สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นโลกปรับลดลง เป็นผลจากการปรับความคาดหวังของนักลงทุนในประเด็นการลดดอกเบี้ยที่อาจไม่เร็วมากอย่างที่ตลาดคาดไว้ รวมถึงโอกาสที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันจะได้รับเลือกตั้งมีมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสงครามการค้าและการขาดดุลการคลังจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นกดดันสินทรัพย์เสี่ยง
นอกจากนั้น IMF ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2024 ไว้ที่ 3.2% โดยปรับ GDP สหรัฐฯ ขึ้น แต่ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนลง ส่วน GDP ปี 2025 มีการปรับคาดการณ์ลง 0.1% เหลือ 3.2% พร้อมเตือนความเสี่ยงจากสงครามและนโยบายกีดกันทางการค้า แม้ว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและ Materials ปรับตัวลดลง 2.5-2.7% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และความผิดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน กลุ่มธนาคารปรับลดลง 1.1% จากการขายทำกำไรหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกำไรที่ดีกว่าที่คาด
ตลาด EM ปรับลดลงเช่นกัน แม้จีนจะประกาศมาตรการการเงินการคลังเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลท้องถิ่นประกาศมาตรการกระตุ้นการบริโภคใน 5 เมืองใหญ่ของจีน และธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับอัตราดอกเบี้ย LPR 1 ปี และ 5 ปี ลง 25 bps
ตลาดหุ้นไทยปรับลงเช่นกัน หลัง SET ไม่ผ่าน 1,500 จุด เนื่องจากไม่มีประเด็นบวกใหม่ และถูกกดดันจากปัจจัยมหภาค หลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมุมมองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าการลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดยังไม่ใช่วงจรดอกเบี้ยขาลง กดดันกระแสเงินมายังตลาด EM ส่วนราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ค่อนข้างทรงตัว หลังปรับลงมาแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่อ่อนแอ
โลกเปลี่ยนผ่านสู่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ในส่วนของประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตเงินเฟ้อสู่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความเสี่ยงหนี้สาธารณะ โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มลดลงจาก 5.8% ในปีนี้ เป็น 4.3% ในปีถัดไป แต่ความเสี่ยงระยะถัดไปคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้า แรงงาน และการเงิน โดย Scenario Analysis ของ IMF ระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเฉลี่ย 0.4-1.6% ต่อปี ในช่วง 4 ปีข้างหน้า
ขณะที่ Sensitivity Analysis ของเราพบว่า หากสหรัฐฯ ทำมาตรการกีดกันทางการค้าเต็มรูปแบบจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง 0.8% ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4% ต่อปี ขณะที่ความเสี่ยงหนี้สาธารณะทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้น จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรมีความเสี่ยงขาขึ้นด้วยเช่นกัน
ในส่วนของมาตรการจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาเรามองว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคในเมืองใหญ่ที่มีกำลังซื้อ รวมถึงการลดดอกเบี้ย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการออมสูงของชาวจีนเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจยังเสี่ยง เราจึงต้องจับตาว่ามาตรการนี้จะทำให้สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่หลังจากที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านรายงาน Beige Book สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing โดยเฉพาะการระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนของประชาชน อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องในอนาคต
โดยประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่
- การขอสินเชื่อที่ชะลอลงเนื่องจากผู้ขอกู้รอจนกว่าดอกเบี้ยจะหยุดลง ทำให้ดอกเบี้ยควรลงเร็ว
- หากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและขึ้นภาษีศุลกากรตามที่ประกาศไว้ อาจทำให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นและทำให้ Fed ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ตามคาด
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Global Play ซึ่งผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดกำไรเติบโต YoY ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เลือก KCE, TU, MINT และ AOT
- ธีม Earning Play สำหรับนักลงทุนระยะกลางที่ต้องการหุ้นพื้นฐานดีที่กำไร 3Q67 คาดมีโมเมนตัมเติบโต YoY และ QoQ เลือก BEM, BCH, BDMS, GULF, TRUE, AU และ TNP
- หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดว่าได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วงปลายปี เลือก KTB, BBL, ADVANC, HMPRO และ BCP
- หุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ความไม่สงบในตะวันออกกลาง เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมอง SET มีโอกาสแกว่งตัว Sideway Up โดยมีแรงหนุนจากผลประกอบการ 3Q67 ของบริษัทจำกัด (บจ.) ทั้งสหรัฐฯ และไทย ที่คาดว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น และคาดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ดี SET จะยังมี Upside จำกัด โดยมีแนวต้าน 1,500 จุด เนื่องจากมองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าจะส่งผลให้มีแรงกดดันต่อ Fund Flow ที่ไหลเข้ามาในตลาด EM อีกทั้งตลาดยังอยู่ในช่วงปรับความคาดหวังว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้ช่วงสั้นต้องระวังหุ้นที่ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยลงซึ่งราคาปรับตัวขึ้นมาสะท้อนความคาดหวังแล้ว รวมทั้งหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้า เช่น DELTA, GULF, ADVANC และ INITUCH เนื่องจากมองว่าตลาดอยู่ในช่วง Rebalance” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 30-31 ตุลาคม คาดว่าคงดอกเบี้ยที่ 0.25%
- GDP 3Q24 ที่รายงานรอบแรกของสหรัฐฯ (คาด 3.2%QoQ, SAAR) และยูโรโซน (คาด +0.3%QoQ)
- การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม ตลาดคาด 1.8 แสนตำแหน่ง (เดือนกันยายน 2.54 แสนตำแหน่ง)
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BDMS - 3Q24 คาดกำไรทำ New High
แนะนำบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายมากสุดในไทย (โรงพยาบาล 57 แห่ง รวมกว่า 8,500 เตียง) และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรงพยาบาลเอกชนทั่วโลกในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งคาดได้ประโยชน์จากอุปสงค์ทางการแพทย์ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว
- 3Q24 คาดสร้างสถิติกำไรปกติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 4.3-4.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้ง QoQ และ YoY ปัจจัยขับเคลื่อนจากเป็นไฮซีซันของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากโรคตามฤดูกาล (มีผู้ป่วยชาวไทยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น) และจากภาพการท่องเที่ยวไทยที่ดีขึ้น (มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น)
- มองราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้น เนื่องจากมีกำไรที่แข็งแกร่งกว่าผู้ประกอบการโรงพยาบาลรายอื่นๆ ขณะที่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BDMS ยัง Laggard กลุ่ม และ Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายที่ PER 2024F และ 2025F ที่ 27 เท่า และ 25 เท่า ต่ำกว่าระดับ -2SD ของ PER เฉลี่ยในอดีตที่ 30 เท่า
- เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2024 ที่หุ้นละ 36 บาท (อ้างอิงวิธี DCF) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.79 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 2.8%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ผลประกอบการของหุ้นสหรัฐฯ ออกมาดีในภาพรวม โดย
- กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์มีแรงหนุนจาก AI
- กลุ่มเทคโนโลยีแม้มีแรงหนุนจาก AI แต่ IT Spending ชะลอตัวจำกัดการเติบโต
- กลุ่มที่อิงภาพเศรษฐกิจและสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวตามภาพเศรษฐกิจ แต่ UPS มีแรงชดเชยจากแรงซื้อในคอมเมิร์ซจนทำให้งบดีกว่าคาดสวนทาง Peers
- กลุ่มเชิงรับมีมาร์จิ้นโตเป็นสำคัญ ด้วยภาพนี้เราคาดการณ์งบกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI และคอมเมิร์ซจะออกมาดี
- กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์: LRCX และ SK Hynix เผยงบและคาดการณ์เติบโตดีกว่าคาด หนุนจากอุปสงค์ AI ที่แกร่งจนทำให้
-
- LRCX อุปสงค์การใช้อุปกรณ์ผลิตชิปโต โดยเฉพาะ AI
- SK Hynix อุปสงค์ HBM โต รวมถึงราคา NAND และ DRAM เพิ่มขึ้น
- กลุ่มเทคโนโลยี: ภาพรวมออกมาในทิศทางผสมหลัง IT Spending ยังชะลอตัวในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ ซึ่งกดดันภาพรวมงบของ IBM และ NOW อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI ของ IBM และ NOW รวมถึง SAP ถือได้ว่าโตแกร่งและมีเทรนด์ขาขึ้น
- กลุ่มที่อิงภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม: งบและคาดการณ์ของ HON และ TI ออกมาต่ำกว่าคาด หลังยอดขายสินค้ามีแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในทิศทางเดียวกัน ธุรกิจขนส่งทางอากาศที่มีราคาแพงของ UPS ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจมีแรงสนับสนุนจากแรงซื้อของกลุ่มอีคอมเมิร์ซที่ดีมาช่วยชดเชยได้
- กลุ่ม Defensive: ภาพรวมงบ KO และ ULVR ถือได้ว่าการเติบโตไม่ได้หวือหวา หลังแรงซื้อผู้บริโภคยังคงชะลอตัวกดดันสินค้าบางกลุ่ม แต่อย่างไรก็ดี ผลประกอบการมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของมาร์จิ้นหลังมีการควบคุมต้นทุนที่ดี
ในภาพรวมนี้เรามองว่าผลประกอบการของหุ้นสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าที่คาดการณ์โดยรวม หลังความคาดหวังต่องบค่อนข้างต่ำ รวมถึงแนวโน้มการทำกำไรยังคงดี ทั้งนี้เราประเมินว่า
- กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI จะยังคงเติบโตได้ดีหลังอุปสงค์แกร่งจนหนุนให้รายได้เติบโตต่อเนื่องได้ เช่น กลุ่มคลาวด์และเซมิคอนดักเตอร์ประมวลผลขั้นสูง โดยเราชอบ MSFT, AMZN และ NVDA
- กลุ่มอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มโตดี สะท้อนจากปริมาณการขนส่งของ UPS ที่เติบโต รวมถึงยอดค้าปลีก Non-Store ในสหรัฐฯ ที่ยังคงดีอย่าง AMZN และ SHOP
นอกจากนี้มองกลุ่ม BNPL อย่าง PYPL และ AFRM โตดีในทางเดียวกัน หลังกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคอมเมิร์ซเป็นหลัก
ภาพ: posteriori / Getty Images