สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) หลังจากปรับตัวลดลงแรงในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ของโควิดทั่วโลก และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ชะลอตัว ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ
ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศพัฒนาแล้วเช่น สหรัฐฯ และยุโรป และประเทศเอเชีย เช่น จีน ทำให้ทางการประกาศปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายมณฑลอีกครั้ง
- ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งดัชนี PMI ในเอเชีย ดัชนี ISM ในสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ที่ต่ำกว่าคาดมาก
- ความเสี่ยงเงินเฟ้อและนโยบายการเงินที่ตึงตัวในสหรัฐฯ โดยรองประธาน Fed ริชาร์ด คลาริดา ส่งสัญญาณว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้แก่ภาวะเงินเฟ้อเป็นหลัก และเห็นด้วยกับการประกาศลดทอน QE ในปีนี้ เพื่อมีช่องทางให้ขึ้นดอกเบี้ยได้ในปี 2023
- สัญญาณความเสี่ยงเชิงนโยบายจากสื่อของทางการจีนที่มองว่าเว็บไซต์เกมออนไลน์เป็นความเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชน บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะคุมเข้มเซกเตอร์นี้ หลังจากคุมเข้มในหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในช่วงก่อนหน้า
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามเพราะอาจมีผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกในระยะข้างหน้า ได้แก่
- จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้ม เช่น จีน
- ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อเนื่อง
- ความเสี่ยงเงินเฟ้อและการตึงตัวของนโยบายการเงินที่ยังคงต้องติดตาม โดยภาพรวมส่งผลกระทบให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอายุ 10 ปี ที่ลดลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 1.13%
อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปน่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ไม่มากนัก เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะช่วยชะลอการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคได้ ทำให้ไม่ต้องปิดเมืองเป็นวงกว้าง
แต่ความเสี่ยงจะมาลงที่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในจีนที่มีการปิดกิจกรรมเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด โดยหลายฝ่าย (เช่น IMF) มองว่า GDP จีนอาจขยายตัวลดลงกว่า 0.5% (จาก 8.6% เป็น 8.1%) ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ โดยเฉพาะจาก Supply Chain Shortage (ซึ่งการระบาดรอบใหม่จะยิ่งทำให้ Supply Chain มีปัญหามากขึ้น) ดังนั้น ยังเป็นไปได้ที่จะเห็นการลดทอน QE ในระยะต่อไป
ด้านนโยบายการเงินไทย มองว่าการที่ กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ที่จะคงดอกเบี้ยนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยไม่ต้องลดดอกเบี้ยจริง เห็นได้จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากและดอกเบี้ยปรับลดลง โดยเราเห็นว่าหาก ธปท. ต้องการลดดอกเบี้ยจริง อาจส่งสัญญาณผ่านการลดค่าธรรมเนียม FIDF ก่อน เพื่อลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งยังไม่น่าจะเกิดขึ้นหากเศรษฐกิจไม่ได้ตกต่ำอย่างรุนแรง
SCBS ประเมินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกยังคงมีความเสี่ยงในช่วงไตรมาส 3/64 โดยประเด็นที่เคยเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าในรอบนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่ได้ดีเหมือนปี 2020 ดังนั้น การลงทุนในช่วงนี้จึงควรเน้นสินทรัพย์คุณภาพดีและมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ส่วน ‘หุ้นเด่น’ สัปดาห์นี้ SCBS แนะนำ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก
- เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งพอร์ตสินค้ามีกระจายตัวดีทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม อีกทั้งแบรนด์ยังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลาง จึงทำให้ผลดำเนินงานเติบโตได้อย่างมั่นคง
- ไตรมาส 2/64 คาดกำไรโตเด่นสู่ระดับ 1.6 พันล้านบาท 255% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 101% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จากการรับรู้รายได้ Backlog ซึ่งมีเริ่มโอนคอนโดมิเนียม 2 โครงการใหม่ คือ ศุภาลัย พรีเมียร์ เจริญนคร (มูลค่า 3 พันล้านบาท ขายได้ 100% โอนแล้ว 30%) และศุภาลัย ริวา แกรนด์ (มูลค่า 6.8 พันล้านบาท ขายได้ 76% และโอนแล้ว 30%)
- ปี 2021 ยังคงเป้ามูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ไว้ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 38%YoY (แบ่งเป็นมูลค่าคอนโดมิเนียม 17% และแนวราบ 83%) แม้จะมีการปรับแผนเปิดตัวโครงการใหม่ปีนี้ โดยเลื่อนเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ 2 โครงการจากไตรมาส 3/64 เป็นไตรมาส 4/64 ซึ่งเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์และการปิดแคมป์คนงาน
- ปีนี้คาดกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 6 พันล้านบาท เติบโต 55%YoY และยังเติบโตต่อ 6%YoY ในปี 2022 หลังมี Backlog 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 40% จะรับรู้รายได้ในครึ่งหลังปี 2021 และ 37% ในปี 2022 อีก 15% ในปี 2023 และ 8% ในปี 2024
- ฐานะการเงินแกร่ง โดยมีหนี้สินต่อทุนต่ำสุดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จึงคาด SPALI จะก้าวผ่านภาวะกำลังซื้อที่อ่อนแอได้ ขณะที่เราประเมินราคาเป้าหมายที่ 27 บาท และคาดให้อัตราส่วนเงินปันผล (Div. Yield) ปีนี้สูงจูงใจราว 6.5% อีกทั้งมี Upside Risk จากแผนเสนอขาย IPO ของ SPALIRT ซึ่งยังไม่ได้รวมในประมาณการ
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดในหลายภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มของ Fed ที่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วกว่าคาด
กองทุนแนะนำ:
- Krungsri Global Brands Equity Fund หรือ KFGBRAND
กองทุน KFGBRAND ลงทุนในกองทุน Morgan Stanley Investment Funds – Global Brands Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่คัดเลือกหุ้นของบริษัทต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกที่มีคุณภาพสูง มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยอำนาจการต่อรองด้านราคา ความสำเร็จและยากที่จะลอกเลียนแบบของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น แบรนด์สินค้า
- SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดย บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการทยอยเปิดเมือง มาตรการกระตุ้นการคลังจากแผนการลงทุนระยะยาวของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/64 ที่มีแนวโน้มออกมาดี
บล.ไทยพาณิชย์ แนะนำสัดส่วนการถือครองหุ้นสไตล์ Growth และ Value อยู่ที่ 70:30 เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จาก US Yield Curve ที่มีแนวโน้มปรับลดความชันลงในช่วงสั้น เช่น หุ้นกลุ่ม Quality ในกลุ่ม Tech Hardware และ Semiconductor ขณะที่ธีม Reflation Trade และ Reopening ยังคงสนับสนุนการลงทุนหุ้นสไตล์ Value และ Cyclical ในกลุ่ม Banking Industrials และ Materials
กองทุนแนะนำ:
- SCB Semiconductor Fund หรือ SCBSEMI(A)
กองทุน SCBSEMI(A) ลงทุนในกองทุน VanEck Vectors Semiconductor UCITS ETF ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ London Stock Exchange ซึ่งลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ รวมถึงหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนซื้อขายที่สหรัฐฯ (ADR) ในหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม Semiconductor
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนต่อเนื่องจากภาคบริการที่ฟื้นตัวดี ผลประกอบการ บจ. ไตรมาส 2/64 มีแนวโน้มออกมามากกว่าที่ตลาดคาด การฉีดวัคซีนที่ต่อเนื่อง และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดต่อเนื่อง
ด้านการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธ์เดลตาที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน UK และ EU บางประเทศคาดยังไม่ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตต่ำ ผลกระทบจากน้ำท่วมในเยอรมนีและการประท้วงในฝรั่งเศสคาดส่งผลกระทบเพียงช่วงสั้น และความเสี่ยงการเมืองในภูมิภาคยังคงต่ำ
กองทุนแนะนำ:
- MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO
กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นจีน
ความน่าสนใจระดับ: 3
สำหรับดัชนีหุ้นจีน Offshore (H-shares/ADR) ยังเผชิญความไม่แน่นอนที่สูง จากมาตรการเข้มงวดด้าน Financial de-risking, Antitrust, Capital Markets, Data Security รวมถึง Social Security Benefits, Teenager Protection ที่สามารถออกมาเพิ่มเติม และจะกดดันบริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประกอบกับผลประกอบการกลุ่มอินเทอร์เน็ตในไตรมาส 2/64 มีแนวโน้มขยายตัวไม่โดดเด่นมาก ทำให้มีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวดัชนีหุ้นจีน Offshore ที่มีสัดส่วนกลุ่ม Internet, FinTech, Education ค่อนข้างมาก รวมถึงข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ด้านตลาดทุน และความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อท่าทีของรัฐบาลจีนยังเป็นปัจจัยถ่วงรั้ง
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นเวียดนาม แม้ยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่เศรษฐกิจยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยรัฐบาลคาด GDP เติบโตได้ราว 6.5-7% ในปี 2021-2025 จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์โลก การบริโภคภายในที่ขยายตัวดี และการใช้จ่ายภาครัฐที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ตลาดเวียดนามมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนโดดเด่นจากผลประกอบการ บจ. ที่ออกมาดี และสถานะการลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง Valuation ที่ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ: 2
ไทยพาณิชย์ได้ปรับลดระดับความน่าสนใจลงทุนใน ‘น้ำมัน’ ลง 1 ระดับ มาอยู่ที่ระดับ 2 เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มถูกกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศต้องเพิ่มมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น
รวมทั้งสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แม้ Oil Futures Curve ยังอยู่ในสภาวะ Backwardation แต่ความชันเริ่มลดลง ด้านอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังกลุ่ม OPEC+ มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นปี