THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
เศรษฐกิจไทย GDP
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

เศรษฐกิจไทย ‘ไร้สมดุลรุนแรง’ GDP ถูกหั่นต่อเนื่อง

... • 27 พ.ย. 2023

HIGHLIGHTS

  •  สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวดีขึ้น หลังสัญญาณเศรษฐกิจชะลอลงชัดเจน โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และต่ำกว่าตลาดคาด 
  • รายงานประชุมคณะกรรมนโยบายการเงินชี้ FOMC ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก หากภารกิจคุมเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด จากการหดตัวภาคการผลิต ทำให้สินค้าคงคลังหดตัวลงมาก
  • หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อลดลงได้ยาก (Sticky) อาจทำให้ Fed จำเป็นต้องคงดอกเบี้ย ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะ Stagflation อย่างอ่อนๆ ได้
  • เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำที่ 1.5% นั้น บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าเกิดความไม่สมดุลอย่างรุนแรงระหว่างภาคการผลิตและภาคการใช้จ่าย และได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.5% ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยหลักดังนี้

1. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 5.4% ต่อเดือน ในเดือนตุลาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 4% ในเดือนกันยายน แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ -3% ต่อเดือน ผลจากการลดลงของคำสั่งซื้อเครื่องบิน ขณะที่หากเทียบรายปี เริ่มหดตัวแรงขึ้นเช่นกัน โดยคำสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ไม่รวมการขนส่ง หดตัว -1.4% ต่อเดือน

2. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ปรับตัวลงสู่ระดับ 61.3 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และต่ำกว่าตลาดคาด โดยกังวลการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และสงครามในตะวันออกกลาง

3. OPEC+ เลื่อนการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันออกไปเป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน จากเดิมวันที่ 25-26 พฤศจิกายน เนื่องจากซาอุดีอาระเบียไม่พอใจต่อการที่สมาชิกหลายรายละเมิดข้อตกลงในการผลิตน้ำมัน ด้านรายงานประชุมคณะกรรมนโยบายการเงินชี้ FOMC ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก หากภารกิจคุมเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้า

4. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตือนถึงสัญญาณขั้นต้นของความเสี่ยงภาคธนาคารของยุโรป ตามที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดย ECB ได้ให้ภาคธนาคารเพิ่มการตั้งสำรอง เพื่อที่จะรับมือหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และคาดด้วยว่ากำไรของภาคธนาคาร จะถูกกระทบจากปริมาณการปล่อยกู้ที่ลดลง และต้นทุนการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น

5. รัฐบาลอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสบรรลุข้อตกลงหยุดยิง และพักรบกันชั่วคราวเป็นเวลา 4 วัน หลังรัฐบาลกาตาร์และอียิปต์เป็นตัวกลางเจรจา โดยกลุ่มฮามาสตกลงจะปล่อยตัวประกันที่เป็นผู้หญิงและเด็ก 50 คน ที่ถูกควบคุมตัวไว้ในฉนวนกาซา ขณะที่ฝ่ายอิสราเอลตกลงจะปล่อยชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็กจำนวน 150 คน ที่คุมขังอยู่ในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอิสราเอล เผยการปล่อยตัวประกัน 50 คนตามข้อตกลงพักรบชั่วคราวระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะไม่เกิดขึ้นก่อนวันศุกร์ (1 ธันวาคม)

6. ทางการจีนเตรียมแผนที่จะให้ Soft Loan ช่วยเหลือบริษัทอสังหาที่ประสบสภาพคล่อง โดย Country Garden Holdings Co., Ltd. และ Sino-Ocean Group ถูกรวมอยู่ในร่างรายชื่อบริษัท 50 บริษัทที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว

7. ปัญหา Shadow Bank ของจีนรุนแรงขึ้น หลังบริษัท Zhongzhi ที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เตือนถึงการขาดสภาพคล่อง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% (EM +1.2%, DM +0.8%) โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลจีนออกมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงสภาพคล่อง และกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความเสี่ยงภาคอสังหาบรรเทาลงในระยะสั้น และตลาดยังคงปรับความคาดหวังในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางลดลง ท่ามกลางความกังวลด้านกำลังซื้อของสหรัฐฯ ผ่านผลประกอบการ Best Buy และ Lowe’s และความกังวลเศรษฐกิจยุโรปหลังจากตัวเลข PMI ออกมาสะท้อนความอ่อนแอมากขึ้น

 

หุ้นกลุ่ม Growth (+1.2%) ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกลุ่ม Value (+0.4%) หุ้นขนาดใหญ่ (+0.9%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นขนาดเล็ก (+0.3%) โดยกลุ่มเชิงรับอย่างกลุ่ม ICT และ Healthcare ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5-2% มองว่าเป็นเรื่องของการฟื้นตัวหลังปรับตัวลดลงแรง กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% ตามตัวเลขส่งออกเกาหลีที่ยังสะท้อนการฟื้นตัว ส่วนกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงตามภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะลดลงใน 2024 กลุ่มพลังงานแกว่งตัวในกรอบแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยง Stagflation 

 

เรามองภาพว่าปัจจุบัน Fed ถึงจุดสิ้นสุดของการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลงเนื่องจากยังกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อ (เห็นได้จาก Fed Minutes) ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรในเอเชียลดลงด้วยเช่นกัน 

 

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงมากขึ้น โดยตัวเลขล่าสุดได้แก่คำสั่งซื้อสินค้าคงทนที่หดตัวมากกว่า 5.4% โดยคำสั่งซื้อสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องบิน เริ่มลดลง ขณะที่สินค้าทุนปกติยังคงอยู่ระดับต่ำต่อเนื่อง 

 

ส่วนค่าเงินดอลลาร์เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินในเอเชียรวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้การลงทุนในตลาดเอเชียเริ่มน่าสนใจขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อลดลงได้ยาก (Sticky) อาจทำให้ Fed จำเป็นต้องคงดอกเบี้ย ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะ Stagflation อย่างอ่อนๆ ได้ 

 

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำที่ 1.5% นั้น เรามองว่าเกิดความไม่สมดุลอย่างรุนแรงระหว่างภาคการผลิตและภาคการใช้จ่าย โดยภาคการผลิตหดตัวมาก โดยเฉพาะภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคการส่งออกและบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้บ้าง ทำให้สินค้าคงคลังหดตัวแรงมาก โดยหากพิจารณาเป็นองค์ประกอบของการขยายตัวของ GDP แล้ว หดตัว -7.1% 

 

โดยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ บ่งชี้ว่าผู้ส่งออกไม่ผลิตสินค้าใหม่ แต่เร่งระบายสต๊อกเป็นหลัก และสะท้อนสู่การนำเข้าสินค้าที่หดตัวรุนแรงที่ -11.8% ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย (+0.2%) ทำให้ส่งออกสุทธิเป็นบวกรุนแรงในส่วนภาคการผลิต 

 

เราเห็น Momentum ที่ชะลอลงในเกือบทุกภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ผลจากภาวะเอลนีโญ และการ Destocking ของผู้ผลิต ทั้งนี้ ด้วย Momentum เศรษฐกิจที่ชะลอรุนแรงขึ้น ทำให้เราปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.5% ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้น Big Cap. (SET50) ที่คาดเป็นเป้าหมายการลงทุนจากแผนจัดตั้งกองทุน TESG เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระยะยาว ซึ่งเราได้คัดเลือกหุ้นที่อยู่ในดัชนี SETESG ที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ ดังนี้ 1) ได้ ESG Rating AAA หรือ AA และ 2) ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงกว่า SET YTD เลือก SCGP, OR, CPALL, BEM, GULF, CRC และ HMPRO

 

2. หุ้น Big Cap. (SET50) ที่คาดเป็นเป้าหมายการลงทุนจากแผนจัดตั้งกองทุน TESG เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระยะยาว ซึ่งคัดเลือกหุ้นที่อยู่ในดัชนี SETESG ที่ได้ ESG Rating AAA และราคาหุ้นปรับขึ้นดีกว่า SET YTD อีกทั้งผลการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง และคาดให้ Div. Yield มากกว่า 5% ต่อปี เลือก PTT และ KTB

 

3. ช่วงสั้น แนะนำระมัดระวังหุ้นที่คาดได้รับผลกระทบอย่างมีนัยจากแผนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล ซึ่งจะมีการประชุม ครม. ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ได้แก่ กลุ่มขนส่งพัสดุ (KEX), กลุ่มอาหาร (CPF, ZEN, GFPT, TU และ AU), กลุ่มอสังหา (LPN, PSH, SPALI, SIRI, QH และ AP) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (HANA, KCE) ขณะที่ระยะกลางแนะนำระมัดระวังหุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภาคเกษตรลดลง ได้แก่ กลุ่มสินเชื่อ (MTC, SAWAD), กลุ่มยานยนต์ (SAT, STANLY), กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF, GFPT และ BTG)

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

1. มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนตุลาคม โดยเราคาดที่ 3.0% จากเดือนก่อนที่ 2.1%

2. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ตลาดและ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 2.5%

3. GDP ไตรมาส 3/23 ประกาศครั้งที่ 2 ของสหรัฐฯ ตลาดคาดทรงตัวที่ 4.9% QoQ SAAR เท่ากับประมาณการครั้งแรก

4. ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (Core PCE) โดยตลาดคาดที่ 3.5% จากเดือนก่อนที่ 3.7%

5. ดัชนี ISM, PMI ภาคการผลิตสหรัฐฯ โดยตลาดคาดที่ 46.5 ลดลงจากเดือนก่อนที่ 46.7 

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL - ผลการดำเนินงานเติบโตดีต่อเนื่อง

 

สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.ซีพีออลล์ หรือ CPALL เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีกและค้าส่งในไทย ซึ่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและชะลอตัว
  • มองได้อานิสงส์บวกทั้งการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาเที่ยวไทย รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มกำลังซื้อ ลดค่าครองชีพ และกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนยอดขายสาขาเดิมให้เติบโตได้ดี
  • 4Q23 คาดกำไรปกติเพิ่ม YoY จากยอดขายและมาร์จิ้นของธุรกิจ CVS ที่ดีขึ้น และส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก CPAXT (ดอกเบี้ยจ่ายลดหลังรีไฟแนนซ์หนี้เสร็จ) แต่จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัวหรือลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล ขณะที่ทั้งปี 2023 คาดกำไรปกติเติบโต 30%YoY
  • มองเป็นหุ้นใน SETESG Index ที่น่าสนใจ ซึ่งได้ Rating AAA และ Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น CPALL ปรับลง 18%YTD และต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ 22.5% ซึ่งมองว่ายังไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการที่รัฐบาลจะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น e-Refund และ Digital Wallet คาดว่าจะเพิ่ม Upside ให้กับประมาณการกำไรปี 2024
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 74 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7.1% และอัตราเติบโตระยะยาว 2.5%)  และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.94 บาท คิดเป็น Div. Yield 1.7%

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง/เงินสด

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีโอกาสให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ธนาคารกลางหลักใน DM มีแนวโน้มดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบ Higher-for-Longer) ประกอบกับความหวัง Soft Landing ในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น ขณะที่สินทรัพย์สภาพคล่อง ยังได้แรงหนุนจากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Long-Duration Bond มากขึ้น หลังตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวบ่งชี้ถึงการชะลอตัว (ตัวเลขจ้างงานและ ISM) แรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับลดลงชัดเจนทั้งในส่วนของ CPI-PPI เพิ่มโอกาสที่ Fed จะเร่งการลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น/10-year TGB ปรับตัวลงสอดคล้องกับ UST

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

Effective Yield ของ US IG Bond ยังอยู่สูงถึงแม้ว่า Spread ยังแกว่งตัวแคบ/US IG มีความทนทานต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ Corporate ที่ออก IG ส่วนใหญ่ได้ทำการ Lock ต้นทุนทางการเงินตอนที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในช่วงก่อนหน้า จึงได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจำกัด

 

Interest Coverage ของ US HY Bond ลดลงสู่ระดับต่ำกว่า Pre-COVID สะท้อนถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ลดลง Spread ที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังไม่สะท้อน 1. ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง และ 2. HY Outstanding ที่ต้อง Re-finance จะเร่งตัวขึ้นในปี 2567 ต่อเนื่องไปในปี 2568

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง จะสนับสนุน Valuation ของดัชนีฯ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินที่อยู่ระดับสูง จะเริ่มสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรของกิจการ เราจึงชอบหุ้นกลุ่มที่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างกลุ่ม Quality Growth และกลุ่ม Defensive

 

ตลาดหุ้นยุโรป

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

Consensus ยังมีแนวโน้มทยอยปรับลดคาดการณ์ EPS Growth ของ STOXX600 ทั้งปี 2566 และ 2567 ลง อย่างไรก็ดี Valuation ตลาดยังไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต และเทียบตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่ ECB มีแนวโน้มลดท่าที Hawkish ลง ซึ่งจะกดดัน Bond Yield ประกอบกับ บจ. มีแนวโน้มเพิ่มการซื้อหุ้นและจ่ายปันผล

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

Earnings บจ.ญี่ปุ่น ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่ บจ. มีแนวโน้มเพิ่มการซื้อหุ้นคืนและการจ่ายปันผล เพื่อยกระดับ ROE และหนุน P/BV ให้ดีขึ้น ขณะที่ BoJ มีแนวโน้มคงท่าทีผ่อนคลายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ และเงินเยนยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในโซนที่อ่อนค่าในระยะสั้น 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม โดยล่าสุดทางการจีนขอให้ธนาคารช่วยคงการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้พัฒนาอสังหาเอกชน ขณะที่ความเสี่ยงขาลงบน Valuation และ Flow มีจำกัด แต่ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของเงินฝืดที่มีอยู่ อาจชะลอแรงซื้อบนดัชนี

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ดัชนียังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่ม Internet ขณะที่ Valuation ไม่แพง รวมทั้งได้อานิสงส์จาก UST Yield ที่พักฐาน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหา และข้อพิพาททางเทคโนโลยีระหว่างจีน-คู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินต่อ จะกดดัน Upside ของดัชนี

 

ตลาดหุ้นไทย

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคช่วงที่เหลือของปี รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอาหาร นอกจากนี้ ความคืบหน้าของมาตรการ Digital Wallet และการจัดตั้งกองทุน TESG ยังสนับสนุน Sentiment นักลงทุน 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ดัชนีมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ โดยแม้การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังมีสัญญาณ FDI เข้ามาต่อเนื่อง แต่อัตรากำไรสุทธิจากดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคารที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอ่อนแอ อีกทั้งการแก้กฎหมายที่ดินเพื่อช่วยธุรกิจในภาคอสังหาถูกเลื่อนไปในปี 2567 อาจทำให้ปัจจัยบวกในระยะสั้นมีจำกัด

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินโดนีเซียสู่ระดับ 6% เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินรูเปียห์ ส่งผลกดดันต่อภาคการบริโภค และกดดันการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้งให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก อีกทั้งสภาพคล่องในระบบธนาคารที่ลดลง มีแนวโน้มกดดันอัตรากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคาร ทำให้ปัจจัยบวกในระยะสั้นมีจำกัด

 

ตลาดหุ้นอินเดีย

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก 1. การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 2. ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และ Fund Flow ไหลออกที่ลดลง 3. คาดการณ์การเติบโตของกำไร บจ. ในปี 2567 ที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และ 4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคก่อนการเลือกตั้ง

 

ทองคำ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ราคาทองคำได้รับแรงหนุนในระยะกลาง จากการสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed และเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความต้องการถือครองทองคำจากธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเข้าทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Real Yield ปรับลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง 

 

น้ำมัน

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงระยะสั้น จากสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มมากกว่าคาด และความกังวลต่อเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง คาดราคาน้ำมันอาจแกว่งตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการบริโภคน้ำมันในปีหน้ายังคงเพิ่มขึ้นมากกว่ากำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลก

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

แม้ว่าราคา REITs อาจมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากการที่ Bond Yield ปรับตัวลง แต่แนวโน้มพื้นฐานในปี 2567 อาจแผ่วลงตามเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับยังคงกังวลในประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ CBMS ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง Valuation ยังอยู่ในระดับแพงเมื่อเทียบเคียงกับพันธบัตรรัฐบาล

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

EM REITs ดีดตัวแรงจากการความคาดหวังเรื่องการลดดอกเบี้ยของ Fed และ Bond Yield ที่มีแนวโน้มปรับลดลง Valuation อยู่ในระดับไม่แพง และมีเงินปันผลที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และ สภาพคล่องของ REITs ไทยที่อยู่ในระดับต่ำ

 

 

Private Asset

 

 

ความน่าสนใจระดับ 2

 

Slightly Negative on Private Equity, Private Real Estate, and Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและบริษัทใน Private Debt

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 27 พ.ย. 2023

READ MORE



Latest Stories