THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
FOMC
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ปี 2025 Fed อาจหั่นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง เนื่องจาก FOMC ให้น้ำหนักเงินเฟ้อมากขึ้น

... • 23 ธ.ค. 2024

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • FOMC กังวลกับความเสี่ยงเงินเฟ้อมากขึ้น ส่วนหนึ่งจาก 1. นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ และ 2. เศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง
  • บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงปรับประมาณการดอกเบี้ยของ Fed จาก ‘ลด 100 bps ในปี 2025 สู่ 3.4%’ เป็น ‘ลดเพียง 50 bps สู่ 3.9%’ ในครึ่งแรกของปี
  • ระยะต่อไปผลกระทบต่อตลาดการเงินจะมีค่อนข้างมาก ทั้งจากดอลลาร์ที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ผลตอบแทนพันธบัตรจะลดลงไม่ได้มาก และกระแสความขัดแย้งระหว่าง Fed และรัฐบาลทรัมป์จะมีมากขึ้น
  • สำหรับไทย การตัดสินใจคงดอกเบี้ยของ กนง. ในครั้งนี้ ไม่สอดรับกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงมองว่า ธปท. อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ย แต่อาจสายเกินไปและส่งผลให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงแรง โดยเฉพาะกลางสัปดาห์ภายหลัง FOMC มีมติ 11 ต่อ 1 ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.5% ตามคาด แต่ Dot Plot บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.5% ในปี 2025 โดยจะลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะลด 1% 

 

โดย FOMC ให้น้ำหนักเงินเฟ้อมากขึ้น หลังการประชุมที่เป็น Hawkish Cut ส่งผลให้ตลาดปรับฐานแรง ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นทะลุ 4.5% พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น สะท้อนความเป็น Risk Off VIX Index เพิ่มขึ้นทะลุ 20 จุด จากปกติจะเคลื่อนไหวในช่วง 15 จุด

 

ด้าน GDP 3Q24 ประกาศครั้งสุดท้าย เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% สูงกว่าคาดที่ 2.9% ขณะที่ตัวเลขยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ออกมาต่ำกว่าคาด ยิ่งตอกย้ำมุมมองตลาดว่าดอกเบี้ยจะลดช้าลง โดยตลาดมองดอกเบี้ยลดเหลือแค่ 1 ครั้งในปี 2025

 

ผลจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้กระแสเงินยังคงไหลออกจากภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง

 

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจีนผสมผสาน โดยยอดค้าปลีกเดือนพฤศจิกายนโตเพียง 3% ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าฟุ่มเฟือยหลายรายการหดตัวสวนทางกับภาคการผลิตที่ขยายตัว 5.4% ซึ่งอาจเกิดจากการเร่งผลิตเพื่อส่งออกท่ามกลางความกังวลเรื่องสงครามการค้ารอบใหม่หลังทรัมป์กลับมา ตลาดยังคงคาดหวังมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมที่เตรียมไว้รับมือกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2025 

 

ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวรุนแรงกว่าตลาดในภูมิภาค จากความเชื่อมั่นต่อหุ้นขนาดใหญ่ที่มีประเด็นความกังวลเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นระหว่างสัปดาห์ ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงจากความกังวลด้านอุปสงค์จากการลดดอกเบี้ยช้าลง นำไปสู่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวกว่าคาด

 

Fed ลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปีหน้า นำไปสู่ ‘จุดสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง’

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า FOMC กังวลกับความเสี่ยงเงินเฟ้อมากขึ้น ส่วนหนึ่งจาก 1. นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ และ 2. เศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ด้วยภาพเช่นนี้เราจึงปรับประมาณการดอกเบี้ยของ Fed จาก ‘ลด 100 bps ในปี 2025 สู่ 3.4%’ เป็น ‘ลดเพียง 50 bps สู่ 3.9%’ ในครึ่งแรกของปี บนสมมติฐานว่า 1. มาตรการของทรัมป์จะรุนแรงขึ้นในครึ่งหลังของปี 2. ศักยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น ทำให้สามารถรองรับดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ 3. การลด 50 bps จะเป็นการลดสุดท้ายในวัฏจักรนี้ (Terminal Rate) 

 

ซึ่งเรามองว่าในระยะต่อไป ผลกระทบต่อตลาดการเงินจะมีค่อนข้างมาก ทั้งจาก 1. ดอลลาร์ที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง 2. ผลตอบแทนพันธบัตรจะลดลงไม่ได้มาก 3. ในระยะต่อไปกระแสความขัดแย้งระหว่าง Fed และรัฐบาลทรัมป์จะมีมากขึ้น

 

กนง. คงดอกเบี้ยไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า การตัดสินใจคงดอกเบี้ยของ กนง. ในครั้งนี้ ไม่สอดรับกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวมากเกินไป ทั้งจากสินเชื่อที่หดตัวในรอบ 14 ปี ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และการบริโภคสินค้าคงทนของภาคเอกชน และการลงทุนเอกชนที่หดตัว ทำให้การคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษา Policy Space อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนของนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับแรงส่งทางการคลังที่จะเริ่มแผ่วลงในระยะต่อไปเนื่องจากภาระทางการคลังที่สูงขึ้น 

 

ทำให้เรามองว่าในที่สุด ธปท. อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ย แต่อาจสายเกินไปและส่งผลให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะการลดดอกเบี้ยต้องใช้เวลาส่งผ่าน (Transmission Mechanism) ทำให้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2025 เหลือ 2.7% จาก 3.0%

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

1. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากรัฐบาลที่เตรียมออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวเพิ่มในช่วงส่งท้ายปี ซึ่งในอดีตราคาหุ้นมักปรับตัวได้ดีอย่างน้อย 3 ใน 5 ปี แนะนำกลุ่มพาณิชย์ (CRC) และกลุ่มท่องเที่ยว (AWC, MINT)

2. หุ้น Earning Play ซึ่งมองราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นสะท้อนโมเมนตัมกำไร 4Q24 ที่คาดว่าจะเติบโตดี YoY และ QoQ อีกทั้งยังมีศักยภาพการจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เลือก GULF, OSP, AMATA, AU, TIDLOR และ BCP

3. Trading Idea: 1. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนรวมวายุภักษ์ และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วงปลายปี เช่น SSF และ RMF ในสัปดาห์หน้า โดยแนะนำหุ้น SET50 ซึ่งมี ESG Ratings ปรับตัวดีขึ้นในปี 2024 ตั้งแต่ระดับ AA-AAA และ CG ระดับ 5 ดาว รวมทั้งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตได้ในปี 2025 ได้แก่ BBL, GPSC, AWC, BEM และ CBG 2. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายของการทำ Window Dressing ในช่วงสิ้นปีนี้ โดยราคาหุ้นมีการปรับตัวลง YTD และ 4QTD อีกทั้งสถิติในอดีตมักมีการปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงปลายปีอย่างน้อย 3 ใน 5 ปี แนะนำ BCP, GPSC, BDMS และ OSP และ 3. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน แนะนำ IVL และ PTTGC

 

“แม้ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัวผันผวน โดยมีแนวรับที่บริเวณ 1,350-1,360 จุด โดยมอง SET หลุด 1,400 จุดแย่กว่าตลาดหุ้นภูมิภาค เนื่องจากความกังวลเรื่อง ESG ของหุ้นขนาดใหญ่ และ Fund Flow ยังมีทิศทางไหลออกหลัง Fed ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยช้าลง ทำให้ช่วงสั้นดัชนีหุ้นไทยยังลุ้นปรับขึ้นได้เพียงแค่ปัจจัยกระตุ้น จากความคาดหวังว่าเม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้าจากการเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุนประหยัดภาษีที่มักจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพิ่มเติม เช่น แจกเงินหมื่นเฟส 2, การนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงต้องติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนธันวาคมของจีนและสหรัฐฯ” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

1. ครม. พิจารณาเรื่องการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ เช่น Easy e-Receipt, แจกเงินหมื่นเฟส 2

2. การทำ Window Dressing ของกองทุนในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปีนี้

3. ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนธันวาคมของจีนและสหรัฐฯ

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: OSP-4Q24 กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

 

แนะนำ บมจ.โอสถสภา หรือ OSP เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยที่มีศักยภาพเติบโตดี โดยสินค้าที่รู้จักดี เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลังแบรนด์ M-150 และลิโพ, เครื่องดื่ม Functional แบรนด์ซี-วิท และของใช้ส่วนบุคคลแบรนด์เบบี้มายด์ เป็นต้น

 

  • 4Q24 คาดกำไรปกติจะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ แรงหนุนจากปัจจัยฤดูกาล และการเติมสต็อกสินค้าหลังน้ำท่วม พร้อมกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้น หนุนให้คาดว่าปริมาณการขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศจะฟื้นตัว ขณะที่ปี 2024 คาดมีกำไรปกติ 3.1 พันล้านบาท เติบโต 48.5%YoY จากต้นทุนวัตถุดิบหลักๆ ที่ลดลง การประหยัดต่อขนาด และอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากรายได้ต่างประเทศ

 

  • มองเป็นหนึ่งในหุ้นที่จะได้อานิสงส์บวกจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และช่วงสั้นยังมีโอกาสเป็นหุ้นที่เป็นเป้าหมายทำ Window Dressing ในช่วงสิ้นปีนี้ หลังราคาหุ้นปรับลง 38.7%YTD และ 21.1%QTD อีกทั้งในอดีตราคาหุ้นมักปรับดีขึ้นในช่วงปลายปีอย่างน้อย 4 ใน 5 ปี จึงมองเป็นโอกาสลงทุน
  • เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 29 บาท อิง -1SD PER เฉลี่ยที่ 28 เท่า และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.60 บาท คิดเป็น Div. Yield 2.8% 

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

Fed มีมติปรับลดดอกเบี้ยลง และให้คาดการณ์ Dot Plot ที่น้อยกว่าตลาดคาด ประกอบกับเผยถึงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของทรัมป์ที่มีอาจส่งผลต่อการคุมเงินเฟ้อของ Fed ซึ่งภาพรวมนี้กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ปรับตัวลงแรง ขณะที่เราประเมินว่าตลาดมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราแนะอยู่ในกลุ่ม Defensive อย่าง WMT และ COST รวมถึงมองกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตจาก AI ยังคงลงทุนได้อย่าง NVDA, TSM, AVGO, AMZN และ MSFT

 

Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับ 4.25-4.5% ซึ่งนับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ติดกันในปี 2024 ขณะที่รายละเอียดการประชุม Fed เพิ่มเติมมีดังนี้ 

  • ความกังวลที่เปลี่ยนไป: Fed เปลี่ยนจากความกังวลเรื่องตลาดแรงงานมาเป็นเงินเฟ้อ หลังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายใหม่ของทรัมป์ ซึ่งอาจกระทบเงินเฟ้อ เช่น การลดภาษี การเนรเทศ และการเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งปัจจุบันเริ่มนำนโยบายเหล่านี้มาพิจารณาในการคาดการณ์
  • การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plot): คาดการณ์การลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2025 โดยจะลดลงครั้งละ 0.25% ส่งผลให้ภาพรวมลดลง 0.5% ทั้งปี
  • Fed กังวลเงินเฟ้อ: พาวเวลล์เผยคาดการณ์เงินเฟ้อ Fail ในปี 2024 และมองคาดการณ์สิ้นปี FY25 ที่ 2.5% สูงกว่าคาดในเดือนกันยายนที่ 2.1% รวมถึงจะใช้เวลานานขึ้นในการลดให้ถึงเป้า 2% โดยคาดว่าจะถึงในปี 2027
  • ท่าทีของพาวเวลล์: เน้นย้ำว่าการลดดอกเบี้ยต่อไปจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงมองประชาชนว่ายังรู้สึกถึงผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูง ทำให้ Fed มีท่าทีที่ชะลอการดำเนินนโยบาย

 

ภาพรวมนี้สะท้อนได้ว่าความไม่แน่นอนทางนโยบายของทรัมป์ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อการปรับลดเงินเฟ้อของ Fed ซึ่งส่งผลให้ตลาดทุนยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง

 

ในระยะสั้นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราแนะอยู่ในกลุ่ม Defensive อย่างเช่น WMT, COST, PFE และแนะนำให้อยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับ AI อย่างเซมิคอนดักเตอร์ TSM, NVDA, AVGO และกลุ่ม Mag 7 อย่าง AMZN และ MSFT

 

มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO

 

เงินสด / สภาพคล่อง

 

สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าต่างๆ ข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้ล่าสุดประธานาธิบดีปูตินผู้นำของรัสเซียกล่าวว่า เขาพร้อมที่จะพบกับประธานาธิบดีเซเลนสกีผู้นำของยูเครน เพื่อเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนก็ตาม

 

ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว

 

โอกาสที่ US Yield Curve จะเพิ่มความชัน โดยที่ Yield ตัวยาวเพิ่มขึ้นยังมีอยู่ จากแนวโน้มการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ที่เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อ ทั้งนโยบายกีดกันผู้อพยพ กับนโยบายกำแพงภาษี และอาจทำให้ Fed เพิ่มความระมัดระวังในการลดดอกเบี้ยในระยะถัดไป โดยที่ประชุม Fed ล่าสุดปรับคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือเพียง 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps จากเดิมคาดไว้ว่าจะลด 4 ครั้ง ทั้งนี้ Bond อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ไม่มาก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้ยังน่าสนใจลงทุน และคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge หากเกิดกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก 

 

US Treasury & IG

 

US Yield โดยเฉพาะตัวยาว มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังที่ลดลงของตลาดฯ เกี่ยวกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่มากของ Fed หลังที่ประชุม Fed ล่าสุดปรับ Dot Plot ขึ้น และส่งผลทำให้ Terminal Rate เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.125% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.875% ประกอบกับ ความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น และแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังหนืด จากการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ / แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ย ‘ระยะยาว’ ของ Fed ที่ 3% เพื่อเป็นการ Lock Coupon

 

High Yield Bond

 

USHY ให้ผลตอบแทนรวมเป็นบวก YTD ส่วนใหญ่มาจาก Spread ที่แคบลง ตาม

1. USHY Default Rate (12M Trailing) YTD ที่ยังต่ำเพียง 3.1%

2. ตัวเลข Rising Stars ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า Fallen Angels สอดคล้องกับโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี โดยที่ประชุม Fed ล่าสุดปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2024 และปี 2025 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5% และ 2.1% ตามลำดับ

3. ประเด็น Maturity Wall ที่ยังไม่ได้น่ากังวลนัก โดยในปี 2025 อยู่ที่เพียง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

 

อย่างไรก็ตาม ด้วย Spread ที่ค่อนข้างแคบ และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ หลัง Fed ปรับ Terminal Rate และ Dot Plot ระยะยาวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ Upside ของ USHY มีจำกัด

 

สินทรัพย์ผสม, กึ่งหนี้กึ่งทุน และ REITs

 

REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินให้กับ Portfolio ได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ

 

สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed-Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง

 

US REITs

 

US REITs มีปัจจัยหนุนจาก

1. ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ด้วยภาพรวม Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง

2. ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง

3. งบดุลที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต

4. Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 

 

อย่างไรก็ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นหลังรายงาน Dot Plot ของ Fed ในเดือนธันวาคม ปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือ 2 ครั้ง จะเป็นปัจจัยกดดัน US REITs ในระยะสั้น

 

Private Credit

 

เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)

 

หุ้นไทย

 

ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก

1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2025 ที่เร่งตัวขึ้น มาตรการแจกเงิน 1 หมื่นบาท และแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว

2. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยคาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยปี 2025 อีก 25 pbs อยู่ที่ 2.0%

3. มาตรการแก้หนี้ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยหนุนการบริโภคและบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน

4. กำไรของ บจ. ในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว โดย Bloomberg คาดการณ์ EPS Growth ในปี 2025 ของ SET ที่ 13% 

 

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อประเด็นด้านธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นไทย และความกังวลต่อประเด็นด้านการเมืองที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น

 

หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนระยะสั้น หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากแนวโน้ม EPS ที่ขยายตัวได้ดีท่ามกลางผลบวกจากกระแส AI นโยบายกระตุ้นของทรัมป์ และแนวโน้มการเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น

 

หุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ จะปรับเพิ่ม Tariff และเสถียรภาพทางการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนีลดลง

 

หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่า และการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของตลาดฯ

 

หุ้นสหรัฐฯ

 

ความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจ Soft Landing ในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ หลัง Fed ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP และเงินเฟ้อขึ้น ขณะที่ปรับลดคาดการณ์อัตราการว่างงานลง ด้าน Consensus คาด S&P 500 EPS growth ใน 4Q24 จะ +9.6%YoY และจะขยายตัวถึง 2 หลักในทุกไตรมาสหลังจากนั้นจนถึง 2Q26 ส่วนการที่คณะทำงานของทรัมป์เตรียมเข้ามาบริหารประเทศในเดือนมกราคม 2025 ได้หนุนความหวังของตลาดเกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการลดภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ 

 

ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวดี และสอดรับกับ AI Theme ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดความเสี่ยงสงครามการค้า

 

หุ้นยุโรป

 

การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป มีแนวโน้มสนับสนุนดัชนีหุ้นยุโรป โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และมีงบดุลแข็งแกร่ง

 

อย่างไรก็ตาม เราเริ่มมีมุมมองระมัดระวังมากขึ้นจากประเด็นการเมืองของเยอรมนีและฝรั่งเศสที่มีเสถียรภาพลดลง เนื่องจากการมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา ขณะที่ยังไร้ข้อสรุปบนร่างงบประมาณประจำปี 2025 ที่ส่งผลให้ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสจาก Aa3 สู่ Aa2 

 

นอกจากนี้แนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ (กลุ่ม Auto) ของสหภาพยุโรป ท่ามกลางการแข่งขันกับอุตสาหกรรมรถ EV จีนที่มีต้นทุนถูกกว่า

 

หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่

 

ตลาดหุ้น EM เผชิญความท้าทายมากขึ้น หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ สร้างความกังวลต่อประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ขณะที่ 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า

 

แม้ทางการจีนมีการออกมาตรการกระตุ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอความหวังจากการที่รัฐบาลจีนจะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนเพิ่มเติม

 

เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลง ขณะที่กำไรของ บจ. อาจถูกปรับประมาณการลง และกดดันดัชนีฯ ระยะสั้น อย่างไรก็ดี หุ้นอินเดียอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจโลก เงินดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยต่ำของ Fed

 

หุ้นอินเดีย

 

ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด โดยธนาคารกลางอินเดียปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2025 ลงมาอยู่ที่ 6.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.2% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.5% จากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงในเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 5.5% (กรอบเป้าหมายที่ 4-6%)

 

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นอินเดียช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลาง Valuation ของดัชนีฯ ที่ซื้อขายบน Forward P/E เหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี ราว +1 S.D. อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ น้อยกว่า EM อื่นๆ และโครงสร้างเศรษฐกิจยังเติบโตดีในระยะยาว ทำให้เราแนะนำทยอยสะสมเมื่อย่อตัว

 

หุ้นอินโดนีเซีย

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวลงในระยะสั้นจาก

1. ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าเกินระดับแนวรับสำคัญที่ 16,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ

2. ความกังวลต่อดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียที่อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริโภคหลัง Fed ปรับคาดการณ์ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือ 50 bps จากคาดการณ์เดิมที่ 100 bps 

 

อย่างไรก็ตาม เรายังมองบวกต่อดัชนีฯ ในระยะยาวจาก

1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แรงหนุนจากการขยายตัวของภาคส่งออก และ FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของปราโบโว ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภค และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

3. Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ

 

หุ้นจีน

 

ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ดัชนีฯ ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว และจากการทยอยออกมาตรการทางการเงิน การคลัง ภาคอสังหา และตลาดทุนของทางการจีน โดยล่าสุด Reuters รายงานว่า จีนมีแผนเพิ่มการขาดดุลการคลังต่อ GDP ปี 2025 ขึ้นเป็น 4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และจะคงเป้าการเติบโตของ GDP ในปี 2025 ไว้ที่ราว 5% แม้ว่าข้อพิพาททางการค้าและทางเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ จะยังดำเนินต่อก็ตาม 

 

ซึ่งล่าสุดคณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดนเตรียมเปิดการสอบสวนการค้าเซมิคอนดักเตอร์ของจีนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยอ้างประเด็นเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก

1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ

3. ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า

4. Fund Flow ของ ETF ทองคำ ที่กลับมาซื้อสุทธิ 7 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่ปรับขึ้น มีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาทองคำในระยะสั้น

ภาพ: Jorg Greuel / Getty Images, Wong Yu Liang / Getty Images

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 23 ธ.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories