- เงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว ตลาดเงินเริ่มคาดหวัง Fed ผ่อนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
- ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ขยายตัวดีเกินคาด ขณะที่อัตราว่างงานลดลงแตะ 3.5% ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังร้อนแรง
- สภาสูงสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act และกำลังเข้าสู่สภาล่างก่อนประธานาธิบดีลงนาม เชื่อให้ประโยชน์เชิงการเมืองมากกว่าจะช่วยลดเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
- SCBS ยกให้หุ้น CPF เป็นหุ้นเด่นประจำสัปดาห์ หลังราคาสัตว์บกดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนเริ่มปรับลดลง
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นจาก 1. ตัวเลขความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลง โดยผลสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้าของ New York Fed ลดลงจาก 6.8% เป็น 6.2% ขณะที่ 3 ปีข้างหน้าลดลงจาก 3.6% เหลือ 3.2% ซึ่งบ่งชี้ว่านโยบายการเงินที่ตึงตัวเริ่มทำให้ประชาชนลดระดับความคาดหวังเงินเฟ้อลงบ้างแล้ว และ 2. เงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง โดยขยายตัว 8.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 8.7% ทำให้ตลาดคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจเริ่มลดระดับการขึ้นดอกเบี้ยลง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังได้รับปัจจัยเสี่ยงจาก 1. ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดีเกินคาด โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นถึง 5.28 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดที่ 2.58 แสนตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานลดลงที่ 3.5% ดีกว่าคาดเช่นกัน 2. ตัวเลขเงินเฟ้อจีนขยายตัวในระดับสูง 3. สภาสูงสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act และกำลังเข้าสู่สภาล่างก่อนประธานาธิบดีลงนาม โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น ให้ผู้อยู่ในประกันสังคมสามารถเจรจาด้านราคายาได้ สนับสนุนพลังงานทางเลือก และขึ้นภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% และเก็บภาษีซื้อหุ้นขึ้น 1% ซึ่งอาจให้ประโยชน์เชิงการเมืองมากกว่าจะช่วยลดเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลบวกและลบให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ตลาดจ้างงานขยายตัวดีเกินคาด บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังร้อนแรง
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเคลื่อนไหวในแดนบวกหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลดลงแรง ขณะที่ปัจจัยบวกด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากการจ้างงานสหรัฐฯ ขยายตัวดีเกินคาด บ่งชี้เศรษฐกิจยังร้อนแรง ขณะที่มาตรการด้านการคลังสหรัฐฯ เป็นทั้งปัจจัยบวกและลบต่อการลงทุน ด้านทิศทางนโยบายการเงินไทยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 0.75% ตามคาด
ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า เงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวลดลงสอดคล้องกับความคาดหวังเงินเฟ้อเป็นผลจากราคาพลังงานที่เริ่มลดลง และแนวนโยบายการเงินที่เข้มงวด ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เริ่มลดลง เป็นไปได้ที่การขึ้นดอกเบี้ยจะเริ่มลดทอนระดับการขึ้นอย่างรุนแรงลง
ขณะที่การจ้างงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งอาจเป็นเพราะตลาดแรงงานเป็น Lagging Indicator ของเศรษฐกิจ โดยถึงแม้เศรษฐกิจจะชะลอลงบ้าง แต่บางธุรกิจยังรู้สึกว่ายอดขายยังเติบโต จึงจ้างงานมากขึ้น ดังนั้นตลาดแรงงานอาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งเสมอไป
ในฝั่งของร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ผ่านสภาสูง และกำลังจะผ่านสภาล่างนั้น เรามีมุมมองดังนี้
- การผลักดันกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง Mid-Term ในเดือนพฤศจิกายนมากขึ้น เนื่องจาก Inflation Reduction Act เป็นการปรับจากร่างกฎหมาย American Families Plan ที่เป็นการลงทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- รายละเอียดหลักจะเป็นการสนับสนุนด้าน Medicare ให้ผู้อยู่ในประกันสังคมสามารถเจรจาด้านราคายาได้, การสนับสนุนด้านพลังงานทางเลือกวงเงิน 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น การต่ออายุ Tax Credit สำหรับผู้ซื้อ EV และการขึ้นภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% กับธุรกิจขนาดใหญ่ และเก็บภาษีซื้อหุ้นขึ้น 1% ซึ่งภาพเหล่านี้อาจช่วยลดเงินเฟ้อในระยะยาวได้เล็กน้อย ขณะที่ในระยะสั้นอาจกระทบต่อการขาดดุลการคลังมากขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เรามองว่ากฎหมายดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อ Sentiment ในการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบเล็กน้อย
ระดับความเสี่ยงด้าน Market Risk เริ่มลดลง หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอตัว รวมถึงผลสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นกัน ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ Fed ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ตลาดแรงงานยังคงร้อนแรง แต่การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลงมีส่วนช่วยลดระดับของเงินเฟ้อ
ยังต้องเฝ้าระวังเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย
จากสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงพันธบัตรระยะยาว แต่ปัจจัยความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปยังคงต้องระมัดระวังต่อไป ดังนั้นเรายังคงแนะนำให้เน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก โดยความเสี่ยงสำคัญหลังจากนี้คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร การจ่ายดอกเบี้ย และเงินปันผล ในอนาคต
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 0.6% ตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น 1.9% โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลงและทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทำให้คาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับ 75% ของบริษัทในสหรัฐฯ ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ออกมาดีกว่าที่คาด 4-5% นอกจากนั้นจีนประกาศสิ้นสุดการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPF - ราคาสัตว์บกดีขึ้น ต้นทุนลดลง
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ซึ่งมีฐานการผลิตและตลาดในหลายประเทศ รวมทั้งมีสินค้าจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการทำกำไรที่สูง
- 2Q22 คาดกำไรสุทธิ 4.5 พันล้านบาท แต่หากตัดกำไรพิเศษ 1.5 พันล้านบาท คาดมีกำไรปกติ 3 พันล้านบาท เติบโต 300%QoQ สะท้อนธุรกิจสัตว์บกในไทยที่ดีขึ้น และธุรกิจสุกรในจีนและเวียดนามที่ดีขึ้น ส่วน 2H22 คาดกำไรจะดีขึ้น จากมีผลขาดทุนใน 2H21 เพราะราคาสัตว์บกอยู่ในระดับที่ทำกำไรได้ทั้งในไทย เวียดนาม และจีน หนุนให้ปี 2022 คาดมีกำไรปกติสู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท
- ช่วงสั้นมองราคาหุ้นจะได้รับผลบวกจากต้นทุนอาหารสัตว์ (ข้าวโพดและกากถั่วเหลือง) ที่ปรับลงหลังปัญหาอุปทานขาดแคลนคลี่คลายจากการที่ยูเครนเริ่มส่งออกธัญพืชสู่ตลาดโลกได้ ขณะที่ราคาสัตว์บกยังเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในไทย จีน และเวียดนาม รวมทั้งตลาดส่งออกที่ปรับดีขึ้น
- ราคาหุ้น CPF ปรับขึ้น 2.9%YTD ซึ่งมองยังไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 1Q22 และจะเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2Q22 จากมาร์จิ้นที่จะกว้างขึ้นหลังราคาเนื้อสัตว์ดีขึ้นและต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง
- เราประเมินราคาเป้าหมายหุ้นละ 32 บาท (วิธี SOTP) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 ที่หุ้นละ 0.65 บาท คิดเป็น Div. Yield 2.4%
เงินทุนเคลื่อนย้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า
- มีกระแสเงินไหลเข้าตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดีและพันธบัตรรัฐบาล อาจจะบ่งชี้ว่านักลงทุนเริ่มกังวลกับความผันผวนในสินทรัพย์เสี่ยง
- เห็นเงินไหลเข้าหุ้นธีม Growth ต่อเนื่อง ส่วนหุ้นธีม Value มีเงินไหลเข้าแต่ไม่สูงมากนัก
- นอกจากนั้นนักลงทุนเริ่มกังวลกับเงินเฟ้อน้อยลง ทำให้ความกังวลบนกำลังซื้อลดน้อยลง สะท้อนจากเงินไหลเข้า Consumer Staple และ Consumer Discretionary
- เงินไหลออกจากหุ้นกลุ่มการเงินและหุ้นขนาดเล็ก รวมถึง Materials บ่งชี้ว่านักลงทุนยังกังวลกับภาพความเสี่ยง เศรษฐกิจถดถอย
- มีแรงขายในตลาดยุโรปอย่างต่อเนื่องจากความเสี่ยงด้านพลังงาน รวมถึงตลาดหุ้นจีนจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์
- เงินยังไหลออกจากโลหะมีค่า เงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังแข็งค่ากดดันต่อเนื่อง
ประเด็นเงินเฟ้อเป็นประเด็นร้อนในช่วงเวลานี้ เพราะส่งผลต่อทั้งนโยบายการเงินที่ตึงตัวกระทบกับกำลังซื้อ ทำให้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการและมาช่วยให้เงินเฟ้อลดลง โดยสหรัฐฯ นำเสนอร่างแผน Inflation Reduction Act มูลค่า 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป้าหมายคือการปรับลดเงินเฟ้อในประเทศเป็นสำคัญ
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัว อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ใน 2Q22 ที่ยังมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปัจจัยหนุนจาก Valuation ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับตัวดีขึ้น ผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ใน 2Q22 ที่มีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ แนวโน้มการซื้อหุ้นคืนและจ่ายเงินปันผลของ บจ.สหรัฐฯ ที่ยังดำเนินต่อ แนวโน้มการพักฐานของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ในระยะถัดไป และ Sentiment ของนักลงทุนบนหุ้นสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาดีขึ้น รวมทั้งการที่ตลาดสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Growth ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาด DM อื่น จะทำให้ได้อานิสงส์จากแรงซื้อนักลงทุน หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
ตลาดหุ้นยุโรป ภาพเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวยังไม่ได้ถูกสะท้อนผ่านกำไรของบริษัทจดทะเบียน จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาด จากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะเห็นผลกระทบเป็นรูปธรรมขึ้นในช่วง 4Q22 ในขณะที่นโยบายทางการเงินของ ECB ถูกกดดันจากภาพเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง อีกทั้งปัญหา Fragmentation และการเมืองภายในภูมิภาคยังเป็นตัวสร้างความผันผวนต่อการลงทุน
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก จากปัญหาซัพพลายเชนที่คลี่คลายลงตามการเปิดเมืองของจีน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดโควิดที่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แนวโน้มการเปิดประเทศล่าช้าออกไปกว่าที่เคยประเมินไว้ ในขณะที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้นจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะเป็นปัจจัยกดดัน อย่างไรก็ดี Valuation ที่อยู่ในระดับที่ต่ำเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุน
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน H-Share ดัชนียังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และจากการออกมาส่งสัญญาณผ่อนคลายด้านนโยบายที่ต่อเนื่องของทางการ อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ทั้งเรื่องการกีดกันการค้า ความเสี่ยง Delisting หุ้นจีน ADRs การคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน และความกังวลบนภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคธนาคารของจีน สืบเนื่องจากการที่ผู้ซื้อบ้านหยุดจ่ายเงินจำนองที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการที่ EPS บจ.ในกลุ่ม Platform ที่มีแนวโน้มชะลอลงทำจุดต่ำสุดช่วง 2Q22 จะยังกดดัน Upside ของดัชนี
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
หุ้นจีน A-Share ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรพิเศษไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้หมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งผลประชุม Politburo รอบล่าสุด ได้เน้นย้ำว่าท่าทีการดำเนินนโยบายควรยังผ่อนคลายต่อ เพื่อสนับสนุนกลุ่มเป้าหมาย แม้ว่าการที่ทางการจีนมีแนวโน้มจะคงนโยบาย Zero-COVID โดยรวมที่ยาวนานขึ้น และปัญหาภาคอสังหาจีนที่ยังมีอยู่ อาจกดดัน Sentiment ตลาดโดยรวมอยู่ก็ตาม
กองทุนแนะนำ:
SCB China A Shares Active Equity
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ Schroder International Selection Fund China A กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทรัพย์สินกองทุน ในตราสารทุนและตราสารที่เกี่ยวข้องกับตราสารทุนของบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนและซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศจีน
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
หุ้นไทยยังมีแนวโน้มที่ได้รับปัจจัยบวกภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร่งขึ้นตามตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศที่กลับมาในระดับก่อนโควิด ช่วยหนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ใน 2H22
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อาจได้รับปัจจัยกดดันจากเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากการซ้อมรบในพื้นที่รอบเกาะไต้หวันของจีนและไต้หวันที่มีโอกาสยืดเยื้อ ส่งผลต่อการขนส่งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้จะส่งผลดีต่อกลุ่มประกันและธนาคารขนาดใหญ่ แต่ผลบวกอาจถูกลดทอนด้วยคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงในกลุ่มที่อ่อนไหวต่อดอกเบี้ย เช่น SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง
กองทุนแนะนำ:
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับเพิ่มขึ้นจำกัดตามปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มในตลาดหุ้นกู้และตลาดอสังหาของทางการ แต่เรามองความกังวลดังกล่าวนี้อาจจำกัด Upside ของตลาด แต่เพียงช่วงสั้นเท่านั้น ขณะที่ Downside ตลาดเริ่มมีจำกัดตาม Valuation ตลาดที่ลดลงมามาก ดังนั้นเราจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม โดยตลาดได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ตามการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม จากผลประกอบการ บจ.เวียดนามที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และจาก Sentiment ของนักลงทุนรายย่อยในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น
กองทุนแนะนำ:
SCB Vietnam Equity Fund
- กองทุน SCB Vietnam ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเวียดนาม และ/หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ผลประกอบการ 2Q22 มีทิศทางขยายตัวแข็งแกร่งกว่าคาด นำโดยหุ้นกลุ่มถ่านหินและธนาคาร ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี (2Q22 GDP ขยายตัวดีกว่าคาด และคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นใน 3Q22) ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก ทำให้การเติบโตของ Earning ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง
ขณะที่ Valuation อยู่ในระดับที่น่าลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร (ได้รับประโยชน์จาก NIM ที่ดีขึ้นตามดอกเบี้ยขาขึ้นและการขยายตัวสินเชื่อ), กลุ่มพลังงาน (ยังได้ประโยชน์ระยะสั้นจากการส่งออกถ่านหิน), กลุ่ม Consumer Staple (ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่ยังสูงต่อเนื่อง) และกลุ่ม Consumer Discretionary (ได้แรงหนุนจากชนชั้นกลางที่เติบโต)
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ระยะสั้นราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Bond Yield ที่ยังคงปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และค่าเงินสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อในเงินสกุลอื่น (Denomination Effect) อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ความต้องการจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรอง และการฟื้นตัวของอุปสงค์ทองในฐานะเครื่องประดับ
น้ำมัน / อาหาร
ความน่าสนใจระดับ 4
ภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวจะคงอยู่จนถึงสิ้นปี 2022 โดยอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการที่ยุโรปคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ในขณะที่การเพิ่มกำลังการของกลุ่ม OPEC ยังถูกจำกัดด้วยกำลังการผลิตสำรองที่อยู่ในระดับต่ำ ฝั่งอุปสงค์นั้นยังคงได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง ประกอบกับคลังสินค้าน้ำมันและปิโตรเลียมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย และข่าวการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน เป็นปัจจัยกดดันในระยะสั้น
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่มากขึ้น ปัจจัยลบจาก Government Bond Yield ที่เร่งตัวขึ้นได้บรรเทาลง และกลุ่มที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ยังได้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่มีมากขึ้น จากความสามารถในการซื้อบ้านลดลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวัง REITs ใน 1. กลุ่มที่มี High Gearing & High Floating-Rate Debts ที่จะถูกกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น และ 2. การชะลอตัวในสหรัฐฯ และยุโรป ที่กระทบรายได้ของ REITs กลุ่มที่มี Recurring Income ต่ำ
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ตลาดได้รับผลบวกอย่างเต็มที่จากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ REITs ในกลุ่มค้าปลีกและโรงแรมในสิงคโปร์ ที่ดัชนีค้าปลีกกลับมาในระดับก่อนโควิด ท่ามกลางสัดส่วนการซื้อของผ่านหน้าร้าน (Physical Stores) มีมากขึ้น และรายได้ต่อห้องพักว่าง (RevPar) ของโรงแรมโดยภาพรวมฟื้นตัวกลับมาที่ 95% ของระดับก่อนโควิดแล้ว ขณะที่ปัจจัยลบจาก Government Bond Yield ได้ลดลงเช่นเดียวกันกับตลาดประเทศพัฒนา อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวัง REITs ในกลุ่มที่มี High Gearing & High Floating-Rate Debts ที่จะถูกกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น