- สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นโลกทรงตัว แต่ยังถูกกดดันจากความกังวลในประเด็นเงินเฟ้อ นำไปสู่การปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยในปีนี้ลงมาล่าสุดเหลือ 3 ครั้ง ใกล้เคียงกับ Dot Plot ของ Fed
- โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในภาพใหญ่ยังชะลอตัวลง สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ และอังกฤษ
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน
- แนะนำให้จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน หากได้ผลจะเพิ่มแรงส่งให้กับกลุ่มเครื่องจักร รถยนต์ และโลจิสติกส์
สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นโลกทรงตัวจากปัจจัยบวก ได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง แต่ยังถูกกดดันจากความกังวลในประเด็นเงินเฟ้อ นำไปสู่การปรับลดความคาดหวังของการลดดอกเบี้ยในปีนี้ลงมาล่าสุดเหลือ 3 ครั้ง ใกล้เคียงกับ Dot Plot ของ Fed
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงท้าย หลังตัวเลขเงินเฟ้อ PCE ออกมาตามคาด โดยกลุ่มเทคโนโลยียังเป็นกลุ่มที่ช่วยพยุงตลาด
ในส่วนของตลาด EM อ่อนตัว ถูกกดดันจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน กดดันตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่อ่อนตัวหลุดต่ำกว่า 1,400 จุดอีกครั้งจากผลประกอบการที่ออกมาต่ำกว่าคาด นำโดยกลุ่มปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหาร และท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายการพิเศษและขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
ราคาน้ำมันค่อนข้างทรงตัว ปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัว สต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้รับการชดเชยบางส่วนจากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ และความคาดหวังกลุ่ม OPEC+ จะขยายระยะเวลาการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจต่อไปอย่างน้อยจนสิ้นสุด 2Q24 จากเดิมที่จะครบกำหนดใน 1Q24
โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ย ‘ลดลง’
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า โอกาสในการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่ลดลงจาก 6 เป็น 3 ครั้ง เป็นเพราะ
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะตลาดแรงงาน
- เงินเฟ้อที่ปรับลดลงน้อยกว่าคาด
- ภาพตลาดการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงทำจุดสูงสุดใหม่ ทำให้สัญญาณจาก Fed จึงยังคงเป็นการส่งสัญญาณดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น
อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่า
- เงินเฟ้อในภาพใหญ่ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ และอังกฤษ
- ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวเริ่มชะลอลงมากขึ้น เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีความเชื่อมั่น
- ความเสี่ยงอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มีมากขึ้นและเริ่มกระทบต่อภาคธนาคาร ท่ามกลางดอกเบี้ยพันธบัตรที่เริ่มมีทิศทางปรับสูงขึ้นอีกครั้ง
“ทำให้เรามองว่า เป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน”
ด้าน PMI ของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นชะลอลง ส่วนยุโรปดีขึ้นบ้าง ซึ่ง บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า
- การที่ PMI สหรัฐฯ เริ่มชะลอลง โดยเฉพาะในภาคบริการ สอดคล้องกับมุมมองเราที่ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 1/24 ของสหรัฐฯ จะชะลอลงมากขึ้น
- PMI ยุโรปที่ฟื้นตัวขึ้นจากภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตยังลดลงนั้น น่าจะเป็นผลส่วนหนึ่งจากการที่จีนชะลอตัวมาก ขณะที่ตลาดส่งออกหลักของยุโรป ได้แก่ จีน การชะลอของจีนจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอไปด้วย
- PMI ญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลง ทำให้ BOJ อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยยากขึ้น แต่ยังเป็นไปได้ที่ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนเมษายน
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้นปันผลที่คาดให้ Dividend Yield สูงกว่า 4% อีกทั้ง DPS และ Dividend Payout Ratio มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมองหนึ่งในทางเลือกลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่ดีให้แก่พอร์ตลงทุน แนะนำ BBL, KTB, AP, ADVANC, RJH และ DRT
- หุ้นขนาดเล็กที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมองราคาหุ้นผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เลือก AU, ONEE, SECURE, KLINIQ และ HTC
- หุ้นเก็งกำไรจากแรงซื้อกลับจากทำ Cover Short และ Fund Flow ไหลกลับ อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีแผนออกมาตรการคุม Short Sales มากขึ้น ขณะที่พื้นฐานยังแข็งแกร่ง เลือก AOT, KBANK, KTB, BBL และ ADVANC
- นักลงทุนระยะยาวแนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL, BDMS, BEM, CPALL, PTT และ SCC
“ช่วงสั้นมองตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดคาดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของไทยติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีแรงหนุนจากความคาดหวังต่อการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประชุมนโยบายการเงินของ ECB ตลาดคาดว่าจะยังคงที่ระดับ 4.0%
- การจ้างงานนอกภาคเกษตรชะลอลง
- มูลค่าการส่งออกของจีนเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ตลาดคาดโต 4%YoY เร่งขึ้นจากเดือนธันวาคมที่โต 2.3%
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CRC - ผ่านจุดต่ำสุด...ปี 2024 กำไรเติบโตดี
แนะนำ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็น Holding Company ซึ่งถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย โดยเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกใหญ่ที่สุดในไทยและอันดับที่ 3 ในเวียดนาม รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดในอิตาลี
- มีศักยภาพเติบโตได้ในระยะยาว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในไทยและเวียดนาม อีกทั้งมีแผนขยายแพลตฟอร์ม Omni-Channel และผนึกกำลังจากธุรกิจในเครือเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพทำกำไร
- ราคาหุ้นปรับลง 15.2%YTD สะท้อนกังวลกำไรปกติ 4Q23 อ่อนแอกว่าตลาดคาดแล้ว ขณะที่ 1Q24TD คาดยอดขายสาขาเดิมจะกลับมาเติบโต 2%YoY ฟื้นตัวจาก -2.4%YoY ใน 4Q23 และปี 2024 คาดกำไรปกติจะยังเติบโต 14%YoY ตามการเติบโตของยอดขาย การเร่งขยายสาขา และการคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพขึ้น
- เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 48 บาท อิงวิธี DCF (WACC ที่ 7.1% และอัตราเติบโตระยะยาวที่ 2.5%) และมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2023 หุ้นละ 0.55 บาท (XD 3 พฤษภาคม) คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 1.6%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ทางการจีนเตรียมจัดการประชุม Two Sessions ในวันที่ 4-5 มีนาคมนี้ โดยตลาดมีความคาดหวังที่สูงต่อผลการประชุม โดย
- หากไม่เป็นไปตามตลาดคาดหวัง เรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเห็นแนวโน้มการปรับฐานตลาดและสินทรัพย์
- หากเป็นไปตามตลาดคาดหวัง หุ้นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
ตลาดมีความคาดหวังต่อการประชุมของทางการจีนในครั้งนี้มากว่าจะเผยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางการคลัง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหลายประเด็น โดยเรามองว่าสามารถสรุปได้ดังนี้
- เป้าหมายทางเศรษฐกิจ: ตลาดคาดว่าทางการจะตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ที่ราว 5% อัตราส่วนการขาดดุลทางการคลังที่ 3% นอกจากนี้มองเป้าระดับเดิมสำหรับตลาดแรงงานที่ 5.5% และอัตราเงินเฟ้อ 1%
- ลำดับความสำคัญของนโยบาย: ตลาดคาดหวังนโยบายที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ การปฏิรูปการคลัง และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ รวมถึงการเริ่มนโยบายใหม่ๆ ซึ่งมีส่วนกระทบต่อความเชื่อมั่นได้
- มาตรการทางการคลัง: ตลาดติดตามมาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลดภาษี และการสนับสนุน SMEs โดยเราคาดว่าขนาดและประสิทธิผลของมาตรการจะส่งผลต่อตลาด
- เสถียรภาพและความต่อเนื่อง: เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ตลาดมองหาสัญญาณทิศทางนโยบายที่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความเชื่อมั่นและลดความผันผวนในตลาด
- การประสานงานนโยบาย: ตลาดคาดหวังการผสมผสานระหว่างนโยบายการคลัง การเงิน และโครงสร้าง เพื่อปรับผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เหมาะสมและช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จริง
เรามองว่าความคาดหวังของตลาดต่อจีนค่อนข้างสูง ซึ่งหากว่าผลการประชุมออกมาเบี่ยงเบนไปจากที่คาด อาจนำไปสู่การปรับราคาสินทรัพย์และการปรับประมาณการเป้าการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับจีน อย่างไรก็ดี มองว่าหากเป็นไปตามคาด กลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการกระตุ้นครั้งนี้ เราคาดว่าจะอยู่ในหุ้นกลุ่มเครื่องจักร เครื่องใช้ในบ้าน ผู้ผลิตรถยนต์ รวมถึงกลุ่มโลจิสติกส์ที่ตลาดคาดหวังต่อการลดต้นทุน
ในภาพนี้เรามองว่าอาจเก็งกำไรในระยะสั้นได้ ซึ่งในกลุ่มนี้เราแนะนำ Xiaomi BYD
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CI
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ หลัง Core PCE, PCE และ GDP Deflator ใน 4Q66 ถูกปรับเพิ่มขึ้นในประมาณการครั้งที่ 2 นอกจากนี้สภาพคล่องยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากปัญหาด้านความปลอดภัยในทะเลแดงที่ยังมีอยู่
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
ความคาดหวังในการลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 6 ครั้งในช่วงปลายปี 2566 เหลือเพียง 4 ครั้งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และเหลือเพียง 3 ครั้งในปัจจุบัน / TGB Yield Curve แบนขึ้น (Flattening) หลัง Bond ตัวยาว Pricing การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และ TGB Yield ทั้ง Curve ลดลงจากแนวโน้มที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
ผลตอบแทนในระยะสั้นของ IG Bond ถูกกดดันจาก Market Rate (Government Bond Yield) จากความคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกเลื่อนออกไป ในขณะที่ OAS Spread ของทั้งทางฝั่ง US / Europe และ Asia ยังคงหดตัวจาก Demand ของ IG Bond ยังแข็งแกร่งท่ามกลาง Bond Supply ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
OAS Spread ตึงตัวขึ้นมาก แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขาลงช่วยลดแรงกดดันต่อกระแสเงินสดและลดความตึงตัวในงบดุลของกิจการ ทำให้ราคาสินทรัพย์มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ Valuation ที่ตึงตัวจะเพิ่มความเสี่ยงที่ราคาจะผันผวนในระยะกลาง ทั้งนี้ แม้ Default Rate จะยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่กำหนดการครบกำหนดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปลายปี 2567 และจะเร่งตัวตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
Fed มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยช้ากว่าตลาดคาดการณ์ และแม้ประมาณการ EPS ปี 2567 ของ S&P 500 ถูกปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำไรใน 4Q66 ของหุ้นกลุ่ม Tech และกลุ่ม Quality (ส่วนใหญ่อยู่ใน Consumer Discretionary และ Communication Services) โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับ Semiconductor และ AI แข็งแกร่ง แต่ EPS ในกลุ่ม Old Economy (Financial และ Energy) ยังอ่อนแอ ขณะที่ Valuation อยู่ในระดับที่ตึงตัวมาก
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
STOXX600 12m Fwd EPS ที่อยู่ต่ำจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ไม่มากนัก จึงมีความเสี่ยงลดลง หากโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกรวมถึงยุโรปมีความเสี่ยงขาลง อย่างไรก็ดี ด้วย Valuation ที่ไม่แพง ประกอบกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยังช่วยประคองการฟื้นตัวของ P/E
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 2
ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมามากในปีที่ผ่านมาและยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องค่อนข้างดี YTD ส่งผลให้ Valuation ดัชนีฯ เริ่มตึงขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเองในอดีตและดัชนีหุ้นโลก ขณะที่เราคาดว่า BOJ มีแนวโน้มคุมเข้มทางการเงินในเดือนเมษายน (ทั้งขึ้นดอกเบี้ยและยกเลิกมาตรการ YCC) ซึ่งจะส่งผลให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และ JGB Yield เพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการมีแนวโน้มส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะในการประชุม Two Sessions วันที่ 5-13 มีนาคม (เผยเป้าตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น GDP) อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ อาจจำกัดการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ตามแรงฉุดจากภาคอสังหาจีนที่ลดลง หลังทางการจีนทยอยออกมาตรการเยียวยาอสังหา ขณะที่ Valuation ดัชนีฯ ที่ยังไม่แพง จึงทำให้ดัชนีฯ มีความเสี่ยงขาลงจำกัด อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาททางระหว่างจีน-คู่ค้าที่ยังดำเนินต่อจะยังจำกัด Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ที่ถูกปรับออกจากดัชนี MSCI Rebalance และผลประกอบการ บจ. ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลให้มีการปรับประมาณการกำไรลง อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเดือนพฤษภาคมและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนดัชนีฯ นอกจากนี้ Valuation ของหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตได้ดี นอกจากนี้กิจกรรมในภาคอสังหามีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่การส่งออกและการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงเป็นผลจากวันหยุดยาว ด้าน Valuation อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมี Forward P/E อยู่ที่ 10.7x หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี -1 s.d. ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจ
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีแนวโน้มสำเร็จในรอบแรก ทำให้การสานต่อนโยบายและโครงการลงทุนต่างๆ มีความต่อเนื่อง หนุนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้นโยบายใหม่ของ ปราโบโว ซูเบียนโต ที่สนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ ยังหนุนหุ้นกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ยังหดตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงยังเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ
ตลาดหุ้นอินเดีย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนมกราคมยังส่งสัญญาณขยายตัว ภาคการบริโภคขยายตัวดี ทั้งส่วนของชนบท (ผ่านตัวเลขยอดขายสินค้าเกษตรหลัก ยอดขายรถแทรกเตอร์และมอเตอร์ไซค์) และการบริโภคของตัวเมือง (ผ่านยอดขายรถยนต์ ยอดการเดินทางอากาศ และยอดการบริโภคน้ำมัน) นอกจากนี้ Flash PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 5 เดือน และ 7 เดือน ตามลำดับ
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำได้รับอานิสงส์เชิงบวกตามแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2567 ส่งผล 10Y UST Real Yield มีโอกาสปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อีกทั้งยังมีความต้องการซื้อทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่ลดลง อาจทำให้ Upside ราคาทองคำค่อนข้างจำกัด
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานน้ำมันโลกค่อนข้างสมดุล นักลงทุนจับตากลุ่ม OPEC+ ที่อาจจะพิจารณาขยายการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสิ้น 1Q67 ไปจนถึง 2Q67 เพื่อพยุงราคาน้ำมัน และอาจขยายการปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานจากประเทศกลุ่ม Non-OPEC ค่อยๆ ลดลง
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
DM REITs ชะลอความร้อนแรงลง หลังความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและ Bond Yield เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง อีกทั้ง Delinquency Rate โดยรวมยังคงเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดการณ์เงินทุนจากการดำเนินงาน (FFO) พบว่า Median FFO ในปี 2024 ยังคงสามารถเติบโตได้เกือบทุกกลุ่มยกเว้น Diversified และ Office REITs อย่างไรก็ตาม Valuation เมื่อพิจารณาจาก P/BV น่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
เราค่อนข้างมีมุมมองเป็นกลางต่อ REITs ไทย เนื่องจากปัญหาในเชิงโครงสร้างหลายประการ ขณะที่เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ REITs สิงคโปร์มากกว่า เนื่องจากมีสภาพคล่องและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่า REIT ไทย ประกอบกับ Occupancy Rates โดยรวมยังแข็งแกร่ง อีกทั้งค่าเช่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Private Credit เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
มีมุมมองบน Private Equity เป็น Neutral อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้แรงกดดันด้าน Discount Rate ที่มีต่อ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity ลดลง
ขณะที่มีมุมมอง Private Real Estate เป็น Slightly Negative เนื่องจากหลายกองทุนยังมีการบังคับใช้การระงับการไถ่ถอนกองทุนอยู่
ภาพ: Cemile Bingol / Getty Images, Bet_Noire / Getty Images