THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

SET ยังเปราะบาง และ Underperform ตลาดหุ้นในภูมิภาค จากแรงกดดันทางการเมือง

... • 10 มิ.ย. 2024

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นต่อ S&P 500 ทำนิวไฮระหว่างสัปดาห์อีกครั้ง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาแย่ ทั้งการผลิตและการจ้างงาน โดยดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และต่ำกว่าที่ตลาดคาด 

 

ขณะที่ตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) ของสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบ 3 ปีในเดือนเมษายน ทำให้สัดส่วนตำแหน่งงานเปิดใหม่เทียบกับผู้เลิกจ้างต่ำสุดในรอบ 3 ปีเช่นกัน บ่งชี้ว่า ความต้องการแรงงานน้อยลงท่ามกลางผู้ว่างงานที่มากขึ้น ตัวเลขขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นและมากกว่าคาด ทำให้ตลาดกลับไปให้น้ำหนักโอกาสการลดดอกเบี้ยของ Fed เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 70% ในเดือนกันยายน และอีกครั้งในเดือนธันวาคม 

 

ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงมาแรงต่ำกว่า 4.3% นอกจากนั้นตลาดยังมีประเด็นข่าวบวกจากแนวโน้มสินค้าใหม่ของอุตสาหกรรม AI ด้านธนาคารกลางในกลุ่ม G7 เริ่มลดดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน หุ้น EM ปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นฝั่งเอเชียเหนือที่ได้รับผลบวกตามกลุ่มเทคโนโลยี จากความต้องการใช้ชิ้นส่วน AI และการออกสินค้าใหม่ของ NVDA และ AMD 

 

นอกจากนั้นดัชนี PMI ภาคการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคมอย่างพร้อมเพรียง ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดใหม่ของรอบนี้ กดดันจากความกังวลด้านการเมืองในประเทศ นอกจากนั้นกลุ่มพลังงานยังอ่อนตัวตามราคาน้ำมันที่ลดลงหลังการประชุม OPEC+ ที่มีมติทยอยเพิ่มการผลิตกลับมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 - กันยายน 2025

 

ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวรุนแรงมากขึ้น

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ภาคการผลิตโลกโดยเฉพาะในเอเชียอาจฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง (Global Synchronized Recovery) มากขึ้น โดย PMI ภาคการผลิตของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคมอย่างพร้อมเพรียง เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) และการส่งออกของประเทศเหล่านี้ ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกับในช่วงปี 2016-2018 และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของประเทศพัฒนาแล้วในช่วงก่อนหน้า 

 

ภาพทั้งหมดบ่งชี้ว่าเป็นไปได้ที่ภาคการผลิตและส่งออกในเอเชีย (ซึ่งเป็นมาตรวัดเศรษฐกิจและการค้าโลก) จะฟื้นตัวถึงปลายปีนี้-ต้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย

 

ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เราเห็นสัญญาณของการชะลอตัวชัดเจนขึ้น ทั้งในภาคการผลิตและภาคการจ้างงาน โดยภาคการผลิตที่วัดจากดัชนี ISM นั้นบ่งชี้ว่า ความต้องการจับจ่ายสินค้าของประชาชนและความต้องการลงทุนของธุรกิจเริ่มลดลง ทำให้การผลิตเริ่มลดลงท่ามกลางต้นทุนการเงินและการผลิตที่ยังสูง ขณะที่ภาคบริการยังคงไปต่อโดยเฉพาะภาคที่มี Lag Time เช่น อสังหาและสาธารณสุข แต่ภาคที่สะท้อนเศรษฐกิจเร็วกว่า เช่น ภาคค้าส่ง-ค้าปลีกเริ่มชะลอ 

 

ขณะที่ในตลาดแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณชะลอชัดเจนขึ้น ทั้งตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) และการจ้างงานภาคเอกชนที่ชะลอรุนแรงมากขึ้น สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะ Soft Landing มากขึ้น

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นที่คาดว่าใน 2Q24 กำไรจะยังสามารถเติบโตทั้ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังไม่แพง เลือก ICT (ADVANC) TOURISM (MINT) และ FOOD (TU, BTG, OSP)

 

2. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากการเข้าสู่บรรยากาศแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร 2024) ในช่วงวันที่ 14 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม 2024 เลือก ADVANC, TRUE, CPALL, CPAXT, BJC, MINT, TU

 

3. หุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการผลิต (โดยเฉพาะจีน) และผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ได้สะท้อนปัจจัยบวกดังกล่าว เลือก KCE, SCGP, PTTGC

 

4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET ยังเปราะบาง โดยได้รับแรงกดดันจากประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ SET ยัง Underperform ตลาดหุ้นในภูมิภาค ส่วนการประชุมนโยบายการเงินของ กนง. คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% เช่นเดิม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศคาดว่ายังไร้สัญญาณบวกใหม่ในสัปดาห์นี้ อาทิ ตัวเลขเงินเฟ้อพฤษภาคมของสหรัฐฯ และจีนคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น MoM ส่วนการประชุมนโยบายการเงินของ Fed คาดว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.50% แต่คาดว่าจะมีปรับ Dot Plot ลดดอกเบี้ยในปีนี้น้อยกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3 ครั้ง”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. การประชุม FOMC สหรัฐฯ คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.5% แต่ต้องติดตาม Dot Plot (เราคาดว่าจะปรับคาดการณ์ลดดอกเบี้ยลงจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง) และการประมาณการเศรษฐกิจ

 

2. เงินเฟ้อ CPI พฤษภาคม สหรัฐฯ ตลาดคาด 3.4% เท่าเดือนก่อน (เราคาด 3.5%) 

 

3. การประชุม กนง. ของไทย ตลาด-เราคาด 2.5% 

 

4. เงินเฟ้อจีน พฤษภาคม ตลาดคาด 0.3% ต่อปี เท่ากับเดือนก่อน

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: MINT - ได้ประโยชน์จากการแข่งขันบอลยูโร 2024

 

แนะนำ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้ประกอบธุรกิจพักผ่อนและสันทนาการที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน NH Hotel Group (NHH) ซึ่งเป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในทวีปยุโรป

 

  • ผลการดำเนินงาน 2Q24 คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้น โดยเติบโต YoY และ QoQ จากเข้าสู่ High Season ของยุโรป อีกทั้งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024 ที่เยอรมนี (14 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม) ขณะที่ปี 2024 คาดกำไรปกติจะเติบโต 12%YoY สู่ระดับ 8 พันล้านบาท และจะโตต่ออีก 13%YoY ในปี 2025

 

  • มองเป็นหนึ่งในหุ้นเด่นของกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถ Outperform SET ได้นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) และ Valuation ยังไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขาย PER 2024F ที่ 21 เท่า ใกล้เคียง -1SD ของ PER เฉลี่ยในอดีต

 

  • เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 44 บาท (อิงวิธี SOTP) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 ที่หุ้นละ 0.44 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 1.7%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

เรายังเห็นพัฒนาการเชิงบวกของหุ้นเทคที่ปรับตัวดีนำตลาดจากภาพรวมงบ 1Q24 ที่ดี การปรับประมาณการเติบโตปี 2024 ขึ้น รวมถึงการออกสินค้าใหม่ ซึ่งภาพรวมยังคงสะท้อนได้ว่า การเติบโตมีแรงหนุนหลักจากอุปสงค์ AI ที่แกร่ง ขณะที่ในกลุ่มเทค 1. เราแนะมองกลุ่ม PC ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดี 2. ติดตามการฟื้นตัวของซอฟต์แวร์จาก AI บน PC 3. หาจังหวะขายทำกำไร NVDA หลังกังวลภาพการชะลอตัว

 

  • NVIDIA เผย 1. เปิดตัวชิป Blackwell Ultra สำหรับปี 2025 2. มีแผนยกระดับตัวเร่ง AI และออก Product Cycle ทุกปี โดยเปิดตัวแพลตฟอร์มรุ่นถัดไปชื่อว่า Rubin สำหรับปี 2026 3. มองบวกต่ออนาคต AI

 

  • CrowdStrike (CRWD) เผยงบดีกว่าคาดใน 1Q25 และปรับประมาณการณ์งบ FY25 หนุนจากความต้องการ Cybersecurity Solution ที่เพิ่มขึ้น และกลยุทธ์ที่ดีอย่างการเน้นแพลตฟอร์มรวม Cybersecurity (Falcon)

 

  • Hewlett Packard Enterprise (HPE) เผยงบดีกว่าคาด หลังมีแรงหนุนจากการเติบโตของรายได้จากเซิร์ฟเวอร์ AI นอกจากนี้ยังเพิ่มคาดการณ์การเติบโต FY25 ขึ้นและมองงบแกร่งใน F2H25 หลัง AI และ Edge ที่มีสัญญาณเชิงบวก

 

เราเห็นพัฒนาการเชิงบวกของหุ้นเทคจากภาพรวมงบ 1Q24 ที่ดี, การปรับประมาณการเติบโตในปี 2024 ขึ้น รวมถึงการออกสินค้าใหม่ ซึ่งภาพรวมการเติบโตยังคงสะท้อนได้ว่ามีแรงหนุนหลักมาจากอุปสงค์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่ออกมาแกร่งต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ จากภาพรวมกลุ่มเทคใน 1Q24 เราประเมินว่า

 

1. ซัพพลายเชนที่ไม่ใช่ฝั่งต้นน้ำเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม PC ที่มีการฟื้นตัวเด่นและมีแนวโน้มที่ดีต่อใน 2H24 ทำให้เราแนะลงทุนโดยเราชอบ DELL LENOVO

 

2. กลุ่มซอฟต์แวร์ในภาพรวมค่อนข้างอ่อนแอ หลังมีการใช้จ่ายบน AI ที่เพิ่มขึ้นสวนทาง IT Spending ของลูกค้าที่ชะลอตัว ซึ่งเราประเมินเป็นแรงกดดันระยะสั้น แนะติดตามภาพ AI บน PC ซึ่งหากว่าดีจะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของกลุ่มในระยะถัดไป

 

3. NVDA ยังมีแนวโน้มการเติบโตจากการเป็นผู้นำตลาด แต่เริ่มกังวลต่อการออกสินค้าใหม่ที่มี Innovative ที่เร็วมากจนทำให้ Use Case หรือลูกค้าอาจปรับตัวตามเทคไม่ทัน ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อน ซึ่งภาพรวมอาจเป็นปัจจัยกดดันให้อุปสงค์เริ่มมีภาพที่ชะลอตัวลงได้ในระยะถัดไป ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่าอาจหาจังหวะขายทำกำไรใน NVDA โดยมองจังหวะที่ PE ระดับ 50x

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด/สภาพคล่อง 

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลัง ISM ภาคบริการ สหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 

 

นอกจากนี้สภาพคล่อง/เงินสดมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ (โดยเฉพาะสหรัฐฯ) และข้อพิพาทบริเวณช่องแคบไต้หวัน

 

ตราสารหนี้/เงินฝากระยะยาว

 

ตัวเลขจ้างงานในสหรัฐฯ ของ JOLT และ ADP ล่าสุดบ่งชี้ว่า ความตึงตัวของตลาดแรงงานกำลังลดลง และปรับเข้าสู่สมดุลมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่าง ISM และ PMI ยังแข็งแกร่งกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ตลาดพันธบัตรตอบสนองต่อประเด็นของตลาดแรงงานมากกว่า โดยมองว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อของภาคบริการกลับสู่แนวโน้มขาลงอีกครั้ง 

 

โดย 10Y UST Yield ปรับตัวลงค่อนข้างแรง (30 bps ภายใน 1 สัปดาห์) สู่ระดับ 4.3%/ 10Y TGB Yield ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แกว่งตัวแคบในกรอบ 2.7-2.8% / Real Yield ในปัจจุบันมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือเพื่อ Hedge ในกรณีที่เกิด ‘Growth Shock’ (เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด)

 

US Treasury & IG

 

Yield ตัวยาวปรับตัวลงแรงกว่าตัวสั้น ทำให้ Yield Curve พันธบัตรรัฐบาลปรับลดความชันลง / TGB Yield Curve ทรงตัวต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์ที่ 7 / Spread ของ IG ยังทรงตัวตามคาด หลังซัพพลายใหม่ยังชะลอตัว 

 

ด้านอัตราผลตอบแทนยังน่าสนใจ โดยเราชอบในส่วนของ Duration อายุ 2-4 ปี จากการที่ Fed อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด และ Inverted Yield Curve 

 

High Yield Bond

 

US HY Yield-to-Worst และ HY Spread ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และซัพพลายของการรีไฟแนนซ์ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2024

 

สินทรัพย์ผสม/กึ่งหนี้กึ่งทุน/REIT

 

ในสภาวะที่ Spread ของ Public Credit (อย่างเช่น IG และ HY) ค่อนข้างแคบ การเพิ่ม REIT จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงิน (Income Return) ให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ/สินทรัพย์ผสม ช่วยลดความผันผวน เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ US REITs จาก 1. Valuation ที่ไม่แพง โดยมี PBV ที่บริเวณ 2.0x ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่บริเวณ 2.3x 2. ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งเป็นปัจจัยบวกต่ออัตราการเช่าและค่าเช่าของกอง REIT 2. กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง 2Q21 

 

ทั้งนี้ ในช่วง 1Q24 US REITs มี Same-Store NOI ที่เติบโตราว 3.2% อย่างไรก็ตาม 10Y UST Yield ที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ US REITs มี Yield Spread ที่แคบ กดดันความน่าสนใจลงทุนในระยะสั้น 

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

ตัวเลขจ้างงานของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอความร้อนแรงลง ทำให้ความกังวลเงินเฟ้อภาคบริการที่ยืนสูงต่อเนื่องเริ่มผ่อนคลาย ตลาดจึงเริ่มกลับมามองโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนอีกครั้ง หลังเคยมองว่าจะเป็นเดือนธันวาคม

 

ภาพรวมกำไรของ บจ. ของทั้งสหรัฐฯ และยุโรปใน 1Q24 ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก ขณะที่จำนวนบริษัทที่ให้ Positive Guidance เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 1Q24 และกำไรของตลาดหุ้นในยุโรปกลับมาเป็นบวก QoQ ครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส 

 

นโยบายการเงินของ BOJ ถึงแม้จะตึงตัวมากขึ้น แต่ยังน้อยกว่าตลาดคาด การกลับมาของเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสนับสนุนการเติบโตของกำไรในระยะกลางถึงยาว

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

กำไรในกลุ่ม Magnificent 7 โดยภาพรวมทำจุดสูงสุดใหม่ (ยกเว้น Tesla ที่กำไรลดลง) นำโดยหุ้น NVIDIA ที่เติบโตในระดับ Triple Digit ส่งผลให้ประกาศกำไรของบริษัทจดทะเบียนใน 1Q24 ออกมาดีกว่าคาดการณ์ไว้ก่อนการประกาศงบฯ และเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรกระจายตัวสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จากที่เคยกระจุกตัวอยู่ใน IT  Consumer Service และ Consumer Discretionary 

 

การเร่งตัวของกำไรรายไตรมาสจะเป็นตัวประคอง Valuation ของตลาดฯ

 

หุ้นยุโรป

 

ตลาดหุ้นยุโรปมี Valuation ที่ไม่แพง และได้แรงหนุนจากการทยอยลดดอกเบี้ยของ ECB ขณะที่ EPS มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจโลก รวมถึงยุโรปที่ยังดี และเงินยูโรที่มีแนวโน้มอ่อนค่า โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนบนความเสี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ตอบโต้กัน อาจเพิ่มความผันผวนและกดดัน Sentiment ตลาดฯ โดยรวมก็ตาม

 

หุ้นญี่ปุ่น

 

เราคาดว่าหุ้นกลุ่ม Value ญี่ปุ่นมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลของ TSE ที่จะหนุนการเพิ่มการซื้อหุ้นคืนและเพิ่มอัตราจ่ายปันผล แล้วนำไปสู่ ROE กับ P/BV ที่ดีขึ้นตาม นอกจากนี้ กลุ่มฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการลดการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นของ BOJ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยต่อ และการลดการเข้าซื้อ JGB ในระยะถัดไป

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

การเติบโตของ Global GDP ในปี 2024 ถูกปรับประมาณการณ์เพิ่มขึ้นทั้งฝั่ง US ยุโรป และ EM อย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี สนับสนุนการขยายตัวของการค้าโลก และส่งผลให้หุ้น Value ที่มีอยู่มากในหุ้นกลุ่ม EM มีความน่าสนใจมากขึ้น โดย Valuation ของกลุ่ม EM ส่วนใหญ่ถูกกว่า DM ทั้งในแง่ของ FWD P/E และ PBV และกำไรเติบโตมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ PMI และ GDP ของฝั่งตลาด EM มีภาพของการขยายตัวที่สูงกว่าตลาด DM

 

หุ้นอินเดีย

 

ในระยะสั้น ตลาดอาจผันผวนจากการที่พรรคร่วมรัฐบาล NDA ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งน้อยกว่าที่คาดมาก (293 ที่นั่ง จากคาดไว้ที่ 350-400 ที่นั่ง) ได้สร้างความกังวลต่อตลาด เรื่องความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่านร่างนโยบายต่างๆ และอาจกระทบต่อความต่อเนื่องของนโยบายหลักที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายเดิมที่ถูกดำเนินการมาเป็นระยะเวลานาน 

 

เราเชื่อว่านโยบายภาคการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอินเดียจะดำเนินต่อไป แต่อาจมีนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนภาคการบริโภคมากขึ้น เราชอบหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า ขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง Valuation ที่ถูกกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมาก และได้แรงหนุนจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ฟื้นตัว บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ทำผลงานได้ดีกว่ามากเมื่อปีที่แล้ว มีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไร เนื่องจากการประเมินมูลค่าที่สูง และการถูกตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นจาก ก.ล.ต.อินเดีย

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ราคาทองคำมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น หลังปรับขึ้นมารวดเร็วบนความกังวลของสงคราม อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ประกอบกับเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์ สรอ. ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 10 มิ.ย. 2024

READ MORE



Latest Stories