อัตราการใช้ Digital Payment ที่สูง รวมไปถึงระบบขนส่งและโครงสร้างทาง Digital ที่พัฒนาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ และก่อให้เกิดธุรกิจที่เป็น Innovation 

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ราคาทองคำมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น หลังปรับขึ้นมารวดเร็วบนความกังวลของสงคราม อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ประกอบกับเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น สนับสนุนราคาทองคำให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 21 พ.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories