- ปี 2023 นับว่าเป็นปีทองของ ‘อินเดีย’ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากในไตรมาส 2 ของปี 2023 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อินเดียขยายตัวถึง 7.8% เร่งขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาสแรก นำหน้าประเทศในเอเชียอื่นๆ
- นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี (YTD) ดัชนี NIFTY 50 ของตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นราว 9.47% สอดคล้องกับดัชนี MSCI India ที่ปรับตัวขึ้นราว 8% เอาชนะดัชนี MSCI Emerging Markets ที่ปรับตัวขึ้นเพียง 1.77% เท่านั้น
- Goldman Sachs คาดการณ์ว่าอินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 อันดับของโลก รองจากจีน และแซงหน้าสหรัฐฯ
- ท่ามกลางปัจจัยหนุนมากมาย เช่น จำนวนประชากรวัยทำงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลในประเทศ การปฏิรูประเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ และการย้ายฐานผลิตของบริษัทจำนวนมาก เป็นต้น
- กระนั้นอินเดียยังมีสัญญาณอันตรายอยู่มากมาย เช่น 1. การกำกับดูแลที่อ่อนแอ 2. ความพ่ายแพ้ของค่านิยมเสรีประชาธิปไตย 3. การเติบโตที่ไม่สมดุล และความเหลื่อมล้ำ
ปี 2023 นับว่าเป็นปีทองของ ‘อินเดีย’ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศไม่กี่แห่งบนโลกที่ GDP โตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ตลาดหุ้นก็พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างมองเห็นในโอกาสและศักยภาพของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม อินเดียยังต้องระมัดระวัง และไม่ควรเพิกเฉยต่อสัญญาณอันตรายที่มีอยู่มากมาย เช่น 1. การกำกับดูแลที่อ่อนแอ 2. ความพ่ายแพ้ของค่านิยมเสรีประชาธิปไตย 3. การเติบโตที่ไม่สมดุล และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งผู้นำทางธุรกิจและภาครัฐที่จะต้องใส่ใจและเร่งแก้ไข
ชาวอินเดียคือตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อิทธิพลของอินเดียต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ยากจะเพิกเฉย โดยย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประชากรอินเดียได้แซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกไปแล้ว
และด้วยจำนวนประชากรที่ทะลุ 1.4 พันล้านคนนี้ ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่หลายแบรนด์ระดับโลกกำลังจ้องมอง
โดยตามรายงานเมื่อเดือนสิงหาคม Bloomberg ระบุว่า รายได้ของ Apple ในอินเดียเพิ่มขึ้นเกือบ 50% นับตั้งแต่เดือนมีนาคมในปีนี้ โดยคิดเป็นเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่ Anurag Mathur พาร์ตเนอร์ของ Bain & Company กล่าวว่า การเติบโตของมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ในอินเดียดึงดูดผู้เล่นในตลาดสินค้าหรูหราได้เป็นอย่างดี
โดยข้อมูลจาก Knight Frank Wealth คาดการณ์ว่า ภายในปี 2027 ประชากรในอินเดียซึ่งจะอยู่ที่ราว 1.66 ล้านคน จะมีทรัพย์สินสุทธิมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ส่วนผู้ที่มีทรัพย์สินสุทธิตั้งแต่ 30 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเติบโตเกือบ 60% ในช่วง 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2022
ยังมีสัญญาณที่บ่งบอกว่าแบรนด์ต่างประเทศกำลังให้ความสนใจอินเดียมากขึ้น โดยในต้นปีนี้ Dior ยังเลือก Gateway of India ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมุมไบ เป็นฉากหลังสำหรับการแสดงบนรันเวย์ครั้งแรกในอินเดีย
‘เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น’ อินเดียมีโมเมนตัมดีไม่มีตก
ขณะที่ในไตรมาส 2 ของปี 2023 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อินเดียขยายตัวถึง 7.8% เร่งขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาสแรกของปี 2023 ทำให้ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India) ตั้งเป้าการเติบโตทั้งปีนี้ที่ 6.5% นับเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับประมาณการในรายงาน World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า GDP อินเดียทั้งปีนี้จะขยายตัว 6.1%
ด้วยตัวเลขดังกล่าว ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มี GDP โตเร็วที่สุดในเอเชียในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แซงหน้าพี่ใหญ่ของภูมิภาคอย่างจีน ซึ่ง GDP ขยายตัว 6.3% ในช่วงไตรมาสเดียวกัน
ตั้งแต่ต้นปี 2023 (YTD) ดัชนี NIFTY 50 ของตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นราว 9.47% ณ วันที่ 8 กันยายน สอดคล้องกับดัชนี MSCI India ที่ปรับตัวขึ้นราว 8% เอาชนะดัชนี MSCI Emerging Markets ที่ปรับตัวขึ้นเพียง 1.77% เท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้นักลงทุนมองว่าอินเดียเป็น ‘ทางเลือก’ แทนจีนมากขึ้น
อินเดียกลายเป็น ‘จุดหมายปลายทาง’ ของภาคธุรกิจและการผลิต
โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทข้ามชาติจำนวนมากได้แสดงความสนใจย้ายการผลิตไปยังอินเดียมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ ‘จีนบวกหนึ่ง’ (China Plus One) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของภาคธุรกิจที่พยายามกระจายความเสี่ยง หรือหลีกเลี่ยงการลงทุน ‘เฉพาะแต่ในประเทศจีน’ โดยพยายามกระจายธุรกิจและฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มสูงขึ้น
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Foxconn ซัพพลายเออร์ผู้ผลิต iPhone จากไต้หวัน ประกาศทุ่มเงินกว่า 600 ล้านดอลลาร์ ลงทุนโรงงานผลิตมือถือในอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการจ้างงานกว่า 13,000 ตำแหน่ง ท่ามกลางการวิเคราะห์ที่ระบุว่า Apple และ Tesla ก็สนใจและมีแผนที่จะลงทุนในอินเดียเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศด้วย เห็นได้จากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียสัญญาว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านทุนอีกประมาณ 1 ใน 3 ของงบประมาณ เพื่อนำไปต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางถนน ทางรถไฟ และพลังงานหมุนเวียน
การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในอินเดียดีขึ้นต่อเนื่อง
อินเดียกำลังเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลัง (ซึ่งเคยเป็นข้อกังวลของหลายบริษัท) เห็นได้จากรายจ่ายด้านการลงทุนของรัฐบาลอินเดียที่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 11% ของงบประมาณทั้งหมดในปี 2010 สู่ระดับราว 1 ใน 3 ในปีนี้
โดยตั้งแต่ปี 2014 อินเดียเพิ่มทางหลวงได้ถึง 10,000 กิโลเมตรต่อปี จำนวนสนามบินในอินเดียที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะที่ระบบรถไฟก็ได้รับการปรับปรุงโดยมีทางเดินขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูง
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นที่สุดอีกประการหนึ่งคือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ 881.25 ล้านคน ทำให้อินเดียมีประชากรที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลังจีนที่มีจำนวนราว 1,050 ล้านคน
จากการเข้าถึงนี้ ทำให้อินเดียมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่หลายประเทศกำลังจับจ้อง เช่น ระบบการระบุตัวตนในระดับประชากร (Population-scale) ระบบการชำระเงินดิจิทัลแบบไร้รอยต่อ และระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นเลิศ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสารออนไลน์ที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว เช่น เอกสารภาษี และใบรับรองการฉีดวัคซีน เป็นต้น
ปัจจุบันอินเดียถือเป็นผู้นำการผลิตด้าน ICT โดยมีรายได้จากการส่งออก ICT Service อยู่ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ จัดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ และจีนอยู่อันดับ 3 และ 4
โดยตามข้อมูลของ Nasscom สมาคมการค้านอกภาครัฐของอินเดีย ระบุว่า รายได้จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินเดียคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.45 แสนล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2023
การปฏิรูปกฎหมายภายในอินเดีย
นอกจากเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอินเดียยังมีการปฏิรูปกฎระเบียบและนโยบายหลายประการ ตัวอย่างเช่น การใช้ประมวลกฎหมายล้มละลายเมื่อปี 2016 ไปจนถึงการยกเลิกกฎระเบียบที่ยุ่งยากมากกว่า 39,000 ฉบับ เพื่อส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
อินเดียจ่อผงาดกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก
ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา Goldman Sachs คาดการณ์ว่าอินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 อันดับของโลก รองจากจีน และแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2075 หรือในอีกราว 52 ปีข้างหน้า เนื่องจากความก้าวหน้าในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การลงทุนที่สูงขึ้น และผลิตภาพของพนักงานที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย
ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของ S&P Global และ Morgan Stanley ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจอินเดียมีโอกาสเติบโตแซงหน้าญี่ปุ่นและเยอรมนี จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2030 จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ การลงทุนด้านการผลิต การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขั้นสูง ตลอดจนมีการสนับสนุนจากภาคการเงินและทรัพยากรบุคคลที่แข็งแกร่ง
ขณะที่ Martin Wolf จากหนังสือพิมพ์ The Financial Times ก็คาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 กำลังซื้อของอินเดียจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ ถึง 30%
เปิดปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจอินเดียจากตำแหน่งมหาอำนาจ
แม้จะมีปัจจัยบวกมากมาย แต่ตั้งแต่ต้นปีเศรษฐกิจอินเดียก็แสดงให้เห็นปัจจัยท้าทายอย่างครบถ้วนเช่นกัน ได้แก่ 1. การกำกับดูแลที่อ่อนแอ 2. ความพ่ายแพ้ของค่านิยมเสรีประชาธิปไตย 3. การเติบโตที่ไม่สมดุล และความเหลื่อมล้ำ
ประการแรก ในปีนี้ กลุ่ม Adani ซึ่งนำโดยมหาเศรษฐีชาวอินเดีย Gautam Adani (ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี Narendra Modi) ถูกกล่าวหาว่ามีการโยกย้ายถ่ายเทหุ้น ฉ้อโกงทางบัญชี และใช้แหล่งหลบภาษีอย่างไม่เหมาะสม
แม้ Adani ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจถึงปัญหาอันยาวนานของอินเดีย นั่นก็คือ ‘การกำกับดูแลที่อ่อนแอ’ รวมถึงประเด็นการสนับสนุนกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมบางกลุ่มของรัฐบาล
ประการที่ 2 อีกหนึ่งปัจจัยท้าทายที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความพ่ายแพ้ของค่านิยมประชาธิปไตย หลังพรรคภารติยะ ชนะตะ หรือ บีเจพี (Bharatiya Janata Party: BJP) พรรคชาตินิยมฮินดูของ Modi ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในปี 2019 ซึ่งนำมาด้วยการทำลายพรรคฝ่ายตรงข้าม และ Rahul Gandhi ท่ามกลางการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา รวมถึงชาวมุสลิมและคริสเตียน ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าหนักใจ ดังที่ระบุไว้ในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้
ประการที่ 3 แม้ตัวเลขการเติบโตของ GDP อินเดียจะน่าประทับใจ แต่การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชาวอินเดียได้รับกลับไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก โดยข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ชาวอินเดีย 10% อันดับแรกถือครองความมั่งคั่งของประเทศถึง 77%
นอกจากนี้ยังมีชาวอินเดียเกือบ 2 คนเสี่ยงถูกผลักเข้าสู่ความยากจนในทุกๆ วินาที เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ความหนาแน่นทางของประชากรของอินเดีย ซึ่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็ทำให้การจัดสรรทรัพยากรและความเครียดด้านสิ่งแวดล้อมตึงตัวอย่างมาก ท่ามกลางความไม่สมดุลของภูมิภาค โดยอินเดียตอนใต้และตะวันตกเติบโตเร็วกว่าอินเดียตอนเหนือและตะวันออกถึง 12% โดยหากความไม่สมดุลเหล่านี้ขยายใหญ่ขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปความตึงเครียดระหว่างภูมิภาคครั้งใหม่อาจเกิดขึ้นได้
แนะอินเดียเร่งแก้ปัจจัยเสี่ยง
ดังนั้นหากอินเดียต้องการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น
ประการแรก ควรยอมรับการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงลดสนับสนุนบริษัทรายใหญ่ เพิ่มความเชื่อใจให้กับสถาบันกำกับดูแล และล้มเลิกการกีดกันทางการค้า
โดยจะเห็นได้ว่าภายใต้นโยบาย ‘Make in India’ ของ Modi ไปจนถึงการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับส่วนประกอบจากต่างประเทศ (ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการเติบโตของห่วงโซ่อุปทานในประเทศ) ล้วนเป็นนโยบายที่ทำให้การย้ายถิ่นฐานไปยังอินเดียน่าดึงดูดน้อยลงมาก
ประการที่ 2 การลงทุนในคน เนื่องจากอินเดียเป็นบ้านของประชากรประมาณ 1 ใน 5 ของโลกที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี แต่กลับมีผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายในด้านทักษะและการศึกษา เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend)
นับตั้งแต่อินเดียประกาศปฏิรูปตลาดไปสู่เสรี (Liberalising Market) หลายต่อหลายครั้งในปี 1991 ความยากจนในอินเดียก็ลดลง ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ขณะที่แรงงานที่มีต้นทุนต่ำและอายุน้อยก็เติบโตขึ้น แต่หากไม่มีการปฏิรูปและความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนประเทศไปสู่ค่านิยมประชาธิปไตย โมเมนตัมเหล่านี้ก็อาจจะหยุดนิ่งได้
อ้างอิง:
- https://hbr.org/2023/09/is-india-the-worlds-next-great-economic-power
- https://www.ft.com/content/4a7fdc6e-c91b-44ef-b966-854f847de562
- https://asia.nikkei.com/Economy/India-GDP-growth-hit-7.8-in-April-June-fastest-in-a-year
- https://www.reuters.com/world/india/view-indias-economy-grows-fastest-pace-year-june-quarter-2023-09-01/