- เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะยังไม่ถดถอยในปลายปีนี้ แต่ในปีหน้าจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ
- ความผันผวนทางการเงินที่จะมีมากขึ้นจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว จะส่งแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ ครัวเรือน และเศรษฐกิจ
- มีความเป็นไปได้สูงที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะฉุดรั้งภาคธุรกิจ เช่น ภาคการเงินและภาคอสังหา
- ตลาดการเงินในไตรมาส 3 ปีนี้ จะเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น จากนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคตเพิ่มขึ้น
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) -0.9% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) +2.5% โดยตลาด DM คลายความกังวลเรื่องการควบคุมเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และการขึ้นดอกเบี้ยสะท้อนอยู่ในราคาไปแล้ว ในขณะที่ฝั่ง EM เริ่มมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้มีความเสี่ยงที่แนวโน้มการเติบโตจะถูกปรับลดลง
หุ้นกลุ่ม Growth (+2.8%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Value (+1.5%) หุ้นขนาดใหญ่ (+2.3%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (+0.9%) กลุ่มเชิงรับ เช่น Healthcare, Utilities, Staples ปรับเพิ่มขึ้น 3-5% จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้น 4% จากการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ในขณะที่กลุ่มเชิงวัฏจักรอย่างพลังงานและการเงินปรับตัวลดลง
ตลาดการเงินปรับตัวสะท้อนความเสี่ยง Recession ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยชี้นำจากความกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่มากขึ้นจากการส่งสัญญาณของประธาน Fed ว่าจะให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ โดยจะทำให้เงินเฟ้อลดลงไปสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ ขณะที่มองว่าการทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ชะลอตัวลง หรือ Soft Landing มีความท้าทายมากขึ้น และยอมรับว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
รวมถึงการที่สำนักวิจัยรวมถึงการสำรวจของสื่อต่างๆ บ่งชี้ว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมีมากขึ้น เช่น WSJ ให้โอกาสที่จะเกิดใน 2 ปีข้างหน้า ที่ 44% Fed สาขานิวยอร์ก ให้โอกาสที่ 80% ส่วน Citigroup ให้โอกาสที่ 50% เป็นต้น
ขณะที่ราคาบ้านมือหนึ่งและมือสองในสหรัฐฯ ที่ยังขึ้นต่อเนื่องไปทำจุดสูงสุดใหม่ แม้ตัวเลขภาคอสังหาอื่นๆ เริ่มลดลง เช่น ยอดขายและยอดจดทะเบียนก่อสร้างบ้านใหม่ ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านปรับสูงขึ้นใกล้ 6%
และเงินเฟ้ออังกฤษสูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ 9.1% ทำให้เป็นไปได้ว่าธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่า เอเชียเสี่ยงเผชิญวิกฤตอาหารมากขึ้น ขณะที่ยุโรปและออสเตรเลียเสี่ยงต่อวิกฤตภาคอสังหา
อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังได้รับปัจจัยบวกอยู่บ้างจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในจีนที่ลดลงเป็นลำดับ ทำให้จีนสามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น และปัจจัยจากกรณีที่ประธานรัฐมนตรีว่าการคลังยุโรประบุว่า ยุโรปจะไม่เผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะอีกเนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามผลักดันกับสภาคองเกรสเพื่อผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกการจ่ายภาษีน้ำมันชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงประมาณ 20 เซนต์ต่อแกลลอน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีหน้าจะ ‘ชะลอตัว’ อย่างมีนัยสำคัญ
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังไม่ถดถอยในปลายปีนี้ จากปัจจัยพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่ง แต่ในปีหน้า เศรษฐกิจน่าจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความผันผวนทางการเงินที่จะมีมากขึ้นจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว ซึ่งจะกดดันต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน รวมถึงทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อภาคเศรษฐกิจที่อ่อนไหวกับดอกเบี้ย เช่น ภาคอสังหา
อย่างไรก็ตาม เรากังวลว่าต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจเปราะบางกว่าสหรัฐฯ และเผชิญเงินเฟ้อสูงใกล้เคียงสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ ECB ยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย โดย SCBS มองว่าเป็นไปได้สูงที่ ECB ต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะตกต่ำมากขึ้น เช่น ภาคการเงินและภาคอสังหา
นอกจากนั้นเรามองว่าเศรษฐกิจการเงินโลกยังมีจุดเปราะบางอีกหลายจุดที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เช่น
1. ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมาก และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินในเอเชียได้หากจีนลดค่าเงินหยวนเพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันด้านการส่งออก
2. Credit Spread ที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นหากดอกเบี้ยมีทิศทางสูงขึ้น
3. เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากเงินทุนไหลออกจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย
ตลาดการเงินไตรมาส 3 ปีนี้ยังรับแรงกดดันจาก Fed
SCBS ประเมินว่า ตลาดการเงินในไตรมาสที่ 3/65 จะเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นหลังจาก Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินตึงตัวเต็มที่เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคตมีเพิ่มขึ้นจากเดิม สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดพันธบัตรระยะยาวดูน่าสนใจขึ้นในประเด็นของการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่พันธบัตรระยะสั้นจะผันผวนตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ด้านสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่ ตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ยังคงมีความผันผวนสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังแนะนำให้ติดตามความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นหลังจากค่าเงินหลายประเทศอ่อนค่ามากเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการลงทุนในสภาวะตลาดแบบนี้นักลงทุนยังคงต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า
1. การประชุมผู้นำกลุ่ม G7 และการประชุม NATO ซึ่งมีประเด็นความเสี่ยงของรัสเซียเป็นสำคัญ
2. ท่าทีของประธานาธิบดีจีนและผู้นำชุดใหม่ของฮ่องกง
3. การฟื้นตัวของภาคการผลิตจีนหลังจากคลายล็อกดาวน์
4. เงินเฟ้อของยูโรโซนยังเร่งตัวขึ้น +8.3%YoY ซึ่งจะส่งผลกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย
5. ผลประกอบการของกลุ่ม Retailers อย่าง Nike, H&M, Bed Bath & Beyond ที่จะได้เห็นผลกระทบจากเงินเฟ้อ
“ความกังวลของเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงด้านการเติบโตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินตึงตัวยาวนานมากขึ้น ดังนั้นทำให้ภาพการลงทุนยังมีความผันผวน ในภาพรวมยังต้องเน้นที่หุ้นที่มีคุณภาพดีและมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนแม้ว่าจะมีภาพความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงเงินปันผลสูงอาจจะมีส่วนที่ป้องกันด้าน Downside ได้ในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกันเรามองว่าในไตรมาสที่ 3 อาจจะต้องมองหาจุดกลับตัวของเงินเฟ้อและการเติบโต รวมถึงห่วงโซ่อุปทานซึ่งอาจจะทำให้ตลาดมีการฟื้นตัวได้ในช่วงสั้น”
หุ้นไทยยังมีความผันผวนสูง แนะเฟ้นหุ้นกำไรโตดี
SCBS มีมุมมองต่อการลงทุนยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยระยะสั้นตลาดมีความผันผวนสูง จึงต้องเลือกลงทุนมากขึ้น โดยแนะนำเน้นหุ้นปลอดภัยที่มีคุณภาพดีและ/หรือมีปัจจัยบวกเฉพาะ ประกอบด้วย
1. หุ้นที่คาดโมเมนตัมกำไรเติบโตดี รวมทั้งยังได้อานิสงส์จากตลาดส่งออกดีขึ้น (โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง) และค่าเงินบาทอ่อนตัวลง เลือก OSP, CBG, CPF, GFPT, SAT, VNG รวมทั้งการฟื้นตัวของตลาดผู้ป่วยตะวันออกกลางอย่าง BH
2. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์จากหลายประเทศยกเลิกข้อจำกัดเข้าประเทศ และไทยมีการออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่มเติม เลือก AOT, AWC, ERW
3. หุ้นโรงกลั่น ซึ่งคาดว่าราคาหุ้นปรับตัวลงแรง สะท้อนความกังวลเรื่องรัฐบาลขอความร่วมมือนำกำไรส่วนเกินส่งเข้ากองทุนน้ำมันไปแล้ว เลือก BCP
4. ช่วงสั้นเพิ่มความระมัดระวังหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อน เช่น กลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศสูงอย่างกลุ่มโรงไฟฟ้า
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CBG - ดูดีขึ้นทั้งยอดขายและต้นทุน
SCBS เลือกแนะนำ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 20.7% ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์อื่นภายใต้แบรนด์คาราบาว เช่น น้ำดื่ม กาแฟ เกลือแร่ และ Functional Drink (Woody C+ Lock)
- แรงกดดันจากต้นทุนอะลูมิเนียมที่มีต่อต้นทุนสินค้าเริ่มลดลง โดย 2Q22 ราคาอะลูมิเนียมลดลง 26%QTD สู่ US$+/-2,500/ตัน ต่ำกว่าจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ที่ US$3,849/ตัน ส่งผลให้คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยใน 2H22 ขณะที่ 2Q22 อัตรากำไรขั้นต้นจะใกล้เคียง 1Q22
- 2Q22 คาดรายได้ฟื้นตัวทำจุดสูงสุดใหม่ QoQ และเติบโตเล็กน้อยเป็นตัวเลขหลักเดียว YoY จากรายได้รับจ้างจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกและยอดขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังในไทยที่ทำนิวไฮ ขณะที่ยอดขายจาก CLMV และจีนจะเติบโตสูง QoQ แต่ลดลงเล็กน้อย YoY จากฐานสูง
- 2H22 คาดผลการดำเนินงานดีขึ้นจากแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ (Energy Drink Plus, Woody C+ Lock รสชาติใหม่, เครื่องดื่มที่มีส่วนผสม CBD) ซึ่งจะหนุนรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้คาดปริมาณขายในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นและได้อานิสงส์จากต้นทุนอะลูมิเนียมที่ลดลง
- เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 118 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 ที่หุ้นละ 2.05 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราว 2.0%
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางที่ต่างๆ เช่น Fed, BoE และ ECB เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากภาวะอุปทานขาดแคลนและวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 2Q22 ที่ยังมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากการที่ Fed มีแนวโน้มเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ EPS ของ บจ. อย่างไรก็ดี การที่ บจ. สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีงบดุลที่แข็งแกร่งและมีเงินสดที่สูง จะช่วยหนุนแนวโน้มการซื้อหุ้นคืน การจ่ายเงินปันผลมากขึ้น และจะช่วยประคองตลาดฯ ขณะที่ตลาดฯ ได้ปรับลดลงค่อนข้างมากจากต้นปี (Valuation ของตลาดฯ เริ่มลดความตึงตัวลง) จะเป็นการช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงได้
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
SCBS มีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าจะมี Valuation ที่ถูก แต่เรามองเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากที่ ECB มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวที่มากขึ้น เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับปัญหา Fragmentation และเศรษฐกิจยุโรปเผชิญความเสี่ยงชะลอตัวหรือถดถอยในบางประเทศในช่วง 2H22 ขณะที่เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงต่อ ส่งผลให้กำไรของ บจ. มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง รวมไปถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ จะฉุดภาพการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปต่อไป
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีจากสถานการณ์ซัพพลายเชนที่ดีขึ้น รวมไปถึงการเปิดประเทศจะช่วยให้การบริโภคในประเทศนั้นฟื้นตัวได้ในช่วง 2H22 แต่อย่างไรก็ตาม เรามองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปแล้ว นอกจากนี้ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงมามาก ในขณะที่เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมา ส่งผลให้ Real Wage นั้นปรับตัวลดลง จะเป็นปัจจัยที่ถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการของ บจ. ได้
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
Valuation ดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่มแพลตฟอร์มที่ส่วนใหญ่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (ยกเว้นกลุ่ม Live Streaming ที่อาจเผชิญกฎระเบียบเพิ่มเติมอยู่) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงการ Delisting หุ้นจีน ADRs กว่า 150 แห่งที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการที่ผลประกอบการ บจ. กลุ่มแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มชะลอลงทำจุดต่ำสุดช่วง 2Q22 จะยังกดดัน Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ตลาดหุ้นจีน A-Share โดยดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มต้องเร่งออกพันธบัตรพิเศษให้ครบเต็มจำนวนโควตาทั้งปีภายในสิ้นเดือนนี้ และจะต้องนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายลงทุนให้หมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเมืองหลัก และความคาดหวังบนประเด็นการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วนของสหรัฐฯ แม้ว่าการที่จีนยังคงนโยบาย Zero-Covid อาจจะกดดัน Sentiment ของนักลงทุนอยู่ก็ตาม
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
หุ้นไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของเงินเฟ้อสูงที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อได้ ด้านการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ที่คาดว่าอยู่ที่ 2 ครั้ง ในปีนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก แต่อาจเพิ่มความกังวลต่อผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางและบริษัทที่มีหนี้สูง และเพิ่ม Downside Risk ต่อประมาณการกำไรใน 3Q22 อย่างไรก็ดี Valuation ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม โดยตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวภายในประเทศในช่วงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มในตลาดการเงินและตลาดอสังหาของทางการ แต่เรามองว่าความกังวลดังกล่าวอาจจำกัด Upside ของตลาดหุ้นเวียดนามเพียงช่วงสั้นเท่านั้น ขณะที่ Downside ตลาดฯ เริ่มมีจำกัด ตามแรงขายจาก Margin Call/Forced Sell ที่เริ่มบรรเทา และตาม Valuation ของตลาดฯ ที่ปรับลดลงมามาก ดังนั้นเราจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนามตามที่ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ธนาคารกลางเวียดนามที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ และผลประกอบการ บจ. ปีนี้ที่ยังขยายตัวโดดเด่น
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ รวมไปถึงการฟื้นตัวของความต้องการทองคำในฐานะเครื่องประดับที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ ที่ยังปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่มีทิศทางที่แรงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 5
SCBS ยังคงมุมมอง Positive ในกลุ่มอาหาร/น้ำมัน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากภาวะอุปทานที่ยังคงตึงตัว โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อส่งผลให้อุปทานสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพดลดลง ในขณะที่ตลาดน้ำมันนั้นจะถูกกดดันจากการที่ประเทศในกลุ่ม EU ได้มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซีย แม้ว่าทาง OPEC+ จะมีการปรับเพิ่มโควตาการผลิต แต่ก็ยังเจอกับปัญหากำลังการผลิตสำรองที่ทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามเป้า ในขณะที่อุปสงค์เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ในจีน
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว โดย REITs ประเทศพัฒนาแล้วได้รับปัจจัยบวกจากการคลี่คลายลงของการระบาดโควิด และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศของหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเร่งตัวของอัตราดอกเบี้ยทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป อันเกิดจากการคุมเข้มนโยบายการเงินของทั้ง Fed และ ECB ขณะที่ตลาดกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น จะเป็นข้อจำกัดต่อแนวโน้มการเติบโตของ Total Return ในกลุ่ม REITs
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ได้รับความเสี่ยงสำคัญมาจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อผลตอบแทนของกลุ่ม REITs ที่มีรายได้ค่าเช่าค่อนข้างคงที่ ทำให้ Total Return ของ Asia REITs มีข้อจำกัดในการขยายตัว แม้ว่าหลายประเทศจะได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว เช่น สิงคโปร์ที่ยกเลิกมาตรการคุมโควิดเกือบทั้งหมด และไทยที่ออกหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของชาวต่างชาติและชาวไทย