- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเงินตลาดทุนค่อนข้างทรงตัว เพราะแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ แต่ตลาดมากังวลประเด็นที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรมากขึ้น
- ผลจากการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวทำให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนเพื่อเติมเงินคงคลัง ซึ่ง Bloomberg มองว่า อยู่ที่ระดับ 5 แสนล้านดอลลาร์ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์
- การออกพันธบัตรในเวลารวดเร็วอาจทำให้สภาพคล่องตึงตัวมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง
- สำหรับเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังจากที่ความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และผลกระทบเชิงลบจากนโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกทรงตัวเนื่องจาก
1. แม้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ แต่ตลาดมากังวลประเด็นที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง
2. ตัวเลขตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) ที่กลับมาฟื้นตัวเกิน 10 ล้านตำแหน่งอีกครั้ง แม้ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าดอกเบี้ยจะต้องคงอยู่ในระดับสูงยาวนานขึ้น
3. สัญญาณเศรษฐกิจอื่นๆ เริ่มชะลอลงมากขึ้น โดยรายงานจาก Fed's Beige Book ระบุว่า การจ้างงานและเงินเฟ้อในภูมิภาคทั่วสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง
4. ฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ว่าที่รองประธาน Fed ส่งสัญญาณว่า ดอกเบี้ยจะยังไม่ถูกปรับขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้ Fed สามารถพิจารณาผลของดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเศรษฐกิจก่อน แต่ไม่ปิดประตูที่จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
5. ราคาบ้านในสหรัฐฯ ชะลอต่อเนื่อง โดยดัชนี Case-Shiller Index ขยายตัว 0.7% ต่อปีในเดือนมีนาคม ชะลอจาก 2.1% ในเดือนกุมภาพันธ์
6. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ของ The Conference Board หดตัวต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 102.3
7. ทิศทางเศรษฐกิจจีนชะลอลงรุนแรงขึ้น โดยผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -20.6% ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ -21.4%
8. ดัชนี PMI ทางการจีนชะลอรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เข้าสู่แดนลบเป็นเดือนที่ 2 โดยอยู่ที่ 48.8 ต่อเนื่องจากเดือนเมษายนที่ 49.2 แต่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของ Caixin ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ 50.9 จาก 49.5 ในเดือนก่อน
9. เงินเฟ้อยูโรโซนล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณคลี่คลายลงบ้าง โดยขยายตัว 6.1% ในเดือนพฤษภาคม ชะลอลงจาก 7.0% ในเดือนเมษายน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มชะลอลงเช่นกัน จาก 5.6% สู่ 5.3%
“ตัวเลขตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งทำให้ตลาดกังวลว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แม้ว่ารองประธาน Fed ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยจะยังไม่ถูกปรับขึ้นในครั้งนี้ ด้านรายงานจาก Fed’s Beige Book ระบุว่า การจ้างงานและเงินเฟ้อในภูมิภาคทั่วสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง ด้านเศรษฐกิจจีนชะลอลงรุนแรงขึ้นจากผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนี PMI ทางการจีนชะลอรุนแรงขึ้น ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงบ้างจากข้อตกลงหนี้สาธารณะที่ผ่านในหลักการ แต่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากความเสี่ยงที่จะออกพันธบัตรมากขึ้น”
เศรษฐกิจไทย ‘ความเสี่ยงเพิ่ม’
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ภาพเศรษฐกิจการลงทุนโลกในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงจากสภาพคล่องที่จะตึงตัวมากขึ้น โดยเป็นผลจากการผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ ทำให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนเพื่อเติมเงินคงคลัง ซึ่งการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น (ตามการคำนวณของ Bloomberg มองว่า อยู่ที่ระดับ 5 แสนล้านดอลลาร์ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์) ภายในเวลารวดเร็วอาจทำให้สภาพคล่องตึงตัวมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง
ขณะที่ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคบริการ แม้เครื่องชี้ภาคการผลิตจะชะลอลงแล้วก็ตาม ภาพเหล่านี้จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ คงอยู่ในระดับสูง (แม้ว่าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นอีกในการประชุมเดือนมิถุนายน ตามคำกล่าวของว่าที่รองประธาน Fed) ซึ่งจะกระทบกับต้นทุนทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจสหรัฐฯ
รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีนและไทยที่อ่อนแอเกินคาด ซึ่งจะผลักดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่า และทำให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลง ทำให้เกิดสถานการณ์ Risk-Off ต่อเนื่อง
ด้านเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวมากขึ้น แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps มาอยู่ที่ระดับ 2.00% และยังคงไม่ปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยมองว่าเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง แต่มีความเสี่ยงเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงจากภาพเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และผลกระทบเชิงลบจากนโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงที่มากขึ้น และเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายในรอบนี้
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่ได้รับผลกระทบจำกัดจาก MOU 23 ข้อ ที่ 8 พรรคการเมืองร่วมลงนาม เลือก BBL, KTB, KBANK, HMPRO, GLOBAL, BCH, CHG, SPRC, STANLY, AH และ ONEE (HTC และ TNP)
2. หุ้นที่ INVX Research มีการปรับเพิ่ม Rating และ/หรือปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย เลือก KKP, BJC และ OSP
ขณะที่ช่วงสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน
1. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่ม PTT ออกไปก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงหรือความไม่ชัดเจนของโครงสร้างราคาพลังงานจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
2. หุ้นที่คาดว่าได้รับผลกระทบอย่างมีนัยจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ได้แก่ กลุ่มขนส่งพัสดุ (KEX) กลุ่มอาหาร (CPF, ZEN, GFPT, TU, AU และ CENTEL) กลุ่มอสังหา (LPN, PSH, SIRI, QH และ AP) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (HANA และ KCE)
3. หุ้นที่ราคาขึ้นมาสูงกว่าโควิดแนะนำ Underperform เลือก AAV, SAWAD, MST และ NRF
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนพฤษภาคม (คาดว่า 2.4%) จะลดลงต่อเนื่องจากตัวเลขในเดือนเมษายน (2.7%) หรือไม่ ซึ่งหากลดลงต่อเนื่องจะเป็นการลดความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
2. อัตราเงินเฟ้อของจีนเดือนพฤษภาคม (ตลาดคาด 0.1%) จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเช่นเดียวกับเดือนเมษายน (0.2%) หรือไม่
3. การส่งออกและนำเข้าจีน (ตลาดคาด 7% และ -5% จาก 8.5% และ -7.9% ตามลำดับ)
4. ตัวเลข ISM และ PMI ภาคบริการสหรัฐฯ (ตลาดคาดว่ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น)
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BCH ผ่านจุดต่ำสุด… จะปรับดีขึ้นใน 2H23
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ. บางกอก เช่น ฮอสปิทอล หรือ BCH เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- ผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีความแข็งแกร่งในตลาดผู้ป่วยเงินสดที่มีรายได้ระดับกลางและตลาดผู้ป่วยประกันสังคม ซึ่งมีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ตามการขยายตัวต่อเนื่องของความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ ทั้งกลุ่มเงินสดและกลุ่มประกันสังคม
- 2H23 คาดเห็นการดำเนินงานที่ดีขึ้น หลังบริษัทมีแผนเปิดศูนย์เฉพาะทางเพิ่ม (เช่น เวชศาสตร์ฟื้นฟูและศัลยกรรมพลาสติก) และปรับปรุงบริการผู้ป่วยต่างชาติ เช่น รับส่งต่อผู้ป่วยลิเบียและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยจีนที่สนใจด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการมีบุตรยาก
- แม้ 2Q23 คาดกำไรปกติลดลง YoY แต่จะเพิ่มขึ้น QoQ หลังผลกระทบจากโลว์ซีซันจะถูกชดเชยด้วยการปรับขึ้นค่าเหมาจ่ายรายหัวของโครงการประกันสังคม ขณะที่ 2H23 คาดกำไรปกติดีขึ้น HoH โดยจะเห็นการเติบโต YoY ใน 4Q23 จากรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับโควิดที่เพิ่มขึ้น
- ราคาหุ้น BCH ปรับลง 9.8%YTD แย่กว่า SET ที่ลดลง 0.08%YTD ซึ่งมองว่าสะท้อนกำไร 1Q23 ที่แย่กว่าคาดแล้ว จนปัจจุบันเทรดที่ PER 23F ระดับ 32 เท่า คิดเป็น -2SD ของ PER เฉลี่ยในอดีตของบริษัทแล้ว จึงมอง Valuation ที่อยู่ระดับต่ำจะช่วยป้องกัน Downside ของราคาหุ้น
- เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 22 บาท อิงวิธี DCF (WACC ที่ 6.2% และอัตราการเติบโตระยะยาวที่ 3%) และคาดให้ Dividend Yield ราวปีละ 1.6%
Asset Allocation Strategy
ภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน หลังกำลังซื้อของเศรษฐกิจถูกลดทอนด้วยเงินเฟ้อและภาระดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาอยู่สูงกว่าแต่ก่อน ในขณะที่ปัญหาในภาคการธนาคารก็ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น กดดันฝั่งอุปสงค์อีกทางหนึ่ง มีเพียงภาคบริการที่ยังขยายตัวได้ และตลาดแรงงานที่ยังอยู่ในระดับแข็งแรง
กรณีของสหรัฐฯ ถึงแม้จะผ่านพ้นปัญหาการเจรจาขยายเพดานเงินกู้ออกไปได้ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดยังบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อยังชะลอลงช้ากว่าที่ตลาดคาดไว้ อาจจะกดดันให้ Fed ต้องคงความเข้มงวดต่อไป และยังไม่ตัดโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีก จึงอาจเป็นปัจจัยลบใหม่ต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ ฝั่งยุโรปมีการชะลอตัวในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น เยอรมนีที่เข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสแรกของปี (Technical Recession) และในอังกฤษที่ดัชนี PMI ชะลอลงต่อเนื่อง ท่ามกลางเงินเฟ้อในภูมิภาคที่ยังอยู่สูงถึงราว 7% กดดันให้ ECB ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป จึงยังคงแนะนำพอร์ตการลงทุนที่ให้น้ำหนักสภาพคล่องมากกว่าสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อรอการคลี่คลายของปัจจัยลบต่างๆ
ภาคการผลิตจีนอ่อนแอลงเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้เช่นกัน แม้ว่าการเปิดเมืองจะช่วยกระตุ้นความต้องการจับจ่ายในช่วงที่ผ่านมา แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะถัดไปก็ทำให้ความต้องการซื้อดังกล่าวหายไปมาก ด้านภาคธุรกิจก็ยังขาดความมั่นใจที่จะลงทุนเพิ่ม มีเพียงภาคบริการและการเดินทางที่ยังขยายตัวได้ดี ตลาดหุ้นจีนจึงสะท้อนภาพการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดหวังมาตรการภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง หากมองเชิง Valuation ตลาดจีนยังซื้อ-ขายในระดับที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจีนมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี การปรับตัวลงของหุ้นที่เกิดจากข่าวร้ายระยะสั้น เช่น กับสหรัฐฯ จึงถือเป็นโอกาสสะสมเพื่อการลงทุนระยะยาว
ด้านตราสารทางเลือกเรายังคงมุมมองเป็นกลางต่ออสังหาริมทรัพย์ (REIT) ประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีมุมมองเชิงบวกต่อ REIT ไทยและอาเซียน ซึ่งอัตราเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนะนำให้ถือลงทุนทองคำในพอร์ต เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมองเป็น Neutral ต่อสินทรัพย์สภาพคล่องหรือเงินสด โดยเศรษฐกิจโลกได้รับแรงส่งจากภาคบริการและการเปิดเมืองของจีนและเอเชีย แต่ถูกกดดันด้วย Recession Risks รวมทั้งภาวะสินเชื่อตึงตัวใน DMs อีกทั้งยังมีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก ในขณะที่ BOT อาจขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดได้เพียง 2% หรือมากกว่าเล็กน้อย
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 5
UST Yields เป็นขาลงมากกว่าขึ้น จากเงินเฟ้อทั่วไปผ่อนคลาย, Fed (ใกล้) หยุดขึ้นดอกเบี้ย และ Recession Risks แต่ Yield ปรับขึ้นบ้างจากเงินเฟ้อพื้นฐานหนืด, ตลาดแรงงานและผู้บริโภคที่แข็งแรง, Fed ไม่รีบลดดอกเบี้ย และ TH Bond Yield เคลื่อนไหวสอดรับสหรัฐฯ และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ โดยเฉพาะสำหรับระยะสั้น
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
US IG ได้รับแรงหนุนหลักจาก UST Yields ที่มีแนวโน้มเป็นขาลงมากกว่าขึ้น และมี Buffer จากงบดุลที่ค่อนข้างแข็งแรง อย่างไรก็ตาม IG Spreads มีความน่าจะเป็น Widening อยู่บ้าง จากภาวะสินเชื่อตึงตัวและความเสี่ยง Recession ซึ่งเริ่มสะท้อนจากจำนวนบริษัทยื่นล้มละลายที่สูงขึ้น ในขณะที่ TH IG Spreads ปรับเพิ่มขึ้น
US HY มีความเสี่ยง Spread Widening มากกว่า IG อย่างชัดเจน เหตุจาก Recession Risks โดยเฉพาะจากภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้นจนใกล้เคียงระดับในช่วงเผชิญ Recessions ในอดีต ซึ่งถูกกดดันเพิ่มเติมจากวิกฤตธนาคารภูมิภาคที่ถึงแม้ว่าจะแผ่วลง แต่ยังคงสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ยังถูกกดดันจากภาคผลิตถดถอย ภาวะสินเชื่อตึงตัว และภาวะ Earnings หดตัว อย่างไรก็ดี การคลายความกังวล Debt Ceiling ตลาดแรงงานและผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง, ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อ, Bond Yield ขาลงมากกว่าขึ้น และ Earnings Growth ที่เริ่ม Bottom Out ของ Mega-Cap Tech ช่วยเป็นแรงหนุนให้กับดัชนีฯ
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
Bond Yield ของกลุ่มประเทศหลักของยุโรปยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม ECB ที่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุม 2 ครั้งถัดไป และเริ่มหยุด Reinvest โครงการ APP ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ขณะที่โมเมนตัมเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มแผ่ว และผลประกอบการ บจ.ยุโรป เริ่มเสี่ยงถูกปรับประมาณการลง จึงทำให้ Upside ดัชนีฯ จำกัด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 2
ดัชนีฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจากความเสี่ยงแรงขายทำกำไร หลังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีอยู่และความเป็นไปได้ในการปรับ YCC จะส่งผลให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่า นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังมีปัจจัยกดดันจาก EPS ที่มีแนวโน้มถูกปรับลดลง และข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีกับจีน
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นำโดยภาคการบริโภคและภาคบริการ ประกอบกับแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมจากทางการจีน เช่น การปรับลด RRR ลงเพิ่มเติม ขณะที่ EPS ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นของทางการจีน จาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ขณะที่ Valuation มีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากข้อพิพาทเทคโนโลยีกับชาติต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และจากเงินหยวนที่มีแนวโน้มอ่อนค่า
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดมีแนวโน้มผันผวนต่อไปจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสมบูรณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มดี ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่มีแผนเพิ่มเที่ยวบินเข้าไทย ช่วยหนุนช่วง 2H2566 Valuation อยู่ในระดับน่าสนใจ โดยให้น้ำหนักหุ้นกลุ่ม Consumer เช่น อาหาร และค้าปลีก และหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 2
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาต่อเนื่องยังไม่ส่งผลต่อ Credit Growth ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ในขณะที่ดัชนี PMI ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากการส่งออกที่อ่อนแอ อีกทั้งสภาพคล่องบนธุรกิจภาคอสังหายังตึงตัว ทำให้ปัจจัยบวกในระยะสั้นมีจำกัด ให้จับตารายงานสรุปการประชุม National Assembly
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
การคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.75% ในขณะที่เงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้ากรอบบนของทางการ ทำให้ Domestic Consumption มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ Cycle ถ่านหินผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด อย่างไรก็ดี ให้จับตามอง Consumption ใน 2H2566 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2024
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ได้แรงหนุนจาก US (Real) Bond Yields เป็นขาลงมากกว่าขึ้น USD ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า (ถึงแม้ว่าแรงส่งด้านอ่อนค่าจะน้อยลง) และความเสี่ยงโลกที่แสดงให้เห็นเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมี Upside จำกัด เนื่องจากอาจมีแรงขายทำกำไร Fed ยืนยันท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และตลาดเริ่มคลายความหวังลดดอกเบี้ยปีนี้
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ในระยะข้างหน้าอุปสงค์โลกเป็นตัวแปรที่สำคัญ โดยที่ยังมีความไม่แน่นอน กล่าวคือเป็นขาลงใน DMs แต่กำลังฟื้นตัวในจีนและเอเชีย กระนั้นยังไม่ทั่วถึงและไม่ร้อนแรง นับเป็นแรงกดดันต่อทั้งราคาพลังงานและโลหะอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันภาคการผลิตโลกยังค่อนข้างถดถอย แต่ภาคบริการโลกฟื้นตัวได้ต่อไป
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 2
แรงกดดัน ได้แก่ แนวโน้ม Hybrid Working / E-Commerce, สินเชื่อ Commercial RE ที่ตึงตัวขึ้น, เศรษฐกิจขาลงแต่ดอกเบี้ยสูง, Short Selling โดยเฉพาะในสหรัฐฯ สะท้อนใน Office Occupancy Rate ที่ลดลง และ Vacancy Rate ที่สูงขึ้น แม้ว่า UST Yields ซึ่งเป็นขาลงมากกว่าขึ้น จะส่งผลดีต่อ REIT-Govt Yield Spreads
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 4
ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หนุนด้วยการเปิดเมืองและประเทศ อีกทั้ง REIT-Govt Yield Spreads (เช่น ใน SG และ TH) อยู่ในระดับสูง และปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ Office Leasing และ Vacancy Rates ที่แย่ลงต่อเนื่องในสหรัฐฯ กลับค่อนข้างทรงตัวได้ในเอเชีย
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2023