- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจดีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่งและสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์มาก
- หุ้นมากกว่า 60% ในดัชนี S&P 500 รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่า 80.6% มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
- ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวเช่นกัน หลังอ่อนตัวไปใกล้จุดต่ำเดิมในสัปดาห์ก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
- แต่อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะเป็นไปอย่างจำกัด เพราะยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและไร้ปัจจัยภายในสนับสนุน
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจดีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่งและสูงกว่าตลาดที่คาดการณ์มาก รวมไปถึงตัวเลข ISM PMI ที่ฟื้นตัวทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ นอกจากนั้นในส่วนของผลประกอบการยังเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมากกว่า 60% ในดัชนี S&P 500 รายงานผลประกอบการแล้ว และออกมาดีกว่า 80.6% มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผลประกอบการรายไตรมาสดีกว่าคาด 67% ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี หลังรัฐบาลหันมาดูแลตลาดทุนผ่านการเข้าซื้อ ETF, ควบคุมการ Short Sell มากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ตลาดมองว่ามีประสบการณ์ในตลาดหุ้นจีนเป็นอย่างดี
ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวเช่นกัน หลังอ่อนตัวไปใกล้จุดต่ำเดิมในสัปดาห์ก่อน การฟื้นตัวของตัวเลขนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีน ยังเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพลังงานที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง รวมไปถึงหุ้นในกลุ่มค้าปลีกและโรงไฟฟ้าที่เริ่มฟื้นตัวหลังราคาปรับลดลงแรงในปีที่ผ่านมา
ค่าจ้างปรับลดลง สะท้อนการบริโภคชะลอตัว
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเกินคาด ทั้งภาคการจ้างงาน ภาคการผลิต และภาคบริการ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณเปราะบางจากค่าจ้างที่ปรับลดลงแรงและต่ำกว่าเงินเฟ้อ บ่งชี้ถึงการบริโภคที่อาจมีแนวโน้มลดลงในระยะถัดไป
ขณะที่ความเสี่ยงของภาคธนาคารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตจากสถาบันต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น โดยล่าสุด New York Community Bancorp เริ่มเสี่ยงล้มละลายมากขึ้น เป็นผลมาจากดอกเบี้ย Mismatch และการที่ธนาคารถือครองสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จำนวนมาก
ในประเด็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณ Hawkish Stance แม้จะไม่เป็นเอกฉันท์ เป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต้องการส่งสัญญาณว่ากำลังพิจารณาว่าจะลดดอกเบี้ย เพราะหากส่งสัญญาณเช่นนั้นอาจทำให้สาธารณชนมองว่ายินยอมต่อแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ ธปท. เสียความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคาดจะทำให้ ธปท. มีช่องทางมากขึ้นที่จะลดดอกเบี้ยได้ โดยเรามองว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยในเดือนเมษายนและมิถุนายน
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. ระยะสั้น (3-4 เดือน) ที่ต้องการลงทุนในหุ้นปันผลคุณภาพดีในเทศกาลจ่ายเงินปันผล โดยคาดว่าจะให้ Dividend Yield ปี 2566 (หลังหักจ่ายระหว่างกาลแล้ว) เกิน 5% เลือก AP, BCP และ KTB ขณะที่นักลงทุนระยะยาวที่ต้องการลงทุนในหุ้นปันผลคุณภาพดี เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะให้ Dividend Yield ปี 2567 เกิน 5% เลือก AH, AP, BCP, KTB, PTT และ TTB
2. นักลงทุนที่กังวลตลาดผันผวนเชิงลบแนะนำให้ลงทุนในหุ้นตั้งรับ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความผันผวนต่ำ โดยจะสามารถชนะตลาดได้ เลือก ADVANC, AOT, BDMS และ TISCO
3. นักลงทุนระยะยาวแนะนำให้ลงทุนสะสมแบบ DCA เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL, BDMS, BEM, CPALL, PTT และ SCC
“มองว่าตลาดหุ้นไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ในขณะที่ไม่มีปัจจัยภายในสนับสนุน ท่ามกลางแรงเทขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะเป็นไปอย่างจำกัด โดยมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจลดลงน้อยกว่าที่คาดเป็นปัจจัยกดดันในช่วงสั้น”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ตลาดคาด 3.4% เท่าจากเดือนก่อน
2. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ตลาดคาด 5.8% เร่งขึ้นจาก 5.6% จากเดือนก่อน
3. 4Q23GDP ประกาศครั้งที่ 2 ของยูโรโซน ตลาดคาด +0.1%QoQ ปรับขึ้นจากครั้งแรกที่ 0.0%
4. 4Q23GDP ของญี่ปุ่น ตลาดคาด +0.3%QoQ จาก 3Q23ที่ -0.7%
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BEM - กำไรโตดีและสูงกว่าช่วงเกิดโควิด
เราแนะนำ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำการให้บริการทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งมีกระแสเงินสดเข้าอย่างต่อเนื่องและฐานะการเงินแข็งแกร่ง
- ปี 2023 คาดว่ามีกำไรปกติ 3.5 พันล้านบาท เติบโต 45%YoY และโตอีก 27%YoY ในปี 2024 ตามปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งปีนี้มี Upside Risk จากการลุ้น 3 โครงการใหญ่ได้ข้อสรุป ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก, Double Deck ในส่วนทางด่วน และประมูลงานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
- ราคาหุ้น BEM ปรับลง 7.6%YTD จนซื้อ-ขายที่ PER 2024F ต่ำกว่า -2S.D. และยังซื้อ-ขายต่ำกว่าราคาหุ้นช่วงเกิดโควิดรอบ 2 (ตุลาคม 2020) อยู่ 8.7% ซึ่งมองยังไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่กลับมาแข็งแกร่งและสูงกว่าช่วงที่เกิดโควิดแล้ว
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 9.00 บาท (อิงวิธี SOTP) ทั้งนี้ ยังไม่รวม Upside อีก 1.5 บาทต่อหุ้นจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเข้ามา ขณะที่คาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.14 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปีละ 1.9%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
- งบของกลุ่มเปิดเมืองออกมาดีกว่าที่คาด แต่แนวโน้มการฟื้นตัวในระยะถัดไปมีภาพที่ต่างกัน โดยกลุ่มร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง CMG, YUM และ MCD ในภาพรวมออกมาดีกว่าคาด แต่จะเริ่มเห็นการปรับขึ้นราคาเป็นไปได้อย่างจำกัดแล้วหลังเงินเฟ้อเริ่มมีภาพชะลอตัวลง ทำให้ได้ประโยชน์จากภาพนี้เริ่มน้อยลง นอกจากนี้เห็นได้ว่า
1. หากใครมีสัดส่วนสาขาในสหรัฐฯ การฟื้นตัวก็จะเป็นไปได้ดีมากกว่าอย่าง CMG
2. ในทางตรงกันข้าม สาขาในต่างประเทศยังคงมีแรงกดดัน โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ที่มีการบอยคอตต์ เช่น MCD และในจีนที่มีภาพการแข่งขันด้านราคาที่สูงและการฟื้นตัวที่ช้า สะท้อนผ่าน YUMC
- ขณะที่กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่าง Disney (DIS) และ Estee Lauder (EL) ดีกว่าที่คาด หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์การเดินทางที่เพิ่มขึ้น จนทำให้รายได้จากสวนสนุกของ DIS เติบโต และสินค้าคงคลังของแบรนด์ EL เริ่มกลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้มีภาพการควบคุมต้นทุนที่เหมือนกัน แต่ DIS เริ่มเห็นผลสะท้อนจากมาร์จิ้นที่ขยายตัวดี ส่วน EL อยู่ในช่วงปรับโครงสร้าง จึงทำให้งบยังหดตัว
- ด้วยภาพนี้จึงทำให้
1. เราชอบ DIS ที่มีภาพการฟื้นตัวที่ดีกว่าหนุนจากกลุ่มสวนสนุกและ Streaming ที่จะเริ่มมีกำไร
2. ขณะที่ EL ยังคงสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดแบรนด์ให้กับคู่แข่ง รวมถึงมีความเสี่ยงในตลาดหลักอย่างจีนที่ฟื้นตัวช้า ทำให้การเติบโตของบริษัทไม่ค่อยชัดเจน เราจึงแนะนำให้มอง L’Oreal ที่มีการเติบโตที่ชัดเจนและส่วนแบ่งการตลาดที่ดีกว่า
3. เรามองว่าการเติบโตของกลุ่มร้านอาหารยังไม่ชัดเจนในหลายด้าน ประกอบกับยังมีแรงกดดันที่ทำให้รายได้ชะลอตัวลง ทำให้เรามองว่ากลุ่มนี้ไม่เหมาะกับการเล่นเพื่อคาดหวังการเติบโต
อย่างไรก็ดี ยังคงมีลักษณะที่เป็นหุ้นเชิงรับที่ดี ทำให้เรามองว่าหุ้นประเภทนี้อาจเหมาะกับช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจมากกว่าในช่วงนี้ที่มองกลุ่มอื่นฟื้นตัวดีกว่า
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง และความหวัง Soft Landing ในสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น หลัง ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ ล่าสุดสูงกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่สภาพคล่องรวมถึงเงินสดมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังมีอยู่
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง และถ้อยแถลงของประธาน Fed ในช่วงที่ผ่านมาที่ยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย ทำให้ตลาดฯ ปรับลดความคาดหวังที่ Fed จะลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคมลง 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น / TGB: กนง. ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5 ต่อ 2 เสียง เงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ และการขยายตัวเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจเร็วกว่าคาด TGB Yield ปรับลง 13 จุด หลังการประชุมฯ
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
พันธบัตรของธนาคารภูมิภาคได้รับแรงกดดันจาก NYCB ที่ประกาศผลประกอบการที่อ่อนแอจากการขาดทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (CRE) Spread ขยายตัว 10-20 จุด แต่ Spread ทั้งภาพรวมของตลาดยังคงหดตัวต่อ โดยICE BofA US Corporate Index Option-Adjusted Spread อยู่ที่ระดับ 1% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี
ICE BofA US High Yield Index OAS Spread ยังปรับตัวลงต่อกว่า 43 จุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับ 3.43% ยังค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี โดยเรามองว่า กิจกรรมการ Refinance ที่จะเริ่มเร่งตัวขึ้นใน 2H2567 มีโอกาสที่ Supply Bond ของ HY เพิ่มขึ้น และ Spread ปรับเพิ่มขึ้นได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
Valuation ของดัชนีฯ ตึงตัวขึ้น หลังดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2566 เราเริ่มเห็น
- ตลาดปรับลดความคาดหวังที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือนมีนาคมลง
- กำไรและคาดการณ์กำไรที่ฉีกห่างออกจากกันมากขึ้น ระหว่างหุ้น 7 นางฟ้า และหุ้น S&P 493 ขณะเดียวกันกำไรและคาดการณ์กำไรภายในกลุ่ม 7 นางฟ้าเริ่มไม่ได้ไปในทางเดียวกัน โดยเริ่มเห็นความต่างกันระหว่างกลุ่มที่ทำได้ดีและกลุ่มที่ต่ำกว่าคาดชัดเจนขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
Consensus คาดว่า STOXX600 EPS ใน 4Q2566 และใน 1Q2567 จะ -9% และ -10% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ด้วย Valuation ดัชนีฯ ที่ไม่แพง ประกอบกับแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ของ ECB จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของ P/E แม้ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในยุโรปและในสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนแก่ดัชนีฯ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 4
บจ.ญี่ปุ่น มีแนวโน้มออกมาตรการหนุน ROE และ P/BV ตามการผลักดันการปฏิรูปธรรมาภิบาลจากทาง TSE ขณะที่รายย่อยมีแนวโน้มทยอยลงทุนหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้นตามการเริ่ม New NISA อย่างไรก็ตาม ผลการประชุม BOJ ล่าสุดที่ค่อนข้าง Hawkish จะหนุนแนวโน้มการทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยนในช่วงที่เหลือของปีนี้
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีน หลัง CPI เดือนมกราคมยังอยู่ในแดนลบ ขณะที่ทางการทยอยออกมาตรการหนุนเสถียรภาพตลาดหุ้นจีน เช่น การคุมการ Short Sell หุ้น และการเข้าซื้อกอง ETF ของ Sovereign Wealth Fund แม้ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จะยังกดดันดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่ P/E ดัชนีฯ ยังไม่แพง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาจีนที่ยังมีอยู่ หลังยอดขายผู้พัฒนาอสังหา 100 อันดับแรกล่าสุดอยู่ที่ -34.2%YoY และการกีดกันเทคโนโลยีที่ต่างๆ กับจีนจะยังสร้างความผันผวน และจำกัดการเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ เผชิญความผันผวนจาก Sentiment เชิงลบจากเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ประกอบกับการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% นอกจากนี้ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังไปในทางลบ อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นในเดือนมกราคม และการเข้าสู่ฤดูกาลวันหยุดปีใหม่จีนเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งผลบวกต่อภาคท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมองเชิงบวกจาก
1. การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
2. แนวโน้ม NPL ที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
3. FDI ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
4. ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดยังมีโอกาสที่จะผันผวนได้สูงจากสถานการณ์โอกาสผิดนัดชำระหนี้ในตลาดหุ้นกู้ ที่จะมียอดกำหนดชำระที่เร่งตัวใน 2Q2567 และ 4Q2567 ดังนั้นเราจึงแนะนำการลงทุนกองทุนที่มีกลยุทธ์ Bottom-Up และรักษาสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตภายใต้เงื่อนไขตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น Frontier Market ที่ผันผวนได้สูง
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
นักลงทุนจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2567) ว่าจะจบภายในรอบเดียวหรือต้องมีรอบสองในเดือนมิถุนายน (กรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงเกิน 50%) โดยโพลล่าสุดยังไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าจะมีพรรคใดรวมเสียงได้เกิน 50% หรือไม่ โดย ปราโบโว ซูเบียนโต ได้คะแนนนิยมล่าสุดที่ 47%, อานีส บาสวีดัน และ กันจาร์ ปราโนโว ได้ 23.2% และ 21.7% ตามลำดับ ทำให้ดัชนีหุ้นฯ และค่าเงิน IDR อาจมีความผันผวนในช่วงเลือกตั้ง
ตลาดหุ้นอินเดีย
ความน่าสนใจระดับ 4
มูลค่าที่แพงของดัชนีฯ สะท้อนคุณภาพของแนวโน้มกำไรที่ยังแข็งแกร่ง แต่ด้วยโครงสร้างของ Fund Flow ที่มาจากเงินลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก ทำให้ผลตอบแทนกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เราชอบกองทุนที่มีสัดส่วนของหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากคาดว่า Fund Flow ต่างชาติมีโอกาสกลับมา หลังเห็นความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเห็น Bond Yield กลับปรับเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าที่คาดและตัวเลขแรงงานที่แข็งแกร่ง เราคาดว่าจะเห็น Physical Demands ที่ยังคงแข็งแกร่งของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่สะสมทองคำเพื่อใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
Market Sentiment ของ Trader น้ำมันอ่อนแอลงหลัง
1. ราคาน้ำมันทรงตัวในกรอบแคบอย่างยาวนาน
2. Spare Capacity ที่ยังอยู่ระดับสูง
3. ตลาดน้ำมันยังเป็น Net Surplus (Supply > Demand) ในปัจจุบันจากการปรับลดการผลิตของ OPEC น้อยกว่าที่ให้ Guideline ไว้
4. อุปสงค์น้ำมันในอินเดียแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังไม่พอที่จะชดเชยอุปสงค์ที่เติบโตชะลอตัวลงในจีน
5. เห็นสัญญาณลดกำลังการกลั่นในโรงกลั่นของจีน
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
อัตราพื้นที่ว่าง (Vacancy Rate) ของอสังหาริมทรัพย์ประเภท Office ทำจุดสูงสุดใหม่ และประเด็นเกี่ยวกับ Commercial Real Estate (CRE) กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลัง NYCB ประกาศงบที่แย่กว่าที่คาดการณ์ อันเป็นผลของมูลค่าที่ลดลงของสินเชื่อในพอร์ต CRE เรามองว่า การปรับลดมูลค่าของกลุ่ม CRE (Impairment) จะยังมีต่ออีกสักพักใหญ่ ด้าน Valuation เมื่อพิจารณาจาก P/BV อาจดูน่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ในส่วน Dividend Yield Spread ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
EM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังเพิ่มขึ้นแรงจาก Bond Yield ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมี Valuation และเงินปันผลที่อยู่ในระดับน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อีกทั้งสภาพคล่องของ REITs ไทย ที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการกระจุกตัวของสินทรัพย์ที่ไปลงทุน คู่สัญญา และเจ้าของเดิมที่ขายทรัพย์สินเข้ากอง (Sponsor) ที่ค่อนข้างสูง
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority); มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุด และมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่
ภาพ: Virojt Changyencham / Getty Image