มังงะ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sun, 24 Mar 2024 11:45:11 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.3.1 ‘อากิระ โทริยามะ’ กับปลอกปากกามหัศจรรย์ ผู้เปลี่ยนโลกทั้งใบด้วยจินตนาการไม่รู้จบ https://thestandard.co/akira-toriyama-and-the-pen-holder/ Sun, 24 Mar 2024 11:45:11 +0000 https://thestandard.co/?p=914936

“หายไปไหนนะ มันน่าจะอยู่ตรงนี้นี่นา” ข้าวของบนโต๊ะทำงาน […]

The post ‘อากิระ โทริยามะ’ กับปลอกปากกามหัศจรรย์ ผู้เปลี่ยนโลกทั้งใบด้วยจินตนาการไม่รู้จบ appeared first on THE STANDARD.

]]>

“หายไปไหนนะ มันน่าจะอยู่ตรงนี้นี่นา” ข้าวของบนโต๊ะทำงานกระจุยและกระจายตัวเล็กน้อย รวมถึงกระดาษวาดรูปที่มีลายเส้นตัวละครผมชี้ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีด้วย

 

ไม่ว่าใครจะรู้จักเขาในแบบไหนก็ตาม สำหรับคนใกล้ชิดแล้ว อากิระ โทริยามะ เป็นคนขี้ลืมที่มักจะหาข้าวของของตัวเองไม่เจอเป็นประจำ เพียงแต่ในบรรดาข้าวของทั้งหมดนั้นจะมีสิ่งหนึ่งที่เป็นของที่สำคัญที่สุดในฐานะของยึดเหนี่ยวจิตใจในการทำงาน

 

ของดังกล่าวไม่ใช่ลูกแก้วมังกรหรือดราก้อนเรดาร์ มันเป็นเพียงแค่ปลอกปากกาที่ทำจากไม้สีชมพูธรรมดาๆ ที่ดูไม่ใช่ของมีราคาอะไร

 

แต่เพราะปลอกปากกาชิ้นนี้แหละที่ช่วยรังสรรค์โลกใบนี้ให้สวยงามขึ้นมาได้ ด้วยเรื่องราวจากจินตนาการที่ไม่รู้จบของนักวาดการ์ตูนผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดของชาวญี่ปุ่น

 

พร้อมจะผจญภัยไปในเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง Bird Studio แล้วหรือยัง?

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ปลอกปากกาและโชคชะตาที่เปลี่ยนแปลง

 

เรื่องราวของปลอกปากกามหัศจรรย์ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้นั้นเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นของเด็กชายอากิระ โทริยามะ ที่ซื้อปลอกปากกานี้มาตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี และเป็นของคู่ใจมาตลอดตั้งแต่นั้น

 

แต่ในช่วงนั้นโทริยามะก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นนักวาดมังงะอะไร ถึงจะวาดรูปได้ค่อนข้างเก่งก็ตาม และเริ่มหลงใหลลายเส้นของการ์ตูนนับตั้งแต่ได้ดูเรื่อง ‘One Hundred and One Dalmatians’ (1961) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชอบการวาดรูป ก่อนจะเริ่มหลงรักผลงานของ อ.เทซูกะ โอซามุ เจ้าของเรื่องอมตะ ‘เจ้าหนูอะตอม (Astro Boy)’ ในเวลาต่อมา

 

อากิระ โทริยามะ

 

ด้วยนิสัยที่เป็นคนรักความสบาย โทริยามะไม่ยอมเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เลือกที่จะหางานทำทันที ซึ่งแม้จะได้งานในบริษัทโฆษณาโดยมีหน้าที่ออกแบบโปสเตอร์และสื่อสิ่งพิมพ์ และปรับตัวไม่ยาก แต่ปัญหาคือการเป็นคนชอบตื่นสายทำให้เขามีปัญหากับวัฒนธรรมการทำงานในบริษัท แม้แต่เรื่องการแต่งกายก็เป็นเรื่องที่เขาไม่ชอบ

 

เมื่ออะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งนี้นั้นไม่ใช่ บวกกับแรงผลักดันจากการที่ไม่มีเงินเหลือใช้เลยจนต้องขอเงิน 500 เยนจากแม่ เขารู้ว่าจะปล่อยให้ชีวิตเป็นไปแบบนี้ไม่ได้

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้โทริยามะเริ่มหันเหสู่เส้นทางสายการเป็นนักวาดการ์ตูนหรือมังงะสำหรับชาวญี่ปุ่น

 

เส้นทางนั้นไม่ง่ายเลย ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจที่สูงมาก ซึ่งโชคดีที่เขาได้ร่วมงานกับบรรณาธิการที่มากฝีมือและเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์อย่าง โทริชิมะ คาซุฮิโกะ ที่ผลักดันอย่างเข้มข้นตลอดมา

 

ในที่สุดผลงานชิ้นแรก ‘Wonder Island’ ก็ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Shonen Jump ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่านักวาดพลังหนุ่มคนนี้จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยปากกาของเขาในเวลาต่อมา

 

ที่บอกว่าไม่มีใครคาดคิดก็เพราะ Wonder Island ได้รับการโหวตว่าเป็นเรื่องที่ห่วยที่สุดของนิตยสาร

 

อากิระ โทริยามะ คนนั้นถึงขั้นคิดจะอำลาวงการทันทีเมื่อได้รับเงินค่าเรื่อง

 

อาราเล่จัง และซุนโกคู

 

จากความล้มเหลวของ Wonder Island โทริยามะยังจ๋อยต่อ เมื่อ Wonder Island 2 ภาคต่อก็จบไม่สวยเหมือนกัน

 

แต่กลายเป็นว่ายิ่งล้มเหลวก็ยิ่งทำให้คนขี้ดื้ออย่างเขาไม่ยอมแพ้ และพยายามต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่ามันจะออกมาเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ซึ่งผลงานเรื่องต่อมาอย่าง ‘Today’s Highlight Island’ ก็ยับเยินอีก

 

ในช่วงเวลาที่เจ็บปวดท้อแท้ กลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับโทริยามะในเวลาต่อมา เพราะมันช่วยสอนอะไรหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับการเป็นสุดยอดนักวาดการ์ตูนในอนาคต หนึ่งในนั้นคือเรื่องการ ‘ฟังคนอื่น’ บ้าง

 

โทริชิมะ คาซุฮิโกะ พยายามแนะนำให้เขาวาดมังงะเรื่องต่อไปโดยให้มีตัวละครเอกเป็นผู้หญิงบ้าง ซึ่งโทริยามะไม่ซื้อไอเดียสักเท่าไร จนมีการเดิมพันกันเล็กน้อยระหว่างทั้งสอง เพียงแต่หลังจากที่ได้เห็นความสำเร็จในเรื่องต่อมา ‘Tomato the Cutesy Gumshoe’ เขาก็ยอมฟังและวาดตัวละครเอกที่เป็นผู้หญิงขึ้นมาในมังงะเรื่องต่อไปในปี 1980

 

ตัวละครดังกล่าวคือ โนริมากิ อาราเล่ หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ใส่แว่นหน้าตาน่ารัก ที่เป็นผลงานของ โนริมากิ เซมเบ นักประดิษฐ์สติเฟื่องในเรื่อง ‘Dr. Slump’ มังงะยาวเรื่องแรกในชีวิตของ อากิระ โทริยามะ

 

อาราเล่

 

เรื่องราวสุดป่วนของเหล่าแก๊ง ทั้งอาราเล่, กัตจัง, โอโบจามะ, ซุปปาแมน (Suppaman อมบ๊วยเค็ม) และ ดร.สลัมป์ เอง ได้รับความนิยมอย่างมาก เรียกว่าเป็นมังงะที่ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น แต่ยังเป็นครั้งแรกที่สามารถบุกไปชนะใจชาวตะวันตกและทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในไทยด้วย

 

ความสำเร็จนี้นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อไปที่กลายเป็นมาสเตอร์พีซอย่าง ‘ดราก้อนบอล (Dragon Ball)’ ที่เริ่มต้นตีพิมพ์ในปี 1984 หลังจากที่ Dr. Slump ได้จบลง

 

อันที่จริง Dragon Ball ในตอนแรกนั้นเป็นเรื่องราวการผจญภัยที่สนุกสนานของ ซุนโกคู (หรือจะโงกุนตามที่คนไทยเรียกก็ไม่มีปัญหา) ที่บังเอิญได้พบกับ บูลมา หญิงสาวนักผจญภัยที่ออกตามหาลูกแก้วมังกรสีส้มที่มีรูปดาว ซึ่งมีทั้งหมด 7 ลูก ตามตำนานที่บอกว่าหากใครรวบรวมลูกแก้วได้ครบทั้ง 7 ลูกจะสามารถอัญเชิญเทพเจ้ามังกรมาเพื่อขอพรอะไรก็ได้ 1 อย่าง

 

โดยที่ตัวละครซุนโกคูนั้นมีพื้นฐานจากซุนหงอคง ตัวละครในนิยายอมตะของจีน โดยมีทั้งกระบอง มีหางเหมือนลิง และเก่งกาจทางวิทยายุทธ ขณะที่เรื่องราวเต็มไปด้วยการผจญภัยที่ทั้งสนุกและตลก (ใครจำคำขอพรของตัวละครอูลอนได้บ้าง?) มีธีมของมิตรภาพและความพยายาม ที่แม้โทริยามะจะไม่ได้ตั้งใจคิดถึงขนาดนั้น แต่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่แฟนๆ ได้ซึมซับโดยไม่ตั้งใจ

 

ไปๆ มาๆ ยิ่งเรื่องราวดำเนินต่อไปมากเท่าไร ความสนุกและความเข้มข้นก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหลังจากที่เข้าสู่ภาคใหม่ ‘Dragon Ball Z’ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1989 โดยมีการปรับธีมมาเป็นมังงะการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายดีกับฝ่ายร้าย ด้วยพลังและอภินิหารจากจินตนาการของโทริยามะ

 

ผลงานเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากพลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้า (Kamekameha) ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เด็กๆ ทุกคนเชื่อว่าพวกเขาเองก็หัดทำพลังคลื่นเต่าหรือท่าไม้ตายของตัวละครโปรดคนอื่นๆ อย่างเบจิต้า, ซุนโกฮัง, พิคโกโล, คุริลิน, เท็นชินฮัง หรือหยำฉา

 

โดยที่สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าแค่ความสำเร็จของโทริยามะ

 

มันคือความทรงจำของโลกใบนี้ด้วย

 

Pop Culture ยุคใหม่ และพลังคลื่นเต่าทางเศรษฐกิจ

 

นอกเหนือจาก Dragon Ball แล้ว ยังมีผลงานของ อากิระ โทริยามะ อีกมากมาย โดยเฉพาะในด้านของการออกแบบตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์

 

หนึ่งในนั้นคือการออกแบบตัวละครให้เกมอมตะอย่างซีรีส์ ‘Dragon Quest’ และเกมเหนือกาลเวลาอย่าง ‘Chrono Trigger’ ที่มีตัวละครที่โดดเด่นสะดุดตาและยากที่จะหาใครเลียนแบบสไตล์กับจินตนาการของเขาได้

 

โดยเฉพาะหนึ่งในตัวละครน่ารักที่ได้รับความนิยมตลอดกาลใน Dragon Quest คือตัวสไลม์ ปีศาจในเรื่องเล่าทางตะวันตกที่มีลักษณะเป็นเมือก ซึ่งโทริยามะเปลี่ยนให้กลายเป็นตัววุ้นหน้าตาน่ารักนุ่มนิ่ม และกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่ได้รับการจดจำมากที่สุด

 

Dragon Ball

 

ขณะที่แรงบันดาลใจจาก Dragon Ball ยังนำไปสู่มังงะที่เดินตามรอยในเวลาต่อมาอย่าง Naruto และ One Piece ซึ่งเรื่องหลังยังคงดำเนินต่ออยู่ในปัจจุบัน ไม่นับแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ อีกมากมายที่เติบโตมากับผลงานของเขา และนำมาสร้างสรรค์ผลงานในแบบของตัวเองต่อมา

 

เรียกได้ว่ามีผลงานจากปลายปากกาและปลอกปากกาเก่าๆ ที่หากพังโทริยามะก็ไม่ยอมซื้อใหม่ แต่จะซ่อมแล้วซ่อมอีกเพราะถนัดมือมากที่สุด เป็นผลงานที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก

 

พอจะบอกได้ว่าโลกทั้งใบได้รู้จักมังงะญี่ปุ่นก็เพราะ Dragon Ball ซึ่งแม้ Dragon Ball Z ที่เป็นภาคหลักดั้งเดิมจะจบลงตั้งแต่ปี 1996 แล้ว แต่ยังคงมีเรื่องราวภาคต่อที่ได้รับอนุญาตให้สร้างสรรค์ได้ เช่น อนิเมะ หรือภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ รวมถึงมังงะภาคใหม่อย่าง Dragon Ball Super ที่โทริยามะเป็นผู้ควบคุมอีกที

 

ในทางเศรษฐกิจแล้ว Dragon Ball ถือเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่สร้างรายได้กลับมาให้แก่ญี่ปุ่นอย่างมากมายมหาศาล โดยข้อมูลในปี 2022 จาก All Japan Magazine and Book Publishers’ and Editors’ Association ระบุว่า ยอดจำหน่ายมังงะทั่วโลกมีมูลค่าถึง 6.77แสนล้านเยน โดยที่ตัวเลขการเติบโตสูงขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากเรื่องฮิตยุคใหม่อย่าง ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer) แต่อีกส่วนก็มาจากผลงานอมตะอย่าง Dragon Ball ด้วย

 

โดยที่ Dragon Ball เองไม่ได้มีแค่มังงะหรืออนิเมะ แต่แตกยอดออกเป็นผลิตภัณฑ์มากมายทั้งของเล่น เสื้อผ้า ของใช้ ของสะสม ไปจนถึงเกมที่มีการสร้างออกมามากมายหลายภาค ตามเล่นกันแทบไม่ทัน

 

CBR.com ระบุว่า มูลค่าของ Dragon Ball สูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.31 แสนล้านบาท

 

เมื่อคิดถึงที่มาที่ไปกับการผจญภัยในชีวิตจริงของ อากิระ​ โทริยามะ และปลอกปากกาไม้ที่ดูไม่น่ามีราคาอะไรมากมายขนาดนั้นแล้ว

 

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงไม่ต่างอะไรจากพรของเทพเจ้ามังกรที่เขาร้องขอต่อโลกใบนี้

 

ขอให้โลกนี้สนุกและสบายใจนะ

 

ภาพ: Luciano Gonzalez / Anadolu via Getty Images

อ้างอิง:

The post ‘อากิระ โทริยามะ’ กับปลอกปากกามหัศจรรย์ ผู้เปลี่ยนโลกทั้งใบด้วยจินตนาการไม่รู้จบ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Dragon Ball มังงะที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬามากมาย https://thestandard.co/dragon-ball-inspires-athletes/ Fri, 08 Mar 2024 11:12:27 +0000 https://thestandard.co/?p=908806 Dragon Ball

อากิระ โทริยามะ หรืออาจารย์โทริยามะ นักวาดมังงะชื่อดังเ […]

The post Dragon Ball มังงะที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬามากมาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
Dragon Ball

อากิระ โทริยามะ หรืออาจารย์โทริยามะ นักวาดมังงะชื่อดังเจ้าของผลงาน Dragon Ball  เพิ่งจากไปในวันนี้ (8 มีนาคม) ในวัย 68 ปี

 

ผลงานของเขา อย่างเช่น Dragon Ball ทั้งภาคแรก, ภาค Z และภาคซูเปอร์ ล้วนแล้วแต่สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกับมอบพลังแห่งความฝันให้เด็กๆ และผู้ที่ได้อ่านมากมายทั่วโลก

 

หนึ่งในผู้ที่ได้รับพลังและแรงบันดาลใจก็รวมถึงเหล่านักกีฬาและผู้คนที่อยู่ในโลกของกีฬาด้วย

 

THE STANDARD SPORT ขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยกับการจากไปของสุดยอดนักเขียนมังงะท่านนี้ และอยากจะขอบคุณที่มอบพลังและแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนบนโลกนี้มาโดยตลอด

 

The post Dragon Ball มังงะที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬามากมาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
ร่วมแสดงความเสียใจ อากิระ โทริยามะ นักเขียนมังงะเจ้าของผลงาน Dragon Ball เสียชีวิตแล้ว https://thestandard.co/akira-toriyama-dead-at-68/ Fri, 08 Mar 2024 04:35:13 +0000 https://thestandard.co/?p=908633 อากิระ โทริยามะ นักเขียนมังงะเจ้าของผลงาน Dragon Ball เสียชีวิต

วันนี้ (8 มีนาคม) บัญชี X อย่างเป็นทางการของมังงะ Drago […]

The post ร่วมแสดงความเสียใจ อากิระ โทริยามะ นักเขียนมังงะเจ้าของผลงาน Dragon Ball เสียชีวิตแล้ว appeared first on THE STANDARD.

]]>
อากิระ โทริยามะ นักเขียนมังงะเจ้าของผลงาน Dragon Ball เสียชีวิต

วันนี้ (8 มีนาคม) บัญชี X อย่างเป็นทางการของมังงะ Dragon Ball แจ้งข่าวว่า อากิระ โทริยามะ นักเขียนมังงะเจ้าของผลงานระดับตำนานอย่าง Dr.Slump และ Dragon Ball เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2024 ด้วยวัย 68 ปี เนื่องจากอาการเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง

 

สำหรับ อากิระ โทริยามะ นับว่าเป็นอีกหนึ่งนักเขียนมังงะชื่อดังที่เป็นที่ยอมรับของแฟนๆ ทั่วโลก รวมถึงผลงานของเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนมังงะรุ่นต่อมาอีกมากมาย โดยเฉพาะผลงานเรื่อง Dragon Ball ที่ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1984 ที่ได้รับสานต่อเรื่องราวและถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงอื่นๆ อย่างอนิเมะซีรีส์ ภาพยนตร์ วิดีโอเกม และของเล่นมาจนถึงปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ อากิระ โทริยามะ ยังมีผลงานการออกแบบคาแรกเตอร์ให้กับวิดีโอเกมชื่อดังอีกมากมาย เช่น Dragon Quest และ Chrono Trigger  

 

THE STANDARD POP ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ อากิระ โทริยามะ อีกหนึ่งนักเขียนมังงะคนสำคัญที่ส่งมอบความสนุกผ่านผลงานเรื่องเยี่ยมให้แก่แฟนๆ ทั่วโลกมาอย่างยาวนาน  

 

อ้างอิง:

The post ร่วมแสดงความเสียใจ อากิระ โทริยามะ นักเขียนมังงะเจ้าของผลงาน Dragon Ball เสียชีวิตแล้ว appeared first on THE STANDARD.

]]>
Yu Yu Hakusho ซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันจากมังงะเรื่องเยี่ยม พร้อมเข้าฉาย 14 ธ.ค. นี้ ทาง Netflix https://thestandard.co/yu-yu-hakusho-live-action-netflix/ Sat, 11 Nov 2023 03:37:34 +0000 https://thestandard.co/?p=864619 คนเก่งฟ้าประทาน Live Action

Yu Yu Hakusho คนเก่งฟ้าประทาน ซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันเรื่องให […]

The post Yu Yu Hakusho ซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันจากมังงะเรื่องเยี่ยม พร้อมเข้าฉาย 14 ธ.ค. นี้ ทาง Netflix appeared first on THE STANDARD.

]]>
คนเก่งฟ้าประทาน Live Action

Yu Yu Hakusho คนเก่งฟ้าประทาน ซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันเรื่องใหม่จาก Netflix ที่ดัดแปลงมาจากมังงะเรื่องเยี่ยมในชื่อเดียวกันของ โยชิฮิโระ โทงาชิ ได้มีการเผยตัวอย่างแรกที่โชว์ฉากแอ็กชันเท่ๆ ของเหล่าตัวละครที่ผู้ชมหลงรักแบบสั้นๆ รวมถึงฉากการใช้ ‘กระสุนพลังวิญญาณ’ ของยูสึเกะ และโฉมแรกของตัวร้ายหลักอย่างพี่น้องโทคุโร่ โดยซีรีส์มีกำหนดฉายวันที่ 14 ธันวาคมนี้  

 

คนเก่งฟ้าประทาน Live Action

 

สำหรับ Yu Yu Hakusho คือมังงะเรื่องเยี่ยมจากปลายปากกาของ โยชิฮิโระ โทงาชิ เจ้าของผลงานอย่าง Hunter X Hunter ที่ออกตีพิมพ์ในปี 1990-1994 บนนิตยสาร Weekly Shōnen Jump และได้ออกตีพิมพ์เป็นฉบับรวมเล่มทั้งหมด 19 เล่มจบ ก่อนที่จะได้รับการดัดแปลงเป็นฉบับอนิเมะซีรีส์ในปี 1992 

 

Yu Yu Hakusho ว่าด้วยเรื่องราวของ ยูสึเกะ เด็กหนุ่มจอมเกเรที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งจนถูกรถชนเสียชีวิต กระทั่ง โคเอ็นมะ ลูกของผู้ปกครองยมโลก ได้ยื่นข้อเสนอว่าจะชุบชีวิตให้กับยูสึเกะ โดยแลกกับการที่เขาต้องเป็นนักสืบโลกวิญญาณเพื่อปราบเหล่าปีศาจบนโลกมนุษย์ 

 

คนเก่งฟ้าประทาน Live Action

 

ซีรีส์จะได้ โช สึคิคาวะ จาก Let Me Eat Your Pancreas (2017) และ The 100th Love with You (2017) มานั่งแท่นผู้กำกับ และ อากิระ โมริอิ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซีรีส์ไลฟ์แอ็กชัน Alice in Borderland (2020) มาดูแลในตำแหน่งโปรดิวเซอร์

 

เสริมทัพด้วยนักแสดงมากฝีมือที่จะมาสวมบทบาทเป็นตัวละครที่แฟนๆ หลงรัก นำโดย ทาคุมิ คิตามุระ จาก Let Me Eat Your Pancreas มารับบทเป็น ยูสึเกะ พระเอกของเรื่อง พร้อมด้วย จุน ชิซง จาก High & Low The Worst (2019) มาสวมบทเป็น คุราม่า, ทานากะ ฮอนโก จาก The Prince of Tennis (2006) รับบทเป็น ฮิเอ และ ชูเฮย์ อุเอสึกิ จาก Our 30 Minute Sessions (2020) มารับบทเป็น คุวาบาระ

 

รับชมตัวอย่างได้ที่: www.youtube.com/watch?v=lSShaOmUflQ 

 

 

อ้างอิง:

The post Yu Yu Hakusho ซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันจากมังงะเรื่องเยี่ยม พร้อมเข้าฉาย 14 ธ.ค. นี้ ทาง Netflix appeared first on THE STANDARD.

]]>
PLUTO จาก ‘ตำนาน’ สู่ ‘ตำนาน’ อีกหนึ่งงานมาสเตอร์พีซของ นาโอกิ อูราซาวะ https://thestandard.co/naoki-urasawa-pluto/ Mon, 30 Oct 2023 07:30:05 +0000 https://thestandard.co/?p=860406

หากนับตั้งแต่ที่ PLUTO ฉบับมังงะซึ่งเป็นผลงานที่ นาโอกิ […]

The post PLUTO จาก ‘ตำนาน’ สู่ ‘ตำนาน’ อีกหนึ่งงานมาสเตอร์พีซของ นาโอกิ อูราซาวะ appeared first on THE STANDARD.

]]>

หากนับตั้งแต่ที่ PLUTO ฉบับมังงะซึ่งเป็นผลงานที่ นาโอกิ อูราซาวะ ทริบิวต์ให้กับปรมาจารย์มังงะที่เขาหลงใหลอย่าง เทซูกะ โอซามุ ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 ความยอดเยี่ยมของมันก็ใช้เวลานานถึง 20 ปีพอดีในการสร้างออกมาเป็นอนิเมะ และด้วยจังหวะเวลาที่ถูกปล่อยออกมาก็ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่ามันช่างเป็นเวลาที่เหมาะเสียเหลือเกินในยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาใช้ AI และหุ่นยนต์ในการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของตัวเอง แต่อีกด้านพวกเขาก็ไม่วายที่จะควบคุมมันให้ไม่สามารถเข้ามาแทนที่หรือรุกล้ำความปลอดภัยของมนุษย์

 

และอย่างที่หลายคนทราบกันว่า PLUTO ของอูราซาวะได้หยิบเอา The Greatest Robot on Earth ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในผลงานระดับตำนานของโอซามุอย่าง Astro Boy (1952-1968) มาใช้เป็นโครงในการเล่าเรื่องโดยตีความใหม่ให้มีเนื้อหาที่ทันสมัยและจริงจังขึ้น ด้วยเหตุนี้เรื่องราวการต่อสู้ของหุ่นยนต์ทั้ง 7 เพื่อพิสูจน์ว่าตัวไหนแข็งแกร่งที่สุดจึงถูกเปลี่ยนเป็นแนวสืบสวนสอบสวนเพื่อสำรวจมิติทางอารมณ์ของพวกเขาในโลกอนาคตที่หุ่นยนต์กับมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน

 

 

ที่สำคัญ ตัวเอกของเรื่องไม่ใช่เจ้าหนูปรมาณู แต่เป็น Gesicht หุ่นยนต์นักสืบที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา แต่คำถามที่อูราซาวะวางไว้ก็เป็นอะไรที่เรียบง่ายและทรงพลัง นั่นคือ “จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งอย่างพวกเขาถูกฆ่าตายได้ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์” คำถามนี้กลายเป็นปมเปิดเรื่องของ PLUTO ได้อย่างน่าค้นหา เมื่อมันฉายภาพการตายของ Mont Blanc ท่ามกลางเศษซากปรักหักพังของต้นไม้และเปลวเพลิงโดยที่ตัวเขาถูกแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ พร้อมกับถูกทำสัญลักษณ์รูปเขาสัตว์บนหัว

 

ทว่าปริศนาที่ Gesicht ต้องหาคำตอบไม่ได้มีแค่เรื่องของหุ่นยนต์ เพราะในเวลาต่อมา การตายในลักษณะเดียวกันกลับเกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วย และไม่มากไม่น้อยมันกลายเป็นคำถามใหญ่ว่า แท้จริงแล้วเบื้องหลังของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องมีเหตุจูงใจมาจากอะไร เพราะหุ่นยนต์ไม่สามารถฆ่ามนุษย์ได้ แต่ในทางกลับกันมนุษย์สามารถทำลายหุ่นยนต์ได้ โดยปริยายการที่มีมนุษย์ตกเป็นเหยื่อจึงเป็นการสั่นคลอนรากฐานของสังคมที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเผ่าพันธุ์กลายเป็นเงื่อนไขที่ผูกมัดความยากง่ายของคดีนี้

 

 

ถึงจะบอกว่าเอาโครงเรื่องมาทำใหม่ แต่ด้วยชื่อชั้นของอูราซาวะ การวางรายละเอียดยิบย่อยที่สะท้อนถึงความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ย่อมถูกแสดงออกมาผ่านการกระทำและสามัญสำนึกของตัวละครอยู่เสมอ หรือถ้าจะพูดให้ถูกเพราะเป็นอูราซาวะต่างหากที่เรื่องของสองเผ่าพันธุ์ที่ถูกแบ่งแยกเป็นเอกเทศอย่างชัดเจนถึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาสามารถเชื้อเชิญผู้คนออกไปสำรวจแง่มุมของสรรพชีวิตได้ราวกับมีเลือดเนื้อจริงๆ

 

ในทำนองเดียวกัน การดัดแปลงมังงะอย่าง PLUTO มาเป็นอนิเมะจึงเป็นเหมือนการนำผลงานที่มีองค์ประกอบยอดเยี่ยมอยู่แล้วมาเคาะ จัดระเบียบ และเรียบเรียงการเล่าเรื่องให้ดูเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น โดยการ ‘ขยับ’ เนื้อหาบางส่วนให้ดูเหมาะสมกับการดัดแปลงเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหว เช่น การขยับ Brando ไปไว้หลัง Atom ซึ่งแต่เดิมในมังงะ Gesicht จะได้พบกับ Brando ก่อน ทั้งหมดก็เพื่อทำให้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สามารถใช้เป็นองค์ประกอบในการเสริมสร้างสถานการณ์ของตัวละครให้ดูลื่นไหลมากขึ้น พร้อมกับผลักดันเรื่องราวให้ไปถึงจุดจุดหนึ่งเสมอ

 

Monster (2004-2005)

 

เช่นเดียวกับผลงานขึ้นหิ้งหลายเรื่องของอูราซาวะ ความต่างและไม่ยึดติดกับมุมมองส่วนบุคคลกลายเป็นมนตร์เสน่ห์สำคัญที่ชักจูงให้ผู้คนรู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่ตัวละครเผชิญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Monster (2004-2005) ที่สำรวจเส้นแบ่งระหว่างความดีความชั่ว พร้อมตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ผ่านการเดินทางของศัลยแพทย์หนุ่มที่จนแล้วจนรอดความต่างทางความคิดของเขากับฆาตกรก็ยากจะสรุปได้ว่าใครเป็นฝ่ายที่ถูก

 

ส่วน PLUTO ความต่างที่ว่ามาในคราบของเผ่าพันธุ์ โดยมีผลกระทบของสงครามเป็นพื้นหลังคอยขับเคลื่อนเรื่องราวและตั้งคำถาม ถึงกระนั้นเส้นเรื่องที่วางไว้ก็ไม่ได้เถรตรง เมื่อความไม่สมบูรณ์พร้อมถูกเล่าออกมาผ่านหุ่นยนต์กับมนุษย์ที่ในทางหนึ่งพวกเขาดูต่างกันแต่เหมือนกันแทบจะทุกประการ

 

 

การเดินทางตามหาความจริงของ Gesicht จึงกลายเป็นการสำรวจความคิดที่แตกต่างกันของหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูง และเรียนรู้ความสลับซับซ้อนทางอารมณ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่อาจเข้าใจ แต่ความหลักแหลมของอูราซาวะในเรื่องนี้คือ เขาออกแบบตัวละครทั้งหมดให้มีความลึกตื้นหนาบางอย่างมีเหตุผลและซาบซึ้งกินใจเกินเส้นแบ่งของคำว่า ‘เผ่าพันธุ์’

 

ถ้าจะให้สรุปแบบรวบยอดโดยไม่เปิดเผยเนื้อหา การกระทำของพวกเขาทั้งดีและชั่วล้วนตั้งอยู่บนตรรกะของความสูญเสียจนเกิดเป็นความเกลียดชังที่พร้อมจะทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ทว่าความเกลียดชังที่ก่อตัวขึ้นในใจของมนุษย์กับหุ่นยนต์จะมีวันจางหายไปไหม แน่นอนว่าอูราซาวะเองก็ให้คำตอบที่แท้จริงไม่ได้ นัยหนึ่งมันเลยกลายเป็นปริศนาธรรมที่ถูกตั้งเอาไว้ให้กับคนที่เข้ามาสัมผัสผลงานชิ้นนี้

 

แต่ความคมคายของเขาไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อการขมวดปมคดีฆาตกรรมกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงและกะเทาะความสัมพันธ์ของมนุษย์กับหุ่นยนต์ หุ่นยนต์กับหุ่นยนต์ หรือแม้กระทั่งมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองอย่างมีชั้นเชิง ชนิดที่ใครก็ยากจะเลียนแบบได้

 

 

อย่างไรก็ตาม การดัดแปลง PLUTO มาเป็นอนิเมะก็ต้องยกความดีความชอบให้กับโปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่อย่าง มาซาโอะ มารุยามะ ที่เคยร่วมงานกับอูราซาวะมาแล้วหลายครั้งในอนิเมะเรื่อง Yawara! (1989-1992), Master Keaton (1998-1999) และ Monster (2004-2005)

 

นอกจากนี้หากเปิดประวัติของมาซาโอะแบบเร็วๆ ก็จะพบว่าเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Madhouse และ MAPPA ที่ในปัจจุบันเป็นสองสตูดิโออนิเมะที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นคนที่ผลิตผลงานชิ้นเอกให้กับวงการอีกมากมาย เช่น บรรดาอนิเมะของ ซาโตชิ คอน อย่าง Perfect Blue (1997), Millennium Actress (2001), Tokyo Godfathers (2003) และ Paprika (2006)

 

ฉะนั้นการได้เขาที่เข้าใจการดัดแปลงมังงะของอูราซาวะมากที่สุดคนหนึ่งมาช่วยดูแลงานสร้างจึงเป็นส่วนสำคัญมากๆ และด้วยความที่มาซาโอะเคยเล่าว่าเขากับทีมใช้เวลาในการปั้นโปรเจกต์นี้ประมาณ 10 ปี เพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับเรื่องราว ก็คงกล่าวยกยอได้อย่างเต็มปากว่าด้วยน้ำพักน้ำแรงที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน พวกเขาได้สำแดงความยอดเยี่ยมของ PLUTO ออกมาอย่างสมศักดิ์ศรีด้วยการทำให้ Atom สุดคลาสสิกของโอซามุเป็นอมตะ!

 

 

แต่ถึงกระนั้นส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือทีมแอนิเมชันที่ประกอบด้วย โทชิโอะ คาวากุจิ ผู้กำกับ, ชิเกรุ ฟูจิตะ ผู้ออกแบบตัวละคร และ อิทารุ ไซโต ผู้ออกแบบแอนิเมชัน เพราะด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดเส้นทางอาชีพของพวกเขาในฐานะ Key Animator ทำให้แอนิเมชันของ PLUTO ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่แอ็กชันหลัก แอ็กชันรอง (แอ็กชันเพิ่มเติมที่รองรับแอ็กชันหลัก) แอ็กชันที่ทับซ้อนกัน (แอ็กชันที่ทำออกมาด้วยแนวคิดที่ว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเคลื่อนไหวในอัตราที่ต่างกัน) ไปจนถึงแอนิเมชันแบบต่อเนื่อง (เพื่อรองรับอวัยวะบางส่วนของร่างกายที่อาจขยับต่อไปได้แม้จะเคลื่อนไหวเสร็จแล้ว)

 

ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ความลื่นไหลของแอนิเมชันนั้นไม่ขาดตอนและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่บ่งบอกถึงการเอาใจใส่ของพวกเขา ไม่เพียงแค่นั้น การใส่ส่วนผสมของ CGI ลงไปในงาน 2D ก็เป็นมิติในการสร้างแอนิเมชันที่ดูร่วมสมัยและน่าสนใจดี ถึงจะดูขัดแย้งกับภาพรวมของงานที่วาดด้วยมือก็ตาม

 

 

อีกส่วนที่น่ากล่าวถึงคือดนตรีประกอบที่ได้ ยูโกะ คันโนะ ผู้มีชื่อเสียงมาจากการทำดนตรีประกอบให้กับแฟรนไชส์อนิเมะชื่อดังอย่าง JoJo’s Bizarre Adventure และ Psycho-Pass มาประพันธ์ เพราะด้านหนึ่งมันกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับกล่อมสถานการณ์ของตัวละคร รวมถึงสะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยได้ของพวกเขา

 

และก็คงจะไม่เกินจริงนักหากบอกว่า PLUTO ฉบับอนิเมะเป็นศูนย์รวมของคนทำงานมากฝีมือที่รักในผลงานนี้จากก้นบึ้งของหัวใจไม่แพ้กับอูราซาวะที่เขียนมันออกมาเพื่อเคารพผู้ที่ทำให้เขาเข้าสู่วงการนี้

 

 

โดยรวมแล้วตลอด 8 ตอนของอนิเมะเรื่องนี้จึงกลายเป็นการส่งต่อความยอดเยี่ยมบนหน้ากระดาษมาสู่คนดูด้วยความรักและความจริงใจ ข้อสำคัญมันยังทำให้ครุ่นคิดพินิจถึงความต่างระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ได้อย่างลุ่มลึก เมื่อทั้งหมดอาจสอดคล้องกับประโยคที่ตัวละครหนึ่งพูดว่า “อย่าสร้างหุ่นยนต์ให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากไปกว่านี้” เพราะแง่หนึ่งมนุษย์กับหุ่นยนต์ไม่ได้ต่างกัน พวกเขารักเป็น เสียใจเป็น และอาจโกหกเป็น แต่แค่ไม่เข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นครบถ้วนทุกประการเท่านั้นเอง

 

สุดท้ายก็หวังว่า PLUTO จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด เพื่อที่อูราซาวะจะได้ขยับแผนการเกษียณของตัวเองออกไปอีกสักหน่อย และทำ 20th Century Boys หนึ่งในผลงานที่หลายคนรอคอยมากที่สุดของเขาเป็นอนิเมะเสียที

 

สามารถรับชม PLUTO ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่: https://youtu.be/vzbstPSLHG0

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

The post PLUTO จาก ‘ตำนาน’ สู่ ‘ตำนาน’ อีกหนึ่งงานมาสเตอร์พีซของ นาโอกิ อูราซาวะ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สำนักพิมพ์ชูเอฉะเปิดให้อ่านมังงะ One Piece 12 เล่มแรกพร้อมฉบับแปลภาษาไทยฟรี https://thestandard.co/12-vol-of-one-piece-manga-for-free/ Thu, 07 Sep 2023 09:21:36 +0000 https://thestandard.co/?p=838693 ลูฟี่ ใน One Piece Live Action

ณ เวลานี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนที่จะมาแรงไปกว่า One Pie […]

The post สำนักพิมพ์ชูเอฉะเปิดให้อ่านมังงะ One Piece 12 เล่มแรกพร้อมฉบับแปลภาษาไทยฟรี appeared first on THE STANDARD.

]]>
ลูฟี่ ใน One Piece Live Action

ณ เวลานี้คงไม่มีซีรีส์เรื่องไหนที่จะมาแรงไปกว่า One Piece ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันจาก Netflix ที่ดัดแปลงมาจากมังงะยอดฮิตในชื่อเดียวกันของ เออิจิโระ โอดะ ซึ่งได้กระแสตอบรับในแง่บวกจากผู้ชมทั่วโลกไปอย่างถล่มทลาย 

 

และข่าวดีสำหรับแฟนๆ ที่ชื่นชอบ One Piece แต่อาจจะยังไม่เคยอ่านมังงะต้นฉบับมาก่อน ตอนนี้สำนักพิมพ์ชูเอฉะเปิดให้ทุกคนได้เข้าไปอ่านมังงะ One Piece ตั้งแต่เล่มที่ 1-12 พร้อมฉบับแปลภาษาไทยแบบฟรีๆ โดยตรงกับเนื้อหาภาคอีสต์บลู หรือช่วงก่อนที่กลุ่มโจรสลัดหมวกฟางจะเข้าสู่แกรนด์ไลน์นั่นเอง โดยสามารถเข้าไปอ่านมังงะ One Piece ทั้ง 12 เล่มได้แล้วที่เว็บไซต์ readme-onepiece.com/ 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

สำหรับ One Piece นับว่าเป็นหนึ่งในซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันที่ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อดังของญี่ปุ่น ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมทั้งฝั่งของแฟนมังงะต้นฉบับและผู้ชมทั่วไปอย่างเนืองแน่น โดยซีรีส์ได้รับคะแนนรีวิวจากนักวิจารณ์บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไปสูงถึง 85% และคะแนนจากผู้ชมทั่วไปสูงถึง 96% (คะแนน ณ วันที่ 7 กันยายน 2023)

 

พร้อมทั้งยังขึ้นแท่นเป็นซีรีส์ภาษาอังกฤษที่มียอดผู้เข้าชมในสัปดาห์แรกหลังจากออกฉายสูงถึง 18.5 ล้านครั้ง และมีชั่วโมงการเข้าชมสูงถึง 140.1 ล้านชั่วโมง จนส่งผลให้ตัวซีรีส์ก้าวขึ้นสู่ Top 10 ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดใน 96 ประเทศ และขึ้นสู่อันดับที่ 1 ใน 46 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย  

 

One Piece ว่าด้วยเรื่องราวของ มังกี้ ดี. ลูฟี่ (Iñaki Godoy) เด็กหนุ่มสวมหมวกฟางที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นราชาโจรสลัดผู้ยิ่งใหญ่ เขาจึงออกเดินทางสู่ท้องทะเลและตามหาพรรคพวก ไล่เรียงตั้งแต่นักล่าโจรสลัดผู้เก่งกาจ โซโร (Mackenyu Arata), ต้นหนเรือและแมวขโมย นามิ (Emily Rudd), ชายหนุ่มจอมโกหก อุซป (Jacob Gibson) และกุ๊กมากฝีมือ ซันจิ (Taz Skylar) เพื่อมุ่งหน้าสู่แกรนด์ไลน์ และค้นหาสมบัติอันดับหนึ่งของโลกอย่าง ‘วันพีซ’ 

 

อ้างอิง:

The post สำนักพิมพ์ชูเอฉะเปิดให้อ่านมังงะ One Piece 12 เล่มแรกพร้อมฉบับแปลภาษาไทยฟรี appeared first on THE STANDARD.

]]>
“Netflix สัญญาว่าจะไม่ยอมเปิดตัวจนกว่าผมจะพอใจ” อ.โอดะ เผยความคืบหน้า One Piece ฉบับไลฟ์แอ็กชัน https://thestandard.co/oda-update-on-one-piece-netflix/ Sat, 06 May 2023 05:49:18 +0000 https://thestandard.co/?p=785969

นับว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่แฟนๆ ของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟา […]

The post “Netflix สัญญาว่าจะไม่ยอมเปิดตัวจนกว่าผมจะพอใจ” อ.โอดะ เผยความคืบหน้า One Piece ฉบับไลฟ์แอ็กชัน appeared first on THE STANDARD.

]]>

นับว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่แฟนๆ ของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางตั้งตารอ สำหรับ One Piece ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันจาก Netflix ที่ดัดแปลงมาจากมังงะยอดฮิตในชื่อเดียวกันของ เออิจิโระ โอดะ และมีกำหนดเข้าฉายภายในปี 2023 

 

ล่าสุด อ.โอดะ เจ้าของผลงานมังงะต้นฉบับ และรับหน้าที่ดูแลในตำแหน่งเอ็กซ์คลูซีฟโปรดิวเซอร์ให้กับซีรีส์เรื่องนี้ ก็ได้ส่งจดหมายถึงแฟนๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าของซีรีส์ออกมาให้เราได้ติดตาม 

 

โดย ณ เวลานี้ตัวซีรีส์กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการถ่ายทำแล้ว และซีรีส์จะมีความยาวทั้งหมด 8 ตอน อีกทั้ง Netflix ยังให้สัญญาว่า ซีรีส์เรื่องนี้จะยังไม่เปิดตัวจนกว่า อ.โอดะ จะพอใจกับคุณภาพของซีรีส์   

 

“ผมร่วมงานกับ Tomorrow Studios และ Netflix มาระยะหนึ่งแล้ว ถึงเขาจะเข้าใจตัวละครแต่ละตัว แต่เรามาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เวลาทำงานในแวดวงบันเทิงนั้น เรามีแนวทาง ชุดทักษะ และจุดมุ่งหมาย ที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งเราทั้งสองฝ่ายก็หงุดหงิดอยู่บ้าง เพราะรู้สึกเหมือนว่า ‘เราก็พยายามทำงานให้ได้เป้าหมายเดียวกัน แต่ทำไมจูนกันไม่ติดสักที’ บางครั้งผมถึงกับคิดเลยว่า ‘เราจะทำงานสร้างแบบเมืองนอกได้เหรอ’

 

“ถึงจะมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่เราก็ทุ่มเททำงานหนักกันมาตลอด และตอนนี้ทุกฝ่ายทำงานแบบจูนกันติดหมดแล้ว ในที่สุดเราก็ทำได้!

 

“ถ้านับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของผม ผมเชื่อว่านี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะพา One Piece ออกสู่สายตาผู้ชมทั้งโลก ไหนๆ เราก็จะเดินหน้ากันต่อแล้ว ผมอยากจะดูแลทุกอย่างในขณะที่ยังมีแรงทำได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมตอบตกลงทำผลงานดัดแปลงฉบับคนแสดงจริงของ One Piece เมื่อปี 2016 

 

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Netflix ก็ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลให้กับการสร้างผลงานเรื่องนี้ มีการประกาศว่าซีรีส์เรื่องนี้จะเปิดตัวในปี 2023 แต่ Netflix ก็สัญญาว่าจะไม่ยอมเปิดตัวจนกว่าผมจะพอใจ

 

“ทีมนักแสดงและทีมงานที่ทำงานกันในหลายประเทศนั้นรัก One Piece มาก! ทุกคนไฟแรงสุดๆ และผมย้ำกับทุกคนที่เกี่ยวข้องว่า ควรสนุกไปกับการทำผลงานเรื่องนี้

 

“ตอนนี้เรามาถึงขั้นตอนสุดท้ายในการถ่ายทำทั้ง 8 ตอนให้เสร็จแล้ว

 

“ใกล้จะได้เปิดตัวกันเร็วๆ นี้แล้วนะ!”

 

 

สำหรับ One Piece ฉบับซีรีส์ไลฟ์แอ็กชัน จะได้ Steven Maeda จากซีรีส์ Lost (2004) และ Matt Owens จากซีรีส์ Agents of S.H.I.E.L.D. (2013) มารับหน้าที่เป็น Showrunner และเขียนบทร่วม พร้อมด้วย Tomorrow Studios ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ Cowboy Bebop (2021) และ Snowpiercer (2020) มารับหน้าที่ดูแลการผลิต  

 

ด้านรายชื่อนักแสดงที่จะมาสวมบทเป็นสมาชิกกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางครั้งนี้ประกอบด้วย Iñaki Godoy จากซีรีส์ Who Killed Sara? (2021) มาสวมบทเป็น กัปตัน มังกี้ ดี. ลูฟี่, Mackenyu Arata จาก Rurouni Kenshin: Final Chapter (2021) มารับบทเป็นนักดาบจอมหลงทาง โซโล, Emily Rudd จากซีรีส์ Fear Street (2021) มารับบทเป็นแมวขโมยมากเสน่ห์ นามิ, Jacob Gibson จากซีรีส์ Grey’s Anatomy (2019) มารับบทเป็นมือซุ่มยิงจอมโกหก อุซป และ Taz Skylar จากภาพยนตร์ The Kill Team (2019) มาสวมบทเป็นขาดำ ซันจิ

 

ภาพ: Netflix 

The post “Netflix สัญญาว่าจะไม่ยอมเปิดตัวจนกว่าผมจะพอใจ” อ.โอดะ เผยความคืบหน้า One Piece ฉบับไลฟ์แอ็กชัน appeared first on THE STANDARD.

]]>
Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre เมื่องานภาพที่ไร้มิติ ทำให้เสน่ห์ของความสยองขวัญถูกลดทอน https://thestandard.co/junji-ito-maniac-spotlight/ Mon, 23 Jan 2023 08:47:50 +0000 https://thestandard.co/?p=740793

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre คืออนิเ […]

The post Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre เมื่องานภาพที่ไร้มิติ ทำให้เสน่ห์ของความสยองขวัญถูกลดทอน appeared first on THE STANDARD.

]]>

Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre คืออนิเมะที่หยิบนำ 20 มังงะแนวสยองขวัญเรื่องเยี่ยมของ จุนจิ อิโต้ มาดัดแปลงเป็นฉบับอนิเมะ โดยได้ ชิโนบุ ทากาชิระ จาก Junji Ito ‘Collection’ มานั่งแท่นผู้กำกับและออกแบบตัวละคร พร้อมด้วย คาโอรุ ซาวาดะ จาก Junji Ito ‘Collection’ มารับหน้าที่เขียนบท และได้ Studio Deen มารับหน้าที่ดูแลการผลิต

 

จุนจิ อิโต้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งนักเขียนมังงะที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการถ่ายทอดภาพความบิดเบี้ยว สยดสยอง เหนือธรรมชาติ จนกลายเป็นภาพติดตาของผู้อ่านตั้งแต่แรกเห็น ดังนั้นแล้วเมื่อ Netflix ตัดสินใจนำผลงานของ จุนจิ อิโต้ มาดัดแปลงเป็นฉบับอนิเมะความยาว 12 ตอน ก็เป็นที่แน่นอนว่าความคาดหวังที่เราอยากเห็นคืองานภาพสุดสยองอันเป็นเอกลักษณ์ของ จุนจิ อิโต้

 

แต่ดูเหมือนว่าผู้กำกับและทีมสร้างจะนำเสนอจุดเด่นดังกล่าวออกมาได้ไม่ค่อยลงตัวเท่าไรนัก โดยข้อสังเกตประการแรกที่ผู้เขียนรู้สึกติดขัดมากๆ คืองานภาพที่ไม่มีมิติ ไล่เลียงตั้งแต่การเคลื่อนไหวของตัวละครที่ดูไม่ลื่นไหล ฉากบางฉากที่เราคิดว่าทีมสร้างยังลงรายละเอียดได้ไม่ดีนัก เช่น ฉากบาดแผล แววตาของตัวละคร ไปจนถึงงานแสงเงาและมุมกล้องของเรื่องที่ยังทำออกมาดูเรียบไปหน่อย จึงทำให้งานภาพดูแบนราบเกินไป ไม่น่าดึงดูด

 

ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ก็ส่งผลมาถึงฉากสยองขวัญของเรื่องที่ก็พอทำให้เรารู้สึกชวนขนลุกอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่สามารถทำให้เราจดจำฉากต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

 

ตัดสลับมาที่เนื้อเรื่องกันบ้าง เนื่องจากเนื้อหาของอนิเมะเป็นการหยิบนำ 20 เรื่องสั้นของ จุนจิ อิโต้ มานำเสนอเป็นอนิเมะ 12 ตอน ซึ่งสำหรับผู้เขียนก็มีตอนที่ชอบและไม่ชอบปะปนกันไป

 

โดยหนึ่งในตอนที่เราชื่นชอบมากที่สุดเห็นจะเป็นตอน ‘ลูกโป่งหัวมนุษย์’ ที่เรารู้สึกว่าทีมสร้างสามารถนำเสนอออกมาได้กลมกล่อมที่สุดแล้วในบรรดา 12 ตอน ทั้งรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ การไต่ระดับความระทึกที่ทำให้เราหวาดผวาไปกับตัวละคร และปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่น่าพิศวง จนสามารถทำให้เราอินไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ในทันที

 

ดังนั้นแล้วในแง่ของเนื้อเรื่อง เราคิดว่ามันอาจขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ชมแต่ละคนว่าคุณจะถูกจริตกับเรื่องราวและความสยองขวัญที่ถูกนำเสนอในตอนไหนบ้าง\

 

 

ในภาพรวมแล้ว Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre ค่อนข้างเป็นอนิเมะที่เรารู้สึกติดขัดมากๆ ในแง่ของงานภาพที่ไร้มิติและไม่มีเสน่ห์ดึงดูด ซึ่งมันส่งผลมาถึงเสน่ห์ของฉากสยองขวัญต่างๆ ที่ถูกลดทอนไปพอสมควร ขณะที่เนื้อเรื่องนั้นต่างก็มีความน่าสนใจมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ด้วยปัญหาด้านงานภาพ จึงส่งผลให้ภาพรวมของเรื่องดูขาดความกลมกล่อมอยู่มากทีเดียว

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่:

 

 

ภาพ: Netflix

The post Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre เมื่องานภาพที่ไร้มิติ ทำให้เสน่ห์ของความสยองขวัญถูกลดทอน appeared first on THE STANDARD.

]]>
Monster จากมังงะระดับตำนานที่ตั้งคำถามถึงปรัชญาชีวิต สู่อนิเมะขึ้นหิ้งที่เกือบจะได้กลายเป็นภาพยนตร์คนแสดง https://thestandard.co/spotlight-monster-anime/ Tue, 03 Jan 2023 09:46:35 +0000 https://thestandard.co/?p=732348

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อศัลยแพทย์คนหนึ่งได้ช่วยชีวิตเด็กเอาไ […]

The post Monster จากมังงะระดับตำนานที่ตั้งคำถามถึงปรัชญาชีวิต สู่อนิเมะขึ้นหิ้งที่เกือบจะได้กลายเป็นภาพยนตร์คนแสดง appeared first on THE STANDARD.

]]>

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อศัลยแพทย์คนหนึ่งได้ช่วยชีวิตเด็กเอาไว้ แต่กลับพบว่าเด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมากลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง?

 

ย้อนกลับไปยังปลายปี 90 ค่อนปี 2000 วงการมังงะญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในทั่วทุกมุมโลก หลายเรื่องกลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของแฟนๆ อย่างล้นหลามในเวลาอันสั้น หลายเรื่องถูกยกให้กลายเป็นตำนานประดับวงการ แต่หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดจากนักอ่านในช่วงเวลานั้นคือ Monster คนปีศาจ (1994-2001) 

 

Monster คือผลงานที่หลายคนต่างก็ยกย่องให้เป็นหนึ่งในมังงะชั้นเยี่ยมของนักเขียนมังงะชื่อดัง นาโอกิ อูราซาวะ (20th Century Boys, Yawara!, Asadora!, Master Keaton, Pluto และ Billy Bat) จนถึงขั้นมีคำกล่าวว่าหากผลงานของเขาสักเรื่องที่ควรจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คนแสดงมากที่สุด หนึ่งในนั้นต้องหนีไม่พ้นเรื่องนี้อย่างแน่นอน 

 

ด้วยเนื้อหาสุดลึกลับชวนน่าติดตามที่มาพร้อมกับการสืบเสาะหาความจริงที่สะท้อนไปถึงรากเหง้าอันโหดร้ายและดีงามของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง ก็ทำให้เรื่องราวที่สุดแสนจะเข้มข้นกลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของนักอ่านส่วนใหญ่จนยกให้ผลงานของอูราซาวะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกที่พวกเขาต่างก็ชื่นชอบและแนะนำผู้อื่นมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

อีกทั้งยังทำยอดขายได้มากถึง 20 ล้านเล่ม ทำให้ Monster กลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ของวงการมังงะญี่ปุ่นไปโดยปริยาย และทำให้ชื่อของ นาโอกิ อูราซาวะ ดังไกลไปครึ่งค่อนโลกในฐานะนักเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา 

 

จนเมื่อปี 2009 New Line Cinema ได้พยายามติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ พร้อมกับคว้าตัว Josh Olson คนเขียนบทที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง A History of Violence (2005) มาทำหน้าที่ดูแลและเขียนบทภาพยนตร์ แต่ด้วยปัญหาหลายอย่างๆ ก็ทำให้สตูดิโอต้องพับโปรเจกต์นี้ไป 

 

ต่อมาในปี 2013 ผู้กำกับมือทองอย่าง Guillermo del Toro ก็ได้ขุดความคิดที่จะเอา Monster ฉบับคนแสดงขึ้นมาทำให้เป็นจริงอีกครั้งด้วยการจับมือกับช่อง HBO ในการซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นซีรีส์ แต่ด้วยปัจจัยที่ซับซ้อนหลายอย่าง ทำให้ต้องพับโปรเจกต์นี้ไปอย่างน่าเสียดาย Monster ฉบับคนแสดงจึงยังคงเป็นเพียงแค่ความฝันของแฟนมังงะต่อไป

 

 

Monster ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกลงในนิตยสาร Big Comic Original ปี 1994 ว่าด้วยเรื่องราวของ ดร.เคนโซ เท็นมะ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่งอนาคตไกลที่ต้องออกตามล่าตัวของฆาตกรต่อเนื่องที่มีชื่อว่า โยฮัน เด็กหนุ่มที่เขาเคยช่วยชีวิตเอาไว้ในตอนเด็ก และยิ่งชายหนุ่มออกเดินทางไปไกลมากเท่าไร เขาก็จะยิ่งได้พบกับความจริงที่จะสั่นคลอนความเชื่อของเขามากยิ่งขึ้น

 

Monster เป็นผลงานที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของอูราซาวะได้อย่างครบถ้วน เรื่องราวมักเน้นไปที่การตามสืบหาความจริงของตัวบุคคล และการสำรวจแง่มุมต่างๆ ของมนุษย์ ตัวละครเหล่านั้นเป็นเหมือนตัวแทน ‘ความซับซ้อน’ ที่ไม่ว่าจะทำสิ่งที่เลวร้ายแค่ไหน พวกเขาก็ยังมีแง่ความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ นั่นก็เพราะอูราซาวะเชื่อมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ด้านที่สว่างไสวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีด้านที่มืดมิดอยู่ด้วยเช่นกัน

 

การดำรงอยู่และจากลาของทุกตัวละครจึงมี ‘หน้าที่’ ในการนำเสนอด้านใดด้านหนึ่งของมนุษย์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตัวหลัก ตัวรอง หรือแม้กระทั่งตัวประกอบที่โผล่มาเพียงแค่ตอนเดียวก็ตาม พวกเขาทุกคนล้วนเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนถึงแง่มุมของมนุษย์ในแบบต่างๆ

 

ซึ่งการที่อูราซาวะหยิบยกเอาประเทศเยอรมนีในยุคสงครามเย็นมาเป็นพื้นหลังของเรื่องแทนที่จะเป็นประเทศญี่ปุ่นก็เพื่อให้คนอ่านได้มองเห็นถึงช่วงเวลาอันแร้นแค้นและผลพวงจากสงครามที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ และคนที่ประสบเคราะห์กรรมนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกเสียจากตัวของมนุษย์ด้วยกันเอง ฉะนั้นการอนุมานว่าปีศาจที่น่ากลัวที่สุดคือมนุษย์ก็คงเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ

 

 

อูราซาวะไม่เพียงแค่ทำให้คนอ่านได้เข้าไปสำรวจถึงตัวตน และแง่มุมของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า การที่คนคนหนึ่งจะเป็นแบบไหนก็อาจมีที่มาจากธรรมชาติแวดล้อมที่เขาอยู่อาศัยด้วย อย่างไรก็ตาม การอยู่ในธรรมชาติเดียวกันก็สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นคนแบบไหนได้เช่นกัน เพราะมนุษย์มีหลายด้าน และการจะเป็นคนแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวเอง

 

ความเท่าเทียมจึงกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อูราซาวะหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามตั้งแต่ชีวิตของผู้คนไปจนถึงความตาย ว่าอะไรคือสิ่งที่เท่าเทียมที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน แน่นอนว่าคำตอบของคำถามดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และสำหรับตัวละครภายในเรื่องเองก็ไม่ต่างกัน พวกเขามีความเชื่อในแบบของตัวเอง แต่อะไรคือคำตอบที่ถูกต้องที่สุด การมีชีวิตอยู่หรือความตาย?

 

คำถามสำคัญที่ตามมาจึงเป็น การตัดสินใจแบบไหนคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด? มองเผินๆ อาจคิดว่ามังงะเรื่องนี้เป็นแนวสืบสวนสอบสวนธรรมดาทั่วไปว่าด้วยศัลยแพทย์หนุ่มที่ตามหาตัวฆาตกรต่อเนื่องเพื่อล้างมลทินให้กับตัวเอง แต่แท้จริงแล้วการตามหาตัวฆาตกรของชายหนุ่มนั้นทำไปเพราะเขาคิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบของตนที่ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไปในอดีตเสียมากกว่า ส่วนบทสรุปของฆาตกรทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเขาออกไปใช้ชีวิตเยี่ยงคนธรรมดาทั่วไปหรือยังฆ่าคนอยู่ ด้านอูราซาวะเลือกที่จะไม่ฟังธง แต่ให้คนอ่านเป็นผู้ตัดสินชีวิตของตัวละครเอง

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่อูราซาวะได้ชี้ชวนให้คนอ่านเข้าไปสำรวจคือ ‘ชื่อ’ ที่ไม่ใช่แค่เครื่องมือยืนยันถึงตัวตนและการดำรงอยู่ แต่อีกด้าน ‘ชื่อ’ คือสิ่งที่แสดงถึง ‘ตำแหน่ง’ และ ‘อำนาจ’ ทางสังคม หากชีวิตที่เหลืออยู่ของมนุษย์คนหนึ่งกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้จักอีกต่อไป ความสัมพันธ์ของตัวบุคคลที่มีต่อกันจะเปลี่ยนไปหรือไม่? 

 

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงที่ว่าจะต้องเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นอาจหมายถึงมุมมองที่เรามีต่อมนุษย์คนหนึ่งด้วยเช่นกัน และอะไรคือสิ่งที่ยืนยันถึงตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ ‘ชื่อ’ หรือ ‘เนื้อแท้’ สำหรับอูราซาวะการสำรวจลึกลงไปถึงสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจึงเป็นเหมือนการตั้งคำถามย้อนกลับมายังคนอ่านราวกับความหมายของมันมีมากกว่าที่ตาเห็น และต่อให้เห็นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เห็นจะเป็นความจริงทุกอย่าง

 

 

จุดเด่นอีกอย่างที่สำคัญของ Monster นอกเหนือจากการผูกปมเรื่องได้อย่างชาญฉลาด เนื้อหาที่สะท้อนไปถึงรากเหง้าของความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น และการตั้งคำถามถึงระบอบเผด็จการ สงคราม รวมไปถึงปรัชญาการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างจากแบบแผนมังงะทั่วไปในยุคนั้น ฮุราซาวะเลือกใช้วิธีการดำเนินเรื่องราวต่างๆ ของตัวละครให้ออกมาคล้ายคลึงกับวิธีที่ใช้ในการกำกับภาพยนตร์ โดยเขาให้เหตุผลว่า 

 

“วิธีที่ผมเข้าถึงการ์ตูน (มังงะ) น่าจะใกล้เคียงกับการสร้างสตอรีบอร์ดของภาพยนตร์ แต่เมื่อคุณเข้าสู่โลกของการสร้างภาพยนตร์มันมีข้อจำกัดมากมายที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ตราบใดที่ผมมีปากกาและกระดาษ ผมก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด”

 

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ผลงานชิ้นนี้ของอูราซาวะที่มีความยาวถึง 162 ตอน (ถูกสร้างเป็นอนิเมะทีวีซีรีส์จำนวน 74 ตอนในปี 2004-2005) จะกลายเป็นที่พูดถึงไม่เพียงแค่ในแง่ของความลึกลับชวนน่าติดตาม เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้ Monster สามารถจับจองหัวใจของแฟนๆ มังงะจากทั่วทุกมุมโลกมาอย่างยาวนานคือ เรื่องของความเป็นมนุษย์ที่ถูกสะท้อนออกมาจากตัวงานที่ไม่เพียงแค่พาเข้าไปสำรวจถึงชีวิตและจิตใจ แต่ยังตั้งคำถามกลับมายังคนอ่านได้อย่างชวนขบคิดและมีมิติราวกับเป็นโลกที่แสนสมจริงของเราทุกคน

 

สามารถรับชม Monster คนปีศาจ ฉบับอนิเมะจำนวน 30 ตอน (จากทั้งสิ้น 74 ตอน) ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

 

อ้างอิง:

The post Monster จากมังงะระดับตำนานที่ตั้งคำถามถึงปรัชญาชีวิต สู่อนิเมะขึ้นหิ้งที่เกือบจะได้กลายเป็นภาพยนตร์คนแสดง appeared first on THE STANDARD.

]]>
The First Slam Dunk เผยตัวอย่างล่าสุด พร้อมรายชื่อนักพากย์ให้เสียง 5 สมาชิกทีมโชโฮคุ https://thestandard.co/the-first-slam-dunk-trailer/ Sat, 05 Nov 2022 05:38:30 +0000 https://thestandard.co/?p=704720

The First Slam Dunk ภาพยนตร์อนิเมะที่ดัดแปลงมาจากมังงะแ […]

The post The First Slam Dunk เผยตัวอย่างล่าสุด พร้อมรายชื่อนักพากย์ให้เสียง 5 สมาชิกทีมโชโฮคุ appeared first on THE STANDARD.

]]>

The First Slam Dunk ภาพยนตร์อนิเมะที่ดัดแปลงมาจากมังงะแนวกีฬาระดับขึ้นหิ้งอย่าง Slam Dunk ผลงานจากปลายปากกาของ ทาเกฮิโกะ อิโนอูเอะ ได้ปล่อยตัวอย่างล่าสุด พร้อมเผยรายชื่อนักพากย์ที่จะมาให้เสียง 5 ตัวละครหลัก โดยภาพยนตร์มีกำหนดเข้าฉายในญี่ปุ่นวันที่ 3 ธันวาคมนี้

 

 

สำหรับรายชื่อนักพากย์ที่จะมาให้เสียงเหล่าสมาชิกทีมโชโฮคุในครั้งนี้ประกอบด้วย ชูโกะ นากามูระ จาก Blue Lock มาให้เสียงเป็น เรียวตะ มิยางิ, จุน คาซามะ จาก Haikyu!! To The Top ให้เสียงพากย์เป็น ฮิซาชิ มิสึอิ, ชินอิจิโร่ คามิโอะ จาก Komi Can’t Communicate ให้เสียงพากย์เป็น คาเอเดะ รุคาวะ, ซูบารุ คิมุระ จาก Jujutsu Kaisen มาให้เสียงพากย์เป็น ฮานามิจิ ซากุรางิ และ เคนตะ มิยาเกะ จาก Berserk มาให้เสียงพากย์เป็น ทาเคโนริ อาคางิ 

 

ภาพยนตร์ได้ อ.ทาเกฮิโกะ อิโนอูเอะ เจ้าของมังงะต้นฉบับ มานั่งแท่นผู้กำกับและเขียนบท และได้สตูดิโอ Toei Animation มารับหน้าที่ดูแลการผลิต นอกจากนี้ยังได้ศิลปินชื่อดังอย่าง The Birthday มารับหน้าที่ร้องเพลงเปิด (Opening) และ 10-FEET มารับหน้าที่ร้องเพลงปิด (Ending) อีกด้วย 

 

 

สำหรับ Slam Dunk คือมังงะแนวกีฬายอดฮิตจากปลายปากกาของ ทาเกฮิโกะ อิโนอูเอะ เริ่มตีพิมพ์ลงนิตยสาร Weekly Shonen Jump ในปี 1990-1996 และออกตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มจำนวน 31 เล่มจบ ก่อนที่จะถูกดัดแปลงเป็นฉบับอนิเมะซีรีส์ออกมาในปี 1993 โดยสตูดิโอ Toei Animation

 

บอกเล่าเรื่องราวของ ฮานามิจิ ซากุรางิ เด็กหนุ่มมัธยมปลายผู้มีผมสีแดงอันโดดเด่นและเก่งกาจเรื่องการชกต่อย แต่กลับเป็นคนที่ไม่มีดวงเรื่องความรัก จนกระทั่งวันหนึ่งซากุรางิดันไปตกหลุมรัก ฮารุโกะ อาคางิ หญิงสาวผู้หลงใหลในกีฬาบาสเกตบอล เขาจึงตัดสินใจสมัครเข้าชมรมบาสเกตบอลทั้งๆ ที่เล่นไม่เป็น เพื่อหวังว่าจะเอาชนะใจเธอ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่านั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่เส้นทางการแข่งขันบาสเกตบอลอันดุเดือด การต่อสู้ และมิตรภาพของเขากับอัจฉริยะอย่าง คาเอเดะ รุคาวะ และทีมโชโฮคุ ที่ส่งให้ Slam Dunk กลายเป็นมังงะกีฬาที่ผู้อ่านทั่วโลกต่างหลงรัก

 

 

รับชมตัวอย่างได้ทาง

 

 

รับชมรายการ โลกคือการ์ตูน EP.23 ผ่านมา 30 ปี ทำไม Slam Dunk ยังเป็นหนึ่งในการ์ตูนกีฬาที่ดีที่สุด Feat. สะอาด ได้ที่

 

 

อ้างอิง:

The post The First Slam Dunk เผยตัวอย่างล่าสุด พร้อมรายชื่อนักพากย์ให้เสียง 5 สมาชิกทีมโชโฮคุ appeared first on THE STANDARD.

]]>