- ยูเครนใช้ขีปนาวุธสหรัฐฯ โจมตีคลังแสงของรัสเซีย และรัสเซียตอบโต้กลับด้วย ICBM ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย บ่งชี้ถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและ NATO อาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายนิวเคลียร์ใหม่ของรัสเซีย
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าในระยะต่อไปความผันผวนในตลาดจะเพิ่มขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้อาจเห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และอาจทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลดลง หลังจากพุ่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า
- สำหรับนักลงทุนที่ยังกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลางและรัสเซีย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะนำให้ใช้หุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ยังคงเลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นได้เล็กน้อย โดยเป็นการปรับลดลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน แต่ทยอยฟื้นตัวในสัปดาห์นี้ จากความคาดหวังผลประกอบการของหุ้น NVIDIA ที่ออกมาดีกว่าคาด พร้อมมุมมองที่ยังแข็งแกร่งในไตรมาสถัดไป
สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มรุนแรงขึ้นหลังยูเครนใช้ขีปนาวุธสหรัฐอเมริกาโจมตีคลังแสงของรัสเซีย เกิดขึ้นเพียง 2 เดือนก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และทำให้รัสเซียใช้ขีปนาวุธระยะไกลยิงตอบโต้และประกาศพร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้อีกด้วย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย และหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงานและ Materials ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9-2.4%
ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ตามแนวโน้มผลประกอบการที่เกี่ยวกับ AI และกำไรของ NVDA ออกมาดีกว่าที่คาด
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดจากความกังวลต่อการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ของทรัมป์ ด้านตลาด EM ทรงตัวในสัปดาห์นี้ หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง (Loan Prime Rate: LPR) ระยะ 1 ปี และระยะ 5 ปี ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ผู้ว่าการ PBOC ระบุว่าธนาคารกลางอาจปรับลด RRR ลงอีก 25-50 bps ภายในสิ้นปีนี้
ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงเล็กน้อย แม้จะได้ประโยชน์จากตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 2024 ดีเกินคาด แต่ถูกกดดันจากผลกระทบหุ้น DELTA ที่ปรับลดลงแรง หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้ DELTA เข้าข่ายเกณฑ์ Cash Balance ระดับที่ 1 มีผลระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน - 11 ธันวาคม ตลาดน้ำมันปรับตัวขึ้นจากความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เพิ่มขึ้น หนุนราคาน้ำมันดิบเบรนต์เพิ่มขึ้น 2.3%
ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มแรงกดดันในตลาด
สำหรับเหตุการณ์ยูเครนใช้ขีปนาวุธสหรัฐฯ โจมตีคลังแสงของรัสเซีย และรัสเซียตอบโต้กลับด้วย ICBM ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย บ่งชี้ถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและ NATO อาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายนิวเคลียร์ใหม่ของรัสเซีย
ดังนั้น บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าในระยะต่อไปความผันผวนในตลาดจะเพิ่มขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความกังวลของนักลงทุนต่อมาตรการสงครามการค้าของทรัมป์ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้อาจเห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และอาจทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลดลง หลังจากพุ่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า
ด้านการลงทุนจีนยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้เริ่มชะลอลงบ้าง ผลจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทั้งยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราว่างงานลดลง ทำให้ PBOC ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ระดับเดิม
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจและการลงทุนจีนยังเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการค้าโลก การพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศของจีนจึงมีความสำคัญมากขึ้น และอาจเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปีหน้า
ด้านเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2024 ขยายตัวสูงกว่าที่คาด จากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวแรงตามการเบิกจ่ายงบประมาณที่เร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกสุทธิเป็นส่วนทำให้ GDP ขยายตัวชะลอจากไตรมาสก่อนจากการนำเข้าที่มากขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวดีนั้นส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง บ่งชี้ถึงการตีตลาดของจีนซึ่งจะมีมากขึ้นหากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนของภาครัฐ แนะนำกลุ่มพาณิชย์ (CPALL, CPAXT, CRC, HMPRO, TNP), กลุ่มท่องเที่ยว (AWC, AOT, MINT) และกลุ่มธนาคาร (BBL)
2. หุ้น Earning Play ซึ่งมองมีโมเมนตัมกำไรไตรมาส 4 ปี 2024 จะเติบโตดี YoY และ QoQ อีกทั้งเราแนะนำ Outperform เลือก BCP, GULF, OSP, CBG, AMATA, AU และ TIDLOR
3. หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนรวมวายุภักษ์และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เลือก BBL, ADVANC, HMPRO และ BCP
4. สำหรับนักลงทุนที่ยังกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลางและรัสเซีย ใช้หุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ยังคงเลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัวไซด์เวย์ในกรอบ หลังขาดปัจจัยหนุนใหม่ ทั้งนี้ ปัจจัยต่างประเทศยังค่อนข้างจำกัด โดยตลาดคาดดัชนี PCE เดือนตุลาคมของสหรัฐฯ จะทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนกันยายนที่ระดับ 0.2%MoM และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤศจิกายนของจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อย ซึ่งจะใกล้เคียงช่วงเดือนตุลาคมที่ระดับ 50.1 ส่วนกระแสเงินทุนคาดว่ายังมีแนวโน้มไหลออกต่อเนื่องจากตลาดหุ้น EM สืบเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของทรัมป์ ส่วนปัจจัยในประเทศยังอยู่ในช่วงการให้แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2024 และปี 2025 ของ บจ. พร้อมรอติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ ขณะที่ตัวเลขส่งออกไทยเดือนตุลาคมคาดว่าจะเติบโตเร่งตัวขึ้นเป็น 5.5%YoY จาก 1.1%YoY ในเดือนกันยายน” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. Fed เผยรายงานการประชุมนโยบายการเงิน FOMC เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน
2. ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ดัชนี PCE เดือนตุลาคม และ GDP ไตรมาส 3 ปี 2024 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐฯ
3. ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือนตุลาคม
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AWC - หนึ่งในหุ้นเด่นกลุ่มท่องเที่ยว
แนะนำ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็น Holding Company ที่ถือหุ้นที่ดำเนินงานอยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (มีโรงแรมที่ดำเนินงานอยู่ 22 แห่ง จำนวนห้องพักกว่า 6,000 ห้อง) และในกลุ่มธุรกิจอสังหาเพื่อการพาณิชย์ (มีโครงการอสังหาเพื่อประกอบกิจการค้าปลีก 9 โครงการ และอาคารสำนักงาน 4 แห่ง)
- ไตรมาส 4 ปี 2024 คาดกำไรปกติเติบโต YoY และ QoQ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจท่องเที่ยวไทย ขณะที่ปี 2024 คาดมีกำไรปกติเติบโต 57%YoY และเติบโตต่ออีก 23%YoY ในปี 2025 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งสุดในกลุ่ม โดยมีแรงหนุนจากการดำเนินงานโรงแรมที่ดีขึ้นตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เติบโต
- หนึ่งในหุ้นเด่นกลุ่มท่องเที่ยว และราคาหุ้นซื้อขาย PEG 2024F ที่ 1.3 เท่า ต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มที่ 2.2 เท่า ซึ่งมองยังไม่ได้สะท้อนโมเมนตัมกำไรที่แข็งแกร่ง
- เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 4.40 บาท อิงวิธี DCF (WACC 6.6% และการเติบโตระยะยาวที่ 2%) และคาดว่ามีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 ที่หุ้นละ 0.05 บาท คิดเป็น Div. Yield ปีละ 1.3%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
งบสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ดีกว่าคาด โดยกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตสูงจาก AI ทั้ง NVDA และ PANW ด้านกลุ่มค้าปลีกมีแรงซื้อในสินค้าจำเป็นและคอมเมิร์ซ ทำให้ยังเห็นการเติบโต โดยเฉพาะ WMT ในทางตรงกันข้าม กลุ่มหุ้นจีนเผยงบผสม หลังการแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรงและเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา ด้วยภาพนี้ทำให้เราแนะนำอยู่ในกลุ่มที่มีแรงกดดันจำกัด โดยฝั่งสหรัฐฯ เราแนะกลุ่มผู้นำตลาด ได้แก่ COST, NVDA, PANW และ WMT ด้านกลุ่มจีนแนะนำ XIAOMI และ TCOM ที่มีโมเดลธุรกิจดีและแนวโน้มฟื้นตัวชัด
- กลุ่มค้าปลีก: งบออกมาในทิศทางผสม หลังแรงซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวยังกดดันกลุ่มที่มีสัดส่วนสินค้า Discretionary เยอะอย่าง LOW และ TGT สวนทาง WMT ที่มีสัดส่วนสินค้าจำเป็นมาก รวมถึงแบรนด์แกร่งและคอมเมิร์ซโต ทำให้งบดูดีสุดในกลุ่ม ขณะที่เราเห็นบางบริษัทปรับกลยุทธ์รับมือและคุมต้นทุนได้ดี ทำให้งบดี อย่าง BJ ที่ขึ้นราคาสมาชิก ด้าน ROST และ TJX ที่เน้นขาย Discount
- กลุ่มเทคโนโลยี: การเติบโตยังดูดี หนุนจากอุปสงค์ AI ที่แข็งแกร่ง ช่วยให้ 1. NVDA มีรายได้และกำไรเติบโตดีในทุกมิติ รวมถึงทุกธุรกิจโตในระดับสูง โดยเฉพาะ Data Center 2. PANW ที่ Platformization จากการพัฒนา AI เข้ากับระบบ ทำให้บริการได้ครบวงจร อย่างไรก็ดี ความคาดหวังตลาดที่สูงกดดันราคาหุ้น ประกอบกับ NVDA มีความกังวลในซัพพลายชิป Blackwell ทำให้ตลาดตอบสนองเชิงลบในช่วงหลังงบออก
- กลุ่มแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีจีน: งบออกมาในทิศทางผสม หลังภาพรวมยังมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา โดย 1. TCOM งบออกมาดี หนุนจากความต้องการท่องเที่ยวที่ยืดหยุ่น 2. PDD รายได้ต่ำกว่าคาด หลังการแข่งขันในอุตสาหกรรมยังคงรุนแรง แรงซื้อผู้บริโภคจีนชะลอตัว และปัญหากฎระเบียบกดดันผลประกอบการ 3. BIDU เผยรายได้หดตัว หลังมีแรงกดดันจากการลงทุนใน AI ที่ยังไม่เห็นผลเท่าคู่แข่ง รวมถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจีนที่ซบเซากดดันเช่นกัน ซึ่งเป็นภาพกดดันเดียวกันกับ 1024
- กลุ่ม EV จีน: งบยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันในกลุ่มและอุปสงค์ชะลอตัว ทำให้งบ NIO ผิดคาด อย่างไรก็ดี XIAOMI และ XPEV เผยงบโตดีกว่าคาดจากการออก EV รุ่นใหม่ นอกจากนี้ มอง XIAOMI ยังมีธุรกิจหลักอย่าง IoT และสมาร์ทโฟนที่ฟื้นตัวดี
ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่า
1. กลุ่มหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่ดีจากเศรษฐกิจที่จะเริ่มฟื้นหลัง Fed ลดดอกเบี้ย รวมถึงการใช้จ่ายของลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มเทคโนโลยีและรีเทล โดยเราเน้นที่เป็นผู้นำตลาดและมีแบรนด์แกร่งอย่าง WMT, COST, PANW และ NVDA
2. กลุ่มหุ้นจีนยังมีแรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายของทรัมป์ต่อจีนเป็นหลัก ซึ่งทำให้การฟื้นตัวยังคงมีความท้าทาย ขณะที่เราแนะนำอยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางการแข่งขันเฉพาะตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อชัดเจนอย่าง XIAOMI และ TCOM ที่การท่องเที่ยว Outbound ยังมี Room ให้ฟื้นตัว
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด/สภาพคล่อง
สินทรัพย์เงินสด/สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินสด/สภาพคล่องมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลัง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงพิสัยกลางโจมตีฐานทัพทหารยูเครน และเตือนชาติตะวันตกว่ารัสเซียสามารถโจมตีฐานทัพของประเทศใดก็ตามที่ใช้อาวุธโจมตีรัสเซีย
ตราสารหนี้/เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะเพิ่มความชัน (UST Yield ตัวยาว เพิ่มขึ้นนำ) ยังคงมีอยู่ จากแนวโน้มการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงขาขึ้นของเงินเฟ้อ ทั้งการจำกัดผู้อพยพ การกีดกันการค้า และการเพิ่มการขาดดุลการคลัง ขณะที่ความไม่แน่นอนบนเงินเฟ้อที่มีอยู่อาจทำให้ Fed ระมัดระวังในการลดอัตราดอกเบี้ย โดยที่บอนด์ตัวยาว (> 7 ปีขึ้นไป) ยังเสี่ยงปรับตัวขึ้น ในขณะที่บอนด์อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยงบน Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ที่มากพอ จึงทำให้ตราสารหนี้ตัวสั้นยังน่าสนใจในการถือลงทุนเพื่อรับ Coupon Income และยังคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge หากเกิดกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ตัวเลขการจ้างงาน ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้มาก
US Treasury & IG
UST Yield โดยเฉพาะตัวยาว มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความคาดหวังที่ลดลงของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยที่มากของ Fed หลังบรรดาสมาชิก Fed ออกมาสนับสนุนให้ทยอยลดดอกเบี้ยลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังที่แย่ลงจากการผลักดันนโยบายการคลังของทรัมป์หลังขึ้นเป็นประธานาธิบดี และพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส
แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG bond (ซึ่งมีงบการเงินที่ยังดี) โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ Yield ในกรอบ 4.3-4.9% ซึ่ง Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed ที่ 2.9% เพื่อเป็นการ Lock Coupon
High Yield Bond
แม้ว่า Spread ของ US HY มีแนวโน้มทรงตัวถึงแคบลงได้อีกเล็กน้อยจาก
1. US HY Default Rate ที่ทยอยลดลงและยังต่ำ
2. จำนวน HY Issuers ที่ถูก Upgrade มีแนวโน้มมากกว่าถูก Downgrade ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี
3. ความผันผวนบนตลาด US HY ที่ยังต่ำ
4. Maturity Wall ของ US HY ในปี 2025 ยังไม่น่ากังวลนัก
อย่างไรก็ตาม ด้วย US HY Spread ที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 10 ปี และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้อีก จึงทำให้ Upside ของ US HY มีค่อนข้างจำกัด
สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับพอร์ตโฟลิโอจากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสมช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก 1. แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งคาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีก 125 bps จนถึงสิ้นปี 2025 ส่งผลให้ US REITs มีความน่าสนใจในแง่ของเงินปันผลที่สูงราว 4% 2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง 3. ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง 4. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต และ 5. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม Bond Yield ที่ปรับตัวขึ้นจากแผนขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นของทรัมป์กดดันราคา US REITs ในระยะสั้น
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีได้ปัจจัยหนุนจาก
1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2025 ที่เร่งตัวขึ้น และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการแจกเงิน 10,000 บาททั้ง 2 เฟส
2. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2024 และ ปี 2025 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และ 3. Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย 12M FWD P/E อยู่ที่ 14.8x หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ -0.8 S.D.
ทั้งนี้ ผล Tariff ของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อเงินบาทที่อ่อนค่า การส่งออกและการลงทุนชะลอตัวลงในระยะสั้น แต่ในระยะกลาง-ยาวคาดว่าจะเกิดการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย สนับสนุน FDI ทั้งนี้ เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศ เช่น กลุ่มค้าปลีก เป็นหลัก
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
เรามองว่าการที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing จะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีผลตอบแทนที่ดีในกรอบเวลา 6-12 เดือน ด้านผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการของทรัมป์ เช่น กลุ่มการเงิน กลุ่มพลังงาน ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองภายในเยอรมนี
หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ทำให้เงินเยนอ่อนค่า และสนับสนุนหุ้นในกลุ่มส่งออกของญี่ปุ่น เน้นติดตามการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ในระยะต่อจากนี้
หุ้นสหรัฐฯ
ความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจ Soft Landing ในสหรัฐฯ ยังมีอยู่ หลัง Fed สาขาแอตแลนตาเผยแบบจำลอง GDPNow ชี้ว่า GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2024 จะ +2.6%QoQ ต่อปี ขณะที่ในการรายงานงบของ S&P 500 ในไตรมาส 3 ปี 2024 พบว่าโดยเฉลี่ย บจ. ที่รายงานแล้ว มี EPS Surprise ที่ +6.5% และอาจช่วยหนุนให้ Consensus ทยอยปรับประมาณการ EPS ดัชนีทั้งปีดีขึ้น
ส่วนการที่ทรัมป์เตรียมขึ้นเป็นประธานาธิบดีและพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา หนุนความหวังของตลาดเกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบและการลดภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ เราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS ยังมีแนวโน้มเติบโตดี ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดความเสี่ยงสงครามการค้า
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรปที่มีความสามารถในการกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ยังมีความเสี่ยงจากภาคการเมืองของเยอรมนีที่เสถียรภาพลดลง หลังนายกรัฐมนตรีสั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ รวมทั้งข้อพิพาทการค้ากับจีน (หลังจีนบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวต่อการนำเข้าบรั่นดีจาก EU) และแนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ (กลุ่ม Auto) ของ EU
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
เงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชีย (ไม่รวมจีน) ส่วนใหญ่ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ สร้างความกังวลต่อประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ขณะที่ 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
แม้ที่ประชุม NPC Standing Committee อนุมัติแผนวงเงิน 10 ล้านล้านหยวน สำหรับให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปรีไฟแนนซ์หนี้ LGFVs แต่ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้คาดว่าต้องมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลงท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายงานกำไรของบริษัทจดทะเบียนออกมาน้อยกว่าคาดและอาจถูกปรับประมาณการลง กดดันดัชนีระยะสั้น
หุ้นอินเดีย
เรามีมุมมองระมัดระวังต่อตลาดหุ้นอินเดียในระยะสั้น จากอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2024 ที่เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ +6.2% (สูงกว่าเป้าที่ 6%) ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Valuation ของดัชนียังอยู่ในระดับที่แพงท่ามกลางการโยกเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติออกจากอินเดียนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม คิดเป็นมูลค่าราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี สัดส่วนส่งออกสินค้าจากอินเดียไปยังสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศ EM ส่วนใหญ่ ในกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อ GDP อินเดียจำกัด โครงสร้างการเติบโตในระยะยาวแข็งแกร่ง เหมาะแก่การทยอยสะสมเมื่อดัชนีย่อตัว
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีได้แรงหนุนจาก
1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีจากการบริโภคที่ฟื้นตัวประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จะหนุนภาคการลงทุนและก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น
2. FDI มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 ปี 2024 FDI ขยายตัวอยู่ที่ +18.6%YoY เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2024 ที่ +16.6%YoY
3. Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย 12M FWD P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ -1.0 S.D. ขณะที่ Consensus คาดการณ์ EPS Growth ปี 2024 และ 2025 อยู่ที่ +12%YoY และ +6%YoY ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่อ่อนค่าลงจากความกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ อาจส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าคาดและกดดันดัชนีในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ซ่อนเร้นของรัฐบาลท้องถิ่น มาตรการเยียวยาภาคอสังหา และมาตรการส่งเสริมตลาดทุนจีน โดยที่ล่าสุด บลจ. ของจีนพร้อมใจลดค่าธรรมเนียมตามคำเรียกร้องการปฏิรูปตลาดทุนจากทางการ
นอกจากนี้ ในการประชุม CEWC ช่วงเดือนธันวาคมนี้เรามองว่ามีโอกาสที่ทางการอาจผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้นผ่านการส่งสัญญาณที่มุ่งเน้นกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ หลังทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก
1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
3. ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า
4. Fund Flow ของ ETF ทองคำที่กลับมาซื้อสุทธิ 6 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่ปรับขึ้น มีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาทองคำในระยะสั้น
ภาพ: Anton Petrus / Getty Images