- ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ ชะลอลงต่ำกว่าคาด การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 77,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk Off โดย VIX Index พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบปีนี้
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยการจ้างงานภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 ขณะที่การยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นสะท้อนผลกระทบจากนโยบายลดขนาดรัฐบาลกลางของทรัมป์ที่นำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมาก
- ความแตกต่างระหว่างนโยบายของสองมหาอำนาจสะท้อนการปะทะกันของแนวคิดเศรษฐกิจที่อาจนำไปสู่การแบ่งแยกเศรษฐกิจโลกเป็นสองขั้ว (Decoupling) มากขึ้น โดยสหรัฐฯ มุ่งปกป้องผลประโยชน์ภายในประเทศและลดบทบาทระดับโลก ในขณะที่จีนกำลังวางรากฐานระยะยาวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเดินหน้าเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 20% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าทั้ง 3 ประเทศออกมาตรการตอบโต้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทรัมป์ประกาศว่าจะชะลอเก็บภาษีรถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกอีกหนึ่งเดือน
นอกจากนั้น ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ชะลอลงต่ำกว่าคาด การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 77,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk Off โดย VIX Index พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบปีนี้
ด้าน ECB ปรับลดดอกเบี้ย 25 BPS ตามคาด เยอรมนีประกาศเตรียมจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 5 แสนล้านยูโร ตลาดหุ้นยุโรป STOXX 600 ยังเป็นตลาดที่ปรับขึ้นเด่น YTD
ด้านตลาดหุ้น EM ปรับขึ้น 3.1% หลังรัฐบาลจีนประกาศตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ปีนี้ที่ 5%, เพิ่มเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณเป็น 4% จาก 3%, เตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษ มูลค่า 1.3 ล้านล้านหยวน พร้อมให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการสนับสนุนการอุปโภคบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงปิดต่ำกว่า 1,200 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี แรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังเปราะบาง รวมถึงความกังวลจากประเด็นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ด้านตลาดน้ำมันอ่อนตัวลงกดดันจากการมติเพิ่มการผลิตของกลุ่ม OPEC เดือนละ +1.38 แสนบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นเวลา 18 เดือน
‘เศรษฐกิจโลก 2 ขั้ว’ ชัดเจนขึ้น
บล.อินโนเวสท์ เอ็กซ์ วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยการจ้างงานภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 ขณะที่การยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นสะท้อนผลกระทบจากนโยบายลดขนาดรัฐบาลกลางของทรัมป์ที่นำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมาก รวมถึงการลดพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Starbucks, Meta และ Southwest Airlines สะท้อนความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมที่ทำให้ธุรกิจชะลอการจ้างงาน โดยภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 20 คน
เรามองว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้นถึง 30 BPS มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 1990 เป็นผลจากแผนการใช้จ่ายของว่าที่นายกฯ Friedrich Merz เสนอ ที่ยุติข้อจำกัดด้านการคลัง (Debt Brake) ที่ไม่ให้ขาดดุลเกิน 0.4% ของ GDP โดย Merz จะจัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่า 5 แสนล้านยูโร สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้จ่ายด้านกลาโหมเกิน 1% ของ GDP เพื่อตอบสนองต่อภาระด้านความมั่นคงในยูเครนมากขึ้นหลังจากข้อตกลงสันติภาพระหว่างประธานาธิบดีเซเลนสกี้และทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ
เรามองว่า ความแตกต่างระหว่างนโยบายของสองมหาอำนาจสะท้อนการปะทะกันของแนวคิดเศรษฐกิจที่อาจนำไปสู่การแบ่งแยกเศรษฐกิจโลกเป็นสองขั้ว (Decoupling) มากขึ้น
โดยสหรัฐฯ มุ่งปกป้องผลประโยชน์ภายในประเทศและลดบทบาทระดับโลก ในขณะที่จีนกำลังวางรากฐานระยะยาวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์อย่างเอเชียตะวันออกและยุโรป
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Undervalued สำหรับลงทุนใน SET 100 เลือก CPALL, BDMS, MTC, MINT และ BTG
- หุ้น Dividend Play ซึ่งมี Dividend Yield เกิน 3% เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ AP, KTB, KBANK, BBL, PTT และ SPALI
- หุ้น Earnings Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นสะท้อนโมเมนตัมกำไร 1Q68 อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก ADVANC, TRUE, AMATA, TIDLOR, MTC, AU และ HTC
- Trading Idea: หุ้นที่คาดได้ Sentiment บวกจากงาน Opp. Day ซึ่งคาดว่าจะมีโทนประชุมเป็นบวกในสัปดาห์นี้ อย่าง AU, TIDLOR, BTG และ PTG
“มอง SET น่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวบ้าง โดยคาดว่าตลาดจะมีแรงหนุนจากปัจจัยภายนอก อาทิเช่น สหรัฐฯ อาจเลื่อนเก็บภาษีนำเข้าบางรายการจากเม็กซิโกและแคนาดา ขณะที่จีนจะยังมีความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนั้นเงินเฟ้อของจีนและสหรัฐฯ คาดยังไม่เปลี่ยนแนวโน้ม ทั้งนี้เป็นผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งน่าจะทำให้เฟดยังไม่เปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน นอกจากนั้นเสถียรภาพทางการเมืองและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ รวมถึงตัวเลขการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเดือนเมษายน และเงื่อนไขของกองทุน ThaiESGX ซึ่งจะทำให้ตลาดมีแรงขายลดลง” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
สัปดาห์นี้ต้องติดตาม
- ความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า
- อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯ
- ม. หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยเดือนกุมภาพันธ์
- การประชุมสองสภา (Two sessions) ของจีนที่ดำเนินมาต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BCH - ปี 2025 คาดกำไรโตเด่นสุดในกลุ่ม
แนะนำ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือ BCH เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- ผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีความแข็งแกร่งในตลาดผู้ป่วยเงินสดที่มีรายได้ระดับกลางและตลาดผู้ป่วยประกันสังคม ซึ่งมีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ตามการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์การแพทย์ทั้งกลุ่มเงินและกลุ่มประกันสังคม
- 1Q25 คาดกำไรยังโตต่อเนื่อง QoQ และ YoY ส่วนปี 2025 คาดกำไรปกติเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มการแพทย์ที่ 15%YoY ปัจจัยหนุนจาก
- การขยาย/ปรับปรุงโรงพยาบาลในปี 2024-2025
- การอัปเกรดโรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี เป็นโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปทุมธานีใน 1Q25
- การเพิ่มบริการใหม่ๆ
- การดำเนินงานที่เติบโตมากขึ้นที่โรงพยาบาลใหม่ 3 แห่ง (อรัญประเทศ ปราจีนบุรี และเวียงจันทน์)
- Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายที่ PER 25F ระดับ 22.5 เท่า คิดเป็น -2SD ของ PER เฉลี่ยในอดีตของบริษัท จึงทำให้มอง Risk / Reward น่าสนใจ
- เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 21.50 บาท อิงวิธี DCF (WACC ที่ 7.1% และอัตราการเติบโตระยะยาวที่ 3%) และมีเงินปันผลจ่ายจากกำไร 2H24 หุ้นละ 0.28 บาท (XD วันที่ 2 พฤษภาคม) คิดเป็น Dividend Yield ราว 1.8%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเสี่ยงสงครามการค้ารุนแรงขึ้นหลังทรัมป์เริ่มใช้นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน, แคนาดาและเม็กซิโก ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีแผนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน นอกจากนี้จีนมีการประชุมสภาซึ่งเน้นสนับสนุนการบริโภคในประเทศและลดการพึ่งพาการส่งออก ขณะที่ทรัมป์มีการปราศรัยในสภาเช่นกัน โดยเน้นการลงทุนในประเทศและมีแนวโน้มแข็งกร้าวต่อการค้าระหว่างประเทศ ด้วยภาพนี้เราจึงประเมินว่าการลงทุนในช่วงนี้ยังคงมีความเสี่ยงจาก Geopolitical Risk และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ในระยะสั้นเราแนะอยู่ในซอฟต์แวร์, Cybersecurity และ Selective Buy ในจีน
- สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ด้านจีนถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรรอบที่สอง 10% ทำให้ภาษีศุลกากรรวมเพิ่มขึ้นสู่ 20% ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีแผนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน โดยแคนาดาประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้า 25% และจีนเรียกเก็บภาษีบางรายการเพิ่มอีก 10% – 15% ส่วนเม็กซิโกยืนยันว่าจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ
- สรุปสาระสำคัญจากคำปราศรัยของประธานาธิบดีทรัมป์
- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: วิจารณ์เกาหลีใต้เรื่องภาษีสินค้าสหรัฐฯ และ Chip Act ขณะที่ยูเครนพร้อมลงนามข้อตกลงด้านแร่ธาตุ และเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้ง ส่วนกรีนแลนด์ สหรัฐฯ ต้องการเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะในด้านแร่ธาตุหายาก
- นโยบายเศรษฐกิจและการค้า: สนับสนุนการใช้ภาษีศุลกากรเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ, เรียกร้องให้รัฐสภายกเลิกโครงการ Chips Act มูลค่า 52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และพิจารณาเก็บภาษีนำเข้าชิปแทน, วางแผนส่งออกก๊าซธรรมชาติจาก อลาสก้าเพื่อลดราคาพลังงาน
- นโยบายภายในประเทศ: เสนอไม่เก็บภาษีจากรายได้ที่มาจากทิป การทำงานล่วงเวลา และผลประโยชน์จากประกันสังคม รวมถึงต้องการให้ดอกเบี้ยจ่ายสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ นำไปลดหย่อนภาษีได้และสนับสนุนงบด้านความมั่นคงชายแดน
- สรุปเป้าหมายเศรษฐกิจและนโยบายจีนปี 2025 จากการประชุม NPC
- เป้าหมายเศรษฐกิจหลัก: รัฐบาลจีนตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ที่ 5% และลดเงินเฟ้อเหลือ 2%
- มาตรการการคลัง: เพิ่มเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณเป็นประมาณ 4.0% ของ GDP และโควตาออกพันธบัตรที่ 11.9 ล้านล้านหยวน
- นโยบายการกระตุ้นการบริโภค: ปรับปรุงกลไกการเติบโตของค่าจ้างเพื่อการฟื้นตัวของรายได้และส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น
- นโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม: ลดการใช้พลังงานต่อหน่วย GDP ลง 3% ในปี 2025
- นโยบายอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สนับสนุนการใช้งานโมเดล AI ขนาดใหญ่
- นโยบายภาคอสังหาริมทรัพย์: ลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
- นโยบายการเงิน ส่งเสริมการพัฒนาที่ดีของตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น
- ในภาพนี้ทำให้เราประเมินได้ว่าการลงทุนในระยะถัดไปยังคงมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งประเด็นนี้ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดผันผวนได้ ในระยะสั้น เราแนะอยู่ใน 1. กลุ่มซอฟต์แวร์และ Cybersecurity: แนวโน้มการเติบโตยังดีหนุนจากอุปสงค์ AI เป็นสำคัญ รวมถึงได้รับผลกระทบจำกัดจากนโยบายคุมเข้มการส่งออกเซมิฯและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อย่าง MSFT AMZN GOOGL ORCL CRM PANW CRWD 2. ฝั่งตลาดหุ้นจีน เราแนะ Selective Buy ใน Lenovo Xiaomi Tencent Alibaba
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น สงครามในยูเครน ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน และข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าต่างๆ โดยทรัมป์ยืนยันจะเริ่มใช้มาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนนี้ ส่งผลให้มีแรงขายทำกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมามาก
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
แม้ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้มีแรงซื้อเพิ่มขึ้นบน UST และกดดันให้ UST Yield ตัวยาว ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่มีโอกาสที่ UST Yield ตัวยาว จะกลับมาเพิ่มขึ้นยังมีอยู่ จากความกังวลแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ Term Premium เพิ่มขึ้น และจากการที่ทรัมป์มีแนวโน้มยกระดับแผนการเก็บภาษีนำเข้าขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ Fed ระมัดระวังในการลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ Bond ตัวสั้น มีความเสี่ยง Duration ต่ำ และมี Coupon ที่สูงมากพอ จึงทำให้ยังน่าสนใจลงทุน
U.S. Treasury & IG
UST Yield มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ตามที่ทรัมป์ยืนยันว่า จะเริ่มใช้ Reciprocal Tariffs กับทุกประเทศที่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ นับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน แม้ความเป็นไปได้ที่ Fed จะชะลอหรือหยุดทำ QT ชั่วคราวจนกว่าปัญหาเพดานหนี้จะได้รับการแก้ไข และความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ UST Yield ในช่วงสั้น ก็ตาม ทั้งนี้ แนะนำลงทุน UST และ US IG bond โดยเน้น Duration สั้น ที่ให้ Yield เฉลี่ยสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed
High Yield Bond
US HY ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกจาก
- อัตราการผิดนัดชำระหนี้ 12 เดือนย้อนหลังของ US HY ยังต่ำอยู่ที่ 3.8%
- การ leverage (Net Debt to EBITDA) ที่ยังต่ำ
- หุ้นกู้ US HY ที่จะครบกำหนดในปี 2568 ไม่สูงมาก อยู่ที่เพียง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ US HY Spread ที่อยู่ต่ำและเสี่ยงกว้างขึ้นจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น
บ่งชี้จาก YTD สัดส่วนหุ้นกู้ที่อันดับเครดิตแย่ลง (Fallen Angels) มีสูงกว่า หุ้นกู้ที่อันดับเครดิตดีขึ้น (Rising Stars) อาจกดดัน upside ของ HY
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
REITs เป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงระยะยาว และเป็นการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง Occupancy Rate อยู่ในระดับสูงราว 94% กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) เติบโตต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มดีขึ้น จากต้นทุนการเงินที่ลดลง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง โดยเราคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยรวม 50 BPS ภายในสิ้นปี 2568 ส่วนงบดุลที่แข็งแกร่ง รองรับการเติบโตในอนาคตได้ และ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง เทียบค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจาก Bond Yield สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้น จากนโยบายทรัมป์และเงินเฟ้อหนืด
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ดี เรายังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ ถูกกดดันระยะสั้นจาก
- ความกังวลต่อการที่ทรัมป์จะเก็บ Reciprocal Tariffs ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งอาจกดดันภาคการส่งออกของไทย ตั้งแต่ 2Q68
- แรงขายกองทุนรวม LTF ที่ยังมีอยู่
- ความกังวลต่อ EPS ดัชนีฯ ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง จากแนวโน้มเศรษฐกิจใน 2H2568 ชะลอตัว อย่างไรก็ดี เราคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยหนุน EPS ของหุ้นขนาดใหญ่ รวมทั้ง แนวโน้มการออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูตลาดทุนไทยของตลท. ทั้ง 4 โครงการ (Jump+, New S-Curve Economy, Treasury Stock Buyback และ TISA) หากได้รับการอนุมัติ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทย ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับน่าสนใจลงทุน
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบของแผนภาษีนำเข้าของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเสี่ยงทำให้ Consensus ปรับลดคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ และ EPS ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลง ส่วนหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของ ECB จากผลการเลือกตั้งเยอรมนี ที่จะช่วยหนุนแนวโน้มการใช้จ่ายในเยอรมนี โดยเฉพาะด้านการทหาร และลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แม้ยุโรปยังเผชิญความเสี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่กลับมา และการปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่น แม้เงินเยนที่แข็งค่าช่วงที่ผ่าน และความเสี่ยงจากแผนกีดกันการค้าของสหรัฐฯ อาจกดดันโมเมนตัม EPS ก็ตาม
หุ้นสหรัฐฯ
แม้ ในปัจจุบัน ตลาดคาด S&P 500 EPS ปี 2568 และปี 2569 จะ +10% และ +9% YoY ตามลำดับ และจะเติบโตเป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังของตลาดต่อแนวโน้มการผลักดันแผนลดภาษีเงินได้ และการผ่อนคลายกฎระเบียบของทรัมป์ รวมถึงความคาดหวังผลบวกจากกระแส AI สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยความเสี่ยงสงครามการค้าที่มีมากขึ้น หลังทรัมป์ยังทยอยออกมาตรการกีดกันการค้ารอบใหม่ อาจเพิ่มความกังวลของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนนำไปสู่การปรับลดทั้งคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ และ EPS ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ ขณะที่ P/E ตลาดฯ แม้ลดลงมาในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังแพงเมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 5 ปี จึงเสี่ยงลดลงต่อ หากโมเมนตัม EPS ชะลอลง
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ ECB สู่ Neutral RTate ที่ 2% ขณะที่ Valuation ของดัชนีฯ น่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้การผลักดันผ่านร่างกฎหมายแบบเร่งด่วนบนประเด็นการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหาร และ การเพิ่มเพดานหนี้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนวันที่ 25 มีนาคม 2568 ของเยอรมนี มีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อ Sentiment อย่างไรก็ตาม ความกังวลบนประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 25% บนกลุ่มยานยนต์และสินค้าหลักอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของยุโรป อาจเพิ่มความผันผวนต่อดัชนีฯ
หุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก
- ความคาดหวังการผ่านร่างงบประมาณ หลังสภาผู้แทนฯ ญี่ปุ่นมีมติอนุมัติร่างงบฯ ปี 2568 ฉบับแก้ไข 115.2 ล้านล้านเยน
- การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่น ที่จะหนุน ROE และ P/BV ตลาดฯ
- แรงซื้อหุ้นจากรายย่อย ผ่านโครงการ New NISA
- EPS ที่เติบโตดี ตามเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่กลับมา แม้ว่า ผลกระทบทางลบจากเงินเยนที่กลับมาแข็งค่าช่วงที่ผ่านมา และความเสี่ยงบนมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบ EPS ตลาดฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มยานยนต์ ก็ตาม
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจาก
- ความเสี่ยงบนแผนการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะกดดันการค้าการลงทุน และหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
- ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี ตลาดฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายของแต่ละประเทศ แม้การผ่อนคลายการเงินที่มาก อาจทำได้อย่างจำกัด ตามที่บางประเทศอาจกังวลความเสี่ยงเงินทุนไหลออก
ทั้งนี้ เรายังให้เน้นลงทุนในตลาดที่ยืดหยุ่น และเน้นอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียเผชิญแรงกดดันในระยะสั้นจาก
- การอ่อนค่าของเงินรูปีเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ
- นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสุทธิหุ้นอินเดียต่อเนื่อง
- Valuation ของตลาดฯ ยังตึงตัว อย่างไรก็ดี เราคาด ตลาดฯ ยังได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของ RBI และจากงบประมาณประจำปี FY2568 ที่เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
นอกจากนี้ เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัด จากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ หลังล่าสุด สหรัฐฯ-อินเดีย จับมือยกระดับการซื้อขายยุทโธปกรณ์ และมุ่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า นอกจากนี้ GDP growth ช่วง 3QFY2568 อยู่ที่ +6.2%YoY เพิ่มขึ้นจาก +5.6% ในช่วง 2QFY2568
หุ้นอินโดนีเซีย
เราแนะนำ ‘ขาย’ ตลาดหุ้นอินโดนีเซียออกจาก Core Portfolio เนื่องจาก ดัชนีฯ เผชิญปัจจัยลบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่
- การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
- ความล่าช้าในการใช้จ่ายภาครัฐ จากการจัดสรรงบประมาณใหม่ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวช้ากว่าคาด
- แม้แนวโน้มเงินเฟ้อโดยรวมจะลดลง แต่ เงินเฟ้อด้านอาหารอาจเร่งตัวขึ้น จากโครงการอุดหนุนอาหารฟรี ซึ่งอาจกระทบค่าครองชีพของประชาชน
- เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อาจส่งผลกดดันการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของอินโดฯ และกฎระเบียบการส่งออกที่เข้มงวดขึ้นอาจลดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
- กระแสเงินทุนต่างชาติยังไหลออกต่อเนื่อง
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ตลาดฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และจากการทยอยออกมาตรการกระตุ้นของทางการจีน โดยในการประชุม NPC รัฐบาลตั้งเป้า GDP growth ปี 2568 ไว้ที่ราว 5% พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะใช้มาตรการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น แม้ว่า ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังน่ากังวล หลังจีนได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าครอบคลุมสินค้าเกษตรและอาหารของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ต่อการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้าจีน ก็ตาม
สินค้าโภคภัณฑ์
ทองคำมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจาก
- การกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังมีอยู่
- ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง สนับสนุนการถือครองทองคำ ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนได้ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง
- Fund Flow ของ ETF ที่ซื้อสุทธิทองคำต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิประมาณ 100 ตัน ในเดือน กพ. 2568 เทียบกับ เดือน กพ. 2567 ที่ขายสุทธิประมาณ -49 ตัน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดัน และทำให้ราคาทองคำผันผวนในระยะสั้น
ภาพ: narvikk / Getty Images