THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

รัฐบาลแพทองธารนิ่ง ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่ม อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้โต 3.5%

... • 9 ก.ย. 2024

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ทิศทางตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีความกังวลมากขึ้น หลังตำแหน่งงานเปิดใหม่ปรับลดลงต่ำกว่า 8 ล้านตำแหน่งอย่างต่อเนื่องติดกัน 2 เดือน (Revise Down) บ่งชี้ว่านายจ้างเริ่มลดการจ้างงาน รวมถึงเริ่มปลดคนงานออกมากขึ้น ภาคการผลิตยังคงมีความเสี่ยง เห็นได้จากดัชนี ISM Manufacturing ที่อยู่แดนลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอาจขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี จากประมาณ 3.0% ในครึ่งปีแรก
  • ในส่วนของไทย การจัดตั้งรัฐบาลแพทองธารที่ทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการประกาศกรอบนโยบายที่เร่งผลักดันดิจิทัลวอลเล็ต การสนับสนุนตลาดทุน ทั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ และกองทุน Thai ESG จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวได้ดีขึ้นที่ระดับประมาณ 3.5% จากเดิมที่เคยมองไว้ที่ 2.9%
  • แต่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา SET Index ปรับขึ้นแล้วกว่า 10% จึงอาจต้องระวังแรงขายทำกำไรระยะสั้นบริเวณแนวต้าน 1,450-1,460 จุด

สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงจากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยเริ่มกลับมา หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ได้แก่ ตัวเลข ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5, ตำแหน่งงานเปิดใหม่เดือนกรกฎาคมลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2021, การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือนสิงหาคมต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดกังวลกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย นำไปสู่แรงขายทำกำไรในกลุ่มเทคโนโลยี -4.9% กดดันภาพตลาดเพิ่มเติม

 

เช่นเดียวกับกลุ่มที่อิงเศรษฐกิจอย่างพลังงาน, Materials และสินค้าอุตสาหกรรม ได้รับแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง แม้ภาคบริการจะยังคงแข็งแกร่ง ตลาดยังมีการเปลี่ยนกลุ่มเล่นไปสู่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และ Utilities ที่ได้ประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มเชิงรับ Healthcare และ Staples ปรับตัวดีกว่าตลาด ฝั่งตลาดหุ้น EM ปรับลดลงเช่นกัน

 

จากแรงกดดันจากตัวเลขการผลิตของจีนที่หดตัวต่อเนื่อง ล่าสุด Bloomberg รายงานว่า ทางการจีนกำลังพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน (Mortgage Rate) ลงถึง 80 bps จากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 3.45-4.27%

 

ตลาดหุ้นไทยยังคง Outperform ภูมิภาคต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นไปอย่างรวดเร็ว และจะมีการประชุม ครม. นัดพิเศษก่อนจะแถลงนโยบายในสัปดาห์หน้า

 

นอกจากนั้นการขยายกองทุนรวมวายุภักษ์มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นในส่วนของการเปิดขายในเดือนกันยายน เป็นอีกปัจจัยช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทย รวมถึงความเห็นจากกระทรวงการคลังที่ประเมิน GDP ปี 2567 ว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 2.7-3.0% ราคาน้ำมันอ่อนตัวแรง กดดันจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน

 

การจ้างงาน-ภาคการผลิตสหรัฐฯ น่าเป็นห่วง

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่า เริ่มมีความกังวลต่อทิศทางตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น หลังตำแหน่งงานเปิดใหม่ปรับลดลงต่ำกว่า 8 ล้านตำแหน่งอย่างต่อเนื่องติดกัน 2 เดือน (Revise Down) บ่งชี้ว่านายจ้างเริ่มลดการจ้างงาน รวมถึงเริ่มปลดคนงานออกมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 1.76 ล้านคน สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 นำโดยธุรกิจสันทนาการและการบริการที่เคยเป็นแหล่งการจ้างงาน บ่งชี้ว่าเป็นไปได้ที่อัตราการว่างงานจะทรงตัวหรือสูงกว่าระดับ 4.3% ในเดือนกรกฎาคม

 

นอกจากนั้นภาคการผลิตยังคงมีความเสี่ยง เห็นได้จากดัชนี ISM Manufacturing ที่อยู่แดนลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยในรายละเอียดพบว่าสินค้าคงคลังเริ่มเพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าภาคการผลิตจะชะลอตัวมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอาจขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี จากประมาณ 3.0% ในครึ่งปีแรก และเป็นไปได้มากขึ้นว่า Fed จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง 4-6 ครั้งติดกัน ในการประชุม FOMC รวมถึงลดทอนการทำ QT มากขึ้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน)

 

คาด GDP ไทยไตรมาส 4 โต 3.5%

 

ในส่วนของไทย การจัดตั้งรัฐบาลแพทองธารที่ทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการประกาศกรอบนโยบายที่เร่งผลักดันดิจิทัลวอลเล็ตระยะที่ 1 ผลักดันแนวนโยบายสนับสนุนตลาดทุน ทั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านบาท กองทุน Thai ESG และผลักดันสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวได้ดีขึ้นที่ระดับประมาณ 3.5% จากเดิมที่เคยมองไว้ที่ 2.9%

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

1. หุ้นเก็งกำไรซึ่งมีสัญญาณกลับตัว และ Valuation ยังไม่แพง โดยซื้อขายที่ PER และ PBV ต่ำกว่า -1SD แนะนำ CPN, GPSC และ TFFIF

2. หุ้นเก็งกำไรซึ่งคาดได้อานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง แนะนำกลุ่มเช่าซื้อ (MTC), กลุ่มอสังหา (AP), กลุ่มค้าปลีก (CPALL และ CPAXT), กลุ่มโรงไฟฟ้า (GULF) และกลุ่ม Reits (LHHOTEL และ DIF)

3. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการที่รัฐบาลใหม่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แนะนำ CPALL, CPAXT, BJC, TNP และ CBG

4. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากกองทุนรวมวายุภักษ์รอบใหม่ เลือก KTB, BBL, BCP, ADVANC และ HMPRO

 

“ช่วงสั้นมอง SET ยังมีโมเมนตัมที่ดีจากการคลายกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองไทยและคาดหวังการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปลาย 3Q67-4Q67 ซึ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่อย่างไรก็ดี ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา SET Index ปรับขึ้นแล้วกว่า 10% จึงอาจต้องระวังแรงขายทำกำไรระยะสั้นบริเวณแนวต้าน 1,450-1,460 จุด โดยมองเม็ดเงินลงทุนจะสลับไหลออกจากกลุ่มธนาคาร, ไฟแนนซ์, สื่อสาร ไปเข้าสู่กลุ่มปิโตรเคมี, โรงไฟฟ้า, อสังหา และการแพทย์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงและคาดว่าจะนำไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และ ECB”

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ตลาดคาด 2.6% ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ 2.9%

2. การประชุมนโยบายการเงินของ ECB โพลสำรวจคาดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps มาอยู่ที่ 3.50%

3. การแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ต่อรัฐสภาและการประชุม ครม. ชุดใหม่ครั้งแรก

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: WHA - ผู้นำธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของไทย

 

แนะนำ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้

  • เป็นผู้นำการให้บริการแบบครบวงจรด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพเติบโตที่ดี โดยแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์, ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล
  • มองเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและขยายการลงทุนจากทั่วโลกมาไทย เนื่องจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้กำไรเติบโต 13-16% ในปี 2024-2025
  • ปี 2024 คาดมีกำไรสุทธิ 4.99 พันล้านบาท เติบโต 12.7%YoY และเติบโตต่ออีก 16.2%YoY ในปี 2025 ปัจจัยหนุนจาก Backlog ในมือที่แข็งแกร่ง ส่วนฐานะการเงินยังคงแข็งแกร่งต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากคาดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจะลดลงตั้งแต่ปี 2025 เมื่อมีการรับรู้ Backlog เป็นรายได้
  • เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 6.60 บาท อิงวิธี PER เฉลี่ย 7 ปีที่ 17 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงวัฏจักรกำไรของบริษัท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.21 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 3.9%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มเทคปรับตัวลงนำตลาด หลัง

 

1. NVDA มีประเด็นเรื่อง Antitrust

2. งบกลุ่มเทคที่ออกมาดี แต่คาดการณ์และมาร์จิ้นในภาพรวมออกมาในทิศทางชะลอตัว จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ทั้ง HPE, AVGO, ZS และ C3.ai อย่างไรก็ดี เรามองเป็นจังหวะการลงทุนที่ดี หลังอุปสงค์ AI ยังโตดี สะท้อนจากแนวโน้มและการออกสินค้าใหม่ในกลุ่มเทค นอกจากนี้อุตสาหกรรม Non-AI ดูเหมือนจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับปัจจัยฤดูกาลที่ยังคงสนับสนุนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์

 

  • NVDA ปรับตัวลงแรงในช่วงต้นสัปดาห์ หลัง Bloomberg เผยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ส่งหมายเรียก NVIDIA สอบสวน Antitrust เรื่องการเข้าซื้อกิจการของ RunAI อย่างไรก็ดี บริษัทออกมาปฏิเสธและเผยว่าไม่มีหมายเรียก
  • ผลประกอบการกลุ่มเทคอย่าง AVGO, HPE, ZS และ C3.ai ออกมาดีกว่าคาด ในส่วนยอดขายที่ยังคงเติบโตดีหนุนจากอุปสงค์ AI ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี รายได้ในส่วนของ Non-AI อ่อนแอ กำไรที่หดตัวและคาดการณ์ที่ชะลอตัว ทำให้หุ้นลง

 

ภาพรวมกำไรที่หดตัวและคาดการณ์ที่ชะลอตัวเป็นผลมาจาก

 

1. HPE: ชิป AI มีมาร์จิ้นต่ำกว่าสินค้าอื่น โดยภาพรวมออกมาในทิศทางเดียวกันกับ Supermicro และ Dell ซึ่งเรามองว่าเป็นแรงกดดันระยะสั้น หลังบริษัทยังอยู่ในช่วงเร่งการลงทุน ยังไม่สามารถทำ Economic of Scale ได้ และต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง

2. C3.ai และ ZS: มาร์จิ้นและการเติบโตชะลอตัว สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งเช่นกัน

3. AVGO: มีแรงกดดันจากกลุ่ม Non-AI ที่บริษัทเผยไตรมาสนี้เป็นจุดต่ำสุดแล้ว

 

เราประเมินเป็นการชะลอตัวระยะสั้น หลัง

 

1. อุปสงค์ AI ที่โตต่อเนื่องสะท้อนผ่านการปรับขึ้นคาดการณ์ AVGO และยอดสั่งซื้อในซัพพลายเชนแกร่งทั้ง Foxconn และ Scientech

2. กลุ่ม Non-AI เริ่มฟื้นได้ในระยะถัดไปหลังผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

3. การออกสินค้าใหม่ของกลุ่มบริษัทใหญ่ เช่น AAPL

4. ปัจจัยตามฤดูกาลที่ภาพรวมช่วงปลายปีมักเป็นช่วงที่กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์มียอดขายดี

 

ด้วยภาพนี้ทำให้เรายังเชื่อว่าการเติบโตแม้จะชะลอตัวแต่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และมองราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาเป็นจังหวะในการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเราชอบ NVDA, TSM, AMD, AMZN, MSFT, AAPL และ AMZN

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด/สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินสดมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้สภาพคล่อง/เงินสดมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ข้อพิพาทการค้าระหว่างจีน-คู่ค้าต่างๆ และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งการโต้วาทีครั้งแรกระหว่าง คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายนนี้


ตราสารหนี้/เงินฝากระยะยาว

 

10Y UST Yield ปรับตัวลง 20 bps สู่ระดับต่ำสุดใหม่ หลังตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนและการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนสิงหาคมต่ำกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย ขณะที่ US Yield Curve มีความชันเพิ่มมากขึ้น จากการที่ 2Y UST Bond Yield ปรับลดลงค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ 10Y

 

ตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge กรณีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

 

เราคาดว่าความผันผวนของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ โดย Bond ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงจากนโยบายการคลังหลังเลือกตั้ง ขณะที่ Bond ช่วงอายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ยังเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

US Treasury & IG

 

YTW ของ IG ปรับตัวลดลงตาม UST แต่ Spread ค่อนข้างทรงตัว ตลอดเดือนสิงหาคมจนถึงในปัจจุบัน เช่นเดียวกับ 10Y TGB Yield ที่ยังคงทรงตัว แนะนำลงทุนทั้ง US Treasury และ IG Bond โดยยังแนะนำให้ลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี เพื่อ Lock Rate ในช่วงของ Curve Steepening โดยผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 3.5-4.8% ซึ่งสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ ที่ 2.8%

 

High Yield Bond

 

ตัวเลขการจ้างงาน ADP และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมที่ต่ำกว่าคาด ไม่ได้ทำให้ Spread ของ HY กว้างขึ้น สื่อถึง Demand ของ HY ที่ยังคงแข็งแกร่ง โดย Fund Flow ยังไหลเข้าต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ติด เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และ Supply ของการ Refinance ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2567

 

สินทรัพย์ผสม/กึ่งหนี้กึ่งทุน/REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก

 

1. Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่าจะปรับลด 3 ครั้ง ครั้งละ 25 bps รวม 75 bps ในปีนี้

2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 93.6% ในช่วง 2Q67

3. กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง

4. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต

5. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก

 

1. เศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในช่วง 2H67 จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

2. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพง ขณะที่ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

3. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังการจัดตั้ง ครม. เสร็จสิ้น

4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการที่ Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้รวม 3 ครั้ง

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

ในการประชุม Jackson Hole ที่ผ่านมา Fed ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในเดือนกันยายน ช่วยหนุน Sentiment ของตลาด

 

PMI ภาคการผลิตของยุโรปและสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมยังคงหดตัว ขณะที่ภาคบริการยังคงอยู่ในภาพของการขยายตัว เรายังคงมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลงแบบ ‘Soft Landing’ โดยการลงทุนหุ้นในกลุ่ม Quality Growth และกลุ่ม Defensive จะยังให้ผลตอบแทนที่ดีในสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ Soft Landing โดยมองความผันผวนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ และแนวโน้มตลาดพักฐานในเดือนกันยายน (ตามสถิติในอดีต) เป็นโอกาสในการทยอยสะสม

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

หุ้นในกลุ่ม Defensive (Utilities, Healthcare และ Consumer Staple) ที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับลดดอกเบี้ย และกำไรกิจการมีเสถียรภาพมากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ ยังคง Outperform ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงสิ้นสุดวันที่ 6 กันยายน แสดงถึงแรงส่งของ Sector Rotation ที่ยังมีโมเมนตัมสนับสนุน ขณะที่ กลุ่มเทคและกลุ่มพลังงานเป็นตัวฉุดตลาด โดยเฉพาะกลุ่ม Sub-Sector อย่างเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวลงแรงจาก Guidance ที่น่าผิดหวัง เรายังเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบ Barbell Strategy ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นกลุ่ม Quality Growth ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive

 

หุ้นยุโรป

 

ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยต่อของ ECB โดยเราคาดว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps ในวันที่ 12 กันยายนนี้ และจะลดอีกครั้งในเดือนธันวาคม โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรป ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ว่าความเสี่ยงข้อพิพาทการค้ากับจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ซึ่งล่าสุดพรรคขวาจัดของเยอรมนีสามารถคว้าชัยชนะศึกเลือกตั้งท้องถิ่นได้เป็นครั้งแรก อาจสร้างความผันผวนและกดดัน Sentiment ดัชนีอยู่ก็ตาม

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

ภาคการลงทุนและภาคการผลิตของจีนในเดือนกรกฎาคมส่งสัญญาณชะลอตัว ตัวเลขส่งออกยังอ่อนแอ และภาคอสังหายังถูกกดดันต่อเนื่อง โดยตัวเลขการขายบ้านใหม่ลดลง 20%YoY เพิ่มความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้า GDP ในปี 2567 ที่ 5%

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเริ่มส่งสัญญาณเติบโตชะลอตัวลงจากฐานที่สูง การปล่อยสินเชื่อที่เติบโตช้า รวมถึงการรัดเข็มขัดทางการคลังที่จะเริ่มส่งผลในช่วง 2H67

 

กำไรบริษัทจดทะเบียนในอินโดนีเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 2H67 และแรงกดดันจากค่าเงินอ่อนค่าเริ่มผ่อนคลายลง

 

หุ้นอินเดีย

 

ประมาณการ EPS ในปี 2567 ของ MSCI India ถูกปรับลดลงหลังการประกาศงบ 2Q67 ถึงแม้กำไรจะดีกว่าคาดก็ตาม บ่งชี้ถึงความกังวลบน Forward Guidance

 

การบริโภคในเขตเมืองเริ่มเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวจากฐานที่สูง ขณะที่การบริโภคในต่างจังหวัดเริ่มเห็นภาพของการฟื้นตัว จากปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในเขื่อนที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เราคาดว่าจะเห็นแนวโน้มนี้ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2567

 

มาตรการควบคุมสินเชื่อของภาคครัวเรือน และมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง เป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็ตาม

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นมากขึ้นจากทางการในช่วงที่เหลือของปี หลังความเสี่ยงที่ GDP ปีนี้อาจขยายต่ำกว่าเป้าที่ราว 5% มีมากขึ้น โดยล่าสุดทางการจีนกำลังพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านลง 80 bps

 

นอกจากนี้คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นผ่านการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผลมากขึ้น รวมทั้งทางการมีแนวโน้มเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงขาลงกับรักษาเสถียรภาพตลาด

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจากความคาดหวังในการออกมาตรการกระตุ้นมากขึ้นจากทางการในช่วงที่เหลือของปี หลังความเสี่ยงที่ GDP ปีนี้อาจต่ำกว่าเป้าที่ราว 5% มีมากขึ้น โดยที่ล่าสุดดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนเดือนสิงหาคมลดลงจากเดือนกรกฎาคม และต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นอกจากนี้คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจีน A-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้น และทางการมีแนวโน้มเข้ามาช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงกับรักษาเสถียรภาพของตลาด

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการถือครองไว้ในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก

 

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้

2. เริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์

3. ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว

4. เงิน Fund Flow ของ ETF ทองคำเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ หลังจากเทขายมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 9 ก.ย. 2024

READ MORE



Latest Stories