THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT

วิกฤตผิดนัดชำระหนี้ระลอกใหม่มาแน่? IMF เผย 17% ของหนี้บริษัทในเอเชีย ‘เสี่ยงจ่ายดอกเบี้ยไม่ไหว’

... • 29 พ.ค. 2023

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ปัจจุบันการกู้ยืมเงินของรัฐบาล บริษัท ผู้บริโภค และบริษัทด้านการเงิน (Financial Firms) ของเอเชียสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ได้เพิ่มภาระหรือเงินกู้เพิ่มอย่างรวดเร็วไปแล้ว ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ 

 

ปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นวาระสำคัญระดับโลก เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ IMF เพิ่งคาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียจะคงอยู่ต่อไป และจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปี 2022 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่บรรดาธนาคารกลางในเอเชียอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับที่สูงนานขึ้น เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ก็อาจทำให้ภาวะทางการเงินตึงตัวยิ่งขึ้น

 

โดยบริษัทที่มีการกู้ยืมเงินมาลงทุนอย่างมาก (Highly Leveraged Companies) กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น เนื่องจากนโยบายการเงินและสภาวะทางการเงิน (Financial Conditions) ที่ตึงตัว โดยแม้การเติบโตทาง GDP อาจเริ่มฟื้นตัว แต่ภาระการจ่ายดอกเบี้ยอาจเกินรายได้ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น นับเป็นการลดความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ

 

หนี้ของบริษัทในเอเชีย 17% เสี่ยงจ่ายดอกเบี้ยไม่ไหว

 

IMF ยังชี้ให้เห็นว่า หนี้ของบริษัทในเอเชียกำลังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) ‘ต่ำ’ โดย ณ ช่วงกลางปี 2022 หนี้บริษัทในเอเชีย 17% ถือครองโดยบริษัทที่มีอัตราส่วน ICR ต่ำกว่า 1 โดยหนี้จำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ขณะที่อีก 1 ใน 3 เป็นของบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยระหว่าง 1 ถึง 4

 

ทั้งนี้ บริษัทที่มีอัตราส่วน ICR ที่ต่ำกว่าหรือใกล้ 1 หมายความว่า บริษัทนั้นอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ 

 

 

ตามข้อมูลของ IMF ยังชี้ให้เห็นว่า อินเดีย ไทย จีน และอินโดนีเซีย มีหนี้บริษัทในบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่า 1 ‘สูงกว่า 20% หรือใกล้ 30%’ ซึ่งเป็นระดับที่ส่งสัญญาณถึงความอ่อนไหวต่อการผิดนัดชำระหนี้

 

ขณะที่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฮ่องกง มีหนี้บริษัทจำนวนมากในบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยที่ 1 ถึง 4 ‘อยู่จำนวนมาก’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระได้ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค

 

เตือนระเบิดเวลาใกล้ปะทุ

 

แม้เงินสดที่บริษัทต่างๆ สะสมเป็นบัฟเฟอร์ (Buffer) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังสามารถช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม IMF เตือนว่า บัฟเฟอร์นี้อาจไม่เพียงพอ หากต้นทุนการกู้ยืมยังคงอยู่ในระดับสูง ‘นานขึ้น’ ทั่วทั้งภูมิภาค

 

โดยการถือครองเงินสดในบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยต่ำจะลดลง โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งการถือครองเงินสดของบริษัทที่เปราะบาง ‘ต่ำเป็นพิเศษ’ เมื่อเทียบกับต้นทุนดอกเบี้ย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย

 

แนะธนาคารให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงิน

 

IMF ยังแนะให้หน่วยกำกับดูแลด้านการเงินต้องเฝ้าระวัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้ที่สูงและต้นทุนการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังควรปรับเทียบเครื่องมือ Macroprudential ที่เกี่ยวข้องใหม่ ตามความจำเป็นเพื่อจัดการกับช่องโหว่ในภาคธุรกิจ

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางควรแยกวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงิน (Monetary Policy Objectives) ออกจากเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Goals) โดยใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น สภาพคล่อง (Liquidity) และเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการกู้ยืม (Lending Facilities) เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่ดำเนินการปรับนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

 

จับตากลุ่ม SMEs ไทยจ่อรับผลกระทบมากที่สุด

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบตอนนี้คือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ส่วนในจีน กลุ่มที่อ่อนไหวกับดอกเบี้ยมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ คือภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีหนี้สูง

 

สำหรับประเทศไทย อมรเทพมองว่ากลุ่มที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยและได้รับผลกระทบคือ บริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อย (SMEs) โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีรายได้โตไม่ทัน และไม่ได้รับอานิสงส์ของภาคบริการ หลังจากเปิดเมืองในรอบนี้

 

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย อมรเทพอธิบายว่า มีความแตกต่างจากทั่วโลก โดยตอนนี้ภาคอสังหาของไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ซึ่งจะเห็นว่ามีการเปิดขายอสังหาริมทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงกลุ่มคอนโดราคาจับต้องได้ประมาณ 3 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวกับดอกเบี้ย เนื่องมาจากดอกเบี้ยอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่เหมือนกับสหรัฐฯ โดยดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นรวมอยู่ในเงินผ่อนรายเดือนแล้ว อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็อาจส่งผลให้ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือคัดกรองลูกค้ามากขึ้น

 

สำหรับในระยะข้างหน้า หาก ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยไปอีกสักระยะ อมรเทพมองว่า บริษัทเอกชนในภาพรวมไม่น่าจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากภาคธุรกิจไทยมีการปรับตัวดี โดยหันไปออกตราสารหนี้แทนกู้เงินจากธนาคาร โดยบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีก็สามารถระดมทุนได้ในอัตราต้นทุนที่มีความน่าสนใจ

 

อย่างไรก็ตาม SMEs ยังคงเป็นภาคส่วนที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่สามารถออกหุ้นกู้เรตติ้งดีๆ ได้ และยังคงต้องพึ่งธนาคารในการระดมเงิน ท่ามกลางการฟื้นของเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีข้อจำกัดและไม่ทั่วถึง 

 

อ้างอิง:

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 29 พ.ค. 2023

READ MORE



Latest Stories